วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

“คณิตศาสตร์ประกันภัย" รับประกันเรียนเลขไม่ตกงาน - ผู้จัดการรายวัน

http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000131698

พ่อแม่ที่มีลูกเก่งเลขอาจลังเลที่จะให้ลูกเรียนคณิตศาสตร์อย่างจริงจัง เพราะไม่รู้ว่าจบแล้วจะทำงานอะไร ขณะที่ "นักคณิตศาสตร์ประกันภัย" กำลังเป็นที่ต้องการและขาดแคลนอย่างมาก สำหรับบริษัทเงินทุนและประกันภัย การันตีรายได้ 6 หลัก ซึ่งมีคนไทยเพียง 6 คนเท่านั้นที่มีคุณวุฒินี้

ธุรกิจประกันโตก้าวกระโดดสวนทางวิกฤตเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมประกันชีวิตเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เพราะผ่านผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ถึง 2 ครั้งอย่างดีมาก โดยหลังวิกฤตปี 2540 บริษัทการเงินต่างๆ ล้มไปจำนวนมาก แต่บริษัทประกันชีวิตยังมีการเติบโตทุกปีเป็นตัวเลข 2 หลัก และในปี 2552 ขณะที่บริษัทอื่นเติบโตติดลบ แต่บริษัทประกันเติบโตถึง 15% ซึ่งคาดว่าจะเป็นเลขเดียวกันนี้ถึงสิ้นปี

ข้อมูลจากพันธ์พร ทัพพะรังสี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวไว้ในวงเสวนา "วิทยาศาสตร์ทำเงิน" (ประกันไม่ตกงาน)” เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

“ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ฯ เติบโตแบบก้าวกระโดดมาตลอดในรอบ 10 ปี ซึ่งไม่น่าจะต่ำกว่า 25% เบี้ยประกันภัยปีแรกอยู่ที่ 300 ล้านบาทต่อปี ตอนนี้เบี้ยประกันอยู่ที่ 700 ล้านบาทต่อดือน เหตุผลนั้นแม้อุตสาหกรรมจะไม่ได้รับความสนใจนัก แต่จริงๆ แล้วมีประโยชน์มากถ้ารู้จักใช้ ช่วงปี 2540-2541 อัตราการถือครองกรมธรรม์อยู่ที่ 12-13% สิ้นปี 2551 ขึ้นมาถึง 20% เมื่อเปรียบเทียบประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นอัตราการถือครองกรมธรรม์อยู่ที่ 130% ดังนั้นเรายังมีความสามารถที่จะเติบโตไปอีกมาก" พันธ์พรกล่าว

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสของไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ฯ ยังบอกด้วยว่า อุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระดับโลก และในระดับประเทศขาดแคลนนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งเป็นที่ต้องการของทุกบริษัท พร้อมทั้งรับรองว่าผู้ที่เรียนทางด้านนี้ไม่ต้องหางาน เพราะจะมีคนเข้าไปหาเอง โดยอัตราเงินเดือนจะเพิ่มค่าจ้างในส่วนที่เป็นสาขาขาดแคลนด้วย

ทางด้านพิเชษฐ เจียรมณีทวีสิน นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัย บริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชันแนลแอสชัวรันส์ จำกัด หรือเอไอเอ เพิ่งเข้ามาประจำสาขาประเทศไทยได้ไม่กี่วัน หลังจากประจำอยู่ที่ฮ่องกง 6 ปี โดยเขาได้บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการว่า นักคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือแอคชัวรี (Actuaries) คือนักวิเคราะห์ความเสี่ยง ที่มีทักษะทั้งด้านคณิตศาสตร์ สถิติศาสตร์ การเงิน และมีความเชี่ยวชาญในการประเมินผลกระทบทางการเงินจากความไม่แน่นอนในปัจจุบันและเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


การันตีรายได้ปีละ 6 ล้าน

ทั้งนี้ มีคนไทยเพียง 6 คน ที่เป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งการจะเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องมีการสอบวัดคุณวุฒิ เหมือนการสอบขอใบประกอบโรคศิลป์ของแพทย์หรือการสอบเนติบัณฑิตของนักกฎหมาย ซึ่งการสอบของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นมี 10 ขั้น เป็นการสอบตามมาตรฐานสากล ซึ่งทุกครั้งที่สอบผ่านจะได้รับเงินเดือนเพิ่มตามคุณวุฒิขั้นละ 5,000 บาท และผู้ที่สอบผ่านทุกขั้นจะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 6 ล้านบาท

“สำหรับไทยรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 6 ล้านบาทต่อปี ถ้าเป็นสหรัฐฯ รายได้ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยอยู่ที่ 100,000 เหรียญสหรัฐ ฮ่องกงอยู่ที่ 1,000,000 เหรียญฮ่องกงต่อปี ส่วนของไทยต้องปรับราคาขึ้นด้วยเนื่องจากเป็นสาขาขาดแคลน และทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ จีน ฮ่องกง ล้วนขาดแคลนนักคณิตศาสตร์ประกันภัยทั้งสิ้น ทั้งนี้การจะปั้นคนให้เป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องใช้เวลาเป็นปีๆ" พิเชษฐกล่าว

