วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รู้จัก! นักคณิตศาสตร์ประกันภัย "มนุษย์ทองคำ"ตัวจริง - แนวหน้า

ปีที่ 27 ฉบับที่ 9128 วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2549
โดย วราภรณ์ เทียนเงิน



ในธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย นอกจากทีมนักขายแล้ว อีกกลุ่มคนทำงานกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนสำคัญก็คือผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์ หรือเรียกอย่างเป็นทางการนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งปัจจุบันเป็นอาชีพหนึ่งที่มีจำนวนแรงงานไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

คุณพิเชษฐ เจียรมณีทวีสิน หรือ ทอมมี่ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย คณิตศาสตร์ประกันภัยบริษัท อเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด คือนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ที่อายุน้อยที่สุดในเมืองไทย บอกกับมุมมองนักบริหาร ถึงการการตัดสินใจเข้าสู่อาชีพนี้

คุณพิเชษฐ์ หรือที่เพื่อนักๆมักเรียกว่า"ทอมมี่" บัญฑิตหนุ่ม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปัจจุบันได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท Science of Financial  Engineering ที่ City University of Hong Kong บอกกับว่าตั้งแต่เรียนจบมาที่จุฬาลงกรณ์ก็ตัดสินใจว่าจะทำงานด้านใดดี มองดูเพื่อนคนอื่นๆ ที่จบมาพร้อมกัน บางคนเลือกที่จะเรียนต่อ บางคนเลือกที่จะทำงาน บางคนได้ทุนการศึกษาในการเรียนต่อต่างประเทศ
แต่คุณทอมมี่เองเขาเลือกทำงานที่บริษัทมิชลิน เพราะมีการฝึกงานและมีการเทรนด์คนที่ดีด้วย หลังจากนั้นได้เลือกเข้ามาทำงานที่เอไอเอเพราะเห็นว่า ตำแหน่งนักคณิตศาสตร์ประกันภัย เป็นอาชีพที่คนในสหรัฐอเมริกาเลือกที่จะทำงานเป็น 1 ใน 5 อันดับแรก เป็นสิ่งที่คนต้องการเข้าทำงานเป็นอันดับแรกๆ
ทั้งนี้ ทอมมี่ เป็นหนึ่งในสี่ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยของไทยที่ได้รับคุณวุฒิ Fellowship of Society of Actuaries (FSA) ของสหรัฐ ซึ่งจะต้องมีการสอบที่ยากมากอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Actuaries
ทอมมี่ บอกว่าเป็นอาชีพที่ขาดแคลนในไทยมาก มีเพียง 4 คนในไทยเท่านั้น ในต่างประเทศทั้งจีน สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมมาก โดยในฮ่องกงมีการเปิดมหาวิทยาลัยที่สอนทางด้านนี้เฉพาะด้วยแต่ในไทยยังไม่มี
เขาบอกว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัย ตามคำนิยาม จะหมายถึงการแปลจากสิ่งที่ไม่แน่นอน ให้เป็นสิ่งที่แน่นอน ทำงานครอบคลุมเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง
สำหรับกลุ่มคนที่มาสอบเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะเรียนจบมาทางด้านวิศวกรรม หรือจบทางด้านคอมพิวเตอร์ก็ได้ การเข้ามาทำงานในตำแหน่งนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแล้ว สามารถที่จะสอบวัดระดับความรู้เพื่อที่จะได้รับใบประกาศนียบัตร ทางด้าน Fellowship of Society of Actuaries หรือที่เรียกว่า FSA ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้การยอมรับ และมีความสำคัญมาก แต่การที่เป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแล้ว สามารถที่จะเลือกได้ว่าจะไม่สอบได้ใบประกาศ FSA ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคล
