วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556


คนฮ่องกงกับคนในประเทศอื่นๆ

 คนฮ่องกงจะตกใจมากเมื่อผมได้อธิบายข้อมูลในบัตรประชาชนไทยของผมให้คนฮ่องกงฟัง ไม่ใช่เพราะเลขประจำตัวในบัตรประชาชนของผมจะเรียงกันสวยหรือเคยตรงกับเลขหวยของเขามาก่อน แต่เป็นเพราะบัตรประชาชนไทยของผมนั้นได้ระบุศาสนาไว้ด้วย ซึ่งเมื่อพอเอาบัตรประชาชนฮ่องกงมาเทียบกับบัตรประชาชนไทยดูแล้วมันก็จริงเหมือนที่เขาว่า นั่นก็คือ บัตรประชาชนฮ่องกงของผมไม่ได้ระบุศาสนาเอาไว้จริงๆ

ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปได้ว่าวันแรกที่พลัดถิ่นมาฮ่องกงแล้วเข้าไปทำบัตรประชาชนนั้น แบบฟอร์มที่ทางราชการให้กรอกเกี่ยวกับศาสนาจะมีตัวเลือกเพียงแค่ว่า “มี (ถ้ามี โปรดระบุ) หรือไม่มีเท่านั้นเอง ซึ่งทำให้ดูเหมือนเป็นข้อมูลที่ไม่ได้สำคัญแต่อย่างไร ถึงแม้ว่าโดยปกติแล้วหน่วยความจำที่เป็นชิปของบัตรประชาชนจะสามารถเก็บข้อมูลได้มากมายหลายอย่างไว้ก็ตาม ซึ่งบัตรประชาชนใบนี้สามารถใช้แทนได้ตั้งแต่พาสปอรต์ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง(ไม่ต้องต่อคิวยื่นพาสปอร์ตอีกต่อไป)จนถึงกระทั่งเป็นบัตรยืมหนังสือในห้องสมุดได้ถึง 7 เล่ม

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมตกใจมากกว่าคนฮ่องกงที่ตกใจเรื่องของผม ก็คือคนส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งของที่นี่ระบุในบัตรประชาชนว่า ไม่มีศาสนา ทำให้ผมมีความอยากรู้อยากเห็นมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับคนที่นี่ว่าคนฮ่องกงใช้ชีวิตกันได้อย่างไร ถึงได้มีความเป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพในเมื่อคนฮ่องกงส่วนใหญ่เป็นคนไม่มีศาสนา

จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี พออยู่ทำงานกับคนพวกนี้ไปเรื่อยๆ ก็ทำให้ได้ซึมซับความคิดของคนฮ่องกงขึ้นมา บางคนนั้นเข้าใจศาสนาพุทธได้ดีกว่าผมเสียอีก แถมยังรู้ไปถึงพระโพธิสัตว์ทั้ง 5ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีเจ้าแม่กวนอิมอยู่ด้วย ใครมาที่ฮ่องกงต้องอย่าลืมไปไหว้ศาลเจ้าแม่กวนอิมที่ตั้งหันหน้าออกริมหาดที่เกาะฮ่องกงนะครับ ที่นั่นสามารถขอพรเพื่อให้มีลูกด้วย (ซึ่งได้ไปหลายคู่แล้ว)

ดังนั้นคนที่ไม่มีศาสนาในฮ่องกงจึงไม่ได้เป็นคนไม่ดีเสมอไป ผมเห็นคนฮ่องกงศึกษาและเปรียบเทียบหลักคำสอนของแต่ละศาสนาแล้วก็รวบรวมเป็นแนวคิดส่วนตัวของเขาเอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลอีกทีว่าคนๆ นั้นจะเชิ่อหรือไม่ อย่างมีเพื่อนอีกคนหนึ่งที่เขาไม่เชื่ออะไรเลยแต่ก็เป็นคนดีเหมือนกัน ซึ่งในมุมมองกลับกันบัตรประชาชนไทยของเราได้ปั๊มยี่ห้อว่าเป็นศาสนาอะไร แต่ถ้าเราไม่ได้เข้าใจและมีแนวคิดเป็นของตัวเองแล้วผมก็รู้สึกเสียดายแทน

