วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การพนัน ประกัน การลงทุนและการเก็งกำไร

คุยกับแอคชัวรี – การพนัน ประกัน การลงทุนและการเก็งกำไร


วันนี้ผมขอหยิบยกเรื่องของทฤษฎีประกันมาคุยบ้าง โดยจะมาทำความเข้าใจกับคำ 3 แบบที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ และดูเหมือนว่าจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่จริงๆ แล้วมันมีหลักการและที่มาที่คล้ายคลึงกันในลักษณะของการนำเงินจ่ายเข้ามาไว้เป็นเงินกองกลาง (Pooling) และลักษณะของการยอมรับความเสี่ยง (Risk) อยู่

 
การพนัน (Gamble) หมายถึง การเล่นชนิดหนึ่งเพื่อเอาเงินหรือสิ่งอื่นใดด้วยการเสี่ยงโชค โดยการทำนายหรือคาดเดาผลที่เกิดขึ้นในอนาคต การพนันอาจแบ่งได้หลายอย่าง เช่น 1) การพนันในการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น เกมไพ่ เกมลูกเต๋า เป็นต้น 2) การพนันโดยการทำนายผลที่คาดว่าเกิดขึ้นในอนาคตเช่น การแทงบอล การแทงม้า เป็นต้น และ 3) การพนันที่ไม่มีการแข่งขันโดยขึ้นกับความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่เกิดเช่น หวย เป็นต้น


การประกันภัย (Insurance) คือ การบริหารความเสี่ยงภัยวิธีหนึ่ง ซึ่งจะโอนความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยไปสู่บริษัทประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้รับความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้


การลงทุน (Investment) และการเก็งกำไร (Speculation) จะมีความหมายเหมือนกันมาก แต่ต่างกันตรงที่ความตั้งใจว่าจะซื้อโดยมีการพิจารณาและศึกษาอย่างรอบคอบอย่างมีเหตุมีผล ซึ่งสินทรัพย์นั้นจะให้ผลตอบแทนตามสมควร ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเงินปันผลหรือดอกเบี้ยก็ตาม อีกทั้งยังคาดหวังถึงมูลค่าเพิ่มขึ้นในระยะยาวอีกด้วย (Capital Appreciation) ส่วนการเก็งกำไรนั้นจะเป็นการซื้อเพื่อขายหวังเอาผลกำไรที่มากขึ้น


ตามหลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นจะมีภาษาทางคณิตศาสตร์อยู่ตัวหนึ่งที่เรียกว่า “ค่าคาดหวัง (Expected Value)” ซึ่งหมายถึงการเอาทุกอย่างมาเฉลี่ยกันหมดเพื่อหาค่ากลางออกมา ผลลัพธ์ที่มีความผันผวนออกห่างจาก “ค่าคาดหวัง” จึงเรียกว่า “ความเสี่ยง (Risk)” นั่นเอง

1.       การพนัน (Gamble) จะออกแบบให้มี “มูลค่าของค่าคาดหวัง (Expected Value) จากการถูกรางวัล” น้อยกว่า “ค่าเฉลี่ยของเงินพนันที่ผู้พนันจ่ายไปทั้งหมด” เพื่อที่จะทำให้ผู้รับพนันยังมีกำไรอยู่ แต่สิ่งที่ผู้พนันได้ซื้อไปก็คือการได้ลุ้นและหวังที่จะได้รางวัลนั่นเอง เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า พวกชอบเสี่ยง (Risk Taker)

2.      การประกันภัย (Insurance) จะออกแบบให้มี “มูลค่าของค่าคาดหวัง (Expected Value) จากการลูกค้าได้รับเงินประกัน” น้อยกว่า “ค่าเฉลี่ยของเบี้ยประกันภัยที่ลูกค้าจ่ายไปทั้งหมด” เพื่อที่จะทำให้บริษัทประกันภัยยังมีผลประกอบการอยู่ แต่สิ่งที่ผู้ซื้อประกันภัยได้ซื้อไปก็คือการได้รับความคุ้มครองเมื่อเกิดความสูญเสียทางการเงิน (Financial Loss) เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า พวกไม่ชอบเสี่ยง (Risk Averse)

