วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เจ๊งแล้วมีจ่ายหรือไม่ (กับธุรกิจชำระเบี้ยครั้งเดียว)

คุยกับแอคชัวรี – เจ๊งแล้วมีจ่ายหรือไม่ (กับธุรกิจชำระเบี้ยครั้งเดียว)


มีข่าวเรื่องหนึ่งที่ก็เกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้ว ผมก็เลยลองหยิบมาเขียนเป็นกรณีศึกษากับเขาบ้าง กับกรณีของธุรกิจบางประเภทที่เรียกเก็บเงินเป็นก้อนเพื่อสมัครเป็นสมาชิกและสามารถเข้าใช้บริการบางประเภท (เช่น การออกกำลังกาย) ของบริษัทนั้นได้ตลอดชีวิต แต่แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นเมื่อมีบางบริษัทโดนธนาคารฟ้องทวงหนี้จนต้องฟื้นฟูกิจการ โดนตัดน้ำ ตัดไฟ และทำให้สมาชิกไม่สามารถเข้าไปใช้บริการได้


เรื่องราวจะจบลงอย่างไรนั้นก็อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ของคนที่อยู่นอกวงการ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสามารถหยิบยกขึ้นมาคุยกันได้ก็คือ ผลกระทบที่เกิดกับตัวลูกค้านั้นคงจะมีขึ้นไม่มากก็น้อยอยู่เป็นแน่ โดยเฉพาะคนที่เสียค่าสมาชิกแบบชำระครั้งเดียว แต่บริษัทสัญญาว่าจะให้บริการไปตลอดชีวิต


คุ้นๆ ไหมครับว่าวิธีการแบบนี้มันเหมือนกับสินค้าของบริษัทประกันอยู่ไม่น้อย โดยภาษาทางการของแบบประกันนั้นจะเรียกว่า ซิงเกิลพรีเมียม (Single Premium) ซึ่งคงไม่ได้แปลว่า “พรีเมียมที่ยังโสดอยู่” แต่มันคือแบบประกันที่ชำระเบี้ยครั้งเดียว คุ้มครองยาวๆ เช่น 10 ปี หรือ 20 ปี เป็นต้น
 

ต่างกันตรงที่ตัวสินค้าสำหรับบางธุรกิจที่ไม่ได้มีเงินคืนเวลาในเวลาที่ไม่ตาย หรือจ่ายเงินค่าสินไหมให้ในเวลาที่ตาย เพียงแต่ธุรกิจเหล่านั้นได้สัญญาว่าจะให้บริการตลอดระยะเวลาที่กำหนดไว้ (แต่ไม่มีสิทธิ์ให้ถอน หรือถ้าถอนออกแล้วก็จะไม่ได้รับเงินคืนใดๆ) และถ้าในสัญญาเขียนว่าตลอดชีวิตก็หมายถึงตลอดชีวิตของผู้บริโภค หรือจนกว่าบริษัทจะเจ๊ง


ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่ได้รับเงินก้อนมาก่อนและมีพันธะที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าไปตามที่สัญญาเอาไว้ ซึ่งในที่นี้ก็คือ “ความคุ้มครอง” หรือ “เงินคืนเมื่อสิ้นสุดสัญญา” และเมื่อเป็นแบบนี้แล้วบริษัทประกันภัยจึงเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)” ที่กำหนดว่าบริษัทจะต้องตั้ง “เงินสำรองประกันภัย” เพื่อให้มีเงินเพียงพอแก่ลูกค้าในเวลาที่จะต้องใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการถอนก่อนครบกำหนดสัญญา หรือเงินที่ต้องคืนตามสัญญาเมื่อสิ้นสุดสัญญาประกันภัย

 
“เงินสำรองประกันภัย” สำหรับลูกค้าในที่นี้จะต้องคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะลงทุนได้ (เพราะคงไม่เอาเงินไปฝังไว้ในตุ่มเฉยๆ) อัตราการถอนเงินออกก่อนครบกำหนดสัญญา (เพราะไม่ต้องตั้งเงินสำรองให้กับคนที่ถอนเงินออกไปแล้ว) อัตราการตายของลูกค้า (ถ้าลูกค้าตายก็จะเอาเงินสำรองส่วนนี้ออกไป และจ่ายค่าสินไหมทดแทน) ให้เป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งว่าด้วยอัตราดอกเบี้ยบวกความน่าจะเป็นต่างๆ ในการจำลองธุรกิจ

