Be an actuary – Corporate A ctuarial (Part III): Role of Corporate A ctuarial
โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) FSA , FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Dist), B.Eng (Hons)
วิธีทำงานของแอคชัวรีในการคำนวณเพื่อให้ได้มาซึ่งงบการเงิน (Financial Report)
แอคชัวรีที่มีประสบการณ์จะเน้นที่การสร้างสูตรคำนวณเองตามหลักการของระบบมาตรฐานสากลที่ได้สอบกันมา
และเนื่องจากว่าชนิดของธุรกิจบริษัทประกันภัยนั้นจะมีต้นทุนเกิดขึ้นตามหลังในอนาคตข้างหน้า แต่กลับเก็บเงินมาไว้กลับบริษัทก่อน ทำให้แอคชัวรีที่ดีนั้น นอกจากจะต้องคำนวณผลประกอบการของบริษัทได้แล้ว ยังควรจะต้องสามารถดูสิ่งต่อไปนี้ได้
“แอคชัวรีที่ดีควรจะต้องวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ให้กับบริษัทประกันภัยด้วย คือ 1) Trend of Profit, 2) Source of Profit, 3) Strategic Planning , and 4) Impact of Balance sheet
1. ทิศทางของกำไร/ขาดทุนของบริษัท (Trend of Profit) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย เพราะสภาพแวดล้อมในตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงทำให้ต้นทุนของกรมธรรม์ประกันภัยที่เคยขายไปแล้ว (แต่บริษัทยังให้ความคุ้มครองอยู่) เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยไป แล้วอาจส่งผลทำให้บริษัทเกิดการขาดทุนที่คาดไม่ถึง และยังผลถึงภาวะล้มละลายได้โดยไม่รู้ตัว
2. แหล่งที่มาของกำไรของบริษัท (Source of Profit) ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งที่แอคชัวรีควรจะวิเคราะห์ ซึ่งโดยหลักทั่วไปอย่างคร่าวๆ แล้ว เราจะต้องมองให้ออกว่าขณะนี้บริษัทได้กำไรมาจากทางใด เป็นต้นว่า กำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้นหรือพันธบัตร หรือกำไรจากการพิจารณารับประกันที่มีประสิทธิภาพ หรือไม่ก็กำไรที่เกิดจากการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัท ทั้งนี้ทั้งนั้น แหล่งที่มาของกำไรก็อาจจะมาจากการเปลี่ยนแปลงปริมาณเงินสำรองของกรมธรรม์ ซึ่งก็ไม่ได้แสดงถึงประสิทธิภาพของผลประกอบการอย่างแท้จริงก็ว่าได้
3. การวางแผนอย่างเป็นระบบของบริษัท (Strategic Planning and A nalysis) ก็เป็นสิ่งที่แอคชัวรีจะต้องมีเอี่ยวอยู่ด้วยทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแผนการดำเนินงานในปีหน้า สามปีข้างหน้า หรือห้าปีข้างหน้า มิหนำซ้ำอาจจะต้องประมาณการงบการเงิน (Financial Report) ถึง 3 – 5 ปีล่วงหน้ากันให้ดูเลยทีเดียว
4. รู้อย่างลึกซึ้งว่า หนี้สิน (Liability) และ สินทรัพย์ (A sset) รวมทั้ง เงินทุน (Capital) นั้นคำนวณหามาได้อย่างไรในระบบมาตรฐานสากลต่างๆ อีกทั้งควรจะรู้ว่าตัวไหนยังใช้ได้อยู่ หรือตัวไหนที่ล้าสมัยไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ระบบการตั้งเงินทุนขั้นต่ำ (Minimum required capital) ของประเทศไทยนั้นอาจจะดูไม่ทันสมัยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านบ้าง (เพราะมีแนวโน้มว่าบางบริษัทอาจจะมีเงินทุนอยู่ไม่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในตลาดที่มีความผันผวนเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณในอนาคต) ดังนั้นปกติแล้ว จึงมีบริษัทที่ได้มีการศึกษาคำนวณหาเงินทุนขั้นต่ำที่บริษัทควรจะมีจริงๆ อย่างคร่าวๆ ไว้อยู่บ้าง (เช่น การใช้วิธีการคำนวณแบบมาตรฐานตามแต่ความเหมาะสม สำหรับบริษัทในเครือทั่วโลก เป็นต้น) เพื่อแยกไว้พิจารณาอีกต่างหากอีกหนึ่งชุด และก็เพื่อสามารถเอาไว้ใช้กับการจัดลำดับความน่าเชื่อถือของบริษัทในเครือทั้งหมดอีกด้วย (เช่น วิธีการคำนวณตามมาตรฐานของ Standard & Poor’s เป็นต้น) และนั่นก็หมายความว่างบการเงินสามารถมีได้มากกว่าหนึ่งชุด เพราะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าจะนำไปใช้ทำอะไร อย่างไรก็ตาม หลายๆ ท่านก็คงทราบว่าระบบการตั้งเงินทุนขั้นต่ำของประเทศไทยได้ถูกยกระดับให้ดีขึ้น และเมื่อศึกษาถึงผลลัพธ์ของระบบใหม่แล้ว ก็คงจะมีการบังคับให้ใช้กันภายในอนาคตข้างหน้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น