3.       การลงทุน (Investment) และการเก็งกำไร (Speculation) จะออกแบบให้มี “มูลค่าของค่าคาดหวัง (Expected Value) จากการลงทุน” มากกว่า “ค่าเฉลี่ยของเงินลงทุนที่ผู้ลงทุนจ่ายไปทั้งหมด” เพื่อที่จะหวังมูลค่าจากเงินที่ได้ลงทุนไปให้สูงขึ้น และสิ่งที่นักลงทุนจะได้ไปก็คือดอกผลจากการลงทุนและเก็งกำไร ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้ก็มีทั้งกลุ่มที่ชอบเสี่ยงและกลุ่มที่ไม่ชอบเสี่ยงอยู่รวมกัน

 
จะสังเกตได้ว่าทั้ง 3 แบบนี้มีลักษณะการเอาเงินมารวมเป็นกองกลาง (Pooling) กันก่อนแล้วจึงค่อยกระจายออกไปให้แต่ละคน ซึ่งถ้าเป็นพวกชอบเสี่ยง (Risk Taker) ก็จะกลายเป็นนักพนันไป ถ้าเป็นพวกที่ไม่ชอบเสี่ยง (Risk Averse) ก็กลายเป็นการซื้อประกันไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ค่าเฉลี่ยที่ได้ออกมาเป็น “ค่าคาดหวัง (Expected Value)” นั้นจะน้อยกว่า “เงินที่นำเข้าไปในเงินกองกลาง (Pooling)” อยู่แล้ว เพื่อให้เจ้ามือและบริษัทประกันดำเนินงานอยู่ได้ ส่วนการลงทุน (Investment) และการเก็งกำไร (Speculation) ก็ถือว่าเป็นอะไรที่ใส่เงินลงไปแล้วคาดหวังว่าจะได้กลับมามากขึ้น


ตอนนี้คงพอทราบแล้วใช่ไหมครับว่าคุณเป็นคนที่ชอบแบบไหน

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ลอตเตอรี่ ทิชชู่ และประกัน

คุยกับแอคชัวรี – ลอตเตอรี่ ทิชชู่ และประกัน


มาคราวนี้เป็นคำถามที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ามีเงินอยู่ 500 บาท คนไทยจะเอาเงินไปทำอะไรกัน ระหว่างการซื้อลอตเตอรี่ ทิชชู่ หรือประกัน ซึ่งผู้อ่านที่เป็นคนไทยด้วยกันก็คงตอบไม่ยาก และคำตอบก็ไม่ได้น่าแปลกใจเลยถ้าคนไทยจะเลือกซื้อลอตเตอรี่ก่อน หลังจากนั้นจึงมาซื้อกระดาษทิชชู่ ส่วนประกันนั้นก็ถูกลืมไปในที่สุด เพราะเงินในกระเป๋าหมดพอดี


แปลกตรงที่ทั้ง 3 สิ่งนั้นเป็นกระดาษเหมือนกัน แต่คนไทยกลับมองเห็นความสำคัญของลอตเตอรี่มาก่อนสิ่งอื่น ส่วนประกันกลับกลายเป็นสิ่งที่คนไทยหลายคนได้มองข้ามกันไป


เราจะลองมาวิเคราะห์กระดาษทั้ง 3 แบบนี้โดยเริ่มจากกระดาษทิชชู่หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากระดาษชำระ


กระดาษทิชชู่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer product) ที่สามารถจับต้องได้ และนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง การที่คนซื้อกระดาษเหล่านี้ไปก็เพื่อจะเอาไปใช้งาน และเมื่อใช้ก็จะหมดไป ทำให้ต้องหาซื้อใหม่เรื่อยๆ ซึ่งว่าง่ายๆ ก็คือกระดาษทิชชู่นั้นเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่คนไทยขาดไม่ได้นั่นเอง ดังนั้น เราจะยกประโยชน์ให้จำเลยที่เป็นกระดาษทิชชู่ในที่นี้ไป