 
สิ่งที่แตกต่างกันและเป็นคำถามระหว่างธุรกิจประกันภัยกับธุรกิจอื่นเวลาที่ “ได้รับเงินก้อนมาก่อนและมีพันธะที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าไปตามที่สัญญา” ก็คือ 1) ถ้าถอนก่อนแล้วจะไม่มีเงินคืนหรือไม่ และ 2) ได้มีการตั้งเงินสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัยสำหรับลูกค้าหรือไม่


ธุรกิจที่ชำระเงินล่วงหน้าไปเป็นก้อนแบบนี้อาจจะระบุในสัญญาว่าลูกค้าจะไม่มีสิทธิได้รับเงินคืนแม้แต่สตางค์เดียวในเวลาที่อยากจะยกเลิกสัญญา ซึ่งว่ากันในทางกฎหมายแล้วถ้าลูกค้าเองยินยอมที่จะเซ็นสัญญาก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ หากแต่สำหรับสินค้าประกันนั้น สัญญาประกันภัยในแต่ละฉบับสำหรับธุรกิจประกันภัยนั้นจะต้องได้รับการอนุมัติจาก “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)” เสียก่อนว่าจะไม่เป็นการเอาเปรียบลูกค้า


ปัญหาจะเกิดขึ้นถ้า “เงินสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัย” สำหรับลูกค้านั้น ไม่ได้ถูกคำนวณเอาไว้หรือถ้าคำนวณเอาไว้ก็คำนวณไว้ได้ไม่เพียงพอ โดยอาจตีความได้ว่า บริษัทเอาเงินก้อนที่รับมาจากลูกค้านั้นมารับรู้เป็นกำไรในปีนั้นเลย แล้วก็ปล่อยให้ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมาภายหลัง ซึ่งบริษัทก็ต้องไปเอาเงินก้อนจากลูกค้าคนใหม่มาโปะให้กับค่าใช้จ่ายในการใช้บริการของลูกค้าคนเก่าอยู่เรื่อยๆ


จนเมื่อเวลาที่ลูกค้าเก่ามีจำนวนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายจึงมากขึ้น แต่เงินก้อนที่หาได้จากลูกค้าใหม่ไม่ได้เติบโตเท่ากับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นจากลูกค้าเก่า ผลสุดท้ายก็คือขาดสภาพคล่องและขาดทุนในที่สุด


ที่วิเคราะห์มาทั้งหมดนี้เป็นการตั้งสมมติฐานในมุมมองนักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะถูกหรือจะผิดก็ถือว่านี่เป็นกรณีศึกษาแล้วกันครับ

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บทเรียนจากไซปรัสกับการแห่ถอนเงินของธุรกิจประกัน


คุยกับแอคชัวรี – บทเรียนจากไซปรัสกับการแห่ถอนเงินของธุรกิจประกัน

คราวนี้จะขอแนะนำประเทศเล็กๆ ในแถบยุโรปอีกประเทศหนึ่ง ประเทศนี้มีชื่อเรียกว่า “ไซปรัส (Cyprus)” ซึ่งก็เป็นสมาชิกในกลุ่มยูโรโซน ที่เป็นประเทศที่ 5 ต่อจาก กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน ที่ต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากสมาชิกในกลุ่ม โดยประเทศไซปรัสนี้ได้เริ่มยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือตั้งแต่กลางปีพ.ศ. 2555 และเรื่องยังคงคารังคาซังอยู่จนกลายเป็นข่าวทั่วบ้านทั่วเมืองที่ทุกคนต้องจับตามองความเคลื่อนไหวกันต่อไป


โดยเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา ได้มีกระแสข่าวลือว่าประเทศไซปรัสกำลังจะล้มละลาย

 
เรื่องมันเริ่มจากตรงที่ไซปรัสจะต้องหาเงิน 10,000 ล้านยูโรมาให้ทัน ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขของการได้เงินกู้นี้มาคือการไปเพิ่มภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งแบงก์ในไซปรัสนั้นใหญ่มาก (ใหญ่ถึงประมาณ 8 เท่าของขนาดเศรษฐกิจในประเทศไซปรัสเอง) โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเงินฝากจากชาวรัสเซียและชาวต่างชาติในแถบยุโรป ที่พากันเอาเงินมาฝากประจำไว้
 

