วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

จรรยาบรรณของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย - Associateship Professionalism Course (APC) in Hong Kong

ผมได้รับไหว้วานจาก SOA (Society of Actuaries) ของอเมริกาให้เป็นวิทยากรของงาน APC ที่จัดขึ้นในประเทศฮ่องกงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 เมื่อครั้งที่อยู่ฮ่องกง จนถึงปัจจุบันนี้ก็มีบินไปสอนน้องๆ แอคชัวรีรุ่นใหม่อยู่สม่ำเสมอเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และความเป็นมืออาชีพให้กับรุ่นน้องรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นแอสโซสิเอต (ASA) ในอนาคต นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่เลวทีเดียวครับ

ครั้งนี้คงต้องขอเป็นข้อยกเว้นที่จะตั้งหัวเรื่องให้เป็นภาษาไทยซักหน่อย เพราะไม่บังอาจจะแปลจากภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาไทยเพราะกลัวคนอ่านจะงง แต่สิ่งที่ยกมากล่าวในคราวนี้นั้นเป็นหลักสูตรของแอคชัวรีทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน หรืออยู่ทุกมุมไหนของโลกก็ตาม แต่เมื่อคนเหล่านั้นได้ผ่านการสอบระดับสากลจาก SOA (Society of Actuaries) ไปได้ครึ่งทางแล้ว ก็สามารถจะเข้าลงทะเบียนเรียนหลักสูตรนี้ได้

หลักสูตรนี้เป็นงานสัมมนาที่จัดขึ้นเป็นเวลาหนึ่งวัน เพื่อให้แอคชัวรีที่ผ่านการสอบมาครึ่งทางแล้วได้ตระหนักถึงความเป็นมืออาชีพและจรรยาบรรณของตัวเอง ว่าง่ายๆ ก็คือ ทำให้เกิดความสำนึกและซาบซึ้งในความเป็นแอคชัวรีนั้นเอง ถ้าใครได้สอบผ่านถึงครึ่งนึงและเข้าอบรมหลักสูตรนี้แล้วล่ะก็ เราจะเรียกสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นว่า ASA (Associateship of Societies of Actuaries) ครับ

จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยที่จะเห็นว่าผู้เข้าอบรมหลักสูตรนี้ทุกคนจะมีสีหน้ายิ้มแย้มเบิกบานอย่างออกนอกหน้า เพราะนี่ไม่เป็นเพียงหลักสูตรอบรมที่จะผ่านได้โดยไม่ลำบาก แต่อันที่จริงแล้วนี่เป็นเครื่องหมายแสดงความสำเร็จของความเป็นแอคชัวรีนั่นเอง

และถ้าไม่โดดหรือไปนั่งหลับอยู่ข้างในหรือไปทะเลาะกับวิทยากรอย่างผมแล้วล่ะก็ ทาง SOA (Society of Actuaries) ก็คงไม่มีปัญหาอะไรที่จะไม่ให้ผู้เข้าอบรมผ่านหลักสูตรนี้หรอกครับ

สำหรับในแถบภูมิภาคเอเชีย ปกติแล้วจะมีจัดตัวหลักสูตรอบรมนี้ขึ้นปีละประมาณ 2 ครั้ง ที่ฮ่องกงและปักกิ่ง (อาจจะมีสิงคโปร์บ้างเป็นครั้งคราว) คนที่สอบแอคชัวรีจากหลายๆ ประเทศก็จะบินไปรวมกันอยู่ที่นั่น ซึ่งในมุมมองของผมก็ถือว่ามันเป็นรางวัลสำหรับเด็กๆ ที่อุตส่าห์ขยันสอบจนมาได้ถึงระดับ “ครึ่งทาง” นี้ ก็ถือว่าเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับเด็กไปในตัวด้วย

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากงานนี้
1.               น้องๆ สามารถทำความรู้จักกับแอคชัวรีในประเทศอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติและความคิดเห็นกันได้ ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องมาทำความรู้จักเพื่อจะได้ทำงานร่วมกันเดี๋ยวนี้ แต่เชื่อผมเถอะครับว่า ในแวดวงของแอคชัวรีนั้นมันแคบยิ่งกว่าขันที่ลอยอยู่บนโอ่ง ลอยไปทางไหนก็เจอแต่คนที่รู้จักถ้ายังคิดจะอยู่ในวงการเดียวกัน เพราะฉะนั้นน้องๆ ที่มาในงานนี้อาจจะได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกันหรือเจอกับคนในงานสัมมนาในอนาคตก็เป็นได้
2.               ได้รู้ว่าความเป็นมืออาชีพนั้นเป็นอย่างไร และทำไมแอคชัวรีจึงจะต้องมีความเป็นมืออาชีพอยู่ติดตัวเสมอ จนทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทและหน้าที่ของแอคชัวรี ซึ่งในหลักสูตรนั้นก็จะมีเน้นย้ำว่าเราจะต้องช่วยกันสอดส่องดูแลความเป็นมืออาชีพให้ดี และระวังบุคคลแปลกปลอมที่จะเข้ามาแอบอ้างเซ็นรับรองทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้ผ่านการสอบเสียด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าหรือบริษัทต้องการจ้างแอคชัวรีเข้าไปเซ็นรับรองการประเมินหนี้สินของบริษัท แต่บริษัทไม่รู้ว่าระบบการสอบของแอคชัวรีเป็นอย่างไร เลยเผลอไปจ้างบุคคลแอบอ้างขึ้นที่ไม่ได้ผ่านการสอบวุฒิระดับมาตรฐานสากลขึ้นเพราะราคาอาจจะถูกกว่า เป็นต้น และเมื่อมีอะไรผิดพลาด บริษัทก็จะคิดว่าแอคชัวรีทั้งวงการนั้นไม่เก่ง และก็จะเสื่อมเสียถึงความเป็นมืออาชีพของแอคชัวรีทั้งวงการได้
3.               ให้รู้มาตรฐานจรรยาบรรณของแอคชัวรี รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำจนเกินขอบเขต เพราะมีบ่อยครั้งที่คนอื่นคิดว่าแอคชัวรีทำเป็นได้ทุกอย่าง ซึ่งความเชื่อเหล่านี้คงจะไม่เป็นจริงเสมอไป แต่บทสรุปในส่วนนี้ก็คือแอคชัวรีจะต้องรู้ขอบเขตของความรับผิดชอบของตัวเอง ถึงแม้ว่าแอคชัวรีจะทำเป็นทั้งหมดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถรับผิดชอบทุกอย่างได้ทั้งหมด

ท้ายที่สุดนี้ ก็ขอแสดงความยินดีกับคนที่ได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนี้ และเท่าที่ผมสังเกตแล้ว ในปัจจุบันก็จะมีคนไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมหลักสูตรนี้มากขึ้น ตอนนี้มีคนไทยมาเฉลี่ยปีละ 2 คน ซึ่งก็หมายความว่าเราจะมี ASA เพิ่มขึ้น 2 คนต่อปี และเราก็รอให้คนเหล่านี้ไต่ขึ้นมาถึงดวงดาว... วุฒิเฟลโล่กำลังรอพวกน้องๆ อยู่ครับ...

