ไฟแช็คกับไฟฉาย... ในการสอบเป็นมืออาชีพหรือเรียนต่อโทในโลกแบนๆ ใบนี้
พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) FSA , FIA, FSAT, FRM, MBA, MScFE (Dist), B.Eng (Hons)
หลายคนคิดว่าเรียนต่อปริญญาโทหรือปริญญาเอกไปเถอะ แล้วจะดีเอง... แต่ก็มีบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด โดยเฉพาะกับคนที่มีประสบการณ์จากการทำงานซึ่งอาจได้ไปทำงานในหลายๆ ประเทศและรับรู้ทัศนคติของคนทำงานในประเทศนั้นๆ มาพอสมควร สิ่งที่กำลังจะเขียนต่อไปนี้จึงอาจจะสะท้อนถึงความคิดของคนบางคน แต่ก็อาจจะขัดต่อค่านิยมหรือความรู้สึกของอีกบางคนอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม เราคงจะหลีกเลี่ยงกระแสเรียกร้องของตลาดแรงงานในต่างประเทศและแนวโน้มที่กำลังจะระบาดในตลาดแรงงานภายในประเทศไม่ได้ การคิดและคาดการณ์แนวโน้มของตลาดแรงงาน
ขึ้นชื่อว่าไฟก็เป็นสิ่งที่เปรียบเสมือนแสงสว่างเป็นเครื่องมือเพื่อส่องนำทางไปสู่ความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นอนาคตหรือหน้าที่การงาน แต่ไฟแบบไหนนี่สิที่น่าจะมีประโยชน์และตรงกับความต้องการในตลาดมากกว่า ไฟแช็คนั้นจุดขึ้นมาแล้วก็จะเอาไว้ใช้เฉพาะที่ เพื่อเอาไว้จุดฟืนจุดไฟ หรือให้ความอบอุ่น แล้วนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรงได้เหมือนกับการสอบเป็นมืออาชีพเฉพาะทาง ส่วนไฟฉายนั้นเป็นแสงสว่างที่สาดส่องเพื่อกวาดไปทั่วทำให้เห็นทางเดินไปข้างหน้าได้ง่ายขึ้นและก็มีโอกาสขยับขยายได้ง่ายขึ้น เหมือนกับการเรียนต่อเอาดีกรีปริญญาเพิ่มเติม แล้วแบบไหนมีประโยชน์กว่ากันล่ะ ระหว่างไฟแช็คกับไฟฉาย
เพราะเวลาคนเราก็มีเท่ากัน คงจะเลือกเอาไฟแช็คหรือไฟฉายได้อย่างใดอย่างนึงเท่านั้น เพราะกว่าจะได้มันมาอายุก็มีสิทธิ์อยู่แถวสามย่าน ปาเข้าไปสามสิบแล้ว แถมหักโหมเกินไปอายุจะสั้นไปซะเปล่าๆ นี่ยังไม่นับรอยเหี่ยวที่เพิ่มบนใบหน้า
ในปัจจุบันคุณวุฒิ (qualification) ทางการศึกษาเป็นใบเบิกทางของความเป็นมืออาชีพที่ใช้ได้ทั้งชีวิต เหมือนที่คนเขาบอกว่า ทรัพย์สินที่อยู่ติดตัวกับคนเราได้ทั้งชีวิตคือวิชาความรู้ที่ติดตัวไม่สามารถมีใครแย่งไปจากเราได้ เอาเป็นว่าในโลกยุคนี้ ถ้าไม่มี qualification ก็คงจะหางานดีๆ ได้ยาก จึงไม่แปลกเลยที่เด็กนักเรียนจะแย่งกันสอบเอนทรานซ์เพื่อให้ได้เรียนมหาวิทยาลัยที่ดีๆ เพื่อที่จะให้ได้ประกาศนียบัตรตอนที่จบออกมาเป็นตัวนำทางสู่ความสำเร็จในก้าวต่อไปได้ ขอกล่าวเล็กน้อยสำหรับเป็นข้อเตือนใจเล่นๆ นะครับว่ามันเป็นเพียงแค่ก้าวต่อไปจริงๆ เพราะการสอบเอ็นทรานซ์ได้ ไม่ได้หมายถึงการการันตีความสำเร็จเสมอไป มันเพียงแค่ทำให้ความสำเร็จที่ฝันเอาไว้ ใกล้ความจริงมากขึ้นเท่านั้นเอง
