วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

จรรยาบรรณของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย - Associateship Professionalism Course (APC) in Hong Kong

ผมได้รับไหว้วานจาก SOA (Society of Actuaries) ของอเมริกาให้เป็นวิทยากรของงาน APC ที่จัดขึ้นในประเทศฮ่องกงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 เมื่อครั้งที่อยู่ฮ่องกง จนถึงปัจจุบันนี้ก็มีบินไปสอนน้องๆ แอคชัวรีรุ่นใหม่อยู่สม่ำเสมอเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และความเป็นมืออาชีพให้กับรุ่นน้องรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นแอสโซสิเอต (ASA) ในอนาคต นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่เลวทีเดียวครับ

ครั้งนี้คงต้องขอเป็นข้อยกเว้นที่จะตั้งหัวเรื่องให้เป็นภาษาไทยซักหน่อย เพราะไม่บังอาจจะแปลจากภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาไทยเพราะกลัวคนอ่านจะงง แต่สิ่งที่ยกมากล่าวในคราวนี้นั้นเป็นหลักสูตรของแอคชัวรีทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน หรืออยู่ทุกมุมไหนของโลกก็ตาม แต่เมื่อคนเหล่านั้นได้ผ่านการสอบระดับสากลจาก SOA (Society of Actuaries) ไปได้ครึ่งทางแล้ว ก็สามารถจะเข้าลงทะเบียนเรียนหลักสูตรนี้ได้

หลักสูตรนี้เป็นงานสัมมนาที่จัดขึ้นเป็นเวลาหนึ่งวัน เพื่อให้แอคชัวรีที่ผ่านการสอบมาครึ่งทางแล้วได้ตระหนักถึงความเป็นมืออาชีพและจรรยาบรรณของตัวเอง ว่าง่ายๆ ก็คือ ทำให้เกิดความสำนึกและซาบซึ้งในความเป็นแอคชัวรีนั้นเอง ถ้าใครได้สอบผ่านถึงครึ่งนึงและเข้าอบรมหลักสูตรนี้แล้วล่ะก็ เราจะเรียกสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นว่า ASA (Associateship of Societies of Actuaries) ครับ

จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยที่จะเห็นว่าผู้เข้าอบรมหลักสูตรนี้ทุกคนจะมีสีหน้ายิ้มแย้มเบิกบานอย่างออกนอกหน้า เพราะนี่ไม่เป็นเพียงหลักสูตรอบรมที่จะผ่านได้โดยไม่ลำบาก แต่อันที่จริงแล้วนี่เป็นเครื่องหมายแสดงความสำเร็จของความเป็นแอคชัวรีนั่นเอง

และถ้าไม่โดดหรือไปนั่งหลับอยู่ข้างในหรือไปทะเลาะกับวิทยากรอย่างผมแล้วล่ะก็ ทาง SOA (Society of Actuaries) ก็คงไม่มีปัญหาอะไรที่จะไม่ให้ผู้เข้าอบรมผ่านหลักสูตรนี้หรอกครับ

สำหรับในแถบภูมิภาคเอเชีย ปกติแล้วจะมีจัดตัวหลักสูตรอบรมนี้ขึ้นปีละประมาณ 2 ครั้ง ที่ฮ่องกงและปักกิ่ง (อาจจะมีสิงคโปร์บ้างเป็นครั้งคราว) คนที่สอบแอคชัวรีจากหลายๆ ประเทศก็จะบินไปรวมกันอยู่ที่นั่น ซึ่งในมุมมองของผมก็ถือว่ามันเป็นรางวัลสำหรับเด็กๆ ที่อุตส่าห์ขยันสอบจนมาได้ถึงระดับ “ครึ่งทาง” นี้ ก็ถือว่าเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับเด็กไปในตัวด้วย