และสำหรับคนที่กำลังง่วนอยู่กับการสอบระดับต้นอยู่ ไว้เจอกันที่งาน APC ที่ฮ่องกงในอนาคตนะครับ ส่วนจะใกล้หรือไกลก็ขึ้นอยู่กับแรงฮึดและกำลังใจของน้องๆ ว่าจะสอบผ่านไปถึงครึ่งทางหรือไม่ ขอเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ ครับ

ไว้เจอกันที่ฮ่องกง APC ครั้งถัดไป

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย (The Society of Actuaries of Thailand)

The Society of Actuaries of Thailand (SOAT) มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อกำหนด ส่งเสริม และรักษามาตรฐานของวิชาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (แอคชัวรี) ให้อยู่ในมาตรฐาน รวมถึงช่วยเหลือหรือให้ข้อเสนอแนะและความเห็นทางวิชาการต่างๆ แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา บุคคลทั่วไปและองค์กร สถาบัน ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ทาง SOAT ยังเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ เพื่อส่งเสริมการศึกษาอย่างต่อเนื่องและการพัฒนาวิชาชีพให้กับสมาชิกอีกด้วย

ฉบับนี้จะขอกล่าวถึงประเภทของสมาชิกใน SOAT ที่ได้ปรับเปลี่ยนใหม่ตามข้อบังคับใหม่ให้มีด้วยกัน 5 ประเภท

สำหรับสมาชิกภาพของ SOAT นั้นก็มีอยู่หลายประเภท ประเภทหลักๆ ได้แก่
1.               ประเภท เฟลโล (Fellow) หรือที่เรียกว่า FSAT (Fellowship of Societies of Actuaries of Thailand) ซึ่งการจะเป็นได้นั้นอย่างน้อยต้องเป็นเฟลโล (Fellow) ของสถาบันที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล โดยจะต้องได้รับการรับรองจากการสอบผ่านข้อสอบ (หรือได้รับการยกเว้นจากการสอบของสถาบันนั้น) ทั้งนี้เฟลโล่คนนั้นจะต้องผ่านคุณสมบัติหรือเงื่อนไขข้ออื่นๆ ของสมาคมหรือสถาบันนั้นๆ ด้วย (เช่น ไม่ได้ไปมีคดีปล้นจี้มาจากที่ไหนมาก่อน)
2.               ประเภท แอสโซซิเอท (Associate) ซึ่งจะมีข้อกำหนดคล้ายกับประเภทเฟลโล (Fellow) คือต้องเป็นแอสโซซิเอท (Associate) ของสถาบันที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากสากล โดยจะต้องได้รับการรับรองจากการสอบผ่านข้อสอบ (หรือได้รับการยกเว้นจากการสอบของสถาบันนั้น) หรือไม่เช่นนั้นการจะเป็นสมาชิกแบบแอสโซซิเอท (Associate) ได้นั้นก็สามารถทำได้ถ้าเป็นผู้ที่จบการศึกษาในหลักสูตร Actuarial Science จากสถาบันการศึกษาที่ IAA (International Actuarial Association) ให้การรับรองในหลักสูตรดังกล่าว และสถาบันการศึกษานั้นจะต้องได้การยอมรับจากคณะกรรมการ
3.               ประเภท สามัญ (Ordinary) ซึ่งสามารถเป็นได้ ถ้าได้ปฏิบัติหน้าที่หรือเกี่ยวข้องกับงานทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือถ้าไม่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องเลยก็สามารถเป็นได้ถ้าเป็นบุคคลที่ผ่านการสอบบางวิชาของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ได้รับการรับรอง

สมาคมฯ ประกอบไปด้วยสมาชิก 5 ประเภท ดังต่อไปนี้.-
ประเภทสมาชิก
จำนวน
1.                 สมาชิกประเภท เฟลโล (Fellow)
35
2.                 สมาชิกประเภท แอสโซซิเอท (Associate)
3
3.                 สมาชิกประเภท สามัญ (Ordinary)
88
4.                 สมาชิกประเภท สถาบัน (Institution)
14
5.                 สมาชิกประเภท กิตติมศักดิ์ (Honorary)
-

และจะมีอีกสองประเภทที่เหลือได้แก่ ประเภท สถาบัน (Institution) และประเภท กิตติมศักดิ์ (Honorary)
4.               สมาชิกประเภทกิตติมศักดิ์ (Honorary) จะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการเชิญเข้าเป็นสมาชิกด้วยคะแนนเสียงที่ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของคณะกรรมการที่เข้าประชุม
5.               สมาชิกประเภทสถาบัน (Institution) จะเป็นนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือสนับสนุนกิจการของสมาคม

สำหรับสถาบันที่ได้รับการยอมรับจาก SOAT นั้นจะมีดังนั้น
1.               The Society of Actuaries (SOA) ของอเมริกา ซึ่งถ้าได้เป็นเฟลโล่ของสถาบันนี้แล้วจะเรียกว่า FSA (Fellowship of Societies of Actuaries)
2.               Casualty Actuarial Society (CAS) ของอเมริกา ซึ่งถ้าได้เป็นเฟลโล่ของสถาบันนี้แล้วจะเรียกว่า FCAS (Fellowship of Casualty of Actuarial Society)
3.               The Institute of Actuaries (IOA) ของอังกฤษ ซึ่งถ้าได้เป็นเฟลโล่ของสถาบันนี้แล้วจะเรียกว่า FIA (Fellowship of Institute of Actuaries)
4.               Faculty of Actuaries in Scotland  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ IOA ของอังกฤษ ซึ่งถ้าได้เป็นเฟลโล่ของสถาบันนี้แล้วจะเรียกว่า FFA (Fellowship of Faculty of the Faculty of Actuaries)
5.               Institute of Actuaries of Australia (IAA) ของออสเตรเลีย ซึ่งถ้าได้เป็นเฟลโล่ของสถาบันนี้แล้วจะเรียกว่า FIAA (Fellowship of Institute of Actuaries of Australia)
6.               Canadian Institute of Actuaries (CIA) ของแคนาดา ซึ่งถ้าได้เป็นเฟลโล่ของสถาบันนี้แล้วจะเรียกว่า FCIA (Fellowship of Canadian Institute of Actuaries)


สำหรับสมาชิกของ SOAT ที่มีอยู่ก่อนที่จะมีข้อบังคับใหม่ออกมานั้นจะได้ถูกจัดหมวดหมู่ให้เป็นดังนี้
1.               สมาชิกที่เป็นเฟลโล่ของ SOAT (หรือที่เรียกว่า FSAT) จะยังเป็นสมาชิกประเภทเฟลโล (FSAT) อยู่เหมือนเดิม โดยมีเงื่อนไขที่ว่า ภายในปี 2558 นี้ FSAT ที่มาจากข้อบังคับเก่าจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนเหมือนกับ FSAT ที่มาจากข้อบังคับใหม่
2.               สมาชิกสามัญประเภทอื่น, สมาชิกวิสามัญ, และ สามาชิกพิเศษ จะถูกปรับเข้าไปเป็น สมาชิกประเภทสามัญ (Ordinary) ตามข้อบังคับใหม่ของ SOAT
3.               สมาชิกประเภทกิตติมศักดิ์ จะยังเป็นสมาชิกประเภทกิตติมศักดิ์ (Honorary)
4.               สมาชิกประเภทนิติบุคคล จะเปลี่ยนชื่อเป็น สมาชิกประเภทสถาบัน (Institution)

นั่นก็หมายความว่า ในขณะนี้คนที่จะเป็น FSAT ของ SOAT ใหม่ได้นั้นจะต้องเป็นเฟลโล่ของสถาบันดังกล่าวเท่านั้น ส่วนคนที่เป็น FSAT อยู่แล้วก็จะต้องเป็นเฟลโล่ของสถาบันดังกล่าวให้ได้ภายในปี 2558 (ซึ่งถ้าไม่สามารถทำได้ภายในระยะเวลาที่ว่านี้ ก็จะต้องมีการปรับโอนสภานภาพตามแต่สมควร) และสำหรับคนที่เป็นแอสโซซิเอทจากสถาบันที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล (เช่น ASA จาก SOA เป็นต้น) ก็สามารถสมัครมาเป็นสมาชิกประเภทแอสโซซิเอทของ SOAT ได้

แอคชัวรีที่มาจาก SOA ของอเมริกา และ IOA ของอังกฤษนั้นเป็นที่ยอมรับกันของคนทั่วโลก และคนไทยส่วนใหญ่มักจะนิยมสอบของ SOA กัน เพื่อให้ได้เป็นเฟลโล่ หรือที่เรียกว่า FSA

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เส้นทางมืออาชีพการเงินกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

ผมได้มีโอกาสรับเชิญไปเสวนาเรื่อง “เส้นทางมืออาชีพการเงิน” ของรายการ Money Talk ดำเนินรายการโดย ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา เมื่อราวๆ ปลายเดือนมีนาคม ซึ่งก็ได้ออกอากาศใน Money Channel ไปเรียบร้อยแล้ว ในงานนี้เราได้พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่จำเป็นสำหรับเส้นทางของการเป็นนักการเงินมืออาชีพ นั่นก็คือ คุณวุฒิเฉพาะทางในสายอาชีพ (Professional qualification) ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น วิชาชีพแพทย์ จะต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ หรือ แม้แต่ทนายความ ก็ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ซึ่ง Professional qualification ที่ว่านี้จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกสายอาชีพที่ไม่เว้นแม้แต่อาชีพทางการเงิน