เคยทราบหรือไม่ว่าคุณวุฒิ หรือ ที่เรียกกันว่า qualification นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ หลายๆ คน คงแต่จะคิดว่า ฉันจบปริญญา หรือ เอาปริญญาสูงๆ เข้าไว้ก็พอ ไม่เห็นต้องคิดอะไรมาก แต่จริงๆ ไม่ใช่ครับ เพราะว่าในโลกข้างนอก (ประเทศไทย) นั้นเขาเห็นความสำคัญของปริญญาน้อยลงทุกปี สาเหตุนึงก็คือ มีคนจบปริญญาสูงขึ้นจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ถ้าท่านไปเห็นพนักงานในองค์กรใหญ่ๆ จะเห็นว่ามันไม่เป็นการยากเลยที่จะรับคนจบปริญญาโทหรือเอกมาทำงาน ไม่ว่าจะจากในประเทศหรือนอกประเทศ คำถามก็คือว่าแล้วอะไรที่มันมีนอกเหนือไปจากปริญญาหรือไฟฉายที่มีได้ล่ะ
Qualification นั้นสามารถจำแนกออกเป็น academic qualification (ไฟฉาย) กับ professional qualification (ไฟแช็ค)
- academic qualification นั้นก็คือ ขั้นของการจบปริญญา ไม่ว่าจะเป็นตรี โท หรือ เอก ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงดีกรีความสามารถในหมวดที่เรียนไป เช่น วิศวกรรมศาสตร์, การเงินการบัญชี, เศรษฐศาสตร์, อักษรศาสตร์ เป็นต้น คนที่จบปริญญาเขาจะถือว่ามีความรู้เกี่ยวกับศาสตร์นั้นๆ (specific body of knowledge) อยู่ในระดับหนึ่งๆ
ผมจะเห็นคอมเม้นต์จากหลายๆ องค์กรว่าเขาไม่ค่อยอยากจะจ้างนักเรียนปริญญาตรีที่จบจากมหาวิทยาลัยดังๆ เท่าไร เพราะพวกเขาเหล่านี้จะอยากไปเรียนต่อปริญญาโทแล้วก็ลาออกเข้าซักวัน อันนี้เป็นความจริงครับ ผมลองมานึกดูแล้วก็เศร้าสำหรับค่านิยมของคนไทยเหมือนกัน เด็กจบใหม่จะเห็นว่าการทำงานในระดับปริญญาตรีเป็นแค่การทำงานเล่นๆ เพื่อค้นหาตัวเองบ้างล่ะ หรือไม่ก็เพียงเพราะคณะที่ต้องไปเรียนต่อเขากำหนดเอาไว้ว่าจะต้องมีประสบการณ์ทำงานมาก่อนจึงต้องทำงานไปงั้นๆ ก็มี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสูตรสำเร็จที่คนไทยเคยใช้ต่อๆ กันมาครับ และกว่าจะเริ่มตั้งต้นทำงานกันได้ ก็มีอายุเยอะไปตามกันๆ แล้ว ทีนี้ทางบริษัทก็ไม่แพ้กัน พอเห็นอย่างนั้นแล้วจึงให้ความสำคัญกับเด็กปริญญาตรีน้อยลง แล้วหันมาจ้างปริญญาโทมากขึ้น (แต่เงินเดือนตั้งต้นอาจจะไม่ต่างกับปริญญาตรีมาก) มันก็เข้าหลัก demand กับ supply ด้วยแหละครับ เมื่อมีคนจบโทมาให้บริษัทเลือกมากขึ้น บริษัทก็ยิ้มแปร้ ทั้งที่จริงแล้วความรู้และประสบการณ์อาจจะไม่ได้ต่างจากเด็กที่จบมาจากปริญญาตรีก็ได้ เพียงแต่บริษัทหรือนายจ้างเขาอาจจะอุ่นใจมากกว่าว่าเด็กจบปริญญาโทคงจะไม่ลาออกไปเรียนต่อที่ไหน เลยสามารถให้เงินเดือนได้มากกว่าเด็กไทยที่จบปริญญาตรี
