คุยกับแอคชัวรี – LISTEN
เคยได้ยินไหมครับว่าบางทีก็มีคนถามว่าทำไมคนเราถึงมี 1 ปาก แต่มี 2 หู และนั่นก็เพราะคนเราอาจจะเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นผู้รับฟัง มากกว่าการที่จะเป็นเพียงแต่ผู้พูด เหมือนที่คนทั่วไปเขาสอนเด็กกันว่า เราควรใส่ความพยายามในการฟังให้มากกว่าการพูดเป็น 2 เท่า การเป็นผู้ฟังที่ดีนั้นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญ ไม่ว่าจะสำหรับคนทั่วไป และก็คงจะรวมไปถึงคนที่เป็นแอคชัวรีด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว คนเราก็จะไม่สามารถเติบโตและเพิ่มพูนความรู้ให้กับตัวเองในภายภาคหน้าได้
เพราะว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของมนุษย์เราก็คือการฟัง หรือที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า LISTEN นั่นเอง และเมื่อตัวอักษร 6 ตัวของคำว่า LISTEN มาเรียงกันใหม่แล้ว ผมก็ตกใจนะครับที่มันสามารถเขียนได้ว่า SILENT ซะด้วย ซึ่งสองคำนี้ใช้ตัวอักษร 6 ตัวเหมือนกัน เพียงแต่ว่างตำแหน่งกันคนละที่เท่านั้น แต่ที่น่าลึกซึ้งไปกว่านั้นก็คือความหมายของคำสองคำนี้ก็มีความสัมพันธ์ด้วย เพราะถ้าเราไม่เงียบ แล้วเราจะไปฟังใครเขาพูดได้อย่างไร จริงไหมครับ
เราลองมาดูความหมายของคำสองคำนี้ เท่าที่ผมเปิดมาจาก http://dictionary.cambridge.org กันนะครับ
- LISTEN = to give attention to someone or something in order to hear them
- SILENT = without talking or without any sound
จากการเปิดdictionaryข้างบนแล้ว ผมเลยสรุปได้ว่าการฟังนั้นมันเป็นไปมากกว่าการได้ยิน เพราะการฟังนั้นจะต้องบวกกับการใส่ใจกับสิ่งนั้นๆ ด้วย หมายความว่า LISTEN = hear + attention นั่นเอง
ยังไม่เพียงเท่านั้นครับ ตัวอักษรของคำว่า LISTEN แต่ละตัวนั้น ถ้าลองคิดๆ ดูแล้ว เราก็ยังสามารถแตกออกไปเป็นสิ่งต่อไปนี้ได้
L L = Leadership หมายถึง ความเป็นผู้นำ
I I = In-dept knowledge หมายถึง การที่มีความแตกฉานในความรู้
S S = Service mind หมายถึง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และคอยช่วยเหลือคนอื่น
T T = Talent หมายถึง ความสามารถ
E E = Endurance & Enthusiasm หมายถึง ความอดทน และ กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้
N N = Negotiation หมายถึง การรู้จักพูดคุยและเจรจา
Leadership หมายถึง ความเป็นผู้นำ
การฟังทำให้เราได้มาซึ่งความเป็นผู้นำ เพราะผู้นำที่ดี จะต้องเป็นผู้รับฟังที่ดีด้วย ไม่ใช่สักแต่จะสั่งงานเพียงอย่างเดียว ถ้าลองหยุดพูดซักนิด และหันมาใส่ใจกับสิ่งที่คนรอบข้างกำลังจะพูดขึ้น ผมคิดว่าผู้นำแบบนี้เป็นผู้นำที่น่าติดตามและทำงานอย่างถวายใจให้ด้วยได้อย่างแน่นอน และวิสัยทัศน์ของความเป็นผู้นำนั้น ส่วนหนึ่งก็คงมาจากการได้ฟังความเห็นจากกุนซือรอบข้าง แอคชัวรีที่ว่ากันว่าเป็นกุนซือ จริงๆ แล้วก็ต้องมีกุนซือระดับย่อยขึ้นมาเพื่อเสริมทัพและย่อยข้อมูลข่าวสารเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจไว้ด้วยเหมือนกัน
ผู้นำที่ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่นก็คงจะไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริง
In-dept knowledge หมายถึง การที่มีความแตกฉานในความรู้
ผมเชื่อว่าความรู้จะเกิดขึ้นมาอัตโนมัติเองเมื่อเราสามารถแยกแยะสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าอะไรคือ สีครีม และอะไรคือสีเหลือง แต่พอเมื่อใดที่ได้ศึกษาอย่างเข้าใจ จนสามารถแยกแยะและบอกได้ว่าสีไหนคือสีครีม สีไหนคือสีเหลืองออกได้ เมื่อนั้นผมจึงจะถือว่าความรู้นั้นได้เกิดขึ้นตรงจุดนั้น