นักการเงินจึงควรที่จะมี CFA (Chartered Financial Analyst) หรือ FRM (Financial Risk Manager) เอาไว้ติดตัว ซึ่งก็มีค่าไม่น้อยหน้าไปกว่าปริญญาโทหรือเอกในสายอาชีพนั้นเลยทีเดียว

แอคชัวรีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยก็เป็นหนึ่งในนักการเงินที่ให้ความสำคัญกับ Professional Qualification เป็นอย่างมากเช่นกัน โดยสายอาชีพนี้จะต้องสอบเอาคุณวุฒิเฉพาะทางอย่าง FSA (Fellowship of Societies of Actuary) เพื่อที่จะวิเคราะห์ข้อมูลสถิติในอดีต มาจำลองสถานการณ์การเงินในอนาคต และนำผลลัพธ์เหล่านั้นมาประยุกต์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการความเสี่ยง หรือการคำนวณเพื่อใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจให้ได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ เราได้ยกตัวอย่างหลักสูตร FIRM (Financial Investment & Risk Management) ของ NIDA ที่ได้ใช้ตำราในการสอบของ CFA และ FRM มารวมกันไว้เพื่อสอนในหลักสูตรปริญญาโทภาคค่ำ ภายในระยะเวลาหนึ่งปีครึ่ง โดยมุ่งหวังให้นักศึกษาสามารถสอบ Professional Qualification อย่าง CFA หรือ FRM ได้ด้วย นับว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลยทีเดียว


โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

“คณิตศาสตร์ประกันภัย" รับประกันเรียนเลขไม่ตกงาน - ผู้จัดการรายวัน

http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000131698

พ่อแม่ที่มีลูกเก่งเลขอาจลังเลที่จะให้ลูกเรียนคณิตศาสตร์อย่างจริงจัง เพราะไม่รู้ว่าจบแล้วจะทำงานอะไร ขณะที่ "นักคณิตศาสตร์ประกันภัย" กำลังเป็นที่ต้องการและขาดแคลนอย่างมาก สำหรับบริษัทเงินทุนและประกันภัย การันตีรายได้ 6 หลัก ซึ่งมีคนไทยเพียง 6 คนเท่านั้นที่มีคุณวุฒินี้

ธุรกิจประกันโตก้าวกระโดดสวนทางวิกฤตเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมประกันชีวิตเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เพราะผ่านผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ถึง 2 ครั้งอย่างดีมาก โดยหลังวิกฤตปี 2540 บริษัทการเงินต่างๆ ล้มไปจำนวนมาก แต่บริษัทประกันชีวิตยังมีการเติบโตทุกปีเป็นตัวเลข 2 หลัก และในปี 2552 ขณะที่บริษัทอื่นเติบโตติดลบ แต่บริษัทประกันเติบโตถึง 15% ซึ่งคาดว่าจะเป็นเลขเดียวกันนี้ถึงสิ้นปี

ข้อมูลจากพันธ์พร ทัพพะรังสี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวไว้ในวงเสวนา "วิทยาศาสตร์ทำเงิน" (ประกันไม่ตกงาน)” เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

“ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ฯ เติบโตแบบก้าวกระโดดมาตลอดในรอบ 10 ปี ซึ่งไม่น่าจะต่ำกว่า 25% เบี้ยประกันภัยปีแรกอยู่ที่ 300 ล้านบาทต่อปี ตอนนี้เบี้ยประกันอยู่ที่ 700 ล้านบาทต่อดือน เหตุผลนั้นแม้อุตสาหกรรมจะไม่ได้รับความสนใจนัก แต่จริงๆ แล้วมีประโยชน์มากถ้ารู้จักใช้ ช่วงปี 2540-2541 อัตราการถือครองกรมธรรม์อยู่ที่ 12-13% สิ้นปี 2551 ขึ้นมาถึง 20% เมื่อเปรียบเทียบประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นอัตราการถือครองกรมธรรม์อยู่ที่ 130% ดังนั้นเรายังมีความสามารถที่จะเติบโตไปอีกมาก" พันธ์พรกล่าว

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสของไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ฯ ยังบอกด้วยว่า อุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระดับโลก และในระดับประเทศขาดแคลนนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งเป็นที่ต้องการของทุกบริษัท พร้อมทั้งรับรองว่าผู้ที่เรียนทางด้านนี้ไม่ต้องหางาน เพราะจะมีคนเข้าไปหาเอง โดยอัตราเงินเดือนจะเพิ่มค่าจ้างในส่วนที่เป็นสาขาขาดแคลนด้วย

ทางด้านพิเชษฐ เจียรมณีทวีสิน นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัย บริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชันแนลแอสชัวรันส์ จำกัด หรือเอไอเอ เพิ่งเข้ามาประจำสาขาประเทศไทยได้ไม่กี่วัน หลังจากประจำอยู่ที่ฮ่องกง 6 ปี โดยเขาได้บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการว่า นักคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือแอคชัวรี (Actuaries) คือนักวิเคราะห์ความเสี่ยง ที่มีทักษะทั้งด้านคณิตศาสตร์ สถิติศาสตร์ การเงิน และมีความเชี่ยวชาญในการประเมินผลกระทบทางการเงินจากความไม่แน่นอนในปัจจุบันและเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


การันตีรายได้ปีละ 6 ล้าน

ทั้งนี้ มีคนไทยเพียง 6 คน ที่เป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งการจะเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องมีการสอบวัดคุณวุฒิ เหมือนการสอบขอใบประกอบโรคศิลป์ของแพทย์หรือการสอบเนติบัณฑิตของนักกฎหมาย ซึ่งการสอบของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นมี 10 ขั้น เป็นการสอบตามมาตรฐานสากล ซึ่งทุกครั้งที่สอบผ่านจะได้รับเงินเดือนเพิ่มตามคุณวุฒิขั้นละ 5,000 บาท และผู้ที่สอบผ่านทุกขั้นจะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 6 ล้านบาท

“สำหรับไทยรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 6 ล้านบาทต่อปี ถ้าเป็นสหรัฐฯ รายได้ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยอยู่ที่ 100,000 เหรียญสหรัฐ ฮ่องกงอยู่ที่ 1,000,000 เหรียญฮ่องกงต่อปี ส่วนของไทยต้องปรับราคาขึ้นด้วยเนื่องจากเป็นสาขาขาดแคลน และทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ จีน ฮ่องกง ล้วนขาดแคลนนักคณิตศาสตร์ประกันภัยทั้งสิ้น ทั้งนี้การจะปั้นคนให้เป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องใช้เวลาเป็นปีๆ" พิเชษฐกล่าว

พิเชษฐกล่าวอีกว่า บริษัทจะมองนักคณิตศาสตร์ประกันภัยว่าเป็นเหมือนนักเรียนทุน โดยจะออกค่าสอบและค่าตำราให้ และให้หยุดพิเศษนอกเหนือจากพักร้อนประจำปีอีก 2 ครั้ง เพื่ออ่านหนังสือเตรียมสอบ ที่จัดให้มีปีละ 2 ครั้ง จึงเท่ากับทำงานเพียง 11 เดือน และหากสอบผ่านจะได้รับการรับรองเงินเดือนขึ้นทุกขั้น

อย่างไรก็ดี นักคณิตศาสตร์ประกันภัยไม่ได้ทำงานแค่ในบริษัทประกันภัย แต่ยังทำหน้าที่วิเคราะห์ความเสี่ยงทางด้านการเงินให้กับริษัทใหญ่ๆ และจำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษได้ เพื่อสื่อสารออกไปยังคนอื่นได้ และการสื่อสารในรูปแบบธุรกิจให้ผู้บริหารอยากใช้นั้นเป็นสิ่งจำเป็น โดยพิเชษฐได้เปรียบเทียบเหมือนการเปลี่ยนตัวเลขให้เป็นตัวโน้ตเพื่อเป็นดนตรีที่ผู้บริหารฟังแล้วสบายใจ

“การเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ต้องนำภาษาคณิตศาสตร์มาจำลองอนาคต อย่าง 2+1=3 เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็คิดได้ แม้แต่เครื่องคิดเลข แต่การเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องมองให้ลึกกว่านั้น มองว่า 2 และ 1 มาจากไหน แล้วเราจะใช้ 4-1=3 แทนได้ไหม หาก 3 คือเป้าหมายหรือผลกำไรของริษัท แล้วจะทำให้ 3 เป็น 4 เป็น 5 ได้อย่างไร หรือมีอะไรที่จะทำให้ 3 ลดลงเป็น 2 เป็น 1 หรือกลายเป็น 0 เป็นสิ่งที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องคิดให้ลึก" พิเชษฐกล่าว

พิเชษฐบอกอีกว่า พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่สำคัญคือสถิติ แคลคูลัส ทฤษฎีทางการเงิน แบบจำลองทางการเงินและเศรษฐศาสตร์


เปิดหลักสูตร "นักคณิตศาสตร์ประกันภัย" ในไทยครั้งแรก

ก่อนหน้านี้ไม่มีการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ประกันภัยในเมืองไทย จนกระทั่งภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาคณิตศาสตรตร์ประกันภัย หลักสูตรนานาชาติ ในปีการศึกษา 2552 โดยมี ศ.ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2550 และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ เป็นประธานหลักสูตรนี้

“มีนักเรียนประถมหลายคน ที่รักและชอบเรียนคณิตศาสตร์ แต่เมื่อเรียนถึงระดับมัธยมเขาก็ถูกกระแสความนิยมดึงไปเรียนด้านอื่นเยอะมาก มีคำถามว่าเรียนคณิตศาสตร์แล้วไปทำอะไร และผู้ปกครองไม่เห็นด้วยที่จะให้เด็กเรียน ทั้งที่เด็กมีความสุขมากกับการเรียนคณิตศาสตร์ และจริงๆ แล้วเรียนคณิตศาสตร์ไม่ตกงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอาชีพอื่นด้วย" ศ.ดร.ยงค์วิมลกล่าว

สำหรับหลักสูตรคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เปิดใหม่ล่าสุดนี้ ศ.ดร.ยงค์วิมลกล่าวว่า กำลังเปิดรับนักศึกษารุ่นที่ 2 ในระบบรับตรง โดยทางมหาวิทยาลัยจะสอบคัดเลือกเอง ซึ่งนักเรียนจะสอบคัดเลือกเพียงสองวิชาคือ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ แต่สำหรับนักเรียนที่มีคะแนนโทเฟิล 450 คะแนน ก็สอบเพียงคณิตศาสตร์อย่างเดียว โดยทั้งหลักสูตรจะสอนเป็นภาษาอังกฤษเป็นระยะเวลา 4 ปี หรือ 8 เทอม

ทั้งนี้ นักศึกษาเลือกได้ว่า จะเรียนที่เมืองไทยตลอดหลักสูตร หรือจะเรียนที่นี่ 5 เทอมแล้วไปต่อที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเคอร์ติน (Curtin University of Technology) ณ เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งหากเลือกอย่างหลังจะได้รับปริญญา 2 ใบจากทั้งไทยและออสเตรเลีย

“คุณสมบัติของผู้เรียนต้องรักคณิตศาสตร์ เรียนแล้วสนุก และนอกจากชอบคณิตศาสตร์แล้ว ยังต้องมองอะไรไปทางธุรกิจด้วย โดยเราจะให้พื้นฐานด้านการเงิน การคลัง การบริหารความเสี่ยง และไม่ต้องกลัวภาษาอังกฤษ ถ้าไม่ค่อยเก่งภาษาเราจะฝึกให้ โดย 5 เทอมแรกเรียนที่มหิดล และถ้ามีผลการเรียนน่าพอใจเราจะมีทุนให้ไปต่อที่คอร์ตินใน 3 เทอมหลัง หรือจะไม่ไปก็ได้" ศ.ดร.ยงค์วิมลกล่าว

นักศึกษารุ่นแรกของหลักสูตรนี้มีเพียง 7 คน เนื่องจากไม่ได้ประชาสัมพันธ์หลักสูตร และสำหรับรุ่นที่ 2 นี้เปิดรับสมัคร 30 คน ซึ่งเป็นระดับที่จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ทางด้าน ลลิตา พละศักดิ์ นักศึกษารุ่นแรกของหลักสูตรนี้ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 1 บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ทราบข้อมูลหลักสูตรนี้จากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยมหิดล และตัดสินใจเลือกเรียน เพราะนอกจากชอบคณิตศาสตร์แล้ว ยังเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีความก้าวหน้าและมีรายได้ดี อีกทั้งยังเป็นสาขาที่ขาดแคลน ไม่เป็นที่รู้จัก และล่าสุดเธอได้รับทุนการศึกษาจากบริษัทไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเธอจะได้ฝึกงานที่บริษัทนี้ และมีความหวังว่าจะได้ทำงานในบริษัทแห่งนี้ด้วย

ส่วนศุภวัฒน์ วัฒนาอาษากิจ นักศึกษาภาควิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นนักศึกษาอีกคนที่ได้รับทุนการศึกษาจากบริษัทไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต และเพิ่งเลือกเรียนคณิตศาสตร์ประกันภัยในชั้นปีที่ 3 ของหลักสูตรปกติ ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า นอกจากเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงในชีวิตแล้ว ยังมีโอกาสได้ทำงานเพื่อสังคม เพราะกำไรที่ได้จากธุรกิจประกันภัยก็จะคืนสู่สังคมด้วย


รับประกันไม่ตกงาน

สำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาคณิตศาสตร์ประกันภัย หลักสูตรนานาชาติที่เพิงเปิดสอนได้ 1 รุ่นนี้ ดร.บริบูรณ์ เนาวประทีป หัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ามีบริษัทประกันภัย 3 แห่งคือ บริษัท ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด และบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชันแนลแอสชัวรันส์ จำกัด แสดงความจำนงในการมอบทุนการศึกษา แก่นักศึกษาในหลักสูตร และพร้อมรับนักศึกษาเข้าทำงานด้วย

ดร.บริบูรณ์กล่าวว่า บริษัทการเงินและประกันภัยก็เข้าไปตั้งโต๊ะสัมภาษณ์งานนักศึกษาภาควิชาคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว แต่จุดอ่อนของนักศึกษาคือภาษาอังกฤษ ที่ไม่ค่อยดีนัก จึงได้เปิดหลักสูตรนานาชาติขึ้นมา เพื่อให้นักศึกษามีความเข้มแข็ง ทั้งในส่วนของคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ พร้อมกันนี้ยังพยายามตอบโจทย์ให้ได้ว่าเรียนคณิตศาสตร์แล้วไปทำงานอะไร

"ผู้เรียนคณิตศาสตร์ที่รักจะทำวิจัยก็มีรายได้รองรับไม่ต่ำกว่า 6 หลัก เพราะมีโจทย์ให้วิจัยเยอะ และมีหน่วยงานที่พร้อมจะสนับสนุน หรือหากอยากประกอบอาชีพ เพื่อทำเป็นเงินเป็นทองก็ไม่แพ้แพทย์ทีเดียว ถ้าเรียนคณิตศาสตร์มีอาชีพรับรองที่มีความมั่นคงสูงอย่างแน่นอน" ดร.บริบูรณ์รับประกันอนาคตของผู้เรียนคณิตศาสตร์


       
คณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial Science)












เป็นสาขาวิชาที่ผลิตนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary) ซึ่งพวกเขามีหน้าที่ตั้งราคาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยทำให้เหตุการณ์ในอนาคตเป็นเหตุเป็นผลในรูปของการเงิน ด้วยการพัฒนาตัวแบบทางคณิตศาสตร์มาประเมินสถานการณ์ทางธุรกิจ โดยคิดถึงความไม่แน่นอนของเหตุการณ์
อีกทั้งพวกเขามีความสามารถที่จะวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบัน และสร้างโมเดลคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
นักคณิตศาสตร์ประกันภัยอาจจะพยากรณ์ออกไปในระยะยาวเพื่อที่จะประเมินสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากที่สุดและโอกาสของสิ่งที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดของเหตุการณ์
นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นที่ต้องการในองค์กรที่แตกต่างกัน คือ บริษัทประกันชีวิต, บริษัทให้คำปรึกษา, บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัททางการเงินอื่นๆ
(ข้อมูลจาก sawasdeeactuary.com)


โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นักคณิตศาสตร์ประกันภัย กับ วิศวกรรมการเงิน

แอคชัวรีกับวิศวกรรมการเงิน

ถ้าจะกล่าวจริงๆ แล้วจะรู้ว่าแอคชัวรีกับวิศวกรการเงินนั้นไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนักในตัวเนื้อหาวิชา บางครั้งแอคชัวรีจึงถูกเรียกว่านักวิศวกรการเงิน ซึ่งมีเพียงแต่วิธีการประยุกต์ที่อาจจะแตกต่างกันบ้างเท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นแอคชัวรีนั้นมาเรียนวิชาในวิศวกรรมการเงินอยู่บ้างเหมือนกัน นั่นก็เพราะความคล้ายคลึงกันในเนื้อหาวิชานั่นเอง

เหตุผลที่การเรียนวิชาของแอคชัวรีมีส่วนเกี่ยวกับกับหลักสูตรของวิศวกรรมการเงินนั้นก็คือ แอคชัวรีต้องสร้างสินค้าทางตลาดการเงินเพื่อให้ออกสู่ตลาด ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับวิศวกรรมการเงินที่ต้องสร้างสินค้าทางตลาดการเงินให้ออกมาไม่ว่าจะเป็นตราสารอนุพันธ์หรือตราสารรูปแบบแปลกๆ ประเภทต่างๆ อย่างที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจโลกของอเมริกานั้นก็มีเหตุมาจากการสร้างตราสารประเภทใหม่ๆ ที่ไม่มีการควบคุมที่ดีพอ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและกระจายมาถึงประเทศในแถบบ้านเรา

โดยที่จริงแล้ววิชาของแอคชัวรีจะยากและแตกต่างกว่าวิชาของวิศวกรรมการเงินอยู่สองอย่าง นั่นคือ
  1. นอกจากจะต้องใช้อัตราดอกเบี้ยในตลาดมาเพื่อคำนวณเหมือนกับวิศวกรรมการเงินแล้ว แอคชัวรีจะต้องใช้ตัวแปรที่เพิ่มเติมที่ไม่มีในตลาดหลักทรัพย์ สำหรับประกันชีวิตก็คือ อัตราการตาย สำหรับประกันสุขภาพก็คือ อัตราการเข้าโรงพยาบาล อัตราการเกิดโรคร้ายแรงในแต่ละชนิด ส่วนประกันวินาศภัยก็คือ สถิติการชนของรถยนต์ประเภทต่างๆ สถิติของการเกิดไฟไหม้ ไต้ฝุ่น เป็นต้น
  2. ถ้าเป็นแบบประกันชีวิตแล้วก็เปรียบเสมือนสร้างตราสารการเงินให้เป็นระยะยาว โดยบางแบบก็ต้องคุ้มครองตลอดชีวิต แถมต้องการันตีให้ด้วย การคำนวณจึงต้องคลอบคลุมให้กว้างและยาวกว่าที่จะคาดการณ์ได้นัก

โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

30 เคล็ด (ไม่ขัดยอก) กับการเตรียมตัวสอบครอบจักรวาล

บทความในคราวนี้มีเผื่อไว้สำหรับคนที่ต้องใช้ชีวิตที่เกี่ยวพันกับการสอบอยู่ จะหมกหมุ่นเพราะชอบหรือโดนบังคับก็เถอะ แต่การสอบก็เป็นสถานประลองฝีมืออีกแห่งหนึ่งที่จะวัดว่าใครเป็นคนที่มีความสามารถ แต่ก็ต้องเลือกสถาบันที่จัดสอบดีๆ ซึ่งขอแนะนำว่า ถ้าเป็นการสอบที่ได้ระดับสากลรองรับก็จะดีกว่า เพราะยังมีสนามสอบอีกหลายแห่งที่เป็นการสอบแบบไม่มีคุณค่าหรือแทบจะไม่ได้การรับรองเลยก็ได้

สนามสอบก็เหมือนสนามรบ การสอบในหลายๆ สนาม ไม่ว่าจะเป็นการสอบเอนทรานซ์ สอบสัมภาษณ์เข้าทำงานใหม่ หรือ สอบสารพัดจิปาถะต่างๆ เช่น CFA (Chartered Financial Analyst) หรือ FRM (Financial Risk Manager) เท่าที่ผ่านมาจะเห็นว่าการสอบให้ได้ FSA (Fellow of Societies of Actuaries) นั้นมีความตึงเครียดอย่างกับอยู่ในช่วงภาวะสงครามมากกว่าการสอบแบบอื่นๆ เพราะต่างคนก็เตรียมตัวกันมาเป็นปี เพื่อสอบให้ผ่านให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนขึ้น (อย่างอัตโนมัติ) หลายต่อหลายคนที่แฟนรอขอแต่งแต่ก็ต้องรอให้อีกฝ่ายสอบผ่านเป็น FSA ให้ได้หมดก่อน บางคนถึงขั้นคิดว่ามันเป็นเหมือนพันธะหรือบ่วงกรรมซะมากกว่า แต่ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคนที่เข้าสอบทุกท่านให้พยายามกันต่อไป (ภาษากวางตุ้งจะพูดว่า กาเหยา แปลตรงตัวว่า เติมน้ำมัน หมายถึงว่าให้ สู้ๆ ครับ) จึงไม่แปลกเลยที่คนอเมริกาที่ได้เป็น FSA เวลาจะหย่ากัน อีกฝ่ายเขาจะเรียกร้องขอค่าสินสมรสจากความเป็น FSA ด้วย เพราะจะถือว่า กอดคือผ้าห่มของหัวใจ กำลังใจคือผ้าห่มของการสอบ ถ้าไม่มีฝ่ายที่คอยปรนนิบัติให้กำลังใจ อีกฝ่ายหนึ่งก็คงสอบไม่ได้ คนที่เป็น FSA จึงไม่ควรหย่าครับ หรือถ้ามองในมุมตรงกันข้ามก็ขอแนะนำว่าให้หาคนที่มีแววน่าจะเป็น FSA ในอนาคต แล้วก็แต่งซะตอนที่ยังไม่เป็น FSA พอเวลาหย่าแล้วจะได้สินสมรสหลังแต่งเยอะกว่าหลายเท่าทีเดียว