แต่ทว่าสิ่งที่น่าสนใจไปกว่านี้ก็คือ ในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ฮ่องกง หรืออเมริกานั้น ปริญญาโทไม่ได้มีความหมาย (perceived value) มากเท่าบ้านเรา ผมไม่เคยได้ยินแม้กระทั่งคำว่า “โห คนนี้เขาจบโทนะ” หรือ “คนนี้เขาจบเอกนะ” จากคนต่างประเทศ ซึ่งคนไทยก็ชอบตบท้ายว่า “คนนี้เขาจบเมืองนอก” ด้วย คนไทยบางคนกว่าจะได้มาเจอของจริงจากชีวิตการทำงานก็ได้เสียเวลาผ่านไปเกือบครึ่งค่อนชีวิตแล้ว แต่ที่ประเทศอื่นๆ เท่าที่ผมได้มีโอกาสไปสัมผัสวิธีคิดวิธีทำงานเขานั้น ปกติเขามักจะถามกันว่า “คุณเคยทำอะไรสำเร็จมาแล้วในชีวิตบ้าง” กันมากกว่าการไปอวดอ้างปริญญาใส่กัน
ถ้าจะกล่าวกันจริงๆ แล้ว ปัญหาที่เป็นภาพรวมสำหรับเมืองไทยก็คือคนไทยยึดติดกับค่านิยมของการมีปริญญาไว้ในครอบครองมากจนเกินไป จนกระทั่งคนฮ่องกงหรือสิงคโปร์ไม่เข้าใจว่าทำไมคนไทยถึงยึดติดสิ่งนี้กัน แต่นี่เป็นเรื่องจริงครับ บางทีทำงานมีความสุขกับบริษัทอยู่ดีๆ เจ้านายรัก แต่ก็จำเป็นต้องลาออกไปเรียนต่อเมืองนอก เพราะมันจำต้องเรียนเพื่ออนาคต ไม่ใช่ว่าเรียนแล้วไม่ดีนะครับ ขอย้ำว่ามันจำเป็นต้องเรียนถ้าต้องการก้าวหน้าและมาทำงานอยู่ในเมืองไทยในอนาคต แต่ผมเชื่อเป็นการส่วนตัวว่าแนวโน้มของค่านิยมจากการมีปริญญาโทจะค่อยๆ หมดไป เมื่อเห็นแนวโน้มจากการมี professional qualification มาทดแทนเหมือนประเทศอื่นๆ
- professional qualification คือ คุณวุฒิเฉพาะทางในสายอาชีพ ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย เช่น วิชาชีพแพทย์ จะต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ หรือ แม้แต่ทนายความ ก็ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ แต่สิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ก็คือ professional qualification นั้นมีแนวโน้มว่าจะมีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งปกติแล้วการที่จะได้มาซึ่ง professional qualification นั้นก็จะต้องผ่านการสอบแบบที่ต้องสอบคล้ายๆ เอนทรานซ์ แต่เป็นเอนทรานซ์ระดับนานาชาตินะครับ! คุณไม่จำเป็นต้องไปเข้าเรียนหรือเช็คชื่อใดๆ ทั้งนั้น พอถึงเวลาสอบก็แค่เดินตัวเปล่ากับหัวใจที่ใสซื่อไปตอบข้อสอบให้ถูกเท่านั้น ถ้าผ่านเกณฑ์ (โดยปกติจะอิงกลุ่มด้วย) คุณก็ผ่านแล้วเป็นที่ยอมรับในสายวิชาชีพนั้นๆ ซี่งแอคชัวรีหรือคณิตศาสตร์ประกันภัยเองก็เป็นหนึ่งในสายอาชีพที่ให้ความสำคัญกับ Professional Qualification เป็นหลักเช่นกัน
ผมถามเพื่อนที่ไม่ใช่คนไทยจากหลายๆ ประเทศว่าถ้ามีคนมาสมัครงานกับเขาสองคน ทั้งสองคนมีบุคคลิกและหน่วยก้านดีทั้งคู่ (หน้าตาไม่นับ) คนนึงมี academic qualification สูงกว่าเช่นจบโท แต่ไม่มี professional qualification ส่วนอีกคนจบแค่ตรี แต่มี professional qualification บางส่วน (สอบผ่านบางขั้น) ถามว่าเขาจะเลือกรับคนแบบไหน ทุกคนเขาให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาจะเลือกแบบหลัง (ยกเว้นคนแรกจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาสามารถสอบเอา professional qualification