พิเชษฐกล่าวอีกว่า บริษัทจะมองนักคณิตศาสตร์ประกันภัยว่าเป็นเหมือนนักเรียนทุน โดยจะออกค่าสอบและค่าตำราให้ และให้หยุดพิเศษนอกเหนือจากพักร้อนประจำปีอีก 2 ครั้ง เพื่ออ่านหนังสือเตรียมสอบ ที่จัดให้มีปีละ 2 ครั้ง จึงเท่ากับทำงานเพียง 11 เดือน และหากสอบผ่านจะได้รับการรับรองเงินเดือนขึ้นทุกขั้น

อย่างไรก็ดี นักคณิตศาสตร์ประกันภัยไม่ได้ทำงานแค่ในบริษัทประกันภัย แต่ยังทำหน้าที่วิเคราะห์ความเสี่ยงทางด้านการเงินให้กับริษัทใหญ่ๆ และจำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษได้ เพื่อสื่อสารออกไปยังคนอื่นได้ และการสื่อสารในรูปแบบธุรกิจให้ผู้บริหารอยากใช้นั้นเป็นสิ่งจำเป็น โดยพิเชษฐได้เปรียบเทียบเหมือนการเปลี่ยนตัวเลขให้เป็นตัวโน้ตเพื่อเป็นดนตรีที่ผู้บริหารฟังแล้วสบายใจ

“การเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ต้องนำภาษาคณิตศาสตร์มาจำลองอนาคต อย่าง 2+1=3 เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็คิดได้ แม้แต่เครื่องคิดเลข แต่การเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องมองให้ลึกกว่านั้น มองว่า 2 และ 1 มาจากไหน แล้วเราจะใช้ 4-1=3 แทนได้ไหม หาก 3 คือเป้าหมายหรือผลกำไรของริษัท แล้วจะทำให้ 3 เป็น 4 เป็น 5 ได้อย่างไร หรือมีอะไรที่จะทำให้ 3 ลดลงเป็น 2 เป็น 1 หรือกลายเป็น 0 เป็นสิ่งที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องคิดให้ลึก" พิเชษฐกล่าว

พิเชษฐบอกอีกว่า พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่สำคัญคือสถิติ แคลคูลัส ทฤษฎีทางการเงิน แบบจำลองทางการเงินและเศรษฐศาสตร์


เปิดหลักสูตร "นักคณิตศาสตร์ประกันภัย" ในไทยครั้งแรก

ก่อนหน้านี้ไม่มีการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ประกันภัยในเมืองไทย จนกระทั่งภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาคณิตศาสตรตร์ประกันภัย หลักสูตรนานาชาติ ในปีการศึกษา 2552 โดยมี ศ.ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2550 และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ เป็นประธานหลักสูตรนี้

“มีนักเรียนประถมหลายคน ที่รักและชอบเรียนคณิตศาสตร์ แต่เมื่อเรียนถึงระดับมัธยมเขาก็ถูกกระแสความนิยมดึงไปเรียนด้านอื่นเยอะมาก มีคำถามว่าเรียนคณิตศาสตร์แล้วไปทำอะไร และผู้ปกครองไม่เห็นด้วยที่จะให้เด็กเรียน ทั้งที่เด็กมีความสุขมากกับการเรียนคณิตศาสตร์ และจริงๆ แล้วเรียนคณิตศาสตร์ไม่ตกงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอาชีพอื่นด้วย" ศ.ดร.ยงค์วิมลกล่าว

สำหรับหลักสูตรคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เปิดใหม่ล่าสุดนี้ ศ.ดร.ยงค์วิมลกล่าวว่า กำลังเปิดรับนักศึกษารุ่นที่ 2 ในระบบรับตรง โดยทางมหาวิทยาลัยจะสอบคัดเลือกเอง ซึ่งนักเรียนจะสอบคัดเลือกเพียงสองวิชาคือ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ แต่สำหรับนักเรียนที่มีคะแนนโทเฟิล 450 คะแนน ก็สอบเพียงคณิตศาสตร์อย่างเดียว โดยทั้งหลักสูตรจะสอนเป็นภาษาอังกฤษเป็นระยะเวลา 4 ปี หรือ 8 เทอม

ทั้งนี้ นักศึกษาเลือกได้ว่า จะเรียนที่เมืองไทยตลอดหลักสูตร หรือจะเรียนที่นี่ 5 เทอมแล้วไปต่อที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเคอร์ติน (Curtin University of Technology) ณ เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งหากเลือกอย่างหลังจะได้รับปริญญา 2 ใบจากทั้งไทยและออสเตรเลีย