เอ่ยเรื่องการสอบมาก็มากพอสมควรแล้ว มาลองดูกันว่าเราจะเตรียมตัวในการเข้าสนามสอบกันจริงๆ อย่างไร  เท่าที่ผ่านสนามสอบมาจากประสบการณ์ตรงก็พอจะสรุปเทคนิคในการเตรียมตัวต่างๆ ก่อนสอบได้ดังนี้
          1.                จัดตารางการทบทวนสิ่งที่อ่านมาให้ดี อย่างน้อยๆ ก็ก่อนสอบประมาณ 2 สัปดาห์   ปกติจะเริ่มท่องจำสิ่งที่เข้าใจมาเพื่อใช้ในการสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ตอนช่วงสัปดาห์สุดท้าย (work out a revision plan) ช่วงสัปดาห์ที่เหลือนั้น ก็เหลือแต่วิธีการจำอัดเข้าสมองอย่างเดียว พ่อแม่ให้สมองมาแค่ไหนก็ใช้จำให้ได้ไปเท่านั้น แต่ต้องขอบอกก่อนนะครับว่า สิ่งที่จำอัดเข้าไปในสมองในช่วงก่อนสอบนั้นจะทำให้ลืมได้ง่ายในตอนหลัง ถ้าไม่เขียนเก็บไว้หรือนำมาทบทวนใหม่อีกที รับรองว่าลืมเกลี้ยงภายในสองสัปดาห์ครับ (ถึงบอกเริ่มท่องจำก่อนที่จะสอบจริงก่อนซัก 2 สัปดาห์ เพราะถ้าไปจำก่อนหน้านั้น ก็คงลืมหมดเหมือนกัน)
          2.                เผื่อเวลาสำหรับการอ่านทำความเข้าใจในตัวเนื้อหารอบสุดท้าย และทบทวนในช่วงก่อนสอบสั้นๆ อีกที (allow large block of time for studying material and short periods for reviewing) พอจำเป็นตุเป็นตะได้หมดแล้ว ก็พยายามทำความเข้าใจแล้วหยิบมาเชื่อมต่อกันให้ได้มากที่สุด อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของข้อสอบนะครับ ถ้าเป็นข้อสอบแบบชิวๆ หรือเป็นตัวเลือกแล้วล่ะก็ ใช้วิธีเดาบางทียังตอบถูกเลย แต่ถ้าเป็นการสอบมหาหินที่ไม่ใช่มหายานแล้วล่ะก็ คงต้องใช้วิธีสูงสุดคืนสู่สามัญ โดยการทำความเข้าใจแบบนี้จะดีกว่าครับ ได้ความรู้แล้วก็พัฒนาความคิดไปด้วย
3.                จัดเวลาการอ่านให้เป็นช่วงๆ ไปตามหัวข้อและตามเนื้อหาที่กำลังจะอ่าน แล้วก็อย่าลืมทิ้งช่วงพักสั้นๆ ด้วย ซัก 5 15 นาที ต่อการอ่านซัก 1 - 2 ชั่วโมง  (vary what your study and schedule breaks) เวลาพักอาจจะเล่นกีตาร์หรือฟังเพลงซักเพลงสองเพลง ไม่แนะนำให้ไปกินขนมทุกช่วงพักนะครับ เดี๋ยวน้ำตาลไปอุดตันสมองหมด ในความเป็นจริงแล้ว ช่วงที่อ่านหนังสือจะเป็นช่วงที่หิวบ่อยสุด สอบเสร็จทุกทีมานี่ ขนาดสมองไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ทำไมน้ำหนักเพิ่มขึ้นก็ไม่รู้
           4.                หาเพื่อนมาช่วยอ่านและติวทบทวน (form study groups) เผื่อจะได้รู้ว่าตรงไหนไม่เข้าใจ  แล้วช่วยกันได้  เผลอๆ หลังสอบเสร็จ อาจได้เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ใจมาเป็นของแถม  (เรียกว่าได้เป็นแพคเกจ) การที่ได้มีการติวทบทวนกันก็คือการที่ต้องได้พูดได้ฟัง จึงเป็นการบังคับตัวเองให้ได้คิดตามไปโดยอัตโนมัติ แล้วก็ช่วยทำให้เติมเต็มสิ่งที่ไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน แต่คำแนะนำอีกอย่างหนึ่งสำหรับข้อนี้ก็คือ การหาเพื่อนมาช่วยกันติวก็เหมือนการหาคู่แหละครับ เพราะถ้าได้คู่ที่ไม่ดีก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น เสียดายเวลาไปเปล่าๆ เพราะฉะนั้นควรหาเพื่อนติวที่ฉลาดในระดับเดียวกันจะดีกว่า ถ้าเขาฉลาดเกินไป เราเองก็อาจจะฟังเขาพูดไม่รู้เรื่องเหมือนกัน
          5.                ศึกษาตัวอย่างข้อสอบ แล้วก็อย่าลืมจำลองสถานการณ์ในการทำข้อสอบจริงๆ (study the specimen examination paper) เพราะการที่เราได้เห็นตัวอย่างข้อสอบก่อน (ถ้าไม่มีก็ให้ถามจากคนที่เคยสอบเอา) แล้วหัดทำ ก็จะทำให้เราอุ่นใจและมั่นใจมากขึ้น อาการตื่นเต้นหรือความเสี่ยงในวันสอบจริงๆ ก็จะน้อยลงไปมาก และการทำข้อสอบเก่าๆ ก็เป็นเหมือนเครื่องมือวัดว่าเราเตรียมตัวมาพร้อมมากแค่ไหน บางคนเตรียมตัวดีเข้าใจทุกอย่าง แต่ไม่รู้แนวข้อสอบ อาจทำให้ได้คะแนนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นไปก็มี เทคนิคการทำข้อสอบที่เป็นตัวเลือกก็ต่างกับเทคนิคในการทำข้อสอบที่เป็นข้อเขียน แต่ต่อให้มีเทคนิคและลีลาเก่งแค่ไหนก็ตาม ถ้าไม่รู้เรื่องหรือไม่มีความรู้ไปสอบก็มีโอกาสที่สอบผ่านได้ยาก (ถึงแม้จะไปไหว้พระพรหมหรือบนว่าจะกินเจก็ตาม)
6.                ฝึกวิธีการผ่อนคลาย สร้างสมาธิไว้บ้าง (practice relaxation techniques) เช่น กำหนดลมหายใจ, ร้องเพลง, เล่นกีตาร์, หรือนั่งฝอย เป็นต้น แต่ไม่แนะนำให้นอนกลางวันนานๆ เดี๋ยวจะเอาไปเป็นข้ออ้างให้กับตัวเองเปล่าๆ อ่านหนังสือปุ๊ปหลับปั๊ป ตื่นขึ้นมาอ่านหนังสือไม่ทัน แล้วจะเครียดหนักกว่าเดิม
7.                กินดีอยู่ดี มีความสุข (eat and sleep well) คิดว่าอันนี้คงทำกันไม่ยาก หลายคนคงบอกว่าเรื่องกินขอให้บอก จัดให้ได้อยู่แล้ว
8.                ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (get regular physical exercise) การสอบนั้นต้องเตรียมตัวพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ การออกกำลังกายในช่วงก่อนสอบก็จะทำให้ตัวเบา สมองแล่นได้ แต่ไม่ต้องหักโหมจนเกินไป เอาแค่ให้เหงื่อออกหรือร่างกายได้ขยับเขยื้อนบ้าง เพราะมัวแต่นั่งอ่านทั้งวันจะไม่ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งป้องกันการป่วยฉับพลันในตอนช่วงสอบด้วย คนที่ทำงานหนักเพื่อหาเงินจนเสียสุขภาพ แล้วพอมีเงินแล้วก็ต้องใช้จ่ายอย่างมากกับการเอาสุขภาพคืนมา ซึ่งบางทีก็เอากลับมาได้ยาก (โดยเฉพาะรอยตีนกา) การรักษาสมดุลของสุขภาพร่างกายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดกว่าสิ่งใด
9.                มีปัญหาอะไรก็อย่าเก็บไว้คนเดียว (talk out your troubles) ให้ระบายออกไปบ้างก็จะดีครับ (รวมถึงอาการท้องผูกด้วย) ถ้างานเข้ามาหนักจนเกินไปหรือจัดตารางการสอบไม่ทัน ก็บอกเจ้านาย หัวหน้า หรือ อาจารย์ไว้บ้างก็จะดี ถ้าไม่มีใครช่วยได้ อย่างน้อยได้บ่นออกไปก็จะดี อย่าลืมว่าการบริหารความเครียดในช่วงการเตรียมตัวสอบก็เป็นสิ่งที่จำเป็น