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากงานนี้
1.               น้องๆ สามารถทำความรู้จักกับแอคชัวรีในประเทศอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติและความคิดเห็นกันได้ ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องมาทำความรู้จักเพื่อจะได้ทำงานร่วมกันเดี๋ยวนี้ แต่เชื่อผมเถอะครับว่า ในแวดวงของแอคชัวรีนั้นมันแคบยิ่งกว่าขันที่ลอยอยู่บนโอ่ง ลอยไปทางไหนก็เจอแต่คนที่รู้จักถ้ายังคิดจะอยู่ในวงการเดียวกัน เพราะฉะนั้นน้องๆ ที่มาในงานนี้อาจจะได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกันหรือเจอกับคนในงานสัมมนาในอนาคตก็เป็นได้
2.               ได้รู้ว่าความเป็นมืออาชีพนั้นเป็นอย่างไร และทำไมแอคชัวรีจึงจะต้องมีความเป็นมืออาชีพอยู่ติดตัวเสมอ จนทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทและหน้าที่ของแอคชัวรี ซึ่งในหลักสูตรนั้นก็จะมีเน้นย้ำว่าเราจะต้องช่วยกันสอดส่องดูแลความเป็นมืออาชีพให้ดี และระวังบุคคลแปลกปลอมที่จะเข้ามาแอบอ้างเซ็นรับรองทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้ผ่านการสอบเสียด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าหรือบริษัทต้องการจ้างแอคชัวรีเข้าไปเซ็นรับรองการประเมินหนี้สินของบริษัท แต่บริษัทไม่รู้ว่าระบบการสอบของแอคชัวรีเป็นอย่างไร เลยเผลอไปจ้างบุคคลแอบอ้างขึ้นที่ไม่ได้ผ่านการสอบวุฒิระดับมาตรฐานสากลขึ้นเพราะราคาอาจจะถูกกว่า เป็นต้น และเมื่อมีอะไรผิดพลาด บริษัทก็จะคิดว่าแอคชัวรีทั้งวงการนั้นไม่เก่ง และก็จะเสื่อมเสียถึงความเป็นมืออาชีพของแอคชัวรีทั้งวงการได้
3.               ให้รู้มาตรฐานจรรยาบรรณของแอคชัวรี รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำจนเกินขอบเขต เพราะมีบ่อยครั้งที่คนอื่นคิดว่าแอคชัวรีทำเป็นได้ทุกอย่าง ซึ่งความเชื่อเหล่านี้คงจะไม่เป็นจริงเสมอไป แต่บทสรุปในส่วนนี้ก็คือแอคชัวรีจะต้องรู้ขอบเขตของความรับผิดชอบของตัวเอง ถึงแม้ว่าแอคชัวรีจะทำเป็นทั้งหมดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถรับผิดชอบทุกอย่างได้ทั้งหมด

ท้ายที่สุดนี้ ก็ขอแสดงความยินดีกับคนที่ได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนี้ และเท่าที่ผมสังเกตแล้ว ในปัจจุบันก็จะมีคนไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมหลักสูตรนี้มากขึ้น ตอนนี้มีคนไทยมาเฉลี่ยปีละ 2 คน ซึ่งก็หมายความว่าเราจะมี ASA เพิ่มขึ้น 2 คนต่อปี และเราก็รอให้คนเหล่านี้ไต่ขึ้นมาถึงดวงดาว... วุฒิเฟลโล่กำลังรอพวกน้องๆ อยู่ครับ...

และสำหรับคนที่กำลังง่วนอยู่กับการสอบระดับต้นอยู่ ไว้เจอกันที่งาน APC ที่ฮ่องกงในอนาคตนะครับ ส่วนจะใกล้หรือไกลก็ขึ้นอยู่กับแรงฮึดและกำลังใจของน้องๆ ว่าจะสอบผ่านไปถึงครึ่งทางหรือไม่ ขอเอาใจช่วยอยู่ห่างๆ ครับ

ไว้เจอกันที่ฮ่องกง APC ครั้งถัดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น