ได้ตอนหลัง) เพราะในสมัยนี้มีคนเป็นจำนวนมากที่มี academic qualification (เช่นได้ปริญญาโทหรือเอก) แต่ก็ไม่สามารถสอบเอา professional qualification ได้ และการสอบ professional qualification นั้นก็เป็นสิ่งที่บริษัทหรือนายจ้างต้องการได้มาเพื่อเอามาใช้งานได้จริงๆ และมีเกณฑ์มาตรฐานระดับสากล ส่วนดีกรีปริญญา (academic qualification) นั้นเขาจึงขอแค่ปริญญาตรีก็พอแล้ว
ไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงคนจบปริญญาโทนะครับ เพราะผมเองก็บังเอิญมีปริญญาโท 2 ใบเหมือนกัน แล้วลูกน้องเก่าๆ ในฮ่องกงของผมก็เป็นคนจบโทด้วย แต่ถามว่าผมเลือกรับเขาเพราะจุดนั้นมั้ย ก็ขอบอกตามตรงว่าผมไม่ได้เอาเข้ามาเป็นตัวแปรในการตัดสินใจ (criteria) เลยด้วยซ้ำ ผมดูที่ประสบการณ์ทำงานกับ professional qualification ที่เขามีมากกว่า ซ้ำร้ายถ้าตำแหน่งนั้นรับคนที่ประสบการณ์การทำงานไม่มาก ผมยังอยากจะเลือกรับเอาคนที่อายุน้อยกว่ามาด้วย ไม่ใช่เพราะงูอยู่บนหัวนะครับ แต่เพราะว่าคนเหล่านี้เขาจะมีไฟในการเรียนรู้ที่แรงกว่า และเปิดใจในการไขว่คว้า professional qualification มากกว่า ซึ่งอันนี้คงเป็นกรณีเฉพาะในต่างประเทศ เพราะพวกเขาไม่ค่อยคิดจะลาออกเพื่อไปเรียนต่อกันเท่าไรนักด้วย
ผมขอยกตารางเปรียบเทียบ qualification ทั้งสองแบบนี้ให้ดูนะครับ เพื่อจะได้เห็นภาพกันได้มากขึ้น
Professional qualification หลังจากจบปริญญาตรี | |
เหตุผลที่ไม่เป็นเหตุผลของการเรียน : - เพื่อนๆ เขาจบโทกันหมดแล้ว (บ้าเห่อ) - พ่อแม่ขอร้องมา (อันนี้กตัญญู แบบกู่ไม่กลับ) - อยากเท่ (พ่อแม่มีเงิน) - อยากจะหลบ(หนี)ไปใช้ชีวิตที่เมืองนอก (อันนี้พ่อแม่ก็มีเงิน) |
เหตุผลที่เป็นเหตุผลของการเรียน : - ไม่เสียประสบการณ์ทำงาน - ไม่ต้องไปวุ่นเตรียมใบสมัคร - เกี่ยวข้องโดยตรงกับสายวิชาชีพ - ตรงตามมาตรฐานสากลโลก |
ดังนั้นหลายๆ คนเคยถามผมว่า การเรียนต่อปริญญาโทนั้นจำเป็นหรือเปล่า ผมว่าไม่ว่าที่ไหนๆ ก็สามารถเรียนรู้อยู่ทุกเวลาทุกสถานที่ได้ ขอแค่ให้มีกรอบความคิดที่จะเรียนรู้ ความรู้มันก็มาเอง การศึกษาต่อในระดับปริญญาโทก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เรามีเวลาไปทุ่มเทเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ต่างๆ ได้มากขึ้น แต่ถ้าถามว่าการมีปริญญาโทมีความจำเป็นสำหรับความก้าวหน้าในอาชีพการงานมั้ย ผมคงต้องขอตอบตามความเห็นส่วนตัวว่า มันก็คงจะจำเป็นระดับหนึ่ง ที่จำเป็นเพราะ ขณะที่เป็นอยู่นี้ตลาดไทยมันบังคับ มาตรฐานของสังคม ผมเป็นคนไทยเหมือนกัน ผมเข้าใจความรู้สึกนี้ดี แต่เมื่อมามีประสบการณ์ในการทำงานในต่างประเทศ ได้มีโอกาสได้สัมภาษณ์(ตอนรับลูกน้อง) และถูกสัมภาษณ์(ตอนถูกล่าตัว) ก็ได้กรอบความคิดที่เป็นอีกมุมมองนึงซึ่งต่างกับสิ่งที่คนไทยคิดโดยสิ้นเชิง