สำหรับการเรียน FSA นั้นจะมีทั้งหมด 8 คอร์ส เฉลี่ยแล้วจะต้องมีการสอบ 3 ครั้งถึงจะผ่าน 1 คอร์สได้ โดยเฉลี่ยแล้วคนที่ได้ใบประกาศในระดับ FSA จะมีอายุเฉลี่ย32 - 33 ปี และมีคนที่ได้รับใบประกาศตอนอายุ 40 ปีก็มีมาสอบด้วย แต่คุณทอมมี่เองใช้เวลาเรียน FSA เพียง 4 ปีเท่านั้น น้อยกว่าคนอื่นมาก
"ใช้เวลาทั้งหมด 4 ปีในการสอบข้อเขียน 8 คอร์ส ซึ่งก็มีสอบตก 1 ครั้ง แต่เก็บไปที่ละนิด โดยคนปกติจะใช้เวลาเรียน 10 กว่าปี ซึ่งเมื่อเรียนจบต้องมีการทำโครงงานส่งต่อให้อาจารย์พิจารณาอีกด้วย" ทอมมี่
เขาเล่าว่าการเรียนในวิชาชีพนี้ จะเป็นการเรียนด้วยตนเอง เหมือนกับการเรียนในมหาวิทยาลัยรามคำแหงในไทย ซึ่งที่เรียนจะบอกว่าควรที่จะซื้อหนังสืออะไรมาอ่านบ้าง จะไม่มีครูที่สอนแต่จะเป็นการเรียนด้วยตนเอง แข่งกับตนเองมากกว่า เหมือนกับการอ่านหนังสือใหม่ทั้งหมด
สำหรับวิชาที่เรียนจะมีทั้งด้าน แคลคูลัส เศรษฐศาสตร์มหภาค เศรษฐศาสตร์จุลภาคเศรษฐศาสตร์การเงิน งบการเงิน การบัญชี การลงทุน ซึ่งคนเรียนต้องรู้กฎหมาย รู้โลกว่ามีอะไรที่เกิดขึ้นบ้าง รู้เท่าทันวิทยาการของโลก รู้ว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีอะไรที่จะเกิดขึ้นบ้าง ต้องควรที่จะรู้ว่าจะมีโรคภัยอะไรที่จะเกิดขึ้นบ้าง ดูในส่วนของอัตรามรณะด้วย
"เหนื่อยมาก ในการที่จะสอบ 1 คอร์ส ทำงานเสร็จก็กลับไปอ่านหนังสือต่อที่บ้านวันละ 3 ชั่วโมง และหากเป็นวันหยุดก็จะอ่านหนังสือที่บ้านวันละ 10 ชั่วโมง ในการสอบ 1 คอร์สจะใช้เวลาถึง 300 ชั่วโมงในการอ่านหนังสือ ซึ่งเฉลี่ยแล้วอ่านหนังสือปีละ 1,000 ชั่วโมง แต่บริษัทก็ให้โอกาสว่าตอนใกล้สอบจะให้หยุดไปอ่านหนังสือที่บ้าน 10 วันบางครั้งทำข้อสอบไม่เข้าใจก็จะมีการส่งอีเมล์เพื่อที่จะคุยกับเพื่อนในต่างประเทศ เพื่อที่จะช่วยกันหาคำตอบ"คุณทอมมี่
สำหรับคุณทอมมี่เองใช้เวลาเพียง 4 ปีก็เรียนจบจบ และทำโครงงานส่งอาจารย์ในเวลาเพียง 1 ปี แตกต่างจากคนอื่นที่ต้องใช้เวลา 2 ปีในการทำโครงงาน หลังจากเริ่มทำงานที่ เอไอเอ ใน ฮ่องกง ซึ่งทอมมี่ยอมรับว่าทำให้เขาได้ประสบการณ์เยอะมาก รวมทั้งที่ไทยด้วย การทำงานสัมมนาก็จะทำให้เราได้ประโยชน์มากช่วยในการทำโครงงานส่งอาจารย์ด้วย
เขาบอกว่าการได้ประกาศของ FSA เหมือนกับว่าเป็นใบประกอบวิชาชีพ หรือ License ที่แพทย์ทุกคนได้รับในการประกอบวิชาชีพ ส่วนด้านค่าใช้จ่ายในการเรียน การสอบนั้น บริษัทเอไอเอจะเป็นผู้ออกให้หมด โดยเรียน 1 คอร์ส จะเสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนสอบจำนวน 300- 1,000 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1 หมื่นห้าพันบาท ซึ่งการสอบผ่านแต่ละคอร์สบริษัทก็จะขึ้นเงินเดือนให้ทุกครั้ง สำหรับการสอบวัดระดับ FSA จะให้คนทั่วโลกได้มาสอบพร้อมกันหมด ซึ่งเฉลี่ยแล้วคนที่ผ่านจะอยู่ประมาณ 33-34คน เฉลี่ยแล้วประมาณ 33 - 34 % จากจำนวนประมาณ 100 คน
Actuary จะมี 2 แบบ คือ ในระดับ FSA หรือที่เรียกว่า Quality actuaryคือคนที่เรียนจบแล้ว และในระดับ ASA คือคนที่ยังเรียนไม่จบจะถูกเรียกว่า Actuarial student ซึ่งต้องสอบ ASA ให้ได้ 6 คอร์สก่อน โดยเมื่อสอบได้ในระดับ ASA แล้ว ต้องมีการมาสอบต่ออีก 2 คอร์ส จึงจะได้ในระดับ FSA ในที่สุด รวมทั้งหมดมีการเรียนการสอบทั้งหมด 8 คอร์ส ในไทยนั้นคนที่ได้รับ ASA มีสัดส่วนที่น้อยกว่าคนที่ได้รับประกาศของ FSA เป็นจำนวนหลายเท่า เพราะยังมีคนที่อยู่ระหว่างการเรียน การสอบอยู่