และถึงแม้ว่ารัฐบาลไซปรัสจะไม่อนุมัติเงื่อนไขในการเพิ่มภาษีจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็ตาม แต่ประชาชนก็ได้ตื่นกลัวและแห่ไปถอนเงินออกมาเสียแล้ว ทำให้ธนาคารของไซปรัสอาจมีปัญหาสภาพคล่องตามมา ซึ่งเมื่อมีข่าวเรื่องสภาพคล่องเข้ามาก็ยิ่งทำให้ประชาชนยิ่งแห่กันเข้ามาถอนเงินกันมากยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้เป็นปัญหาขยายตัวและลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็ว

 
เราเรียกปรากฏการณ์เหล่านี้ว่า spiral effect (หมุนเป็นขด) ซึ่งหมายถึงการที่มีเหตุการณ์ทำให้เกิดผลที่เลวร้าย และเมื่อผลที่เลวร้ายนั้นก็ทำให้เกิดเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งตามมา แล้วสะท้อนกลับมาทำให้ผลที่เลวร้ายนั้นกลับเลวร้ายมากยิ่งขึ้นไปอีก
 

สุดท้ายประเทศไซปรัสก็ต้องเจ็บตัวไปกับการที่จะต้องยอมปฏิรูปภาคธนาคารของไซปรัสอย่างรุนแรง และยอมให้บางธนาคารเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ทำให้เงินฝากของประชาชนที่มีอยู่ในธนาคารนั้นมีมูลค่าสูญหายไป


ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพราะต้องการจะบอกว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้ก็สามารถเห็นได้อยู่ทั่วไปสำหรับสถาบันการเงิน หรือแม้แต่ในธุรกิจประกันภัยก็ตาม ซึ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์ดีๆ แล้วจะเห็นว่าเหตุการณ์ทั้งหมดอาจเริ่มต้นมาจากข่าวลือที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินหายไป ไม่ว่าจะเป็นบริษัทกำลังจะล้มละลายหรือไม่มีเงินพอจ่ายให้ลูกค้าอนาคตก็ตาม และเหตุการณ์เหล่านี้จะลุกลามและขยายตัวได้อย่างเร็วมากจนยังผลให้บริษัทหรือสถาบันการเงินนั้นต้องประกาศล้มละลายเพราะหาเงินมาหมุนให้ไม่ทัน


ธุรกิจที่ต้องขายความเชื่อน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะธุรกิจประกันภัยจึงเป็นอีกประเภทหนึ่งที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้าเอาไว้ให้มากที่สุด ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจประกันชีวิตที่ช่วยให้ลูกค้าวางแผนการเงินในระยะยาว ก็ยิ่งต้องสร้างความมั่นใจให้มากกว่าสถาบันการเงินอื่นๆ ว่าจะมีเงินจ่ายคืนให้ลูกค้าได้ครบ หรือแม้แต่ตอนที่ลูกค้าต้องการจะถอนเงินก่อนกำหนดในรูปแบบมูลค่าเวนคืนเงินสด (Cash Surrender Value) ก็ตาม


ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งมีค่าการดำรงเงินกองทุนของบริษัทที่แย่ลง (แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้) ซึ่งปรากฏว่าเกิดข่าวลือขึ้นว่าบริษัทประกันชีวิตแห่งนี้กำลังจะล้มละลาย จนทำให้ลูกค้าเริ่มจะแห่กันเข้ามาถอนกรมธรรม์เพื่อเอาเงินคืนกัน และการที่ลูกค้าทำแบบนี้ก็จะมีผลทำให้การดำรงเงินกองทุนของบริษัทยิ่งมีค่าแย่ลงไปอีก จนทำให้บริษัทโดนบังคับให้ขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ในราคาที่ต่ำกว่าปกติเพื่อแลกออกมาให้เป็นเงินสดคืนให้กับลูกค้า และเมื่อบริษัทขายสินทรัพย์ที่ราคาต่ำๆ ก็ยิ่งทำให้การดำรงเงินกองทุนของบริษัทเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งก็ทำให้ลูกค้ายิ่งแห่กันเข้ามาถอนกรมธรรม์เพื่อเอาเงินคืนกันเกือบหมด และถ้าบริษัทไม่มีมาตรการรองรับใดๆ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของลูกค้ากลับคืนมาแล้ว ปรากฏการณ์นี้จะวนไปวนมาอยู่ในวงเวียนนี้ไปเรื่อยๆ (spiral effect) จนกว่าบริษัทจะเข้าสู่ภาวะล้มละลายอย่างแท้จริง


เห็นหรือยังครับว่าข่าวลือนั้นน่ากลัวแค่ไหน!

