วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เจ๊งแล้วมีจ่ายหรือไม่ (กับธุรกิจชำระเบี้ยครั้งเดียว)

คุยกับแอคชัวรี – เจ๊งแล้วมีจ่ายหรือไม่ (กับธุรกิจชำระเบี้ยครั้งเดียว)


มีข่าวเรื่องหนึ่งที่ก็เกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้ว ผมก็เลยลองหยิบมาเขียนเป็นกรณีศึกษากับเขาบ้าง กับกรณีของธุรกิจบางประเภทที่เรียกเก็บเงินเป็นก้อนเพื่อสมัครเป็นสมาชิกและสามารถเข้าใช้บริการบางประเภท (เช่น การออกกำลังกาย) ของบริษัทนั้นได้ตลอดชีวิต แต่แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นเมื่อมีบางบริษัทโดนธนาคารฟ้องทวงหนี้จนต้องฟื้นฟูกิจการ โดนตัดน้ำ ตัดไฟ และทำให้สมาชิกไม่สามารถเข้าไปใช้บริการได้


เรื่องราวจะจบลงอย่างไรนั้นก็อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ของคนที่อยู่นอกวงการ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสามารถหยิบยกขึ้นมาคุยกันได้ก็คือ ผลกระทบที่เกิดกับตัวลูกค้านั้นคงจะมีขึ้นไม่มากก็น้อยอยู่เป็นแน่ โดยเฉพาะคนที่เสียค่าสมาชิกแบบชำระครั้งเดียว แต่บริษัทสัญญาว่าจะให้บริการไปตลอดชีวิต


คุ้นๆ ไหมครับว่าวิธีการแบบนี้มันเหมือนกับสินค้าของบริษัทประกันอยู่ไม่น้อย โดยภาษาทางการของแบบประกันนั้นจะเรียกว่า ซิงเกิลพรีเมียม (Single Premium) ซึ่งคงไม่ได้แปลว่า “พรีเมียมที่ยังโสดอยู่” แต่มันคือแบบประกันที่ชำระเบี้ยครั้งเดียว คุ้มครองยาวๆ เช่น 10 ปี หรือ 20 ปี เป็นต้น
 

ต่างกันตรงที่ตัวสินค้าสำหรับบางธุรกิจที่ไม่ได้มีเงินคืนเวลาในเวลาที่ไม่ตาย หรือจ่ายเงินค่าสินไหมให้ในเวลาที่ตาย เพียงแต่ธุรกิจเหล่านั้นได้สัญญาว่าจะให้บริการตลอดระยะเวลาที่กำหนดไว้ (แต่ไม่มีสิทธิ์ให้ถอน หรือถ้าถอนออกแล้วก็จะไม่ได้รับเงินคืนใดๆ) และถ้าในสัญญาเขียนว่าตลอดชีวิตก็หมายถึงตลอดชีวิตของผู้บริโภค หรือจนกว่าบริษัทจะเจ๊ง


ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่ได้รับเงินก้อนมาก่อนและมีพันธะที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าไปตามที่สัญญาเอาไว้ ซึ่งในที่นี้ก็คือ “ความคุ้มครอง” หรือ “เงินคืนเมื่อสิ้นสุดสัญญา” และเมื่อเป็นแบบนี้แล้วบริษัทประกันภัยจึงเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)” ที่กำหนดว่าบริษัทจะต้องตั้ง “เงินสำรองประกันภัย” เพื่อให้มีเงินเพียงพอแก่ลูกค้าในเวลาที่จะต้องใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการถอนก่อนครบกำหนดสัญญา หรือเงินที่ต้องคืนตามสัญญาเมื่อสิ้นสุดสัญญาประกันภัย

 
“เงินสำรองประกันภัย” สำหรับลูกค้าในที่นี้จะต้องคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะลงทุนได้ (เพราะคงไม่เอาเงินไปฝังไว้ในตุ่มเฉยๆ) อัตราการถอนเงินออกก่อนครบกำหนดสัญญา (เพราะไม่ต้องตั้งเงินสำรองให้กับคนที่ถอนเงินออกไปแล้ว) อัตราการตายของลูกค้า (ถ้าลูกค้าตายก็จะเอาเงินสำรองส่วนนี้ออกไป และจ่ายค่าสินไหมทดแทน) ให้เป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งว่าด้วยอัตราดอกเบี้ยบวกความน่าจะเป็นต่างๆ ในการจำลองธุรกิจ

 
สิ่งที่แตกต่างกันและเป็นคำถามระหว่างธุรกิจประกันภัยกับธุรกิจอื่นเวลาที่ “ได้รับเงินก้อนมาก่อนและมีพันธะที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าไปตามที่สัญญา” ก็คือ 1) ถ้าถอนก่อนแล้วจะไม่มีเงินคืนหรือไม่ และ 2) ได้มีการตั้งเงินสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัยสำหรับลูกค้าหรือไม่


ธุรกิจที่ชำระเงินล่วงหน้าไปเป็นก้อนแบบนี้อาจจะระบุในสัญญาว่าลูกค้าจะไม่มีสิทธิได้รับเงินคืนแม้แต่สตางค์เดียวในเวลาที่อยากจะยกเลิกสัญญา ซึ่งว่ากันในทางกฎหมายแล้วถ้าลูกค้าเองยินยอมที่จะเซ็นสัญญาก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ หากแต่สำหรับสินค้าประกันนั้น สัญญาประกันภัยในแต่ละฉบับสำหรับธุรกิจประกันภัยนั้นจะต้องได้รับการอนุมัติจาก “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)” เสียก่อนว่าจะไม่เป็นการเอาเปรียบลูกค้า


ปัญหาจะเกิดขึ้นถ้า “เงินสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัย” สำหรับลูกค้านั้น ไม่ได้ถูกคำนวณเอาไว้หรือถ้าคำนวณเอาไว้ก็คำนวณไว้ได้ไม่เพียงพอ โดยอาจตีความได้ว่า บริษัทเอาเงินก้อนที่รับมาจากลูกค้านั้นมารับรู้เป็นกำไรในปีนั้นเลย แล้วก็ปล่อยให้ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมาภายหลัง ซึ่งบริษัทก็ต้องไปเอาเงินก้อนจากลูกค้าคนใหม่มาโปะให้กับค่าใช้จ่ายในการใช้บริการของลูกค้าคนเก่าอยู่เรื่อยๆ


จนเมื่อเวลาที่ลูกค้าเก่ามีจำนวนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายจึงมากขึ้น แต่เงินก้อนที่หาได้จากลูกค้าใหม่ไม่ได้เติบโตเท่ากับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นจากลูกค้าเก่า ผลสุดท้ายก็คือขาดสภาพคล่องและขาดทุนในที่สุด


ที่วิเคราะห์มาทั้งหมดนี้เป็นการตั้งสมมติฐานในมุมมองนักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะถูกหรือจะผิดก็ถือว่านี่เป็นกรณีศึกษาแล้วกันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น