วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โอกาสที่สอง

กฎเทอร์โมไดนามิกส์ทางฟิสิกส์ข้อหนึ่งอธิบายว่า เมื่อทำชามตกแตก มันจะไม่ย้อนกลับกลายเป็นชามดี
ถ้าย้อนเวลากลับไปในอดีตได้ หลายคนคงอยากแก้ไขการกระทำหลายอย่างในอดีตของตน
จะไม่เลือกเรียนคณะนี้ จะไม่ทำงานกับบริษัทนั้น
จะไม่แต่งงานกับผู้ชาย (เฮงซวย) คนนั้น จะไม่จีบหญิงสาว(ซึ่งตอนนี้เป็นอีแก่) คนนี้ ฯลฯ

ความถวิลหา โอกาสที่สองอาจฝังอยู่ในอนุสติของคนทั่วไปโดยไม่รู้ตัว เป็นความรู้สึกดีอย่างหนึ่งเมื่อคิดว่า
บางทีสิ่งเลวร้ายที่เกิดกับเราในตอนนี้เป็นเพียงฝันร้าย เมื่อตื่นขึ้นเรื่องร้ายๆ ก็หายไป
ลองคิดดู หากโลกนี้มีเครื่องเดินทางย้อนเวลาจริง ทุกๆ คนก็พากันไปแก้ไขอดีต จนไม่มีใครก้าวไปข้างหน้า เพราะมัวแต่ยุ่งกับอดีต
โดยหวังว่ามันจะทำให้ชีวิตของตนสมบูรณ์ขึ้น

ความจริงคือ คุณรู้ได้อย่างไรว่า หากคุณสามารถย้อนเวลาและเลือกไม่เดินไปทางซ้าย สามารถไปทางขวาแทน
ผลลัพธ์ที่ตามมาจะดีกว่าเมื่อคุณไปทางซ้าย? และหากมันไม่ดีกว่า คุณยังจะขอโอกาสที่สาม สี่ ห้า... อีกไหม?
หากเราไม่สามารถยอมรับผลที่ตามมาของการตัดสินใจแต่ละครั้ง เราคงร้องหา โอกาสที่สองตลอดชีวิตไม่มีที่สิ้นสุด

มนุษย์เราเป็นสัตว์โลกที่ไม่เคยพอ ยากนักที่หาคนที่พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ง่ายๆ
หากบ้านของเพื่อนใหญ่กว่าของเรา เราก็อยากจะมีบ้านใหญ่เท่าหรือใหญ่กว่าของเขา หากเห็นคนอื่นเก่งมาก เราก็อยากเก่งเท่า หรือเก่งกว่าเขา
แต่เราไม่มีทางย้อนกลับไปแก้ไขทุกสิ่งที่ล่วงเลย
โอกาสที่สองนั้นมีจริง แต่มันไม่มาหาเรา เราต้องสร้างขึ้นมาเอง

ความจริงก็คือไม่มีเครื่องเดินทางย้อนเวลา ความจริงก็คือ เราเหลือแต่ปัจจุบันกับอนาคต เราคงต้องทำดีที่สุดจากสิ่งที่เรามี
นักแสดงหญิง ตาลลูลาห์ แบงก์เฮด กล่าวว่า ถ้าข้าพเจ้ามีชีวิตอีกสักครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าจะทำความผิดพลาดอย่างเดียวกัน เพียงแต่ว่าเร็วขึ้น
เอลเบิร์ต ฮับบาร์ด นักเขียน บรรณาธิการ คนพิมพ์หนังสือ ชาวอเมริกัน ผู้สร้างตัวจากความยากจน เคยกล่าวว่า
ความผิดพลาดใหญ่หลวงที่สุดที่คุณทำได้ในชีวิต คือ การกลัวอย่างต่อเนื่องว่าคุณจะทำความผิดพลาด

ในการเล่นดนตรี ทุกครั้งที่นักดนตรีเล่นผิดโน้ตและหยุดเล่น คนฟังจะจับได้ทันทีว่าเขาพลาด
แต่หากเขาเล่นต่อไป โดยพลิกแพลงโน้ตที่เล่นผิดต่อไป เพลงนั้นนอกจากจะไม่ล่มกลางคัน อาจจะกลายเป็นเพลงที่คนชอบกว่าเดิม
ประติมากรที่มีฝีมือ เมื่อพลาดพลั้งทำบางส่วนของรูปสลักหินอ่อนหัก จะพลิกแพลงแบบที่สลักโดยไม่ต้องนับหนึ่งใหม่

ชีวิตก็เช่นรูปสลักที่บางครั้งบิ่นหัก
ป่วยการตำหนิความผิดพลาดที่ผ่านพ้นไปแล้ว
ไร้ประโยชน์ที่จะระทมทุกข์กับอดีตที่ไม่สวยงาม
ชีวิตที่ผิดพลาดยังดีกว่าชีวิตที่ไม่ทำอะไรเลย

อย่าขับรถไปข้างหน้าด้วยเกียร์ถอยหลัง
ผิดเป็นครู เรียนรู้อดีต ก้าวไปในอนาคต

(ข้อมูล:  หนังสือเสริมกำลังใจชุด 2 “ความฝันโง่ๆโดย วินทร์ เลียววาริณ)

วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555

Actuarial Talk – ประสบการณ์จากเทศกาลปีใหม่ในฮ่องกง

Actuarial Talk – ประสบการณ์จากเทศกาลปีใหม่ในฮ่องกง
พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) FSA, FIA, FSAT, FRM

เทศกาลคริสต์มาส

เป็นที่รู้กันอยู่สำหรับคนฮ่องกงอยู่แล้วว่า ตัวอาคารต่างๆ ในฮ่องกงจะเริ่มประดับประดาด้วยไฟและตกแต่งด้วยข้อความต่างๆ เพื่อให้เข้ากับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ในแต่ละปี และก็เป็นช่วงหน้าเที่ยวไม่ว่าจะเป็นช้อปปิ้งหรือเดินชมทิวทัศน์เหมือนเดิม

ปกติแล้วพวกเขาจะเริ่มเอาเสื้อผ้าหน้าร้อนเข้ากรุ แล้วเอาเสื้อแขนยาวกับเสื้อหนาวมาใส่เข้าตู้เสื้อผ้า (ถ้ามี) แต่ก็คุ้มค่ารอเพราะบรรยากาศก็ดีเหมือนทุกๆ ปีที่ผ่านมา

วันหยุดประจำเดือนธันวาคมนั้นจะมีแค่คริสต์มาสอีฟ (วันก่อนวันคริสต์มาสหนึ่งวัน) และวันคริสต์มาสเท่านั้น ส่วนวันปีใหม่นั้นจะหยุดแค่วันที่ 1 มกราคม แค่วันเดียว ดังนั้นวันที่ 31 ธันวาคมนั้นถ้าไม่ลาหยุดพักร้อนกัน ก็คงยังทำงานกันอยู่ แต่เนื่องจากฮ่องกงได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตกมาก พูดในอีกนัยหนึ่งก็คือมีคนจากแถบตะวันตกเข้ามาในงานอยู่ในฮ่องกงกันซะมาก พวกเจ้านายทั้งหลายจะหยุดลาพักร้อนยาวเพื่อกลับไปบ้านเกิดตัวเองในช่วงคริสต์มาสนี้เอง เดือนธันวาคมจึงเต็มไปด้วยบรรยากาศวันหยุดเพื่อการพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ และครอบครัว

ปกติแล้วเราจะเริ่มเห็นต้นคริสต์มาสอยู่ตามห้างและตัวตึกต่างๆ ก่อนล่วงหน้าประมาณเดือนนึง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอากาศที่จะหนาวเร็วหรือหนาวช้า เอาเป็นว่าถ้าเริ่มเห็นคนเอาผ้าพันคอใส่เดินนอกบ้านเมื่อไร ช่วงนั้นจะสังเกตเห็นต้นคริสต์มาสจะเริ่มถูกนำมาจัดวางและตกแต่งซักประมาณหนึ่งอาทิตย์เห็นจะได้ โดยเฉพาะต้นยักษ์ใหญ่ที่อยู่บริเวณ Financial Hub ในเขต Central นั้นจะต้องใช้เวลาในการวางแผนและตกแต่งนานที่สุด (แต่รับรองว่าเสร็จทันตามกำหนดการแน่) เวลาที่คนเดินไปทำงานตอนเช้าและกลับบ้านแถวนั้นทีไร จะเห็นความอลังการของต้นคริสต์มาสต้นนี้ทุกที ซึ่งจากในรูปจะเห็นได้ว่าตึกข้างหลังจากซ้ายไปขวาคือโรงแรมแมนดาริน ตึกจาดีนเฮาส์ แล้วก็ตึก IFC 2 (International Financial Center 2) อยู่เป็นฉากด้านหลัง สำหรับความสูงของตึกที่เป็นฉากหลังนั้น คงไม่ต้องบอกครับว่าสูงแค่ไหน ตอนกลางวันจะเป็นย่านทำงานที่เป็น Financial Hub ตามปกติ แต่พอตกกลางคืนบริเวณนั้นจะกลายเป็นแหล่งของนักท่องเที่ยวให้มาถ่ายรูปกัน ซึ่งเค้าจะใช้ชื่อว่า Santa’s Town บริเวณนี้จะอยู่ตรงกลางระหว่างตึก HSBC, Standard Charter, Prince building, Mandarin Hotel, Citibank, Bank of China, และ AIA Central เป็นต้น เรียกว่าตอนที่ผมเคยทำงานอยู่แถวนั้น ได้เดินผ่านทุกครั้งที่กลับบ้านทุกที (จะบอกว่ากว่าจะสามารถออกจากที่ทำงานได้ ฟ้าก็มืดแล้วก็กะไรอยู่)







เทศกาลตรุษจีน

 กง เห ฝัด ชอย เป็นคำกล่าวทักทายต้อนรับกันของชาวฮ่องกงในช่วงปีใหม่ของจีนนี้ เครือๆ เดียวกับ ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ของคนแต้จิ๋วในไทยเราแหละครับ

ปีนี้เพิ่งจะฉลองปีใหม่ไม่ทันหายเหนื่อย ก็ย่างเข้าวันตรุษจีนไปซะแล้ว คนฮ่องกงที่นั่นจะเรียกว่า Lunar New Year และบางครั้งเราจะเขียนย่อว่า CNY (Chinese New Year) ก็มี ซึ่งถ้าปีไหนค่อนข้างโชคดีที่วันหยุดราชการตรงกับวันจันทร์ถึงวันพุธ ก็เท่ากับว่าได้หยุดสามวันรวด (เพราะโดยปกติในฮ่องกงแล้ว ถ้าวันหยุดราชการไปทับกับวันเสาร์แล้วจะไม่มีวันหยุดชดเชยให้) คนที่ไม่ใช่คนฮ่องกงก็เลยวางแผนกลับบ้านหรือเที่ยวกันเหมือนเคย

ถ้าจะนึกกันถึงวันตรุษจีน คนไทยเชื้อสายจีนก็คงนึกถึง “อั่งเปา ที่แปลว่าซองสีแดง เป็นอันดับแรก แล้วก็ไม่ผิดที่คิดแบบนี้หรอกครับ เพราะนี่เป็นธรรมเนียมแต่เดิมมาของคนจีน จะต่างกันเสียก็ตรงรายละเอียดเล็กน้อย อย่างเช่น ใครจะเป็นคนให้ใคร แล้วใส่ซองกันประมาณไหน ซึ่งโดยปกติแล้ว คนฮ่องกงที่จะแจกซองแดงได้ก็คือคนที่แต่งงานแล้วเท่านั้น (ส่วนซองขาวไล่ออกนั้น ไม่ว่าเจ้านายเชื้อชาติไหนก็แจกได้) ต่างกับคนไทยเชื้อสายจีนที่จะแจกซองกันเมื่อเริ่มทำงานหาเงินเองได้ หรือแต่งงานไปแล้ว

อย่างนี้คนที่แต่งงานแล้วก็เสียเปรียบน่ะสิ นี่คือสิ่งที่ผมฉุกคิดขึ้นมาได้ แต่ความจริงแล้ว เวลาที่จะไปเป็นแขกในงานแต่งงานนี่เค้าต้องใส่ซองกันหนักเหมือนกัน (ตั้งแต่ 300 เหรียญ, 500 เหรียญ, และ ถึง 800 เหรียญฮ่องกงเลยทีเดียว) คิดเสียว่าช่วงตรุษจีนเป็นช่วงเอาคืน เพราะซองปกติที่ได้จากเพื่อนร่วมงานก็จะอยู่ที่ 20 เหรียญเท่านั้น (แต่บางทีก็มีโอกาสได้ถึง 500 – 1000 เหรียญจากผู้ใหญ่บ้างก็มี) เพราะผมยังไม่แต่งงานจึงไม่ต้องแจกให้ทุกคน ให้แต่เฉพาะลูกน้องที่ทำงานให้เราเท่านั้นก็พอ แต่อย่าให้จำนวนที่มีเลข 4 อยู่นะครับ เพราะมันถือเป็นตัวเลขที่ไม่ดีของคนจีนเค้า (เพราะไปพ้องกับคำอ่านว่า “เส” ซึ่งแปลว่า “ตาย”) ส่วนตัวเลขที่ดีคือเลข 8 ซึ่งอ่านว่า “ปัด” (ซึ่งคำอ่านไปพ้องกับความหมายที่แปลว่าความโชคดี) ดังนั้น เวลาซื้ออพาร์ทเมนต์ชั้นที่มีตัวเลขลงท้ายด้วยเลข 4 ก็จะได้ถูกเป็นพิเศษ ส่วนชั้นที่มีตัวเลขลงท้ายด้วยเลข 8 นั้นก็จะมีราคาขยับสูงขึ้นมากว่าชั้นอื่นๆ

แล้วก็อย่างที่พอทราบกันอยู่ครับว่าในช่วงตรุษจีนนั้นเป็นช่วงที่บรรดาเหล่าญาติพี่น้องจะมารวมตัวกัน ซึ่งก็มีการจุดธูป กินหมูเห็ดเป็ดไก่ไปตามเรื่องตามราวเหมือนในประเทศไทยเรา แต่สิ่งที่จะต้องระวังเอาไว้สำหรับคนที่ทำอาหารกินเองไม่เป็นก็คือ การที่บรรดาร้านค้าต่างๆ จะปิดทำการเช่นกัน เพราะฉะนั้นการจะหาอาหารกินในช่วงนั้นจึงค่อนข้างทำได้ยาก ต้องอาศัยการซื้อของมาตุนเพื่อปรุงอาหารทำกินเองประทังไปวันๆ จนกว่าจะพ้นช่วงตรุษจีน แต่เมื่ออยู่ๆ ไปก็ชินเอง แถมได้ฝึกตัวเองไปในตัวด้วย (ไม่รู้ฝึกวิธีปรุงอาหาร หรือ ฝึกลิ้นให้ชินกับรสชาติอาหารที่ทำเอง) แต่เอาเป็นว่าคงจะชินไปเองแล้วกันครับ

ในทุกๆ ปี ก็จะมีงานเทศกาลที่จัดในช่วงตรุษจีน ซึ่งจะเรียกว่าเป็นงานวัดก็ไม่เชิง เพราะมีบรรดาาร้านค้ามาตั้งขายของที่ลานกันแน่นไปหมด คนก็จะแน่นมากๆ แน่นอย่างที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน เป็นปรากฎการณ์ที่น่าจับตามองดีๆ แต่เนื่องจากอากาศในช่วงงานนี้จะหนาว เพราะซะนั้นก็อาจทำให้รู้สึกไม่แออัดมากนัก และในสมัยนั้น ผมก็ไปอยู่ทุกปีเพราะมันน่าสนใจดี สินค้าแต่ละอย่างนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้วจะนำมาขายในงานนี้เท่านั้น แล้วเอกลักษณ์ที่ว่านี้ก็คือการเล่นคำในการเรียกสิ่งของสิ่งนั้นให้มีเสียงพ้องกับคำอวยพรที่เป็นภาษาจีนของปีนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ในปีที่เป็นปีมังกร ก็จะมีสินค้าที่เกี่ยวกับมังกรออกมาเต็มไปหมด แล้วสินค้าที่ขาดไม่ได้ก็คือเครื่องประดับที่เขียนตัวอักษรจีนที่ให้โชคลาภ อย่างมีอยู่ปีนึงก็ได้คว้าเอาหมอนที่เขียนคำว่า “โชคดี มา ซึ่งก็ใช้ได้ดีจริงๆ และตอนนี้ก็คงจะหาซื้อที่ไหนก็ไม่ได้อีกแล้ว


ช่วงเวลาของการทำงานในเดือนที่มีเทศกาลตรุษจีนนี้ จึงเหมือนหยุดอยู่กับที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่มีวัฒนธรรมจีนเยอะ อย่างเช่น สิงคโปร์ มาเลเชีย ฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเชีย และจีน ทุกๆ คนในที่ทำงานก็จะอยู่ช่วง holiday mood กันซะหมด แต่อาจจะผิดกับประเทศอินเดียที่เคยทำงานด้วยแล้วจะดูคึกคักเป็นพิเศษ และสำหรับคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิค ซึ่งไม่ใช่ดูแลแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็เป็นอันว่าอดมี holiday mood เหมือนคนอื่นเลย

ซัน ไถ กิ่ง ห่อง (ขอให้สุขภาพแข็งแรง) คำเหล่านี้ต้องฝึกไว้ใช้เวลารอรับอั่งเปาในสมัยที่อยู่ฮ่องกงครับ ถึงจะยากแค่ไหนก็จำเข้าหัวได้เอง (ฮา...)