Risk matter – การจัดการความเสี่ยงในองค์กรแบบยั่งยืนภาคแรก (Sustainable ERM – Part I)
โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) FSA , FRM
เกริ่นนำ
กลับมาที่บทความที่จะกล่าวถึงเรื่องของ “ความเสี่ยง” จากการดำเนินธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประกันภัย หรือธุรกิจอื่นๆ ก็ตาม โดยในฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงความเสี่ยงจากการลงทุน มาในฉบับนี้จะขอกล่าวถึงเนื้อหาเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เป็นที่กล่าวถึงกันทั่วบ้านทั่วเมือง ซึ่งก็คือการจัดการความเสี่ยงในองค์กร (Enterprise Risk Management หรือ ERM)
แต่มาคราวนี้ เราจะขยับมากล่าวถึงเรื่องนี้ในอีกมุมมองหนึ่งที่เน้นแนวทางการปฏิบัติผสมความเป็นลูกทุ่ง และจะไม่ขออ้างอิงตำราใดๆ ให้ปวดสมองคนอ่านกัน
บทบาทที่เพิ่มขึ้น
การจัดการความเสี่ยงนั้นได้มีความสำคัญและบทบาทมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานนี้ ทั้งนี้ ยังรวมถึงบทบาทของผู้กำกับดูแล (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย – คปภ.) หรือนักจัดอันดับการลงทุน ที่นับวันก็ยิ่งเข้ามามีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนภาคธุรกิจในเรื่องของการจัดการความเสี่ยงในองค์กรมากยิ่งขึ้น
และก็คงจะหนีไม่พ้นกับบทบาทของแอคชัวรีที่เป็นหนึ่งในกำลังหลักของบริษัท และคอยดูแลเรื่องการจัดการความเสี่ยงอีกเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นทั่วโลก จนทำให้ผู้บริหารหลายคนต้องหันกลับมาตั้งหลักให้ความสนใจว่า บริษัทจะจัดการความเสี่ยงได้ในรูปแบบใดบ้าง แต่ก็มีอีกหลายๆ บริษัทที่คิดว่าการทำการจัดการความเสี่ยงในองค์กร (ERM) นั้นเป็นเรื่องที่ต้องบังคับให้ปฏิบัติตามเหมือนโดนฝืนใจให้กลืนยาขมอยู่
ทำไม ERM จึงล้มเหลว
ในตอนที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ ผมเคยมีโอกาสได้พูดคุยและสัมผัสกับคนทั้งในระดับที่ต้องลงมือทำและระดับที่คอยออกคำสั่งมาก็มาก โดยเมื่อมองลึกลงไปถึงระดับหน่วยงานในแต่ละองค์กรแล้ว การที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในองค์กรไม่เข้าใจถึงแก่นของ ERM อันแท้จริงนั้นก็เหมือนกับการไปบังคับจนดูเป็นการเพิ่มงานให้พวกเขาเหล่านั้นโดยใช่เหตุ และถึงแม้ว่าการทำ ERM ในรอบนั้นจะสำเร็จและเห็นรายงานเป็นรูปเป็นร่างอย่างสวยงาม แต่ความเป็นจริงนั้น จะเห็นว่าองค์กรนั้นกำลังประสบกับความล้มเหลวของ ERM ในระยะยาว
“การที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในองค์กรไม่เข้าใจถึงแก่นของ ERM อันแท้จริงนั้นก็เหมือนกับการไปบังคับจนดูเป็นการเพิ่มงานให้พวกเขาเหล่านั้นโดยใช่เหตุ”
ผมเชื่อว่าคนเราสามารถศึกษาและเรียนรู้กันได้ และการที่คนๆ หนึ่งจะไม่เข้าใจถึงแก่นของ ERM นั้นคงไม่ใช่เพราะว่าคนๆ นั้นไม่มีปัญญาจะเข้าใจตัวองค์ความรู้ของมัน แต่คงเป็นเพราะเขาไม่เชื่อมั่นจากใจว่ามันเป็นสิ่งที่ควรจะทำต่างหาก และมีหลายครั้งหลายหนที่บางคนอาจจะเคยเห็นว่ามีคนกางตำรา ERM มาพูดว่าดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ แล้วก็จับมือให้คนอื่นทำตาม โดยให้เหตุผลว่ามันเป็นกฎของบริษัทที่ได้ตั้งเอาไว้