และก็มีให้เห็นกับคนที่ทำงานในฮ่องกงบางจำพวกที่ปากบอกว่าตัวเองมีศาสนาแต่การกระทำและวิธีการเอาตัวรอดในที่ทำงานนั้นเรียกได้ว่าเข้าขั้นดิ่งลงนรกได้ทันที โดยเฉพาะเทคนิคการแทงคนข้างหลังกันอย่างเลือดอาบ ชนิดไม่ต้องใช้ยาแดง และสามารถเรียกคนเหล่านั้นว่าไอ้ดาบพันศพเพราะเขาผู้นั้นได้เชือดและหักหลังคนมานักต่อนักแล้ว ซึ่งอันตรายอย่างยิ่งยวด เพราะฉะนั้นดูหนังสืออย่าดูที่ตัวปกครับ สำหรับคนฮ่องกงแล้วต้องดูเนื้อในแล้วทำใจเปิดกว้าง คอยสังเกตว่าแต่ละคนนั้นเป็นอย่างไร เพราะเนื่องจากคนฮ่องกงเป็นคนที่ปากกัดตีนถีบกันและบ้างานที่สุดในโลก(อันนี้กล้าท้าพิสูจน์) ความมีอัตตาของคนในประเทศนี้จึงมีสูงขึ้นตามด้วยเช่นกัน
 
พอสรุปได้ว่าคนฮ่องกงไม่มีศาสนากัน ผมก็เคยแปลกใจอยู่ว่าคนในฮ่องกงหรือคนในประเทศที่มีการแข่งขันกันสูง เช่น สิงคโปร์จะอยู่กันอย่างสงบได้อย่างไร เพราะไม่มีใครรู้จักคำว่า “อัตตา กันเลย ยิ่งคิดก็ยิ่งงง เลยอาศัยการพยายามสังเกตและพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดต่างๆ กับเพื่อนที่ทำงานทั้งในและนอกบริษัท ทำไปได้ซักสองถึงสามปีก็ถึงบางอ้อ ฟันธงว่าระบบการศึกษาของเขานั่นเองที่พัฒนาระบบความคิดให้คนของเค้าคิดได้เองเป็น และอีกส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะกฎระเบียบสังคมที่เข้มงวดและมีการบังคับใช้จริง (ไม่มีดับเบิ้ลสแตนดาร์ด)

วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

อัตตากับแอคชัวรี

อัตตากับแอคชัวรี

 นั่งริมธารครุ่นวิจารการเกิดดับ เปลี่ยนปุบปับสายธารทะยานไหล เกิดไอเย็นฟ่องฟุ้งจรุงใจ ดับร้อนได้โดยไม่ต้องลองอาบกิน
อิกทางหนึ่งตลึงแลแน่ใจนัก ถ้าใครผลักตกลงคงแดดิ้น กระทบก้อนหินผาใต้วาริน แล้วจะสิ้น ชีพไปในวังวน... ท่านพุทธทาส

เคยหรือไม่ครับที่ในบางครั้งมีสิ่งบางสิ่งทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นการดับหรือลืมตัวของตัวเราอยู่ได้เป็นเวลาระยะหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการได้เห็น ได้ฟัง ได้อ่าน หรือได้รับอารมณ์ซึ่งเป็นความเงียบสงัดไม่ชวนให้เกิดความคิดนึกอะไรก็ตาม นานตลอดเวลาที่ความรู้สึกเช่นนั้นมีอยู่ โดยพอจะสรุปได้ว่าเกิดความสบายทางจิตนั่นเอง(ไม่ใช่จิตหลอน แต่เรียกว่า จิตว่าง) ลักษณะเช่นนี้ทางพระเค้าบอกว่าเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของคนทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นไปได้มากเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ หรือแม้กระทั่งกับเพื่อนที่เหมาะสม

การไม่ยึดถือตัวตนของตัวเองนี่เองที่เค้าเรียกว่า“การดับไปแห่งอัตตา ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึงความดับไปของร่างกายหรือของชีวิต แล้วก็ไม่ได้หมายถึงความรู้สึกการตายด้าน แต่หมายถึง การดับของความรู้สึกที่รู้ว่ามี"ตัวเรา-ของเรา" ซึ่งคงสรุปได้ว่าเป็น "ความดับไปแห่งอัตตา"ซึ่งเป็นภาวะแห่งจิตที่ปราศจากความรู้สึกว่าเป็น “ตัวเรา-ของเรา” นั่นเอง และเมื่อความรู้สึกว่าเป็น“ตัวเรา-ของเรา” ดับไป เชื่อไหมครับว่าจะมีสิ่งอื่นขึ้นมาทดแทนเหมือนสมการเคมี นั่นก็คือภาวะของจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นภาวะแห่งความว่าง เกิดภาวะแห่งความสมบูรณ์ของสติปัญญา และจะทำให้เรามีแต่ความสงบสุขทางใจ
 