ในตัวความรู้ที่มีนั้นก็อาจจะได้มาจากการอ่านหรือการฟัง และแน่นอนครับว่า ยิ่งรับฟังก็ยิ่งแตกฉานในความรู้ เพราะจะได้มีการสื่อสารกันทั้งสองทางไปในตัวระหว่างผู้ฟังกับผู้พูด แต่ผมก็ไม่เกี่ยงนะครับที่จะมีคนบอกว่ายิ่งอ่านก็ยิ่งมีความรู้ แต่ถ้าเป็นไปได้เราเอาสิ่งที่อ่านมาถกเถียงอภิปรายกันเพื่อให้ความรู้ที่ได้มานั้นมีความแตกฉานและตกผลึกกันมากขึ้น และก็อย่าลืมนะครับว่า ถ้าเราพยายามฟังให้มากกว่าพูดแล้ว ความรู้นั้นก็จะไม่หนีหายไปไหนไกลหรอกครับ
ยิ่งรับฟังก็ยิ่งแตกฉานในความรู้
S = Service mind หมายถึง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และคอยช่วยเหลือคนอื่น
เทคนิคของการที่จะเริ่มต้นเป็นผู้รับฟังที่ดีนั้น เราควรจะทำจิตใจให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไว้ซะก่อน ถ้ามีใจอยากช่วยเหลือคนอื่น หรือ มี service mind ที่ดีอยู่แล้ว การจะเป็นผู้ฟังที่ดีนั้นก็คงไม่ยาก
เพียงแค่เราฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ก็หมายถึงการที่เราได้แสดงความมีน้ำใจ เข้าอกเข้าใจให้แก่ผู้พูดแล้ว และสิ่งนั้นจะส่งเสริมให้เราเป็นผู้ฟังที่ดียิ่งๆ ขึ้น
ผู้รับฟังที่ดีนั้น เราควรจะทำจิตใจให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไว้ซะก่อน
T = Talent หมายถึง ความสามารถ
ถ้าเราฟังบ่อยๆ และสามารถนำสิ่งที่ได้ฟังเหล่านั้นไปลงมือปฏิบัติจริง และหมั่นฝึกฝนอยู่เรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดความสามารถที่เรียกว่า Talent ขึ้น สำหรับคำๆ นี้แล้ว เมื่อได้มีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษาเขาบ่อยๆ เราก็จะรู้เองว่า Talent นั้นจริงๆ แล้วไม่ได้แปลว่าพรสวรรค์หรอก แต่ Talent ในภาษาอังกฤษนั้นส่วนใหญ่เค้าก็ยังหมายถึงการสร้างความสามารถขึ้นมาให้มีไว้ให้อยู่กับตัวกันมากกว่า
ส่วนคำว่าพรสวรรค์จริงๆ ในภาษาอังกฤษนั้น เราจะเรียกว่า Gift กันมากกว่า หมายถึงความสามารถที่เหมือนกับว่าพระเจ้าได้ประทานไว้ให้เป็นของขวัญมาตั้งแต่เกิด
ฟังบ่อยๆ และลงมือปฏิบัติจริง ก็จะทำให้เกิดความสามารถขึ้น
Endurance & Enthusiasm หมายถึง ความอดทน และ กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้
การจะฟังสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ดีนั้น นอกจากที่จะต้องอาศัยความความอดทน (Endurance) แล้ว เรายังจะต้องมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ (Enthusiasm) ในสิ่งที่เรากำลังจะตั้งใจฟังเอาไว้ให้ดีด้วย ลองคิดดูสิครับว่าถ้าเราขาดสองสิ่งนี้แล้วเราจะกลายเป็นผู้ฟังที่ฟังคนอื่นพูดได้รู้เรื่องหรือไม่
การมีความอดทนและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้นั้นยังเป็นรากฐานของการก่อเกิดความรู้ ความสามารถ อย่างคาดไม่ถึงได้อีกด้วย
การฟังจะต้องอาศัยความอดทนและความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้
Negotiation หมายถึง การรู้จักพูดคุยและเจรจา
ตัวอักษรตัวสุดท้ายของคำว่า LISTEN นี้ก็คือ Negotiation นั่นเอง เพราะหลักการพื้นฐานของการพูดคุยเจรจานั้นจะต้องอาศัยการฟังที่ดีเท่านั้นเป็นจุดเริ่มต้น เมื่อใดก็ตามที่เราเป็นผู้ฟังที่ดี ก็จะทำให้การเจราจาได้ผลและมีประสิทธิภาพอย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อใดก็ตามที่เราเป็นผู้ฟังที่ดี ก็จะทำให้การเจราจาได้ผล
สุดท้ายนี้ ผมอยากจะฝากไว้ว่า ถ้าสังคมมีคนที่จะเอาแต่พูด แต่ไม่ยอมรับฟังกันและกันเลย สังคมนั้นก็คงเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคนเห็นแก่ตัว ไม่มีน้ำใจ และไม่คิดที่จะช่วยเหลือกัน เรามาพยายามฟังให้มากกว่าพูดกันเถอะครับ อย่าลืมนะครับ ถ้าจะฟัง ก็ควรจะฟังอย่างตั้งใจและเข้าอกเข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดเขากำลังจะพูด รับรองว่าสังคมคงมีแต่รอยยิ้มให้กันและกันอย่างแน่นอนครับ
วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555
วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555
“สินทรัพย์” ต่างกับ “ทรัพย์สิน” อย่างไร?
“สินทรัพย์” ต่างกับ “ทรัพย์สิน” อย่างไร?
พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) FSA, FRM
เคยคิดกันหรือเปล่าครับว่าคนไทยส่วนใหญ่ใช้อะไรมาวัดความรวยของคนอื่น บางคนอาจจะเคยโดนคำถามว่า “คุณรวยแค่ไหน มีทรัพย์สมบัติอยู่เท่าไรล่ะ” ซึ่งแน่นอนครับว่าคำถามเหล่านี้คงจะตรงเกินไป และแทบจะไม่ได้ถูกเอ่ยออกมาจากปากของคน (ยกเว้นแต่จะมาจากปากของว่าที่พ่อตาหรือว่าที่แม่ยาย ก็ว่าไปอย่าง) แต่คำพูดที่ทุกคนอาจจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ก็คือ “ดูสิ คนๆ นั้นเขารวยจัง” จากการที่เห็นเขาออกรถป้ายแดง, ขับ Benz, ขับ BMW, นาฬิกา Rolex, บ้านหลังโต, หรืออะไรก็ตามที่เป็นของที่หรูและดูดีที่ใคร ๆ ต่างก็ใฝ่ฝัน
ที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่เพื่อที่จะบอกว่าถ้าอยากจะรวยก็ให้ซื้อของเหล่านี้นะครับ เพียงแต่บอกว่าถ้าอยากจะ “ให้ดูว่ารวย” ในสายตาของคนอื่น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เป็นเครื่องบ่งบอกของความรวยได้เหมือนกัน แต่... ไม่ใช่ทั้งหมด
ที่ยังไม่ร่ำรวยอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะขี้เกียจทำงาน แต่อาจเป็นเพราะเข้าใจผิดเรื่องความหมายของทรัพย์สินต่างหาก
และนี่ก็ไม่ใช่บทความเพื่อที่จะสนับสนุนวัตถุนิยม แต่เป็นเนื้อหาที่จะพยายามแยะแยะสิ่งต่างๆ ทางโลกให้ออกและเข้าใจวิธีเลือกหาทรัพย์สินและสินทรัพย์เพื่อให้เหมาะกับเป้าหมายในชีวิตของคนเราได้ดียิ่งขึ้น
สินทรัพย์ vs ทรัพย์สิน
คงต้องมาเริ่มต้นจากตรงนี้กันก่อนว่า สองคำนี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วมันต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นมุมมองทางการเงินจากแอคชัวรี หรือจะเป็นมุมมองการใช้เงินในชีวิตประจำวันของคนเราก็ตาม
ผมเชื่อว่าเหตุผลที่เราต้องทำงานนั้นมีอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือ ความกลัว กลัวไม่มีจะกิน กลัวจะไม่มีบ้าน กลัวจะไม่มีรถขับ กลัวไปต่างๆ นานา และอย่างที่สองคือ ความโลภ โลภที่อยากจะได้ โลภที่อยากจะมี และโลภไปต่างๆ นานา
ผมเชื่อว่าเหตุผลที่เราต้องทำงานนั้นมีอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือ ความกลัว กลัวไม่มีจะกิน กลัวจะไม่มีบ้าน กลัวจะไม่มีรถขับ กลัวไปต่างๆ นานา และอย่างที่สองคือ ความโลภ โลภที่อยากจะได้ โลภที่อยากจะมี และโลภไปต่างๆ นานา แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าความกลัวและความโลภจะเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เราต้องความคุมให้อยู่ในความพอดี และสิ่งที่จะควบคุม ความกลัวกับความโลภได้นั้นคือ “ความรู้” หรือที่ในภาษาธรรมเราเรียกว่า “ปัญญา” นั่นเอง
และหลังจากที่ได้ตรากตรำกับตำราและการสอบให้ได้คุณวุฒิเพื่อเป็นแอคชัวรีระดับสากล จนกระทั่งเริ่มเข้าใจในเรื่องของระบบการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบัญชีหรือการลงทุน ประกอบกับได้เฝ้าสังเกตวิธีคิดของคนที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศแล้วจึงทำให้รู้สึกว่าคนในประเทศเราส่วนใหญ่มักจะมุ่งไปที่การสะสม “ทรัพย์สิน” โดยไม่ได้ตมีความรู้เรื่องการแยกแยะ “สินทรัพย์” ที่ตนเองมีอยู่
ตามความหมายในพจนานุกรม
ทรัพย์สิน คือ วัตถุทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
สินทรัพย์ คือ บรรดาทรัพย์สินที่บุคคลเป็นเจ้าของ
สำหรับผมแล้ว ผมอยากจะจำแนก “ทรัพย์สิน” โดยแบ่งตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. จับต้องได้ vs จับต้องไม่ได้
a. ทรัพย์สินบางอย่างนั้นสามารถจับต้องได้ทันที อาจจะเป็นชิ้น, เป็นวง, เป็นคัน, เป็นใบ
b. ทรัพย์สินบางอย่างกลับไม่สามารถจับต้องเพราะไม่มีรูปร่าง และเพราะมันอยู่ในกระดาษ ในแผ่น เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หุ้น หรือ พันธบัตร เป็นต้น
2. เพิ่มมูลค่า vs เสื่อมมูลค่า
a. ทรัพย์สินเพิ่มมูลค่า คือ ทรัพย์สินที่ได้มาแล้วจะเพิ่มมูลค่าหรือคาดหวังว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เพราะมันได้รับการคาดหวังว่าจะมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การทำบ้านจัดสรรเพื่อปล่อยให้เช่า การลงทุนอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ รวมไปถึงการซื้อประกันแบบสะสมทรัพย์ เป็นต้น