แต่ก็ถามต่อไปว่าแล้ว professional qualification ล่ะจำเป็นหรือเปล่า อันนี้จำเป็นมากครับ การเรียนเหล่านี้เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วก็หล่อหลวมกระบวนการความคิดให้ถูกต้องตามยุคสมัยปัจจุบัน จะสังเกตเห็นว่าตำราเรียนที่ใช้ตอนเรียนปริญญานั้นเป็นตำราที่แต่งมานานแล้ว บางเล่มแต่งมานานถึง 20 ปี หมายความว่าเป็นความรู้ที่ถูกแช่มากว่า 20 ปีแล้ว ดังนั้นเขาจึงบอกว่า ตำราเรียนจาก academic qualification นั้นเป็นแบบอยู่นิ่ง (static) แล้วหันมานิยม professional qualification ซึ่งเป็นแบบทันยุคสมัยและมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา (dynamic) เนื่องจากคณะกรรมการที่จัดหลักสูตรด้าน professional qualification ก็เป็นคนที่คัดสรรมาจากบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลก ที่เป็นจ้าวแห่งวงการนั้นๆ นั่นเอง ดังนั้นในตัวหลักสูตรจึงได้มีการเชื่อมโยงกับความรู้ในตลาดการทำงานในขณะนั้นด้วย
สุดท้ายนี้ ขอยกตัวอย่างของ professional qualification ที่อาจจะเคยได้ยินบ้างในเมืองไทยนะครับ
FSA (Fellowship of Society of A ctuaries) เป็น ขั้นสูงสุดของ professional qualification ของ แอคชัวรี (ปัจจุบันมีเพียง 6 คนในเมืองไทยเท่านั้น)
FRM (Financial Risk Manger) หรือ PRM (Professional Risk Manager) เป็น ขั้นสูงสุดของ professional qualification ของ financial risk management
CFA (Chartered Financial A nalysts) เป็น ขั้นสูงสุดของ professional qualification ของ financial analyst
CERA (Chartered Enterprise Risk A nalysts) เป็น ขั้นสูงสุดของ professional qualification ของ Enterprise Risk Management
CPA (Certified Public Accountant) หรือ A CCA (A ssociation of Chartered Certified A ccountants) เป็น ขั้นสูงสุดของ professional qualification ของ นักบัญชี
CIA (Certified Internal A uditor) เป็น ขั้นสูงสุดของ professional qualification ของ A uditor
CIPR (Chartered Institute of Public Relations) เป็น ขั้นสูงสุดของ professional qualification ทางด้าน Public Relations
ก่อนจะจบนั้น อยากจะแถมคำศัพท์ภาษากวางตุ้งที่ใช้กันในฮ่องกงอีกซักคำ เพราะคำว่าไฟฉายนั้นดันไปพ้องกับคำว่าไฟฉายในภาษากวางตุ้งซึ่งถือเป็นคำพูดหยาบคาบของเขาครับ ถ้าลองไปพูดใส่หน้าคนฮ่องกงว่า “ไฟฉาย” จะหมายถึงเรากำลังว่าเขาว่าไอ้คนไร้ประโยชน์ครับ
สำหรับคนไทยเราในตอนนี้ก็ควรจะเลือกมองหาไฟแช็คกันบ้างได้แล้วล่ะครับ เพราะมันเป็นไฟที่จุดขึ้นมาแล้วได้ใช้ประโยชน์เฉพาะทางเหมือน professional qualification หรือการสอบเป็นมืออาชีพเฉพาะทางนั่นเอง อย่ามัวแต่พุ่งความสนใจกับไฟฉายจนพลาดโอกาสอื่นๆ ที่ดีในชีวิตไปครับ