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความหมายของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี

ความหมายของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย / แอคชัวรี

แอคชัวรี เป็นนักวิเคราะห์ความเสี่ยงที่มีทักษะรอบตัว ทางด้านคณิตศาสตร์ สถิติศาสตร์ การเงิน รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญในการประเมินผลกระทบทางการเงินจากความไม่แน่นอนในปัจจุบันและเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยการ

-          วิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต

-          จำลองเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

-          วิเคราะห์ความเสี่ยง

-          สื่อสารผลการวิเคราะห์ที่มีนัยทางการเงิน

 
แอคชัวรีจะวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบัน และสร้างโมเดลคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต แอคชัวรีอาจจะพยากรณ์ออกไปในระยะยาวเพื่อที่จะประเมินสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากที่สุดและโอกาสของสิ่งที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดของเหตุการณ์


ถ้าจะให้กล่าวอย่างสั้นๆ สำหรับความหมายของแอคชัวรีก็คือนักจำลองความเสี่ยงทางการเงินที่วิเคราะห์เรื่องที่ไม่แน่นอนให้ดูแน่นอนโดยเอาข้อมูลและตัวเลขมายืนยันกันให้ทุกฝ่ายเข้าใจ


แอคชัวรียังต้องใช้ทักษะความรู้ด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงบวกกับความรู้เชิงธุรกิจ เพื่อช่วยให้เกิดการบริหารและการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ (Actuaries Enable More Informed Decision)


ดังนั้นแอคชัวรีจึงมีบทบาทและความรับผิดชอบทั้งต่อภาคธุรกิจ และต่อเสถียรภาพทางการเงินของสังคมส่วนรวม โดยแอคชัวรีมีหน้าที่ในการรักษาสมดุลที่ดีระหว่างการดูแลประโยชน์ของบริษัทประกันภัยและผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย รวมทั้งการดูแลผลประโยชน์ของสมาชิกของกองทุนบำเหน็จบำนาญต่างๆ (Actuaries Safeguard the Financial Interests of the Public)


โดยสรุปแล้ว แอคชัวรีจึงเป็นผู้ตั้งราคาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทำให้บางครั้งถูกเรียกว่าเป็นนักวิศวกรการเงิน นักคณิตศาสตร์เพื่อสังคม หรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัย เพราะความสามารถทางธุรกิจและความสามารถทางการวิเคราะห์อันเป็นเอกลักษณ์ที่ช่วยให้สามารถแก้ปัญหาทางธุรกิจและสังคมที่นับวันจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะธุรกิจประกันภัย


แอคชัวรีทำให้เหตุการณ์ในอนาคตเป็นเหตุเป็นผลในรูปแบบทางการเงิน (Make Financial Sense of the Future) โดยการใช้ตัวแบบทางคณิตศาสตร์ในการวิเคราะห์ปัญหาทางธุรกิจและการเงิน ถ้าจะให้ละเอียดกว่านั้นก็คือแอคชัวรีช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจทางการเงินได้ดีขึ้นด้วยการพัฒนาตัวแบบทางคณิตศาสตร์มาประเมินสถานการณ์ทางธุรกิจโดยคำนึงถึงความไม่แน่นอนของเหตุการณ์