b. ทรัพย์สินเสื่อมมูลค่า คือ ทรัพย์สินที่ได้มาแล้วมูลค่ามีแต่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เช่น ซื้อรถยนต์มาในราคา 3,000,000 บาท ขับไป 1 ปี ขายได้เหลือ 2,000,000 บาท ซึ่งก็แปลว่ามูลค่าลดลง 1,000,000 บาทภายในหนี่งปี แถมยังต้องจ่ายค่าที่จอดรถและค่าน้ำมันอีก หรือ ซื้อโทรศัพท์มาในราคา 20,000 บาท ผ่านไป 1 ปี ขายคืนได้เพียง 5,000 บาท เป็นต้น
3. ได้มาจากหนี้สิน vs ได้มาจากเงินทุน
a. ทรัพย์สินที่ได้มาจากการมีหนี้สิน คือ ทรัพย์สินที่ได้มาจากการซื้อหาสิ่งของเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของโดยการไปขอกู้หรือขอทำสินเชื่อมา ไม่ว่าจะเป็นการกู้มาเพื่อลงทุน หรือกู้มาซื้อรถป้ายแดงคันใหม่
b. ทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุนของตัวเอง คือ ทรัพย์สินที่ได้มาจากการซื้อหาสิ่งของเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของโดยการใช้เงินของตัวเอง
สามารถจำแนก “ทรัพย์สิน” โดยแบ่งตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. จับต้องได้ vs จับต้องไม่ได้
2. เพิ่มมูลค่า vs เสื่อมมูลค่า
3. ได้มาจากหนี้สิน vs ได้มาจากเงินทุน
คนเราส่วนใหญ่จะใช้คำว่า “สินทรัพย์” ในภาษาของนักบัญชี ซึ่งจะเข้าใจกันว่า “สินทรัพย์” คือ ผลรวมของหนี้สินและเงินทุน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทหนึ่งมีหนี้สินอยู่ทั้งหมด 9,000,000 บาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นที่ถือว่าเป็นเงินทุนของบริษัทอยู่ 1,000,000 บาท เราก็จะบอกได้ว่าบริษัทนี้มีสินทรัพย์อยู่ทั้งหมด 10,000,000 บาท เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ต้องขึ้นกับวิธีประเมินมูลค่าในทางบัญชีว่าเป็นแบบไหนและใช้มาตรฐานอะไรเป็นข้อกำหนดในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินในแต่ละอย่าง
แต่สำหรับการทำความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อใช้กับชีวิตประจำวันแล้ว “สินทรัพย์” คือ ทรัพย์สินที่มีบุคคลเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการเป็นหนี้สินหรือได้มาจากเงินทุนของตัวเอง ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้จะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ทั้งนั้น
ตัวอย่างการแยกแยะประเภทของทรัพย์สินตามเงื่อนไขข้างต้น
- ซื้อที่ดิน ซื้อทองคำแท่ง
o จับต้องได้ เพราะเห็นที่ดินเป็นแปลง ได้ทองคำเป็นแท่ง
o ไม่จำเป็นต้องเสียเงินเติมน้ำมันหรือเสียบปลั๊ก แต่อย่างมากก็คงต้องเสียค่าดูแลรักษาทรัพย์สินที่จับต้องได้เหล่านี้ ซึ่งก็แสดงว่าเป็นทรัพย์สินที่คาดหวังว่าจะเพิ่มมูลค่าไปเรื่อยๆ
o ถ้ากู้มาซื้อก็เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการมีหนี้สิน แต่ถ้าแคะกระปุกมาเองก็จะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุนของตัวเอง
- ซื้อถ้วยโถโอชาม ของรักของสะสม หรือสะสมของโบราณ
o จับต้องได้ เพราะเป็นชิ้นเป็นอัน
o ถึงแม้ว่าจะไม่ต้องเติมน้ำมันหรือเสียบปลั๊กให้มันก็จริง แต่ก็ต้องขึ้นกับว่าจะขายได้กำไรมากกว่าการฝากเงินในธนาคารหรือเปล่า ซึ่งถ้าไม่ มันก็จะเป็นทรัพย์สินที่เสื่อมมูลค่า หรือถ้ากล่าวกันตรงๆ ก็อาจจะเป็นเพียงขยะรกบ้านเท่านั้น แต่ถ้าคาดหวังว่าจะขายได้ราคาที่สูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ก็จะเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มมูลค่า เช่น การสะสมแสตมป์ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้วการสะสมของโบราณจะเน้นให้คุณค่าทางด้านจิตใจแก่คนเป็นเจ้าของมากกว่าที่จะซื้อขึ้นมาเพื่อเก็งกำไรในอนาคต
o ถ้ากู้มาซื้อก็เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการมีหนี้สิน แต่ถ้าแคะกระปุกมาเองก็จะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุนของตัวเอง
- พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น สลากออมสิน และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
o จับต้องไม่ได้
o เป็นทรัพย์สินที่ได้มาแล้วจะเพิ่มมูลค่าหรือคาดหวังว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