หน้าที่ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary) สูงสุดจะได้เป็นเหมือน CFO ของบริษัท จะดูแลทางด้านการเงิน ดูแลการบริหารความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้นก็มีอยู่หลายอย่าง บริษัทเองก็ยังไม่รู้ว่าต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะมีอะไรบ้าง การคำนวณอนาคตว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างนั้นจะเป็นสิ่งที่ยากมาก และต้องมีการคำนวณว่าในอีก100 ปีข้างหน้า ต้นทุนของบริษัทจะมีเท่าใด แล้วจะมีการกำหนดจำนวนเงินออกมาเท่าใดจึงจะทำให้บริษัทสามารถที่จะอยู่รอดต่อไปได้ รวมทั้งต้องมีการคิดแบบประกันด้วยว่าจะออกมาแบบใดในอนาคตไม่ให้บริษัทขาดุทนได้
คุณทอมมี่ระบุว่า การทำงานในตำแหน่งของ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะมี 2 ส่วนคือ ส่วนที่ทำงานดูแลด้านหน้าของบริษัท จะเป็นกลุ่มที่ต้องติดต่อกับฝ่ายการตลาด (Marketing) ดูแลทั้งผลิตภัณฑ์ จัดทำสินค้าออกมาให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า การบริการกับลูกค้า ออกแบบประกันมาให้ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด ด้านราคา การตั้งราคาออกมา แบบประกันออกมาให้มีสมมติฐานที่ดี และถูกต้อง ด้านตัวแทน การขายประกันผ่านตัวแทน การกำหนดผลประโยชน์ให้กับตัวแทนที่ดี การจัดงบประมาณผ่านตัวแทน และสุดท้ายโปรโมชั่นคือการจัดทำแคมเปญต่างๆ ออกมา
ส่วนที่ทำงานอยู่ด้านหลังของบริษัท นักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะดูแลเรื่องการจัดการบริษัท (Cooperate) การตั้งวงเงินสำรองของบริษัทเพื่อที่จะให้บริษัทสามารถที่จะอยู่รอดในอีก 100 ปีข้างหน้าได้ การจัดการด้านความเสี่ยงว่าในอีก 100 ปีข้างหน้า ขายกรมธรรม์แบบใดในขณะนี้จึงจะเหมาะสมกับอนาคตในอีก 100 ปีข้างหน้ามากที่สุดด้วย
ทอมมี่บอกว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัย ได้ค่าตอบแทนสูงมาก ในสหรัฐ จะได้เงินประมาณ 1 แสนเหรียญสหรัฐต่อปี ส่วนในฮ่องกงนั้นจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 3-4 หมื่นเหรียญฮ่องกงต่อเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทด้วย
สำหรับใบประกาศของ FSA ที่ได้รับมานั้น คุณทอมมี่ระบุว่า จะเป็นใบประกาศที่ได้รับมาแล้วอยู่กับเราตลอดไป ไม่มีการเรียกคืนในอนาคตอีก และไม่มีการที่จะสอบวัดความรู้อีก ส่งผลให้เกิดการแข่งขันแย่งตัวคนที่ได้รับใบประกาศของ FSA สูงมาก ในไทยก็เช่นเดียวกัน "อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ขาดแคลนมาก ทั่วโลกก็ขาดแคลนมากเช่นเดียวกัน เป็นอาชีพที่โตไม่ทันกับความต้องการ สาเหตุที่ขาดแคลนเพราะการที่จะสอบได้ใบประกาศของ FSA ก็สอบผ่านยากมากๆ ต้องใช้เวลาเรียนเป็น 10 ๆ ปี ส่วนคนไทยที่ผ่านมาก็ใช้เวลา 13 ปีในการที่จะสอบผ่านได้ ใบประกาศของ FSA ในสหรัฐเองก็ขาดแคลน ที่ไหนมีความเสี่ยงที่นั้นจะมี Actuary" คุณทอมมี่ กล่าว
สำหรับคนที่ได้รับใบประกาศของ FSA ทั่วโลกมีประมาณ 35,000 คน ในเอเชียมีประมาณ 100 กว่าคน ซึ่งอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ฮ่องกงนิยมเรียนมาก และฮิตมากเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว ในจีนก็นิยมเรียนเช่นกัน
"คนไทยสอบผ่านได้ใบประกาศ FSA น้อยเนื่องจาก ยังแพ้กับชาวต่างชาติทั้งในเรื่องของภาษา คนอเมริกาเก่งภาษากว่า ส่วนคนจีนก็ขยันมากๆ ทำให้คนไทยยังไม่สามารถที่จะแข่งขันกับต่างชาติได้ และยังไม่เห็นว่าคนที่เรียนจบระดับปริญญาโทในไทย แล้วไปสอบ FSA ผ่านเลยสักคน" คุณทอมมี่ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น