 
ส่วนลอตเตอรี่หรือหวยนั้นก็เป็นของคู่กับคนไทยมาแต่ไหนแต่ไร เนื่องด้วยคนไทยชอบเสี่ยงโชคและเป็นคนมองโลกในแง่ดี (อีกทั้งยังฝันแม่น) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องเข้ามาช่วยอวยพรเลี้ยงฉลองและเงินไปใช้ตอนที่เจ้าตัวถูกหวย เคล็ดลับสำหรับคนที่เพิ่งเคยถูกหวยก็คือเอาเงินที่ได้ทั้งหมดนั้นไปจ่ายหนี้ก่อน แล้วกันอีกบางส่วนไว้ลงทุน หลังจากนั้นจึงค่อยบอกคนอื่นว่าตัวเองถูก


หลักการของลอตเตอรี่นั้นก็รู้ๆ กันอยู่ว่าทุกคนจะต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่ง (เช่น การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น) เพื่อนำเงินเข้ามาในกองทุนก่อน แล้วหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายและส่วนกำไรออกมาแล้ว จึงจะค่อยแบ่งเงินที่เหลือออกมาเป็นรางวัลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลที่ 1 หรือรางวัลเลขท้ายก็ตาม ซึ่งก็รู้มูลค่าของรางวัลอยู่แล้วว่าจะต้องจ่ายแต่ละรางวัลเมื่อไรและเท่าไร


เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือลอตเตอรี่นั้นจะไม่มีวันขาดทุนอย่างแน่นอน เพราะต้นทุนและราคาทุกอย่างได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ส่วนคนซื้อลอตเตอรี่ก็คงรู้อยู่เต็มอกว่าค่าเฉลี่ยของสิ่งที่จะได้กลับคืนมา (ภาษาคณิตศาสตร์เรียกว่าค่าคาดหวัง หรือ Expected Value) นั้นมีมูลค่าน้อยกว่าราคาที่เสียเงินซื้อไปแน่นอน เพียงแต่การซื้อลอตเตอรี่นั้นจะได้ความสนุกในการเสี่ยงโชคกับการได้ลุ้นและได้ฝันไปด้วย


และแล้วก็มาถึงแผ่นกระดาษแบบสุดท้ายที่คนมักจะลืมกัน นั่นก็คือ “ประกันภัย” เพราะเป็นอะไรที่ซื้อแล้วอาจไม่ได้ใช้หรือไม่ได้เห็นทันตาเหมือนกับการซื้อกระดาษทิชชู่ (ที่หยิบไปด้วยเวลาเข้าห้องน้ำ) หรือซื้อลอตเตอรี่ (ที่ได้ลุ้นอยู่ทุกๆ 15 วัน)


หลักการของประกันภัยนั้นจะรวบรวมเงินของแต่ละคนในรูปแบบของเบี้ยประกันภัย เพื่อนำเงินเข้ามาไว้กับบริษัท ซึ่งบริษัทก็จะนำเงินมาลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทน แล้วก็หักค่าใช้จ่ายและกัน “เงินสำรองประกันภัย” ออกมาไว้ก่อนเพื่อที่จะตั้งจ่ายเป็นเงินคืนให้กับลูกค้าในอนาคต ส่วนกำไรจะเป็นเท่าไรนั้นก็ต้องขึ้นกับว่าต้นทุนจะเกิดขึ้นเมื่อไรและเท่าไร ซึ่งไม่เหมือนกับลอตเตอรี่ที่กำหนดรางวัลเอาไว้อยู่แล้วตายตัวว่าจะจ่ายเมื่อไรและเท่าไร เมื่อเป็นดังนี้ ก็จะเห็นได้ว่าการขายประกันนั้นอาจจะขาดทุนได้ถ้าประมาณการต้นทุนได้ไม่ถูกต้อง