o ถ้ากู้มาซื้อก็เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการมีหนี้สิน แต่ถ้าแคะกระปุกมาเองก็จะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุนของตัวเอง
- ล็อตเตอรี่
o บางคนคิดว่ามันจับต้องได้เพราะเป็นแผ่นๆ แต่ในที่นี้ผมถือว่าจับต้องไม่ได้เพราะมันเป็นเพียงตั๋วกระดาษใบหนึ่ง ที่จะมีมูลค่าก็ต่อเมื่อถูกรางวัลตามเกมกติกาเท่านั้น
o เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการออกสลากล็อตเตอรี่นั้นจะกำหนดให้มูลค่าเฉลี่ยของรางวัลต่อหนึ่งใบนั้นมีค่าน้อยกว่าราคาซื้อของล็อตเตอรี่อยู่แล้ว จึงถือว่าล็อตเตอรี่เป็นทรัพย์สินที่เสื่อมมูลค่า คือ ทรัพย์สินที่ได้มาแล้วมูลค่ามีแต่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
o ถ้ากู้มาซื้อก็เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการมีหนี้สิน แต่ถ้าแคะกระปุกมาเองก็จะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุนของตัวเอง
- รถยนต์ โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่
o จับต้องได้
o ทรัพย์สินที่ได้มาแล้วมูลค่ามีแต่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
o ถ้ากู้มาซื้อก็เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการมีหนี้สิน แต่ถ้าแคะกระปุกมาเองก็จะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุนของตัวเอง
บทวิเคราะห์
ที่ยังไม่ร่ำรวยอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะขี้เกียจทำงาน แต่อาจเป็นเพราะเข้าใจผิดเรื่องความหมายของทรัพย์สินต่างหาก คนเราปกติแล้วจะเห็นสิ่งของที่จับต้องได้และมีราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋งหรือเครื่องประดับตัวต่างๆ ว่าเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความโก้ ความหรู และความร่ำรวยของคนๆ นั้น ดังนั้นจึงไม่ผิดที่จะกล่าวว่าสิ่งของที่สามารถบ่งบอกถึงฐานะของคนเราส่วนใหญ่จึงเป็นสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย (luxury) ที่สามารถจับต้องได้ เพราะว่ามันจะแสดงให้คนรอบข้างเห็นได้ชัดกว่าสิ่งของที่จับต้องไม่ได้ แต่มีประเด็นให้เราคิดต่ออยู่อีกอย่าง คือ “สิ่งของที่ได้มาเหล่านี้ ได้มาจากความร่ำรวยของคนๆ นั้นจริงหรือไม่”
บางคนได้เก็บสะสมเงินทองไว้เป็นระยะเวลานานและมากพอที่จะซื้อของฟุ่มเฟือยเหล่านั้นจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง และบางคนก็อาจจะได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งเราก็คงจะเรียกพวกคนเหล่านี้ว่ามีสถานะทางการเงินที่ดี หรือ “ร่ำรวย” ก็คงจะไม่ผิด คนเหล่านี้ใช้สินทรัพย์เพื่อซื้อทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุนของตัวเอง ไม่ได้ไปเป็นหนี้กู้ยืมใครมา
แต่ก็มีคนส่วนใหญ่ที่พยายามจะแสร้งทำเป็นรวย โดยการพยายามจะยกระดับของตัวเองให้สูงขึ้น แล้วใช้สิ่งของราคาแพงเพื่อบ่งบอกคนรอบข้างให้เข้าใจว่าตัวเองมีสถานะร่ำรวย ทรัพย์สินเหล่านี้ได้มาจากการกู้ยืม และเมื่อได้เป็นเจ้าของแล้วก็จะถือเป็นสินทรัพย์ของคนๆ นั้น แต่เป็นสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากการมีหนี้สิน
การจะวิเคราะห์ว่าใครรวยหรือไม่นั้น เราต้องมองให้ลึกถึงสินทรัพย์ของคนๆ นั้นก่อน ว่าเป็นเจ้าของของทรัพย์สินประเภทไหน
ดังนั้น ถ้ามองให้ลึกก็จะเห็นว่าคนเราทุกคนนั้นมีสิทธิ์หาซื้อของฟุ่มเฟือยกันได้ทั้งนั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การจะวิเคราะห์ว่าใครรวยหรือไม่นั้น เราต้องมองให้ลึกถึงสินทรัพย์ของคนๆ นั้นก่อน ว่าเป็นเจ้าของของทรัพย์สินประเภทไหน ถ้าเป็นประเภทที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองก็แปลว่ารวยจริง แต่ถ้าไปกู้หนี้ยืมสินมาก็จะเป็นเพียงคนๆ หนึ่งที่ใช้เงินเกินตัว คอยคิดถึงแต่ความสบาย ความโก้ ในระยะสั้นๆ เท่านั้น
และก็มีบางคนที่ดูภายนอกเหมือนคนทั่วไปและบางครั้งอาจดูเหมือน “คนจน” แต่คนกลุ่มนี้ได้ถือครองทรัพย์สินที่สร้างมูลค่าเอาไว้มาก ซึ่งเราอาจเรียกว่าใช้จ่ายอย่างพอเพียง แต่รวยจริง รวยนิ่งๆ แบบยั่งยืน
ยังมีทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งที่ถือว่าพิเศษออกไป และไม่สามารถวัดมูลค่าเป็นตัวเลขได้ นั่นก็คือคุณค่าทางจิตใจ
