ธุรกิจประกันภัยนั้นคือธุรกิจที่บริหารความเสี่ยง
(Risk
Management) ซึ่งหัวใจของธุรกิจนี้จะอยู่ที่
“การจัดการความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Risk Management)” ของบริษัทประกันภัยเป็นหลัก โดยสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษก็คือการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน
(Asset Liability Management) นั่นเอง
ไม่แน่ใจว่าเคยได้ยินตัวอักษรสามตัวที่เขียนว่า
“ALM” กันมาก่อนหรือไม่ แต่คำๆ นี้เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการการเงิน
นั่นก็เพราะว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ (Asset) และหนี้สิน
(Liability) นั่นเอง ซึ่งวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งบริษัทโดยส่วนใหญ่นั้นก็ทำธุรกิจเพื่อที่จะมีสินทรัพย์
(Asset) ให้มากกว่าหนี้สิน (Liability) เท่าที่จะมากได้
และนั่นก็หมายถึงการทำให้มีส่วนของผู้ถือหุ้นมากเข้าไว้เท่านั้นเอง (Maximize
the Equity)
ส่วนของผู้ถือหุ้น
(Equity)
= สินทรัพย์ (Asset) – หนี้สิน (Liability)
ทีนี้ถ้าเราแปลกันตรงตัวของคำว่า
Asset
Liability Management ก็จะหมายความว่าการจัดการสินทรัพย์กับหนี้สิน
แต่ในที่นี้จะเป็นการบริหารจัดการ“ความสัมพันธ์” ของสินทรัพย์กับหนี้สินซะมากกว่า และตัวย่อของคำนี้ก็คือ
ALM ซึ่งมีการจัดสอนกันจนเป็นหนึ่งในวิชายอดฮิตของแอคชัวรีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยกันเลยทีเดียว
การทำ ALM นั้นก็ยิ่งมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นภายในกรอบของ
RBC (Risk Based Capital)
ALM
มีความสำคัญกับทุกวงการครับ และยิ่งมีความสำคัญมาก
จนถึงขั้นมากที่สุดในวงการประกันภัย เพราะถ้าคร่ำหวอดอยู่กับวงการมานาน
จะรู้ว่าบริษัทประกันภัยหลายแห่งในโลกนั้นได้ปิดกิจการหรือล้มละลายก็เพราะว่าทำ ALM
ได้ไม่รัดกุมเพียงพอ และการทำ ALM นั้นก็ยิ่งมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นภายในกรอบของ
RBC (Risk Based Capital) ที่ถูกกำหนดให้นำมาใช้
เรียกได้ว่าถ้าทำ ALM ได้ไม่ดีก็จะส่งผลให้บริษัทต้องถือ “มูลค่าเงินกองทุนขั้นต่ำ”
ที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่งผลให้คนที่ทำ RBC หนาวกันไปตามๆ
กัน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินของธุรกิจประกันภัย
เพราะบริษัทประกันภัยเมื่อเก็บเบี้ยประกันมาจากลูกค้าแล้ว
ก็คงจะไม่เก็บใส่ตุ่มเอาไว้เฉยๆ
แต่บริษัทจะเอาเงินเหล่านั้นไปลงทุนให้มีผลงอกเงยขึ้นมา
เบี้ยประกันและดอกเบี้ยที่ได้จากการลงทุนเหล่านั้นก็จะกลายเป็นสินทรัพย์ของบริษัทนั่นเอง
และสินทรัพย์เหล่านี้จะถูกนำไปจ่ายค่าสินไหมทดแทน (claim) ให้กับลูกค้าเมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในภายภาคหน้า
ซึ่งค่าสินไหมเหล่านี้ก็คือหนี้สิน (Liability) ที่บริษัทต้องตั้งเอาไว้นั่นเอง
บริษัทประกันภัยจึงต้องแน่ใจว่าสินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่นั้นจะสามารถนำออกมาจ่ายเป็นเงินเมื่อยามที่บริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับลูกค้า
ซึ่งนั่นก็หมายความว่าสินทรัพย์จะต้องประคองหนี้สินที่บริษัทมีอยู่ได้
ในทางปฏิบัติแล้วเราจะต้องจับกระแสเงินสดที่จะไหลออกมาจากสินทรัพย์ให้เข้าคู่กับกระแสเงินสดของหนี้สินที่จะไหลออกในแต่ละช่วงระยะเวลาให้ดี
(Matching
Asset with Liability) และสำหรับการประกันภัยแล้ว
การจะรู้ว่าจะต้องจ่ายเงินออกในช่วงไหนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยทีเดียว
แอคชัวรีจะต้องอาศัยทฤษฎีความน่าจะเป็นและสถิติประยุกต์เข้ามาช่วยจัดการในเรื่องนี้
ความรู้ในด้านการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน
(ALM) จึงเป็นเทคนิคเพื่อใช้สำหรับการจัดการความเสี่ยงในการบริหารงานและการลงทุนทุกประเภท
เนื่องจากไม่มีธุรกิจและการลงทุนใดที่ไร้ซึ่งความเสี่ยง
มีแค่ว่าจะเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยก็เท่านั้น
ซึ่งการประเมินผลประกอบการและราคาหุ้นในสมัยนี้ควรจะรวมต้นทุนของการจัดการความเสี่ยงเหล่านี้เข้าไปด้วย
ถ้าท่านใดมีข้อสงสัย ต้องการให้คำแนะนำติชม
หรือมีหัวข้อน่าสนใจที่อยากให้เขียนลงในคอลัมน์นี้ สามารถส่งมาได้ที่ tommy.pichet@gmail.com
·
[ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน
(ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น