10.           เช็คเวลาและสนามสอบก่อนวันสอบจริงให้เรียบร้อย (double check time and place for the exam the day) ให้วางแผนให้เรียบร้อยก่อนว่าจะเดินทางยังไง ตื่นที่โมง วันที่สอบจริงจะได้ไม่ต้องมาคอยระวังเรื่องเวลาหรือสนามสอบ (เผลอๆ หลงทางอีกต่างหาก) เฉกเช่นเดียวกับการเตรียมตัวไปรบ ก็ต้องส่งทหารไปสืบดูลาดเลาก่อน และถ้าเป็นการแข่งฟุตบอล นักฟุตบอลก็จะแวะเข้าไปทำความคุ้นเคยกับสนามก่อนเช่นกัน
11.           อย่านอนดึกในวันก่อนสอบ (avoid staying up all night) ให้ซ้อมนอนและตื่น ให้ตรงเวลาก่อนวันสอบจริงอย่างน้อยๆ สัก 3 วัน เพื่อให้ร่างกายปรับตัวกับเวลาในการเข้านอน
12.           ก่อนวันสอบหนึ่งวัน ให้เตรียมดินสอ, ยางลบ, ปากกา, เครื่องคิดเลข, ลูกอม (เติมน้ำตาลให้สมองในระหว่างการทำข้อสอบ), และ บัตรเข้าสอบให้เรียบร้อย (prepare necessary resources such as pens, calculators, exam ticket, etc) อย่าตกม้าตายในวันสอบโดยลืมเอาเครื่องคิดเลข หรือแม้แต่เอกสารที่จะแสดงตัวตนเพื่อให้เข้าสอบได้ การสอบบางประเภทที่ผ่านมา สนามสอบบังคับว่าต้องมีบัตรที่มีลายเซ็นด้วย ปรากฏว่าบัตรประชาชนไทยจะไม่มีลายเซ็นอยู่ในบัตร ทำให้ต้องใช้พาสต์ปอร์ตแทน ซึ่งอาจจะเป็นปัญหากับคนบางคนที่ไม่เคยทำพาสต์ปอร์ตมาก่อน ทำให้อดเข้าสอบไปอย่างน่าเสียดาย (และเสียใจ)
13.           หลบๆ พวกที่บ้าพลังหรือวิตกจริตก่อนที่จะสอบ อาการแบบนี้พบเห็นเป็นโรคติดต่อก่อนเข้าห้องสอบ, ช่วงสอบ, และช่วงพักระหว่างสอบกันมาก (keep away from people highly anxious before exams) และถ้ามันติดต่อมาถึงเราแล้วจะทำให้เสียสมาธิส่วนหนึ่ง อีกทั้งความกังวลก็จะตามมาทำให้มีผลกับการทำสอบไปด้วยเหมือนกัน ทางที่ดีให้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองโดยคิดว่าตัวเองเตรียมตัวมาดีที่สุดแล้ว เสียงนกเสียงกาไม่ควรจะเป็นผลต่อตัวเราครับ
          14.           ตั้งนาฬิกาปลุกและนอนให้ครบ 8 ชั่วโมง ก่อนการสอบจริง(Enough sleep before exam date)  เพราะการนอนหลับให้เต็มอิ่มก็มีผลกับการสอบ ถ้ากลัวว่าคืนก่อนวันสอบจะนอนไม่หลับ ให้นอนตุนเอาไว้ก่อนซักวันสองวัน จะได้ซ้อมนอนและตื่นไปในตัวด้วยเลย
          15.           กินอาหารเช้าที่มีน้ำตาลมาก โปรตีนน้อยหน่อย เพราะโปรตีนจะย่อยยากกว่าแป้งแล้วจะทำให้ง่วงกว่าและเลือดไปเลี้ยงสมองได้ยากกว่า ในทางกลับกัน น้ำตาลสามารถเผาผลาญและนำไปใช้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง ขณะที่โปรตีนต้องใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงจึงจะเข้าสู่กระบวนการดูดซึม (have a good breakfast, which includes simple sugars (such as fruit juice), complex carbohydrates (cereal and toast) and protein (milk, eggs and meat) อาหารจำพวกกล้วย น้ำผึ้ง ซุปไก่ ข้าวโอ๊ต หรือแม้กระทั่งโสมก็เหมาะที่จะเป็นอาหารเช้า การสอบไหนที่ต้องสอบทั้งเช้าและบ่าย แถมต้องใช้ความอึดนั้น ขอแนะนำว่าน่าจะกินแซนวิชเป็นอาหารกลางวัน (ถ้าไม่มีก็เอาเป็นแฮมเบอร์เกอร์แทนก็ได้) ช่วงสอบไปก็เอาลูกอมเข้าปากไปเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในสมองที่ต้องทำงานหนักในช่วงนั้น
16.           ไปถึงสนามสอบก่อนเวลาซัก 15   30 นาที  ไปเช้าไปก็ไม่ดีเพราะจะเจอกดดันและติดโรคเครียดจากคนอื่นๆ ที่เข้าสอบได้ (get to the exam venue well before the exam starts) ส่วนถ้าไปสายก็คงอดเข้าห้องสอบเห็นๆ
17.           อ่านคำสั่งให้ดีๆ ว่ามีโจทย์กี่ข้อ และดูให้ดีว่าต้องตอบลงที่กระดาษแผ่นไหน ใส่ชื่อกับเลขประจำตัวกันยังไง (read Instructions on the exam paper carefully) แต่ถ้าผลสอบออกมาว่าตก อาจจะเอาไปอ้างเพื่อนได้ว่าสงสัยฝนรหัสเลขประจำตัวสอบผิด (เพื่อนๆ เจ้านาย หรือ ลูกน้อง จะแสดงความเห็นใจให้) แต่อันนี้ไม่ขอแนะนำ สู้ยอมรับตัวเอง และเอาเวลาไปปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นดีกว่า
18.           อ่านคำถามอย่างผ่านๆ ทุกข้อให้เรียบร้อยก่อนทำโจทย์  วิเคราะห์ว่าควรทำข้อไหนก่อน และตัดสินใจว่าจะใช้เวลาประมาณเท่าไรในแต่ละคำถาม (read through all the questions, analyze questions and decide which questions you will answer, decide how much time you will spend on each question) การบริหารเวลาในการทำข้อสอบนั้นสำคัญและเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะการบริหารเวลาในห้องสอบได้ไม่ดีก็สามารถทำให้สอบตกได้ การอ่านคำถามคร่าวๆ ไว้ก่อนก็เพื่อป้องกันปรากฏการณ์ที่ทำข้อสอบไม่ทัน และบางข้อที่ยังไม่ได้ทำนั้น อาจกลายเป็นข้อที่ง่ายชนิดที่ให้ลิงมาทำก็ยังทำถูก อันนี้ถือว่าเสียคะแนนฟรีๆ ไปโดยใช่เหตุ เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง
19.           เริ่มทำจากข้อที่คิดว่ามั่นใจ (start with the easiest question to gain confidence) ทำข้อที่ง่ายเพื่อเก็บคะแนนเรียกน้ำย่อยไว้ก่อน การทำแบบนี้ก็ช่วยทำให้จิตใจสงบขึ้นในเวลาทำข้อสอบ และยังทำให้บริหารเวลาในการทำข้อสอบได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
20.           ถามเพื่อเอาความกระจ่างเมื่อจำเป็น (ask for clarification if necessary) อันนี้เป็นประโยชน์ของปากอีกอย่างหนึ่งที่นอกจากเอาไว้กิน ซึ่งถ้ามีอะไรที่เป็นข้อสงสัยในช่วงที่กำลังเขียนชื่อหรือก่อนลงมือทำข้อสอบแล้วก็ไม่ต้องอายที่จะถามเพราะมันจะทำให้เราป้องกันโอกาสที่จะเสียคะแนนไปโดยใช่เหตุ
21.           เขียนใจความหลักและแนวคิดอย่างเป็นระบบ (jot down main points and ideas for systematic and clear presentation) การสอบที่ดีและวัดความรู้ได้จริงนั้น ควรจะเป็นการสอบแบบข้อเขียน แต่การเขียนนั้นโดยเฉพาะถ้าต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษคงไม่ต้องมานั่งนึกถึงหลักไวยากรณ์ แค่เขียนใจความหลักเพื่อแสดงความรู้ว่าเรามีความรู้ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว แต่ถ้าเป็นข้อสอบแบบให้เขียนเป็นรายงานส่งแล้วเขียนจนอ่านไม่รู้เรื่อง ก็คงจะสอบตกโดยปริยาย