สุดท้ายนี้ อยากจะขอแทรกเอาไว้ว่ายังมีทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งที่ถือว่าพิเศษออกไป และไม่สามารถวัดมูลค่าเป็นตัวเลขได้ นั่นก็คือคุณค่าทางจิตใจ คนที่ซื้อของฟุ่มเฟือยนั้นไม่ผิดเลย ลองคิดในมุมมองที่ว่า ถึงแม้ว่าทรัพย์สินเหล่านั้นจะเสื่อมมูลค่าไปตามเวลา แต่สินทรัพย์ทางใจได้เกิดขึ้นมาตอนที่ได้เป็นเจ้าของก็เป็นได้ แต่สินทรัพย์ทางใจนั้นขึ้นหรือลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะมันอาจจะมีค่าตอนที่ซื้อมาใหม่ๆ แต่ถ้าหากได้มาแบบเป็นหนี้เป็นสิน ไม่มีเงินผ่อน หรือทำให้สถานะการเงินตกต่ำไปเรื่อยๆ ก็จะมีผลทำให้คุณค่าของจิตใจแย่ลงไปด้วย
ทรัพย์สินที่ให้คุณค่าทางจิตใจนั้น ไม่จำเป็นที่จะได้มาโดยการซื้อของฟุ่มเฟือย หรือช้อปปิ้งเพื่อซื้อของที่เสื่อมมูลค่าเสมอไป ทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดก็คือ “ความดี” นั่นเอง
สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า ทรัพย์สินที่ให้คุณค่าทางจิตใจนั้น ไม่จำเป็นที่จะได้มาโดยการซื้อของฟุ่มเฟือย หรือช้อปปิ้งเพื่อซื้อของที่เสื่อมมูลค่าเสมอไป ทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดก็คือ “ความดี” นั่นเอง ไม่ต้องไปหาซื้อมา แต่ต้องหมั่นสร้างและสะสมไว้ มันจะพอกพูนขึ้นไปเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่า “รวยอย่างแท้จริง”
ตารางแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ กับ ทรัพย์สินประเภทต่างๆ | ทรัพย์สิน | ||||
จับต้องได้ | จับต้องไม่ได้ | ||||
เพิ่มมูลค่า | เสื่อมมูลค่า | เพิ่มมูลค่า | เสื่อมมูลค่า | ||
สินทรัพย์ | ทรัพย์สินที่ได้มาจากหนี้สิน | ที่ดิน, ทอง, เงินลงทุน, ธุรกิจบ้านจัดสรร | บ้าน, รถ, กระเป๋า, มือถือ, แหวน, ของฟุ่มเฟือย | พันธบัตร, หุ้น, สิทธิบัตร | ล็อตเตอรี่ |
ทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุน | |||||
ทรัพย์สินที่เป็นคุณค่าทางจิตใจ |
วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555
การจัดการความเสี่ยงในองค์กรแบบยั่งยืนภาคจบ (Sustainable ERM – Part II)
Risk matter – การจัดการความเสี่ยงในองค์กรแบบยั่งยืนภาคจบ (Sustainable ERM – Part II)
โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) FSA , FRM
เกริ่นนำ
เมื่อฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของ ERM รวมไปถึงสาเหตุที่ ERM ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยได้กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับ “ความเสี่ยง” ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล
กลุ่มที่ได้กล่าวไปแล้วคือ “กลุ่มที่เน้นกำไร” กับ “กลุ่มที่เน้นไม่เสี่ยง”
1. กลุ่มที่เน้นกำไรจะเห็นความเสี่ยงว่าเป็นเรื่องรอง ตราบใดที่เห็นว่าบริษัทยังสามารถทำกำไรได้อยู่ และจะรับธุรกิจที่มีความเสี่ยงมาก ถ้าหากว่าเขาคิดว่ามันคุ้มค่ากับการตัดสินใจทำลงไป
2. กลุ่มที่เน้นไม่เสี่ยงจะเห็นว่าความเสี่ยงเป็นตัวอันตรายและควรจะหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนทำให้บางครั้งพวกเขาคิดว่า ERM นั้นเป็นเครื่องมือที่อันตรายที่ไปส่งเสริมให้บริษัทวิ่งเข้าหาความเสี่ยงในบางสถานการณ์ที่ความเสี่ยงนั้นทำให้เกิดผลตอบแทนที่รับได้
มุมมองของคำว่า “ความเสี่ยง” (ต่อ)
เรามาเริ่มทำความเข้าใจในกลุ่มที่เหลือที่มีมุมมองของ “ความเสี่ยง” ที่แตกต่างกันดีกว่า
3. กลุ่มที่ไม่ชอบกฎเกณฑ์
กลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจและเห็นได้อยู่บ่อยๆ เพราะว่าในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ผู้บริหารแต่ละคนมักจะใช้ประสบการณ์ของตัวเองในการจัดการมากกว่าจะกางตำราการบริหารความเสี่ยงมาว่ากันเป็นบทๆ ไป
จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะมีคนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เชื่อในเรื่องทฤษฎีเลย และก็ทำให้คิดต่อไปได้ว่าผู้บริหารในกลุ่มนี้ก็คงจะไม่เชื่อแบบจำลองอนาคตที่บริษัททำขึ้นมาสักเท่าใดนัก และแน่นอนว่าพวกเขาคงจะไม่ยอมให้มีแบบจำลองสถานการณ์ต่างๆ มาคอยชี้นำองค์กรของพวกเขาโดยเด็ดขาด เอาเป็นว่าคนกลุ่มนี้จะคิดว่าอนาคตเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก สู้ไม่ต้องเสียเวลาคาดการณ์เลยจะดีกว่า