สิ่งที่เหมือนกันระหว่างลอตเตอรี่กับประกันก็คือ ค่าคาดหวังค่าเฉลี่ยของสิ่งที่จะได้กลับคืนมานั้นจะมีมูลค่าน้อยกว่าราคาที่เสียเงินซื้อไป เพราะแน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากขายของขาดทุนเป็นแน่ แต่สิ่งที่ประกันแตกต่างกับลอตเตอรี่ก็คือประกันจะทำหน้าที่คุ้มครองลูกค้าในเวลาที่เกิดความสูญเสียทางการเงิน (Financial loss) ที่ไม่คาดฝันขึ้น (โดยจะจ่ายทุนประทันเป็นเงินคืนให้กับลูกค้า) ขณะที่ลอตเตอรี่จะจ่ายเงินให้กับคนที่ซื้อก็ต่อเมื่อคนๆ นั้นถูกหวยตามที่ตัวเองได้คาดฝันเอาไว้

วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ใครว่าบริษัทประกันเป็นเสือนอนกิน

คุยกับแอคชัวรี – ใครว่าบริษัทประกันเป็นเสือนอนกิน

 
ครั้งที่แล้วได้มีโอกาสเอ่ยถึงอาชีพ “แอคชัวรี” หรือ “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย” ว่าทำไมจำเป็นต้องมีอยู่ในบริษัทประกันภัยไปพอสมควร มาคราวนี้จึงขอยกเรื่องที่เคยได้ยินมาบ่อยๆ ตั้งแต่ก่อนที่ผมจะเข้ามาในวงการประกันเสียอีก เนื่องจากชอบมีคนพูดกันว่า “บริษัทประกันเป็นเหมือนเสือนอนกิน”


หลายคนในที่นี้คงเคยได้ยินคำว่าเสือนอนกินกันอยู่บ้าง และก็มีไม่น้อยที่คิดว่าบริษัทประกันนั้นขายแค่กระดาษและก็คอยเป็นเสือนอนกิน เพราะเก็บเบี้ยประกันภัยเข้ามาก่อน แต่เวลาจ่ายเคลมนั้น ดูเหมือนจะเข้มงวดกันเสียเหลือเกิน อย่างนี้บริษัทประกันภัยคงต้องมีกำไรมหาศาลเลยแน่ๆ


จะเป็นจริงหรือไม่นั้น เราค่อยๆ มาดูกันดีกว่าครับ ว่าที่มาที่ไปของกำไรที่ว่านั้นมันมาอย่างไร


ก่อนอื่นก็คงต้องเริ่มจากเบี้ยประกันภัยที่รับเข้ามาก่อน เพราะนี่ถือว่าเป็นรายรับของบริษัทอยู่แล้ว และเมื่อได้รับเบี้ยประกันเข้ามาแล้ว บริษัทก็จะนำเงินก้อนนี้มาลงทุนให้เกิดดอกออกผล เพราะคงจะไม่มีใครที่เอาเงินมาแล้วเก็บใส่ไว้ในตุ่มเฉยๆ แต่การลงทุนของบริษัทประกันภัยนั้น จะต้องลงทุนแบบมีเหตุมีผล แบบว่าไม่เสี่ยงจนเกินไปและก็ไม่น้อยจนเกินไป โดยบริษัทจะต้องเจียมเนื้อเจียมตัว และพึงสังวรณ์อยู่เสมอว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่นำมาลงทุนอยู่นั้น คือเงินของผู้เอาประกันภัยที่หวังจะได้รับความคุ้มครองจากการสูญเสียทางการเงิน (financial loss) บางอย่างขึ้นในอนาคต