นานาจิตตัง
อันที่จริงแล้ว คงไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ถูกหรือผิด และจากที่เห็นปัญหามาพอสมควรก็คงจะกล่าวได้คำๆ เดียวในเวลาทำการจัดการความเสี่ยงองค์กรว่า “นานาจิตตัง” โดยต่างคนก็ต่างความคิด
“แต่ละบุคคลนั้นจะมีมุมมองเกี่ยวกับ “ความเสี่ยง” ที่แตกต่างกันออกไป”
ในความคิดของแต่ละบุคคลนั้นจะมีมุมมองเกี่ยวกับ “ความเสี่ยง” ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่สำคัญแต่จะไม่ค่อยมีใครได้กล่าวถึง อาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นศิลปะในการบริหารแทนที่จะเป็นศาสตร์ความรู้ที่เขียนลงในตำรา ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้จึงหามาเขียนลงในตำราเรียนไม่ค่อยจะได้
ผู้คนและองค์กรนั้นจะมีมุมมองเกี่ยวกับ “ความเสี่ยง” และ “การจัดการความเสี่ยง” เป็นของตัวเอง ความคิดเห็นเหล่านี้เชื่อว่าได้ถูกหล่อหลอมขึ้นจากประสบการณ์ตรงของผู้คนและองค์กรนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลิกส่วนตัวของผู้บริหารแต่ละคน กลยุทธ์ที่เคยทำผิดพลาดมาก่อน หรือแม้กระทั่งสัดส่วนของผู้บริหารที่มาจากสายอาชีพต่างๆ ขององค์กรก็ล้วนแล้วแต่จะทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันได้ทั้งนั้น
“ถึงแม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแตกแยก”
แต่ก็ใช่ว่าการมองต่างมุมจะทำให้การจัดการความเสี่ยงองค์กรประสบความสำเร็จไม่ได้ เพราะถึงแม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแตกแยก ขอให้รับรู้ว่ามีความแตกต่างกันได้ก็พอ
มุมมองของคำว่า “ความเสี่ยง”
เนื่องจากครอบครัวของผมก็ทำธุรกิจส่วนตัว ประกอบกับการที่ผมได้เห็นวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศมาหลายแห่งก็เลยจะขอเขียนความเห็นไว้คร่าวๆ ดังนี้
1. กลุ่มที่เน้นกำไร
คนกลุ่มนี้จะเห็นความเสี่ยงว่าเป็นเรื่องรองตราบใดที่เห็นว่าบริษัทยังสามารถทำกำไรได้อยู่ ในบางครั้ง เขาจะมองว่าทุกๆ ความเสี่ยงนั้นก็มีโอกาสที่แฝงอยู่ หรือที่เราชอบพูดกันว่า “Risk is opportunity”
“กลุ่มที่เน้นกำไรจะเห็นความเสี่ยงว่าเป็นเรื่องรอง ตราบใดที่เห็นว่าบริษัทยังสามารถทำกำไรได้อยู่ และจะรับธุรกิจที่มีความเสี่ยงมาก ถ้าหากว่าเขาคิดว่ามันคุ้มค่ากับการตัดสินใจทำลงไป”
ผู้บริหารที่มีมุมมองแบบนี้จะสามารถรับธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากถ้าหากว่าเขาคิดว่ามันคุ้มค่ากับการตัดสินใจทำลงไป และส่วนใหญ่คนเหล่านี้จะคิดว่าความเสี่ยงก็คือความผันผวนประเภทหนึ่ง ว่ากันว่า “มีขึ้นก็ต้องมีลง” เพียงแต่ขอให้ตัดสินใจได้ถูกต้องและให้มีโอกาสที่จะขึ้นมากกว่าโอกาสที่จะลงเท่านั้นก็พอ
เท่าที่เห็นก็จะเป็นกลุ่มจำพวกบริษัทประกันภัยและธนาคารที่พยายามจะคำนวณ “ต้นทุนของความเสี่ยง” ให้ได้ถูกต้อง โดยจะเน้นในการจัดการธุรกรรมทางการเงินเป็นรายๆ ไป จนบางครั้งก็ทำให้เกิดความยุ่งยากในการจำลองความเสี่ยง ผลตอบแทน และเงินทุนที่ต้องมีไว้รองรับ
ด้วยความเชื่อตามที่กล่าวมา ทำให้คนกลุ่มนี้อาจจะเห็นว่า ERM เป็นเพียงสิ่งกีดขวางในการทำงานของพวกเขาเท่านั้น เขาอาจจะคิดว่าทำไมจะต้องไปจำกัดการลงทุนของเขาถ้าการลงทุนนั้นมันคุ้มกับความเสี่ยงที่คำนวณออกมา เพราะนั่นก็กลายเป็นว่าการทำ ERM คือการสูญเสียโอกาสในการทำกำไรอันงามไป
และคนกลุ่มนี้อีกเช่นกันที่จะทำ ERM ก็ต่อเมื่อโดนบังคับให้ทำ แต่ก็จะทำแค่ในแผ่นกระดาษให้ดูเท่านั้น ซึ่งจะเห็นตัวอย่างได้ชัดจากการที่คนกลุ่มนี้ทำ ERM เพื่อทำตามข้อกำหนดทางกฎหมายที่โดนบังคับให้ทำ ดังนั้นการนำ ERM มาใช้กับบริษัทจึงไม่ได้เกิดประโยชน์เท่าที่ควรกับวิธีการแบบนี้
2. กลุ่มที่เน้นไม่เสี่ยง
เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะเห็นว่าความเสี่ยงเป็นตัวอันตรายและควรจะหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คนกลุ่มนี้จะคิดว่าถึงแม้บริษัทจะได้กำไรน้อยลงก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้กำไรเลย กล่าวได้ว่าคนเหล่านี้มักจะเป็นคนที่รอบคอบและคิดหน้าคิดหลังอยู่เสมอ จนบางครั้งก็กลายเป็นการคิดมากเกินไป
“กลุ่มที่เน้นไม่เสี่ยงจะเห็นว่าความเสี่ยงเป็นตัวอันตรายและควรจะหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนทำให้บางครั้งพวกเขาคิดว่า ERM นั้นเป็นเครื่องมือที่อันตรายที่ไปส่งเสริมให้บริษัทวิ่งเข้าหาความเสี่ยงในบางสถานการณ์ที่ความเสี่ยงนั้นทำให้เกิดผลตอบแทนที่รับได้”
การจัดการความเสี่ยงของคนกลุ่มนี้จะเป็นการ “จำกัดและควบคุมความสูญเสีย” ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งก็คือการระบุว่าความเสี่ยงคืออะไร อยู่ที่ไหน และหาทางจัดการความเสี่ยงตัวนั้นๆ ไป
และโดยส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มที่มีมุมมองกับความเสี่ยงแบบนี้มักจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเงินการประกันภัย แต่ก็มีบางหน่วยงานของบริษัทประกันภัยที่มองว่าเป็นกลุ่มนี้ได้ เช่น การพิจารณารับประกัน หรือการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เป็นต้น โดยสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมาอยู่กับองค์กรอยู่แล้ว เพียงแต่บางคนไม่ได้รู้ตัว ซึ่งถ้าจะเอาคำว่า ERM ไปปะไว้ด้วยแล้วก็ควรจะต้องพิจารณาถึงการจัดการความเสี่ยงองค์กรในภาพรวมของบริษัทเข้าไปด้วย
หลายคนคงคิดว่าคนกลุ่มนี้น่าจะตอบรับกับ ERM ได้ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมมองว่าคนกลุ่มนี้ก็ยังมีความคิดไม่ตรงกับ ERM ที่ใช้ๆ กันมาในปัจจุบันอยู่ เพราะพวกเขาคิดว่า ERM นั้นเป็นเครื่องมือที่อันตราย โดยเฉพาะเวลาที่ ERM ไปส่งเสริมให้บริษัทวิ่งเข้าหาความเสี่ยงในบางสถานการณ์ที่ความเสี่ยงนั้นทำให้เกิดผลตอบแทนที่รับได้
บทส่งท้าย
ยังมีกลุ่มต่างๆ ที่มีมุมมองของคำว่า “ความเสี่ยง” ที่แตกต่างกัน ทุกคนมีความแตกต่างที่ยืนอยู่บนความเสี่ยงกันได้ทั้งนั้น ซึ่งถ้าเราเข้าใจคำว่า “นานาจิตตัง” ได้ดี ถึงแตกต่างก็คงจะไม่เกิดความแตกแยก และการนำ ERM ไปใช้ในทางปฏิบัติก็จะมีความยืดหยุ่นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ฉบับหน้าเราจะกล่าวถึงมุมมองแบบอื่นๆ บน “ความเสี่ยง” และวิธีจัดการกับแรงต่อต้านที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กร รวมถึงแนวทางในการจัดการ ERM ในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งรับรองว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น