ไหนๆ แอคชัวรีก็คลุกคลีกับอัตรามรณะอยู่ทุกวันก็เลยทำให้เกิดความสนใจที่จะทำความเข้าใจคำว่าอัตตาเอาไว้บ้าง และเมื่อพอจะเข้าใจแล้วจึงอยากจะเอาประสบการณ์มาแบ่งปันให้กันเพราะเมื่อเข้าใจแล้วจะทำให้ได้ประโยชน์หลายด้านมาก และคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับด้านตรรกกะที่เป็นเหตุและผลจะมีความได้เปรียบที่จะมีความรู้เห็นจริงของการดับอัตตา โดยจะเข้าใจได้ว่าการดับได้ซึ่ง"ตัวตน-ของตน" นั้น จะทำให้คนเราทำอะไรได้มากขึ้น เรียนดีขึ้น คิดดีขึ้น มีความสุขขึ้น

 
คนทำงานที่เกี่ยวข้องกับด้านตรรกกะที่เป็นเหตุและผลจะมีความได้เปรียบที่จะมีความรู้เห็นจริงของการดับอัตตา โดยจะเข้าใจได้ว่าการดับได้ซึ่ง"ตัวตน-ของตน" นั้น จะทำให้คนเราทำอะไรได้มากขึ้น เรียนดีขึ้น คิดดีขึ้น มีความสุขขึ้น

 
และเมื่อดับ "อัตตา"ได้มากเท่าไร ความเห็นแก่ตัวของคนก็ลดลงมากเท่านั้น เพราะมีสติปัญญาหรือเหตุผลมากขึ้น จริยธรรมต่างๆ ก็จะตามมา เช่น ความซื่อสัตย์ ความเห็นแก่ผู้อื่น ความรักใคร่เมตตากรุณา การสารภาพความผิด ฯลฯ ก็จะตามมาอัตโนมัติ ในทางกลับกันถ้าคนเรามีอัตตามากถึงขีดสุด ต่อให้มีกฎหมายที่เข้มงวดเท่าไรก็ยั้งไม่อยู่เพราะเมื่อถึงเวลานั้น คนเหล่านั้นก็จะถึงภาวะหน้ามืดไม่กลัวตายหรือบทลงโทษใดๆ ทั้งสิ้น

กฎหมายเป็นบทบังคับขั้นต่ำ ส่วนบรรษัทภิบาลก็เปรียบเหมือนจริยธรรมในโลกธุรกิจ ดังนั้นถ้าผู้บริหารดับ “อัตตาได้ บรรษัทภิบาลก็จะตามมาเองเช่นกัน ขอเสริมอีกนิดว่าบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) นั้นเป็นการสร้างกลไกควบคุมการดำเนินงานขององค์กรให้โปร่งใสและเป็นธรรมต่อส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร ลูกค้า ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ซึ่งการทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความเสี่ยงในธุรกิจเช่นเดียวกัน

วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556

Mortality vs Dharma (อัตรามรณะ vs อัตตาแห่งธรรมะ)

ทราบไหมครับว่าตามสถิติของโลกในปัจจุบันนี้ ปรากฎว่ามีคนตายเกือบ 2 คนในทุกๆ วินาที (อ่านจบประโยคนี้ก็มีคนตายเพิ่มอีกละ) ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าคุณมีชีวิตยืนยาวได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป ก็จะมีโอกาสได้เห็นคนถึงเกือบ 4 พันล้านคนที่ล้มหายตายจากไปในช่วงที่คุณมีชีวิตอยู่ในโลกแบนๆ ใบนี้ (ตามที่ได้คำนวณไว้ในอัตรามรณะตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย) และก็เป็นความจริงที่หลีกหนีไม่พ้นว่าคุณอาจจะต้องเป็นหนึ่งในสี่พันล้านคนเข้าในซักวินาที ซึ่งถ้าลองกลับมาคิดดีๆ แล้วก็จะตระหนักว่า “ชีวิตคนเรานั้นช่างสั้นยิ่งนัก”

นอกจากสัปเหร่อกับอาชีพหมอแล้วก็น่าจะมีแอคชัวรีที่เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเคยได้ยินคำว่า ตาย จนชินหูในที่ทำงานทุกวัน