แน่นอนว่าในสินค้าใดๆ ก็ตาม เมื่อมีการขายเกิดขึ้นแล้ว บริษัทต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นหรือค่าบำเหน็จให้กับฝ่ายขายที่ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนหรือโบรกเกอร์ต่างๆ ซึ่งก็ต้องไม่ลืมว่าบริษัทประกันจะต้องหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทออกไปอีกด้วย ส่วนที่เหลือหลังจากนั้นก็ต้องมาดูกันว่า เคลมหรือค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้กับผู้รับประกันภัยนั้นมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพอถึงตรงนี้แล้วก็คงจะต้องอาศัยสถิติและข้อมูลล้วนๆ ในการประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าตามหลักการของคณิตศาสตร์ประกันภัย

 
ยอดขายหรือเบี้ยประกันภัย คอมมิชชั่นหรือค่าบำเหน็จให้กับฝ่ายขาย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัท ค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้กับผู้รับประกันภัย = ส่วนที่เหลือที่เป็นรายได้ของบริษัท


สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ “ธุรกิจประกันภัยนั้น ได้รับเงินมาก่อน แล้วจึงค่อยมีต้นทุนของสินค้าตามออกมาทีหลัง” ซึ่งก็คงต้องเดากันล่ะว่าต้นทุนของสินค้าในแต่ละตัวนั้นจะเป็นเท่าไร ถ้าเดาถูกก็ดีไป แต่ถ้าเดาไม่ถูกแล้วล่ะก็บริษัทก็ขาดทุนไป แล้วถ้าลองมาคิดดูดีๆ แล้วล่ะก็ ต้นทุนสินค้าของบริษัทประกันภัยนั้นจะขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่าง ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสำหรับการประกันชีวิต เช่น อายุ เพศ อาชีพการงาน งานอดิเรก สุขภาพ โรคประจำตัว และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้ต้นทุนสินค้าหรือการเคลมของกลุ่มคนแต่ละกลุ่มนั้นมีค่าต่างกัน ส่วนตัวอย่างของการประกันวินาศภัย ก็ได้แก่การประกันตัวรถยนต์ที่ต้องพิจารณาตั้งแต่อายุการใช้งาน ยี่ห้อ ประเภท หรือความแรงของเครื่องยนต์ เป็นต้น
 

ดังนั้น สิ่งที่ขาดไปไม่ได้สำหรับบริษัทประกันภัยในเวลาที่ต้องกำหนดราคาสินค้าเลยก็คือ การแบ่งกลุ่มประเภทของผู้เอาประกันภัยตามความเสี่ยง ถ้าเสี่ยงมาก ก็ควรจะเก็บเบี้ยประกันภัยมาก ถ้าเสี่ยงน้อย ก็ควรจะเก็บเบี้ยน้อย


แต่แล้วก็มีคนถามคำถามเกี่ยวกับการซื้อประกันชีวิตขึ้นมาอีกว่า ถ้าเก็บเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยให้เท่ากันให้หมดไปเลย  (คนจะเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยก็เก็บเบี้ยในราคาเท่ากัน) จะไม่ดีกว่าเหรอ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียเวลาในการตรวจสุขภาพ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง ก็คงจะไม่ได้หรอกครับ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว คนที่เสี่ยงน้อยก็จะยิ่งเสียเปรียบ กลายเป็นว่าพวกเขาเหล่านั้นจะไม่มาทำประกันภัย แล้วก็จะเหลือแต่คนที่มีความเสี่ยงมากมาซื้อประกันเท่านั้น ทำให้ต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจริงๆ นั้นเกิดขึ้นสูงกว่าต้นทุนที่ควรจะเป็น จนทำให้บริษัทประกันขาดทุนและอาจจะต้องขอปรับราคาเบี้ยประกันตามมา


เห็นไหมครับว่าก่อนที่บริษัทประกันภัยจะทำอะไรนั้น  จะต้องมีการคิดไว้ล่วงหน้าเสมอ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้กำไรเสมอไปเหมือนกัน แค่ได้กำไรพอประมาณที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่บริษัทต้องรับผิดชอบไว้ก็พอแล้ว ถ้าไม่เชื่อก็สามารถถามนักคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือแอคชัวรีกันดูได้ครับ