คุยกับแอคชัวรี
– บทเรียนจากไซปรัสกับการแห่ถอนเงินของธุรกิจประกัน
คราวนี้จะขอแนะนำประเทศเล็กๆ
ในแถบยุโรปอีกประเทศหนึ่ง ประเทศนี้มีชื่อเรียกว่า “ไซปรัส (Cyprus)”
ซึ่งก็เป็นสมาชิกในกลุ่มยูโรโซน ที่เป็นประเทศที่ 5 ต่อจาก กรีซ
ไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน ที่ต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากสมาชิกในกลุ่ม
โดยประเทศไซปรัสนี้ได้เริ่มยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือตั้งแต่กลางปีพ.ศ. 2555
และเรื่องยังคงคารังคาซังอยู่จนกลายเป็นข่าวทั่วบ้านทั่วเมืองที่ทุกคนต้องจับตามองความเคลื่อนไหวกันต่อไป
โดยเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม
พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา ได้มีกระแสข่าวลือว่าประเทศไซปรัสกำลังจะล้มละลาย
เรื่องมันเริ่มจากตรงที่ไซปรัสจะต้องหาเงิน
10,000 ล้านยูโรมาให้ทัน
ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขของการได้เงินกู้นี้มาคือการไปเพิ่มภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝาก
ซึ่งแบงก์ในไซปรัสนั้นใหญ่มาก (ใหญ่ถึงประมาณ
8 เท่าของขนาดเศรษฐกิจในประเทศไซปรัสเอง) โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเงินฝากจากชาวรัสเซียและชาวต่างชาติในแถบยุโรป
ที่พากันเอาเงินมาฝากประจำไว้
และถึงแม้ว่ารัฐบาลไซปรัสจะไม่อนุมัติเงื่อนไขในการเพิ่มภาษีจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็ตาม
แต่ประชาชนก็ได้ตื่นกลัวและแห่ไปถอนเงินออกมาเสียแล้ว
ทำให้ธนาคารของไซปรัสอาจมีปัญหาสภาพคล่องตามมา
ซึ่งเมื่อมีข่าวเรื่องสภาพคล่องเข้ามาก็ยิ่งทำให้ประชาชนยิ่งแห่กันเข้ามาถอนเงินกันมากยิ่งขึ้นไปอีก
ทำให้เป็นปัญหาขยายตัวและลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็ว
เราเรียกปรากฏการณ์เหล่านี้ว่า
spiral effect (หมุนเป็นขด)
ซึ่งหมายถึงการที่มีเหตุการณ์ทำให้เกิดผลที่เลวร้าย
และเมื่อผลที่เลวร้ายนั้นก็ทำให้เกิดเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งตามมา
แล้วสะท้อนกลับมาทำให้ผลที่เลวร้ายนั้นกลับเลวร้ายมากยิ่งขึ้นไปอีก
สุดท้ายประเทศไซปรัสก็ต้องเจ็บตัวไปกับการที่จะต้องยอมปฏิรูปภาคธนาคารของไซปรัสอย่างรุนแรง
และยอมให้บางธนาคารเข้าสู่ภาวะล้มละลาย
ทำให้เงินฝากของประชาชนที่มีอยู่ในธนาคารนั้นมีมูลค่าสูญหายไป
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพราะต้องการจะบอกว่า
ปรากฏการณ์เหล่านี้ก็สามารถเห็นได้อยู่ทั่วไปสำหรับสถาบันการเงิน
หรือแม้แต่ในธุรกิจประกันภัยก็ตาม ซึ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์ดีๆ
แล้วจะเห็นว่าเหตุการณ์ทั้งหมดอาจเริ่มต้นมาจากข่าวลือที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินหายไป
ไม่ว่าจะเป็นบริษัทกำลังจะล้มละลายหรือไม่มีเงินพอจ่ายให้ลูกค้าอนาคตก็ตาม และเหตุการณ์เหล่านี้จะลุกลามและขยายตัวได้อย่างเร็วมากจนยังผลให้บริษัทหรือสถาบันการเงินนั้นต้องประกาศล้มละลายเพราะหาเงินมาหมุนให้ไม่ทัน
ธุรกิจที่ต้องขายความเชื่อน่าเชื่อถือ
โดยเฉพาะธุรกิจประกันภัยจึงเป็นอีกประเภทหนึ่งที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้าเอาไว้ให้มากที่สุด
ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจประกันชีวิตที่ช่วยให้ลูกค้าวางแผนการเงินในระยะยาว
ก็ยิ่งต้องสร้างความมั่นใจให้มากกว่าสถาบันการเงินอื่นๆ
ว่าจะมีเงินจ่ายคืนให้ลูกค้าได้ครบ หรือแม้แต่ตอนที่ลูกค้าต้องการจะถอนเงินก่อนกำหนดในรูปแบบมูลค่าเวนคืนเงินสด
(Cash Surrender Value) ก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งมีค่าการดำรงเงินกองทุนของบริษัทที่แย่ลง
(แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้)
ซึ่งปรากฏว่าเกิดข่าวลือขึ้นว่าบริษัทประกันชีวิตแห่งนี้กำลังจะล้มละลาย
จนทำให้ลูกค้าเริ่มจะแห่กันเข้ามาถอนกรมธรรม์เพื่อเอาเงินคืนกัน
และการที่ลูกค้าทำแบบนี้ก็จะมีผลทำให้การดำรงเงินกองทุนของบริษัทยิ่งมีค่าแย่ลงไปอีก
จนทำให้บริษัทโดนบังคับให้ขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ในราคาที่ต่ำกว่าปกติเพื่อแลกออกมาให้เป็นเงินสดคืนให้กับลูกค้า
และเมื่อบริษัทขายสินทรัพย์ที่ราคาต่ำๆ ก็ยิ่งทำให้การดำรงเงินกองทุนของบริษัทเข้าขั้นวิกฤต
ซึ่งก็ทำให้ลูกค้ายิ่งแห่กันเข้ามาถอนกรมธรรม์เพื่อเอาเงินคืนกันเกือบหมด
และถ้าบริษัทไม่มีมาตรการรองรับใดๆ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของลูกค้ากลับคืนมาแล้ว
ปรากฏการณ์นี้จะวนไปวนมาอยู่ในวงเวียนนี้ไปเรื่อยๆ (spiral effect) จนกว่าบริษัทจะเข้าสู่ภาวะล้มละลายอย่างแท้จริง
เห็นหรือยังครับว่าข่าวลือนั้นน่ากลัวแค่ไหน!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น