“คุณสมบัติของผู้เรียนต้องรักคณิตศาสตร์ เรียนแล้วสนุก และนอกจากชอบคณิตศาสตร์แล้ว ยังต้องมองอะไรไปทางธุรกิจด้วย โดยเราจะให้พื้นฐานด้านการเงิน การคลัง การบริหารความเสี่ยง และไม่ต้องกลัวภาษาอังกฤษ ถ้าไม่ค่อยเก่งภาษาเราจะฝึกให้ โดย 5 เทอมแรกเรียนที่มหิดล และถ้ามีผลการเรียนน่าพอใจเราจะมีทุนให้ไปต่อที่คอร์ตินใน 3 เทอมหลัง หรือจะไม่ไปก็ได้" ศ.ดร.ยงค์วิมลกล่าว

นักศึกษารุ่นแรกของหลักสูตรนี้มีเพียง 7 คน เนื่องจากไม่ได้ประชาสัมพันธ์หลักสูตร และสำหรับรุ่นที่ 2 นี้เปิดรับสมัคร 30 คน ซึ่งเป็นระดับที่จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ทางด้าน ลลิตา พละศักดิ์ นักศึกษารุ่นแรกของหลักสูตรนี้ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 1 บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ทราบข้อมูลหลักสูตรนี้จากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยมหิดล และตัดสินใจเลือกเรียน เพราะนอกจากชอบคณิตศาสตร์แล้ว ยังเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีความก้าวหน้าและมีรายได้ดี อีกทั้งยังเป็นสาขาที่ขาดแคลน ไม่เป็นที่รู้จัก และล่าสุดเธอได้รับทุนการศึกษาจากบริษัทไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเธอจะได้ฝึกงานที่บริษัทนี้ และมีความหวังว่าจะได้ทำงานในบริษัทแห่งนี้ด้วย

ส่วนศุภวัฒน์ วัฒนาอาษากิจ นักศึกษาภาควิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นนักศึกษาอีกคนที่ได้รับทุนการศึกษาจากบริษัทไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต และเพิ่งเลือกเรียนคณิตศาสตร์ประกันภัยในชั้นปีที่ 3 ของหลักสูตรปกติ ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า นอกจากเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงในชีวิตแล้ว ยังมีโอกาสได้ทำงานเพื่อสังคม เพราะกำไรที่ได้จากธุรกิจประกันภัยก็จะคืนสู่สังคมด้วย


รับประกันไม่ตกงาน

สำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาคณิตศาสตร์ประกันภัย หลักสูตรนานาชาติที่เพิงเปิดสอนได้ 1 รุ่นนี้ ดร.บริบูรณ์ เนาวประทีป หัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ามีบริษัทประกันภัย 3 แห่งคือ บริษัท ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด และบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชันแนลแอสชัวรันส์ จำกัด แสดงความจำนงในการมอบทุนการศึกษา แก่นักศึกษาในหลักสูตร และพร้อมรับนักศึกษาเข้าทำงานด้วย

ดร.บริบูรณ์กล่าวว่า บริษัทการเงินและประกันภัยก็เข้าไปตั้งโต๊ะสัมภาษณ์งานนักศึกษาภาควิชาคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว แต่จุดอ่อนของนักศึกษาคือภาษาอังกฤษ ที่ไม่ค่อยดีนัก จึงได้เปิดหลักสูตรนานาชาติขึ้นมา เพื่อให้นักศึกษามีความเข้มแข็ง ทั้งในส่วนของคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ พร้อมกันนี้ยังพยายามตอบโจทย์ให้ได้ว่าเรียนคณิตศาสตร์แล้วไปทำงานอะไร

"ผู้เรียนคณิตศาสตร์ที่รักจะทำวิจัยก็มีรายได้รองรับไม่ต่ำกว่า 6 หลัก เพราะมีโจทย์ให้วิจัยเยอะ และมีหน่วยงานที่พร้อมจะสนับสนุน หรือหากอยากประกอบอาชีพ เพื่อทำเป็นเงินเป็นทองก็ไม่แพ้แพทย์ทีเดียว ถ้าเรียนคณิตศาสตร์มีอาชีพรับรองที่มีความมั่นคงสูงอย่างแน่นอน" ดร.บริบูรณ์รับประกันอนาคตของผู้เรียนคณิตศาสตร์


       
คณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial Science)












เป็นสาขาวิชาที่ผลิตนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary) ซึ่งพวกเขามีหน้าที่ตั้งราคาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยทำให้เหตุการณ์ในอนาคตเป็นเหตุเป็นผลในรูปของการเงิน ด้วยการพัฒนาตัวแบบทางคณิตศาสตร์มาประเมินสถานการณ์ทางธุรกิจ โดยคิดถึงความไม่แน่นอนของเหตุการณ์
อีกทั้งพวกเขามีความสามารถที่จะวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบัน และสร้างโมเดลคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
นักคณิตศาสตร์ประกันภัยอาจจะพยากรณ์ออกไปในระยะยาวเพื่อที่จะประเมินสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากที่สุดและโอกาสของสิ่งที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดของเหตุการณ์
นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นที่ต้องการในองค์กรที่แตกต่างกัน คือ บริษัทประกันชีวิต, บริษัทให้คำปรึกษา, บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัททางการเงินอื่นๆ
(ข้อมูลจาก sawasdeeactuary.com)


โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) - นักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี
Certified by Society of Actuaries of USA, UK, and Thailand

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น