การคำนวณและการประมาณการณ์เป็นเรื่องสำคัญในธุรกิจประกันภัยและการบริการทางการเงิน งานทางแอคชัวรีจะเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์อย่างมาก แต่แอคชัวรียังคงต้องทันต่อประเด็นและทิศทางของธุรกิจ เรื่องราวทางสังคม กฏหมาย และรวมถึงเศรษฐศาสตร์ อีกนัยหนึ่งคือแอคชัวรีต้องรอบรู้ และใช้สิ่งเหล่านั้นจะใช้ในการแก้ปัญหาทางธุรกิจด้วย และแอคชัวรีควรต้องเป็นผู้สื่อสารที่ดีเพื่อที่จะอธิบายงานของตนเองให้ผู้อื่นเข้าใจ แอคชัวรีจึงเป็นผู้เล่นคนสำคัญในทีมบริหารงานของบริษัท


ขณะนี้จำนวนของแอคชัวรีที่สอบผ่านได้คุณวุฒิสูงถึงระดับเฟลโล่ที่เป็นคนไทยและยังกระจายอยู่ทั่วโลกนั้นมีเพียง 10 กว่าคนเท่านั้น

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความทุกข์เริ่มต้นมาจากการมีของ “อัตตา” แต่ความอยากมีวิชาและมีปัญญาเป็นที่มาของ“แอคชัวรี”

ความทุกข์เริ่มต้นมาจากการมีของ “อัตตา” แต่ความอยากมีวิชาและมีปัญญาเป็นที่มาของ“แอคชัวรี
 
 
คนทำงานที่เกี่ยวข้องกับด้านตรรกกะย่อมที่จะคิดอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลอยู่เสมอ แต่ในชีวิตจริงนั้นไม่มีอะไรที่แบ่งออกได้เป็นสีขาวหรือสีดำเสมอไป มันยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่มาเกี่ยวข้องและเป็นตัวกำหนดความเป็นไปได้มากกว่าการวิเคราะห์แค่ตัวเลขแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นชีวิตจริงของคนเราจะต้องใช้ทั้งศาสตร์ (ความรู้ที่เรียนมาอย่างมีตรรกะ)และศิลป์ (เข้าใจและยอมรับถึงความเป็นไป)มาประกอบกันเพื่อจะดำรงชีวิตอยู่และประกอบสัมมาอาชีพได้

 
ความทุกข์เริ่มต้นมาจากการมีของ “อัตตา แต่ความอยากมีวิชาและมีปัญญาเป็นที่มาของ“แอคชัวรี

 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้รู้จักกับ “อัตรามรณะ” เป็นอย่างดีแล้ว ก็ควรจะหันมารู้จัก “อัตตาแห่งธรรมะ” เพื่อที่จะเพิ่มความสมดุลให้กับชีวิตบ้าง เนื่องจากการเข้าใจการดับของ อัตตา ที่เป็นการดับได้ซึ่ง"ตัวตน-ของตน" นั้นจะทำให้เราทำอะไรได้มากขึ้น เรียนดีขึ้น คิดดีขึ้น มีความสุขขึ้น

 แอคชัวรีจึงไม่ควรหมกหมุ่นหรือยึดติดอยู่กับตัวเลขจนเกินไป และแอคชัวรีที่ดีก็ควรจะรู้จักการปล่อยวางและดับซึ่ง "ตัวตน-ของตน" ไว้บ้าง เพราะถึงแม้ว่าแอคชัวรีจะได้มีโอกาสเป็นผู้บริหารตั้งแต่อายุน้อยๆ และใครๆ จะบอกว่าแอคชัวรีนั้นเป็นคนเก่งและรอบรู้แค่ไหนก็ตาม การที่นึกว่าตัวเองเก่งคับฟ้าจนทำให้ตนเองลำพองใจนั้น ก็จะนำพามาสู่ซึ่งความหยิ่งทะนงตน และปิดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นแอคชัวรีที่ดีได้ในที่สุด

และถ้าเราสามารถดับ “อัตตา” ได้ บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ก็จะนำพาองค์กรสู่ความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร ลูกค้า ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ซึ่งการทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความเสี่ยงได้ในธุรกิจเช่นเดียวกัน

ดังนั้น เราจึง “ไม่ควรยึดถือตัวตนของตัวเอง”หรือที่เรียกว่า “การดับไปแห่งอัตตา ซึ่งก็ไม่ได้หมายว่าจะเป็นการดับไปของร่างกายหรือของชีวิต แล้วก็ไม่ได้หมายถึงความรู้สึกการตายด้าน แต่หมายถึง การดับของความรู้สึกที่รู้ว่ามี"ตัวเรา-ของเรา"