22.           ใส่แนวคิดหลักๆ ในหนึ่งย่อหน้า (only one main idea per paragraph) แต่ถ้าไม่มีเวลาเขียนเป็นย่อหน้า ก็เขียนเป็นประโยคหรือวลีแทน อย่าลืมครับว่าจุดประสงค์ของการสอบนั้นมีขึ้นก็เพื่อวัดความรู้ ไม่ใช่วัดภาษา (ยกเว้นเป็นการสอบวิชาการใช้ภาษา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
23.           สำหรับการสอบข้อเขียน ก็ควรจะเขียนให้เรียบร้อยและเผื่อช่องว่างเอาไว้มากๆ เผื่อกลับมาเติมหรือแทรกในภายหลัง (allow a generous margin) เพราะการเว้นช่องเผื่อเอาไว้ย่อมดีกว่า จะหาที่เติมในภายหลังแล้วหาไม่เจอ อันนี้มีผลกระทบกับทางจิตวิทยาทั้งคนทำข้อสอบและคนตรวจข้อสอบ อย่างแรกคือมันทำให้สมองต้องคิดหาพื้นที่ในการเขียนแทรกลงไป ในส่วนลึกของสัญชาตญาณแล้ว มันทำให้จำกัดความคิดสร้างสรรค์ในการเขียนคำตอบลงไป ในทางกลับกันถ้าเหลือช่องว่างไว้ กลับจะทำให้เราคิดเติมโน่นเติมนี่ลงไปในเวลาที่เหลือ และถ้าเขียนไปแล้ว อยากจะลบทิ้งก็สามารถเขียนทิ้ง แล้วเขียนเพิ่มเท่าไหนก็ได้ตราบเท่าที่ปากกายังมีน้ำหมึกและกระดาษยังมีที่ว่างให้เขียนอยู่ แต่ถ้าเค้าจำกัดจำนวนกระดาษที่เขียนก็ต้องเปลี่ยนแผนไปบริหารกระดาษและพื้นที่ว่างด้วย ส่วนถ้าคำไหนไม่ต้องการก็ให้ใช้วิธีขีดฆ่าแทน ไม่จำเป็นต้องลบก็ได้ โดยเฉพาะการลบด้วยน้ำยาป้ายคำผิด เพราะอย่างไรแล้ว คนตรวจบางทีก็เอาไปส่องดูอยู่ดีด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าคำที่โดนลบมันคือคำว่าอะไรกันแน่ อันนี้เป็นกันบ่อย ไม่เชื่อลองไปตรวจข้อสอบดู
24.           ใช้เวลาเท่าที่กำหนดในแต่ละคำถาม เช่นถ้ามี 30  ข้อใน เวลา 3 ชั่วโมง ก็อย่าให้เกินข้อละ 6  นาที (spend only the allotted time on each question) เทคนิคง่ายๆ มีอยู่ว่า ให้คำนวณหาว่าจะต้องทำข้อสอบเป็นจำนวนกี่คะแนนต่อนาที เพื่อจัดสรรปันส่วนมันลงไป การทำแบบนี้ก็เพื่อที่เราจะใช้ประโยชน์ของเวลาเพื่อให้ได้คะแนนมากที่สุด อย่าลืมว่าการจัดสรรและบริหารเวลาในขณะทำข้อสอบนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ดึงความรู้ออกมาให้ปรากฏอยู่ในกระดาษคำตอบได้มากที่สุด
25.           ตอบคำถามให้หมดทุกข้อ (answer all question required) เพราะว่าไม่มีเหตุผลที่จะไม่ตอบให้หมด สมัยนี้ไม่ใช้วิธีตอบผิดติดลบกันแล้ว ถ้าเป็นการทำข้อสอบแบบตัวเลือก ก็ขอแนะนำให้เลือกตัวเลือกที่ยังไม่ถูกเลือกลงในกระดาษคำตอบ ยกตัวอย่างเช่น ข้อสอบมีทั้งหมด 40 ข้อ เป็นตัวเลือก A, B, C, และ D ซึ่งเมื่อทำเสร็จแล้ว ปรากฏว่าเลือกตอบตัวเลือก A ไป 12 ข้อ ตัวเลือก B ไป 5 ข้อ ตัวเลือก C ไป 12 ข้อ ตัวเลือก D ไป 8 ข้อ และยังมีอีก 3 ข้อที่ยังหาคำตอบไม่ได้ โดยถ้าใน 3 ข้อนั้นคิดอะไรไม่ออกหรือตัดตัวเลือกไม่ได้จริงๆ ก็ควรจะมั่วเลือกตัวเลือก B ไปให้หมดเพราะมีโอกาสถูกมากกว่า (วิธีนี้สามารถอธิบายได้ในหลักการของ conditional probability อีกแบบหนึ่ง)
26.           ถ้าคิดไม่ออกแล้วไม่รู้ว่าจะตอบอะไร ให้ข้ามไปทำข้ออื่นก่อน (if you go blank and can’t think of anything to write, go to another question) อย่ามัวไปหมกมุ่นอยู่กับข้อที่ทำไม่ออก แล้วก็คิดแต่จะเอาชนะเพื่อทำข้อนั้นให้ได้ เวลาสอบจริงนั้นไม่เหมือนกับตอนอ่านหนังสือหรือตอนทำแบบฝึกหัด ดังนั้นต้องอย่าลืมที่จะถามตัวเองว่าเวลาที่อยู่ในห้องสอบก็คือเวลาที่จะพิสูจน์ความสามารถในการทำข้อสอบด้วย การบริหารเวลา บริหารความเครียด รวมทั้งเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ก็รวมอยู่ในหนึ่งของความสามารถในการทำข้อสอบเช่นกัน
27.           สนใจอยู่กับการสอบ อย่าเพิ่งฟุ้งซ่าน (concentrate on the exam) สมาธิเท่านั้นที่ต้องมีในการสอบ โดยเฉพาะตอนทำข้อสอบอยู่ในขณะนั้น ยิ่งตอนที่ทำข้อสอบไปได้ครึ่งทางแล้วยังไม่เจอปัญหาหนักใจ บางทีจะมีการฮัมเพลงอยู่ในใจหรือบางครั้งก็นึกว่าสอบเสร็จแล้วจะทำอะไรต่อดี ต้องไปเที่ยวกับใคร เที่ยวที่ไหน หรือแม้แต่ว่าต้องไปไหว้เจ้าแก้บนที่ไหนดี โดยคิดฟุ้งซ่านไปต่างๆ นานา ดังนั้นเราต้องระวังว่าความประมาทเป็นหนทางแห่งการต้องมาสอบใหม่ แนะนำว่าให้ยึดอยู่กับการบริหารเวลาว่าต้องทำข้อสอบกี่ข้อต่อหนึ่งนาที จะได้ไม่ชะล่าใจ
28.           คิดในเชิงบวก ให้คิดว่าการสอบเป็นการเปิดโอกาสให้เราแสดงสิ่งที่เราได้พยายามมาในการอ่าน (be positive, see the exam as a chance to show your study efforts) เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวกับการสอบ ให้นึกว่ามันเป็นเวทีของการมอบรางวัลจากความมุ่งมั่นที่ผ่านมา ช่วงที่อดหลับอดนอน อดเที่ยวกับแฟน (ถ้ามี) ก็เพื่อวันนี้เท่านั้น
29.           หลีกเลี่ยงการแข่งขันโดยไม่จำเป็น (avoid unnecessary competition) โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงการแข่งกันชิงดีชิงเด่นว่าใครทำข้อสอบยากๆ ได้มากกว่ากันหรืออ่านหนังสือมามากกว่ากัน สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ต้องการจริงๆ ก็คือการแข่งขันกับตัวเองและเอาชนะตัวเองจนสอบผ่านได้ก็เพียงพอแล้ว
30.           เข้าใจและตระหนักถึงขีดจำกัดของตนเอง (recognize and accept limits and keep things in perspective) ถ้าอ่านไปเต็มที่แล้ว รู้เรื่องและเข้าใจหมดแล้ว ทำให้ดีที่สุดแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะต้องกลัว สิ่งที่เราทำได้ก็คือฝังความรู้ความเข้าใจใส่หัว ถึงแม้ว่าครั้งนี้จะสอบไม่ได้ เพราะแนวข้อสอบไม่เข้าทาง หรือจะโชคไม่ดีก็เถอะ คราวหน้ายังมีใหม่ ตราบเท่าที่ยังมีสมอง มีร่างกายและจิตใจ แต่อย่าเข้าใจผิดแล้วเหมาว่าตัวเองโง่ แล้วท้อแท้หมดความพยายาม อันนี้มันคนละเรื่องกัน

สุดท้ายนี้ขอฝากบทกลอนให้กำลังใจคนที่สอบไม่ผ่านให้พยายามกันต่อไปนะครับ

สอบทั้งวันทั้งปีไม่มีพัก
ตกหลุมรักกับใครก็ไม่ได้
อีกทั้งงานทับถมจนเหนื่อยใจ
แล้วทำไมจึงยังตั้งตาทำ
กินแล้วนอนพักผ่อนจนอิ่มหนำ
แห้วระกำช้ำทุกข์จนสุขสม
ทุกครั้งเมื่อสอบตกอย่าทุกตรม
ทีละหนเอาให้ผ่านสำราญใจ



โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand