วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จะดีแค่ไหน ถ้าจัดการความเสี่ยงให้ทำเงินได้


 
การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) เป็นการจัดการเงินลงทุนของเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นนั้นให้มีภูมิคุ้มกันกับความเสี่ยงที่เข้ามาก่อกวนให้สินทรัพย์และหนี้สินเกิดความผันผวนโดยไม่จำเป็น และทุกคนที่จะเข้ามาบริหารธุรกิจที่เกี่ยวกับการเงิน จึงต้องรู้ถึงความสำคัญในเรื่องการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) ตลอดจนพื้นฐานของความเข้าใจในด้านการจัดการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจและการลงทุนเบื้องต้น ถ้าทำได้ ธุรกิจก็จะสามารถเติบโตและทำเงินอย่างยั่งยืนได้

 
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินของธุรกิจประกันภัย เพราะบริษัทประกันภัยเมื่อเก็บเบี้ยประกันมาจากลูกค้าแล้ว ก็คงจะไม่เก็บใส่ตุ่มเอาไว้เฉยๆ แต่บริษัทจะเอาเงินเหล่านั้นไปลงทุนให้มีผลงอกเงยขึ้นมา เบี้ยประกันและดอกเบี้ยที่ได้จากการลงทุนเหล่านั้นก็จะกลายเป็นสินทรัพย์ของบริษัทนั่นเอง และสินทรัพย์เหล่านี้จะถูกนำไปจ่ายค่าสินไหมทดแทน (claim) ให้กับลูกค้าเมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ซึ่งค่าสินไหมเหล่านี้ก็คือหนี้สิน (Liability) ที่บริษัทต้องตั้งเอาไว้นั่นเอง

 
บริษัทประกันภัยจึงต้องแน่ใจว่าสินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่นั้นจะสามารถนำออกมาจ่ายเป็นเงินเมื่อยามที่บริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับลูกค้า ซึ่งนั่นก็หมายความว่าสินทรัพย์จะต้องประคองหนี้สินที่บริษัทมีอยู่ได้ ในทางปฏิบัติแล้วเราจะต้องจับกระแสเงินสดที่จะไหลออกมาจากสินทรัพย์ให้เข้าคู่กับกระแสเงินสดของหนี้สินที่จะไหลออกในแต่ละช่วงระยะเวลาให้ดี (Matching Asset with Liability) และสำหรับการประกันภัยแล้ว การจะรู้ว่าจะต้องจ่ายเงินออกในช่วงไหนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยทีเดียว แอคชัวรีจะต้องอาศัยทฤษฎีความน่าจะเป็นและสถิติประยุกต์เข้ามาช่วยจัดการในเรื่องนี้


เนื่องจากหนังสือตามท้องตลาดในปัจจุบันจะเป็นหนังสือประเภทเน้นการลงทุนและเน้นเรื่องผลตอบแทนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ทอง ที่ดิน หรือการสร้างธุรกิจในออนไลน์ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือการที่ทุกคนมองเห็นแต่เพียงผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้รับ โดยลืมไปว่าทุกสิ่งอย่างนั้นมีความเสี่ยงแฝงตัวอยู่ เมื่อมองดูรอบๆ ตัวแล้ว เราจะเห็นว่า บทความหรือความรู้ทางด้านการจัดการความเสี่ยงนั้นยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายหรือเข้าใจในบรรดาผู้บริหารหรือนักลงทุนประเทศไทยเท่าใดนัก

 
ผมได้ใช้เวลารวบรวมงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเวลามากกว่า 2 ปี ในระหว่างนั้นก็ได้เอาเนื้อหาเหล่านี้ไปสอนการเงินระดับปริญญาโทให้กับนักศึกษาไปด้วย ทำให้สามารถปรับแต่งภาษาและวิธีการอธิบายจนให้ได้ภาษาที่เข้าใจง่าย เหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้ และเพื่อเป็นการเผยแพร่และสร้างความตื่นตัวของการบริหารจัดการความเสี่ยงเบื้องต้นให้กับบุคคลทั่วไป ผมจึงตัดสินใจตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมา 10,000 เล่มในการพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยตั้งชื่อหนังสือว่า “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” และมอบให้ “ซีเอ็ด” เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป

 
สามารถหาซื้อหนังสือ “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ “ซีเอ็ด” ทั่วประเทศ โดยหนังสือเล่มนี้มีอยู่ประมาณ 180 หน้า ในราคา 222 บาท เนื่องจากเป็นการพิมพ์ 4 สี และมีรูปภาพประกอบ เพื่อให้อ่านได้ง่าย และเนื้อหาไม่หนักจนเกินไป โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงิน ที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียด และยังได้แนะแนวเทคนิคการลงทุน ซึ่งแสดงถึงข้อดีและข้อเสียของความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ไว้อีกด้วยครับ

 
·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ


แจกลายเซ็นหนังสือ "ให้เงินทำงาน - การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี" ของ อ.ทอมมี่ วันที่ 26 ตุลา (14.30-16.00) วันสุดท้ายแล้ว แวะมาเยี่ยมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทางคณิตศาสตร์ประกันภัยกันได้ครับ

ใครที่ยังไม่ได้ไปสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์สิริกิตต์ มาแวะทักทายกันนะครับ เสาร์นี้ 2.30pm - 4.00pm ที่โซน C2 / V07 ซุ้ม SE-ED ครับ

https://www.facebook.com/thaiactuary



 

วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี


การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management - ALM) มีความสำคัญกับทุกวงการ และยิ่งมีความสำคัญมากจนถึงขั้นมากที่สุดในวงการประกันภัย เพราะถ้าคร่ำหวอดอยู่กับวงการมานาน จะรู้ว่าบริษัทประกันภัยหลายแห่งในโลกนั้นได้ปิดกิจการหรือล้มละลายก็เพราะว่าทำ Asset Liability Management ได้ไม่รัดกุมเพียงพอ และการทำ Asset Liability Management นั้นก็ยิ่งมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นภายในกรอบของ RBC (Risk Based Capital) ที่ถูกกำหนดให้นำมาใช้ เรียกได้ว่าถ้าทำ Asset Liability Management ได้ไม่ดีก็จะส่งผลให้บริษัทต้องถือ “มูลค่าเงินกองทุนขั้นต่ำ” ที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่งผลให้คนที่ทำ RBC หนาวกันไปตามๆ กัน

 
เรียกได้ว่าหัวใจของการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) คือการบริหารเงินส่วนเกินของสินทรัพย์ (Asset) ที่มีค่ามากกว่าหนี้สิน (Liability) โดยตั้งอยู่บนความเสี่ยงที่รับได้ ซึ่งเงินส่วนเกินของสินทรัพย์ (Asset) ที่มีค่ามากกว่าหนี้สิน (Liability) นั้นจะเรียกกันว่า ส่วนของเจ้าของ ส่วนของผู้ถือหุ้น หรือเงินทุน ก็ว่าได้

 
ถ้าเราแปลกันตรงตัวของคำว่า Asset Liability Management ก็จะหมายความว่าการจัดการสินทรัพย์กับหนี้สิน แต่ในที่นี้จะเป็นการบริหารจัดการ“ความสัมพันธ์” ของสินทรัพย์กับหนี้สินซะมากกว่า และตัวย่อของคำนี้ก็คือ ALM ซึ่งมีการจัดสอนกันจนเป็นหนึ่งในวิชายอดฮิตของแอคชัวรีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยกันเลยทีเดียว
 

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) จึงเป็นการจัดการเงินลงทุนของเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นนั้นให้มีภูมิคุ้มกันกับความเสี่ยงที่เข้ามาก่อกวนให้สินทรัพย์และหนี้สินเกิดความผันผวนโดยไม่จำเป็น และทุกคนที่จะเข้ามาบริหารธุรกิจที่เกี่ยวกับการเงิน ควรต้องรู้ถึงความสำคัญในเรื่องการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) ตลอดจนพื้นฐานของความเข้าใจในด้านการจัดการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจและการลงทุนเบื้องต้น

 
นอกจากนี้ การจัดการความเสี่ยงในการบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินขององค์กร จึงมีไว้เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบกับผลประกอบการของบริษัทได้ อีกทั้งยังสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับการบริหารความเสี่ยงอื่นๆ ได้ และการรู้เท่าทันความเสี่ยงทางด้านการเงิน (Financial Risk Management) จึงมีความสำคัญต่อการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินทั่วไปที่มีหนี้สินระยะยาว (Long term liability) และมีมูลค่าที่ผันผวนกับสภาพอัตราดอกเบี้ยในตลาดได้ง่าย

 
ผมได้ใช้เวลารวบรวมงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเวลามากกว่า 2 ปี ในระหว่างนั้นก็ได้เอาเนื้อหาเหล่านี้ไปสอนการเงินระดับปริญญาโทให้กับนักศึกษาไปด้วย ทำให้สามารถปรับแต่งภาษาและวิธีการอธิบายจนให้ได้ภาษาที่เข้าใจง่าย เหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้
 

เพื่อเป็นการเผยแพร่และสร้างความตื่นตัวของการบริหารจัดการความเสี่ยงเบื้องต้นให้กับบุคคลทั่วไป ผมจึงตัดสินใจตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมา 10,000 เล่มในการพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยตั้งชื่อหนังสือว่า “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” และมอบให้ “ซีเอ็ด” เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป โดยหนังสือเล่มนี้มีอยู่ประมาณ 180 หน้า ในราคา 222 บาท เนื่องจากเป็นการพิมพ์ 4 สี และมีรูปภาพประกอบ เพื่อให้อ่านได้ง่าย และเนื้อหาไม่หนักจนเกินไป โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงิน ที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ

 

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หนังสือการจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย (จากแอคชัวรี)


ผมสอนการเงินระดับปริญญาโทมาได้ระยะเวลาหนึ่ง ก็ได้เห็นว่าเรายังไม่มีหนังสือภาษาไทยที่พอจะอ้างอิงเป็นกึ่งตำราเรียนกึ่งหนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับนักศึกษาได้อ่าน นอกเหนือจากตำราที่เป็นภาษาอังกฤษ เนื่องด้วยผมพอจะมีประสบการณ์ตรงในการจัดการบริหารความเสี่ยงอยู่บ้าง ผมจึงได้รวบรวมประสบการณ์ในการจัดการบริหารความเสี่ยงและเขียนออกมาเป็นหนังสือ และถึงแม้ว่าเนื้อหาจะออกแนววิชาการ แต่ก็พยายามเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย ไม่เป็นวิชาการมากเกินไป เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่สนใจในการบริหารความเสี่ยงได้ลองอ่านดู

หัวข้อที่ผมเลือกมาเขียนก็คือ “การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management – ALM)” เพราะความรู้ในด้านการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงินเป็นเทคนิคเพื่อใช้สำหรับการจัดการความเสี่ยงในการบริหารงานและการลงทุนทุกประเภท ซึ่งจะเห็นว่าในทางธุรกิจนั้น สินทรัพย์ (Asset) คือ สิ่งที่มีมูลค่าเป็นตัวเงินที่มีอยู่ในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้ก็ตาม ส่วนหนี้สิน (Liability) ในทางธุรกิจนั้น คือ มูลค่าของการมีพันธะ (Obligation) หรือภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายคืนให้เจ้าหนี้ในอนาคต

ถ้าเข้าใจธุรกิจเพียงด้านสินทรัพย์ (Asset) หรือด้านหนี้สิน (Liability) เพียงด้านใดด้านหนึ่งก็เท่ากับก้าวเท้าข้างหนึ่งไปสู่ความล้มเหลวในการทำธุรกิจ ซึ่งการไม่รู้หรือไม่เข้าใจอะไรเลยก็อาจจะเป็นการดีกว่าการรู้อะไรเพียงครึ่งหนึ่งก็ได้ เพราะการรู้เพียงครึ่งหนึ่งอาจจะทำให้การวางกลยุทธ์ของธุรกิจที่วางไว้ผิดเพี้ยนไปอย่างที่ไม่สามารถกลับมาแก้ไขสถานการณ์อีกได้ ทั้งนี้เป็นเพราะการที่มีสินทรัพย์ (Asset) มากก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจนั้นจะมีกำไรมากหรือประสบความสำเร็จ ในทางกลับกันการที่ถือสินทรัพย์ (Asset) ไว้มากเกินความจำเป็นจะทำให้เกิดต้นทุนของความเสี่ยงที่ตามมาได้
 

เพราะไม่มีธุรกิจและการลงทุนใดที่ไร้ซึ่งความเสี่ยง มีแค่ว่าจะเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยก็เท่านั้น ซึ่งการประเมินผลประกอบการและราคาหุ้นในสมัยนี้ควรจะรวมต้นทุนของการจัดการความเสี่ยงเหล่านี้เข้าไปด้วย

ผมได้ใช้เวลารวบรวมงานเขียนชิ้นนี้เป็นเวลามากกว่า 2 ปี ในระหว่างนั้นก็ได้เอาเนื้อหาเหล่านี้ไปสอนนักศึกษาไปด้วย ทำให้สามารถปรับแต่งภาษาและวิธีการอธิบายจนให้ได้ภาษาที่เข้าใจง่าย เหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้ และเห็นสมควรนำมาเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปได้รู้จักกับ “การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน” อย่างถูกวิธี ซึ่งจะมองวิธีการจัดการสินทรัพย์ (Asset) และหนี้สิน (Liability) ไปพร้อมๆ กัน เพราะการเห็นเพียงแค่ภาพของสินทรัพย์ (Asset) และหนี้สิน (Liability) จากงบการเงิน (Financial Statement) เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถจะบอกอะไรได้ทั้งหมด เราจึงจำเป็นจะต้องรู้ถึงความเสี่ยงหรือการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นกับสินทรัพย์ (Asset) และหนี้สิน (Liability) ในอนาคตให้ได้ด้วย

นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังได้แนะแนวเทคนิคการลงทุน ซึ่งแสดงถึงข้อดีและข้อเสียของความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ไว้อีกด้วย

 
เพื่อเป็นการเผยแพร่และสร้างความตื่นตัวของการบริหารจัดการความเสี่ยงเบื้องต้นให้กับบุคคลทั่วไป ผมจึงตัดสินใจตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมา 10,000 เล่มในการพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยตั้งชื่อหนังสือว่า “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” และมอบให้ “ซีเอ็ด” เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป โดยหนังสือเล่มนี้มีอยู่ประมาณ 180 หน้า ในราคา 222 บาท เนื่องจากเป็นการพิมพ์ 4 สี และมีรูปภาพประกอบ เพื่อให้อ่านได้ง่าย และเนื้อหาไม่หนักจนเกินไป โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงิน ที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ


·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

งานหลังบ้านของแอคชัวรี


สืบเนื่องมาจากการสัมภาษณ์ในรายการ “ก้าวทันประกันภัย” ทางช่อง Nation Channel ที่ได้พูดคุยเกี่ยวกับอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร อาชีพนี้ทำอะไรบ้าง จนมาถึงคำถามที่ว่า “ในแต่ละวันนั้นแอคชัวรีได้ทำอะไรบ้าง”


งานของแอคชัวรีถ้าจะเปรียบง่ายๆ แล้วก็ยังแบ่งออกเป็นงานหน้าบ้านกับงานหลังบ้าน ซึ่งคราวที่แล้วได้อธิบายถึง “งานหน้าบ้าน” ของแอคชัวรีกันมาพอสมควร คราวนี้จึงขอหยิบยก “งานหลังบ้าน” มาแจกแจงกันบ้าง
 

งานหลังบ้าน เป็นงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่างานหน้าบ้านเลย ถ้าเปรียบการสร้างแบบประกันขึ้นมาแบบหนึ่งให้เหมือนกับการสร้างตึกแล้ว งานหน้าบ้านคือการออกแบบแปลนและคำนวณว่าตึกที่จะสร้างนั้นจะมีคนมาซื้อและเมื่ออยู่แล้วจะไม่ล้มพังลงมา แต่เมื่อตึกนั้นได้ถูกขายไปแล้ว งานหลังบ้านจะรับช่วงต่อมาในการดูแลรักษาตึกให้มีสภาพเรียบร้อยและทำให้คนที่เข้ามาอยู่มั่นใจได้ว่าตึกนี้มีความมั่นคงแข็งแรง ไม่หวั่นแม้วันน้ำท่วม แผ่นดินไหว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการที่ลูกค้าได้ซื้อแบบประกันไปนั้นก็หมายความว่าบริษัทประกันภัยจะต้องจัดการความเสี่ยง ดูแลงบการเงิน เพื่อมั่นใจในความสามารถในการชำระหนี้ได้ (solvency) ของบริษัทเอาไว้จนกว่าวันที่ต้องจ่ายเงินคืนให้กับลูกค้า


งานหลังบ้านจึงเป็นอะไรที่ต้องดูแลผู้ถือกรมธรรม์ไปตลอดอายุสัญญาที่ได้เขียนเอาไว้ ถ้าเป็นแบบประกันชีวิตที่คุ้มครองตลอดชีวิตแล้ว นั่นก็หมายถึงการที่จะต้องจัดการดูแลกรมธรรม์นั้นไปตลอดชีวิตของลูกค้า ถึงแม้ว่าบริษัทขายสินค้ามานานแล้วหลายสิบปี แต่สินค้าที่ขายมาตั้งแต่บริษัทยังเริ่มก่อตั้งนั้น ก็ยังคงสภาพเหมือนตึกที่สร้างเอาไว้ ต่างกันตรงที่ว่าตึกที่เก่าแล้วยังสามารถทุบทิ้งและสร้างใหม่ได้ แต่กรมธรรม์นั้นจะยังคงอยู่คู่กับบริษัทตลอดไป ผลิตภัณฑ์ประกันภัยจึงเป็นอะไรที่ต้องมีการจัดการดูแลมากกว่าสบู่หรือผงซักฟอกที่ขายแล้วก็ขายเลย (แน่นอนว่าคงต้องมีบริการหลังการขายอยู่)


งานหลังบ้านของแอคชัวรีสามารถจำแนกออกได้คร่าวๆ ดังนี้

1.               งานทางด้านการประเมินมูลค่าของหนี้สิน (Liability valuation) ซึ่งจะต้องประเมินค่าต้นทุนที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเท่าไร โดยใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัยเข้ามาประยุกต์และเอามาคำนวณมูลค่าเพื่อตั้งหนี้สิน (Liability) ในงบการเงินของบริษัท ซึ่งหนี้สินสำหรับผู้ถือกรมธรรม์นั้นโดยหลักการแล้วจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ 1) เงินสำรองกรมธรรม์ประกันภัย (Policy Reserve) และ 2) เงินสำรองสินไหมทดแทน (Claim Reserve) ซึ่งมีวัตถุประสงค์และการตีความเงินสำรองทั้ง 2 ชนิดต่างกัน มีความสำคัญต่างกันระหว่างบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย

2.               การวิเคราะห์งบกำไรขาดทุน (Profit and Loss analysis) เพราะเงินสำรองที่ตั้งเพิ่มขึ้นในแต่ละปีนั้น คือการทำให้บริษัทรับรู้กำไรในปีนั้นได้น้อยลง ในมุมกลับกัน ถ้าแอคชัวรีปล่อยเงินสำรองออกมาใช้ในปีนั้น ก็จะเป็นการรับรู้กำไรในปีนั้นให้มากขึ้น ซึ่งการจะตั้งเพิ่มขึ้นหรือปล่อยออกมาเท่าไรนั้นก็จะต้องขึ้นกับหลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัย และชนิดของงบการเงินที่บริษัทใช้อยู่

3.               การจัดการความสามารถในการชำระหนี้ได้ของบริษัท (Solvency ratio) ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากเงินสำรองที่บริษัทจะต้องตั้งแล้ว บริษัทยังต้องตั้งเงินกองทุนขั้นต่ำที่เอาไว้รองรับความเสี่ยงด้านต่างๆ เอาไว้ด้วย

4.               การจัดการเงินกองทุน (Capital Management) เป็นสิ่งที่นักลงทุนและผู้ถือหุ้นของบริษัทได้เน้นหนักในปัจจุบันนี้ เพราะเงินทุนแต่ละเม็ดนั้นมาจากนักลงทุนและผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งนั้น การจัดการเงินทุนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดี การจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น การจัดการดูแลกรมธรรม์และให้เงินปันผลแก่ลูกค้า ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องนำไปพิจารณาร่วมกับความเสี่ยงที่เหมาะสมด้วย

5.               การประเมินมูลค่าของบริษัท (Appraisal Value) ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ทำกันเป็นประจำสำหรับบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น เนื่องจากราคาหุ้นของบริษัทมีค่าเท่ากับมูลค่าของบริษัทหารด้วยจำนวนหุ้นนั่นเอง การประเมินมูลค่าบริษัทจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด และนำตัวเลขที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น มาคำนวณเป็นมูลค่าของบริษัท ส่วนบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้นนั้นอาจจะมีการประเมินมูลค่าของบริษัทอยู่บ้างในแง่ของการซื้อขายบริษัทหรือควบรวมกิจการ

6.               อื่นๆ เช่น งานการประกันภัยต่อ (Reinsurance) งานการเก็บรวมรวมสถิติข้อมูล (Statistic report) งานการจำลองโมเดล (Modeling) เป็นต้น


ทั้งนี้ งบการเงินของแต่ละบริษัทก็มีหลายแบบแตกต่างกันไป บางบริษัทนั้นมีงบการเงินมากถึง 5 – 6 แบบเลยทีเดียว


ภาพงานของแอคชัวรีจึงเป็นเหมือนกับภูเขาน้ำแข็ง ที่มองเห็นผิวเผินแล้วจะมีน้ำแข็งที่ยื่นโผล่มาบนผิวน้ำไม่มาก แต่โดยปกติแล้วภูเขาน้ำแข็งจะมีน้ำแข็งอยู่ใต้ผิวน้ำมากกว่าน้ำแข็งที่อยู่บนผิวน้ำถึง 10 เท่า แล้วคุณล่ะครับ เห็นภาพของภูเขาน้ำแข็งก้อนนี้หรือยัง


สำหรับท่านที่สนใจอยากดูคลิปการสัมภาษณ์สดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ประกันภัยในรายการก้าวทันประกันภัย ก็สามารถเข้าไปที่ YouTube แล้วพิมพ์คำว่า ก้าวทันประกันภัย คณิตศาสตร์ประกันภัยกันได้ครับ [หรือคลิ๊กที่ลิงค์ www.youtube.com/watch?v=IVZ_O5h2Yf0]


·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัยของบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]