“กลุ่มที่ไม่ชอบกฎเกณฑ์จะไม่เชื่อในเรื่องทฤษฎีเลย พวกเขาจะคิดว่าอนาคตเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก สู้ไม่ต้องเสียเวลาคาดการณ์เลยจะดีกว่า ดังนั้นพวกเขาจะชอบอิสระในการจัดการและจะพยายามที่จะมีทางออกหรือตัวเลือกให้มากที่สุดไว้ก่อน
สิ่งที่สังเกตเห็นในมุมมองของผู้บริหารเหล่านี้ก็คือ “การวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Strategic planning)” ของบริษัทจะเป็นเรื่องรองหรือเห็นว่าไม่มีความจำเป็นเท่าที่ควร และการที่กฎเกณฑ์ได้ถูกตั้งขึ้นมาจะกลายเป็นการจำกัดกรอบความสามารถของพวกเขาที่จะปฏิบัติตัวต่อสถานการณ์หนึ่งๆ ให้ฉับไวและทันท่วงทีได้
ดังนั้น คนในกลุ่มนี้จึงไม่ชอบให้มีกฎเกณฑ์ พวกเขาชอบอิสระในการจัดการและจะพยายามที่จะมีทางออกหรือตัวเลือกให้มากที่สุดไว้ก่อนเพื่อใช้ในวันที่จำเป็นต้องตัดสินใจฟันฝ่าเหตุการณ์ร้ายๆ ของบริษัทขึ้น ซึ่งตัวเลือกเหล่านี้อาจจะได้มาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้บริหารกลุ่มนั้นๆ
“เพราะกลุ่มที่ไม่ชอบกฎเกณฑ์คิดว่าอนาคตนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ จึงคิดว่าการกระจายความเสี่ยงตั้งแต่แรกจะเป็นการช่วยเพิ่มทางออกและความสามารถในการตัดสินใจทางธุรกิจได้ดีกว่า”
เราจะเห็นว่าทางออกที่เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของคนกลุ่มนี้ก็คือ “การกระจายความเสี่ยง” เพราะคนกลุ่มนี้คิดว่าอนาคตนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ จึงคิดว่าการกระจายความเสี่ยงตั้งแต่แรกจะเป็นการช่วยเพิ่มทางออกและความสามารถในการตัดสินใจทางธุรกิจได้ดีกว่า แต่ถ้าดูจากลักษณะของคนกลุ่มนี้แล้วก็เดาได้ว่าพวกเขาคงจะไม่เชื่อในเรื่องทฤษฎีหรือกระบวนการกระจายความเสี่ยงที่คำนวณออกมาเป็นตัวเลขเท่าใดนัก
4. กลุ่มที่เน้นความสมดุล
คนกลุ่มนี้จะคิดว่า “ที่ใดมีผลตอบแทนที่นั่นย่อมต้องมีความเสี่ยงอยู่” ซึ่งการจัดการให้ทั้งสองสิ่งนี้มีความสมดุลกันนั้นสำคัญที่สุด ผู้บริหารที่มีมุมมองแบบนี้จะพยายามจ้างผู้เชี่ยวชาญให้มาช่วยหาว่าบริษัทมีความเสี่ยงตรงไหน และมันจะสมดุลกับผลตอบแทนที่ได้หรือไม่
กลุ่มที่เน้นความสมดุลจะพยายามปรับสมดุล “กลุ่มที่เน้นกำไร” กับ “กลุ่มที่เน้นไม่เสี่ยง” ไว้ด้วยกัน โดยเชื่อว่า “ที่ใดมีผลตอบแทนที่นั่นย่อมต้องมีความเสี่ยงอยู่”
แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็เชื่อว่าการจัดการกับความเสี่ยงแบบสมดุลนี้จะต้องช่วยทำให้บริษัทอยู่ดีมีสุขได้ เพราะเขาจะพยายามปรับสมดุลของ “กลุ่มที่เน้นกำไร” กับ “กลุ่มที่เน้นไม่เสี่ยง” ไว้ด้วยกัน
ผู้บริหารในกลุ่มนี้จะเน้นในการจัดการความเสี่ยงในภาพรวม แล้วแทนที่จะเน้นหา “ต้นทุนของความเสี่ยง” ในแต่ละตัวเหมือน “กลุ่มที่เน้นกำไร” พวกเขากลับจะเน้นที่ความสามารถขององค์กรที่จะรองรับความเสี่ยงโดยรวมเอาไว้ และจะพยายามขับเคลื่อนบริษัทไปในทิศทางที่ต้องการ
จะเห็นว่าวิธีการเหล่านี้จะมีทฤษฎีมารองรับ จึงทำให้เป็นที่ถูกใจของนักวิชาการและบริษัทที่ปรึกษากันอย่างมากมาย แต่ในท้ายที่สุดแล้วก็จะมีแค่คนกลุ่มนี้เท่านั้นที่นำ ERM ไปปฏิบัติด้วยใจ ในทางตรงกันข้าม คนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากคนกลุ่มอื่นๆ เท่าใดนัก
ความแตกต่างที่ยืนอยู่บนความเสี่ยง
ที่แล้วมาจะเห็นว่านิยามของ ERM จะถูกจำกัดอยู่กับ “กลุ่มคนที่เน้นความสมดุล” แต่จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าแต่ละกลุ่มต่างก็มีมุมมองและความคิดที่แตกต่างกันออกไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่อาจจะมีแรงต่อต้านเมื่อองค์กรต้องการจะผลักดัน ERM ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง บางคนก็รู้สึกเฉยๆ เนือยๆ กับคำว่า ERM ไปแล้ว เพราะถึงแม้ว่า ERM จะดีมากแค่ไหน หรือมีเหตุผลดีแค่ไหนก็ตาม แต่มันก็ยังคงจำกัดอยู่กับ “กลุ่มที่เน้นความสมดุล” เพียงอย่างเดียว
“ยังมีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มที่ ERM ในตำราไม่สามารถทำให้สอดคล้องกับแนวคิดและความเชื่อของคนเหล่านั้นได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่อาจจะมีแรงต่อต้านเมื่อองค์กรต้องการจะผลักดัน ERM ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง”
ยังมีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มที่ ERM ในตำราไม่สามารถทำให้สอดคล้องกับแนวคิดและความเชื่อของคนเหล่านั้นได้ ซึ่งกลุ่มต่างๆ ที่เหลือเหล่านี้ก็ทำได้แค่พยักหน้าเวลาฟังเรื่องของ ERM แต่ที่น่าเศร้าก็คือเราคงจะไปบังคับให้พวกเขานำไปปฏิบัติจริงตลอดก็คงไม่ได้ ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในตอนนี้จะคิดว่า ERM คือหนทางในการแก้ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับความเสี่ยงในองค์กรได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ERM ไม่ได้เป็นยาครอบจักรวาลเสมอไป มันเป็นเพียงเครื่องมือให้กับคนที่นำมันไปใช้เท่านั้น ซึ่งก็สามารถนำพาหายนะมาสู่องค์กรได้ถ้าเรานำมันมาใช้อย่างไม่ถูกต้อง
ซึ่งเราคงต้องไม่ลืมว่า “ความเสี่ยง” นั้นมันไม่ได้อยู่กับที่เสมอไป มันเป็นอะไรที่ดิ้นได้และเปลี่ยนไปตามสถานการณ์อยู่บ่อยๆ ซึ่งจะสังเกตได้จากการที่มีกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ความเสี่ยง” ที่ต่างกัน แต่ก็เห็นได้ว่าพวกเขาสามารถนำมันมาประยุกต์ใช้กับองค์กรในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรที่ร้ายแรงนัก
“เราคงต้องไม่ลืมว่า “ความเสี่ยง” นั้นมันไม่ได้อยู่กับที่เสมอไป”
บางคนอาจจะมองว่าสถานการณ์อย่างหนึ่งคือสภาวะปกติ แต่อีกคนอาจจะมองว่านั่นคือสภาวะที่อันตรายและต้องรีบไปแก้ไขก็ได้ เพราะฉะนั้น การนำ ERM ไปประยุกต์ใช้ให้ได้ผลก็คงหนีไม่พ้นที่ต้องยึดหลัก “นานาจิตตัง” เข้าไว้ก่อน
ควรจะทำอย่างไรกับ ERM ดี
ถ้า ERM เปิดกว้างให้กับแนวคิดของ “นานาจิตตัง” ได้ เราก็สามารถเพิ่มความยืดหยุ่นให้ครอบคลุมการใช้งานในมุมที่กว้างกว่านี้ เพื่อให้คนหลายๆ กลุ่มที่มีมุมมองใน “ความเสี่ยง” แตกต่างกันสามารถให้ความร่วมมือในการจัดการความเสี่ยงองค์กรให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถคิดแบบ “กลุ่มที่เน้นกำไร” ได้ในภาวะเศรษฐกิจขาขึ้นเพราะคงไม่มีใครต้องการให้ ERM เป็นตัวขัดขวางการดำเนินธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีสิทธิ์เปลี่ยนมาคิดแบบ “กลุ่มที่เน้นไม่เสี่ยง” ได้ในภาวะเศรษฐกิจขาลงเพราะจะได้ไม่ต้องเสี่ยงรับความเสียหายมากจนเกินไป
Sustainable ERM | เน้นเอากำไร | เน้นไม่เสี่ยง | ไม่ชอบกฎเกณฑ์ | เน้นสมดุล |
การจัดการความเสี่ยง | Risk Trading | Loss Controlling | Diversification | Risk Steering |
สภาพเศรษฐกิจ | ขาชึ้น | ขาลง | ไม่แน่นอน | กลางๆ |
แล้วถ้าเราไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจนั้นอยู่ในขาขึ้นหรือขาลง เราก็หันมาคิดแบบ “กลุ่มที่ไม่ชอบกฎเกณฑ์” ก็ได้ เพราะการกระจายความเสี่ยงถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในภาวะแบบนี้
แต่ในสภาวะปกติที่เดาออกได้ว่าอะไรเป็นอะไร เราก็สามารถใช้รูปแบบดั้งเดิม นั่นคือการคิดแบบ “กลุ่มที่เน้นความสมดุล” ได้เหมือนกัน
บทสรุป
เมื่อเรามองกลับมาที่องค์กรโดยรวมแล้วจะเห็นว่าแต่ละองค์กรจะมีกลุ่มคนที่มีความคิดแบบหนึ่งกระจุกตัวรวมกัน และจะสังเกตได้ว่าคนที่คิดแบบเดียวกันก็จะจ้างคนมาร่วมอุดมการณ์เดียวกัน ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเพราะเห็นว่าประสบการณ์เก่าๆ ที่ผ่านมาก็สามารถนำพาบริษัทให้ไปข้างหน้าได้ตลอดรอดฝั่งเหมือนกัน
แต่หารู้ไม่ว่า “ความเสี่ยง” ก็เปลี่ยนไปได้ เหมือนกับเชื้อโรคที่กลายพันธุ์จนทำให้ต้องพัฒนายาตัวใหม่ๆ มาสู้กับมัน ซึ่งถ้าองค์กรไม่ได้มีความคิดที่ยืดหยุ่นพอ จนเวลา “ความเสี่ยง” กลายพันธุ์ไปในทิศทางอื่นแล้ว บริษัทก็อาจจะปรับตัวไม่ทันและก็ล้มครืนกันให้เห็นก็มี
ดังนั้น การจะทำการจัดการความเสี่ยงในองค์กรให้ยั่งยืน (Sustainable ERM) จะต้องเริ่มจากการปรับระบบความคิดของเราก่อน โดยจะต้องลดความเป็น “ตัวเราของเรา” ออกไป และยอมรับถึงตัวตนของคนกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนในการหล่อหลอมให้เกิด ERM ที่ยืดหยุ่นให้กับบริษัทได้
ERM ที่ดีจึงควรจะปรับเปลี่ยนกระบวนทัพให้เป็นไปตามสถานการณ์ในแต่ละรูปแบบ โดยเปิดรับความคิดจากคนกลุ่มต่างๆ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เฉกเช่นกับประโยคที่เราเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ”
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)