 นอกจากสัปเหร่อกับอาชีพหมอแล้วก็น่าจะมีแอคชัวรีที่เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเคยได้ยินคำว่า ตาย จนชินหูในที่ทำงานทุกวัน โดยถ้ามองอย่างผิวเผินแล้วก็จะเห็นว่ามันเป็นค่าสถิติหรือตัวเลขที่เก็บข้อมูลมาให้แอคชัวรีเอาไว้ใช้วิเคราะห์เท่านั้น ถึงแม้ว่าใครที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานในสายอาชีพนี้จะไม่ค่อยชอบเวลาที่ได้ยินกับคำว่า “ตาย เท่าไรนัก ยิ่งคำพูดที่ใช้สื่อสารกันในเวลาทำงานเพื่อที่จะออกแบบประกันหรือผลประโยชน์ความคุ้มครองชีวิตเป็นในทำนองการจำลองสถานการณ์สมมติว่า ถ้าตายไปด้วยเหตุนั้นจะจ่ายอย่างนี้หรือด้วยเหตุนี้จะจ่ายอย่างนั้นแล้ว มันก็ฟังดูน่าพิลึกเพราะเหมือนการไปแช่งเพื่อนร่วมงานกันเองให้ตายอยู่ทุกวัน บางคนก็ถือเหมือนกันกับเรื่องนี้ แต่เอาเป็นว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้เหมาะกับความต้องการของสังคมก็เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับคนในสังคมได้อีกทางหนึ่ง และประเทศไทยก็ยังขาดบุคคลาการที่จะพัฒนาทางด้านนี้อยู่อีกเป็นจำนวนมาก

 แอคชัวรีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ทำงานในบริษัทประกันชีวิต จำเป็นจะต้องคลุกคลีและมีข้อมูลของความเป็นไปได้ที่จะมีอัตราการตาย หรือที่เรียกกันว่า “อัตรามรณะ” ของคนแต่ละอายุ แต่ละเพศ ของแต่ละประเทศเอาไว้ใช้ เพื่อเป็นสถิติในการวิเคราะห์และคำนวณความเป็นไปได้ต่างๆ ในการประเมินความเสี่ยงทางด้านการเงินในอนาคต

ซึ่งตามความน่าจะเป็นทางสถิติก็จะทำให้รู้ว่าตัวเราเองจะน่าจะลาจากโลกนี้ไปเมื่อไร รู้ว่ามีโอกาสที่จะตายในปีนี้เท่าไร และโอกาสที่จะตายในปีหน้าเป็นเท่าไร รวมถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่จะทำให้มีความน่าจะเป็นที่จะอายุสั้นลงเท่าไร หรือแม้กระทั่งรู้ว่าถ้าอายุประมาณนี้จะมีความน่าจะเป็นที่จะได้อยู่ชมโลกถึงอายุเท่าไร ถ้าแอคชัวรีมีระบบฐานข้อมูลที่ดีพร้อมแล้วก็จะสามารถคำนวณความน่าจะเป็นที่อยากจะรู้ได้ทุกอย่างโดยเอาสถิติประยุกต์มาใช้เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์

คำว่า “อัตรามรณะ จึงเป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งของแอคชัวรี เปรียบเสมือนกับวัตถุดิบหรืออะไหล่ในการสร้างเครื่องยนต์ ถ้าไม่มีอัตรามรณะ แอคชัวรีก็ไม่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์แบบประกันชีวิตให้กับสังคมได้ แต่แม้ว่าจะคลุกคลีกับอัตรามรณะหรือพูดคำว่า “ตาย” อยู่จนชินหูแค่ไหนก็ตาม ในส่วนลึกๆ มันก็ยังเป็นเหมือนเรื่องไกลตัว เนื่องจากแอคชัวรีจะมีเพียงข้อมูลการตายและตัวเลขที่เก็บข้อมูลมาใส่บนกระดาษเท่านั้น

อัตรามรณะ คือ ตัวเลขทางสถิติที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่คนแต่ละอายุ แต่ละเพศจะตายลงเท่าไร ยกตัวอย่างเช่น อัตรามรณะของชายไทยอายุ 65 ปี ที่ไม่สูบบุหรี่ และมีสุขภาพปกติ เท่ากับ 5% ก็หมายความว่า ในจำนวนบุคคลในกลุ่มนี้ 100 คน จะมี 5 คนที่จะมีโอกาสเสียชีวิตภายในช่วงอายุ 65 ปี จนกระทั่งย่างเข้าอายุ 66 ปี เป็นต้น

 
ดังนั้น เมื่อใดที่หยุดจากงานและมีเวลาว่างเป็นของตัวเองเมื่อไร เราก็น่าจะหาโอกาสมานั่งทำความเข้าใจกับสัจธรรมของชีวิตเพื่อเตือนสติและเข้าถึงตัวเองให้มากขึ้น