วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิต


การประกันชีวิต เป็นวิธีการที่บุคคลกลุ่มหนึ่งร่วมกันเฉลี่ยภัยอันเนื่องจากการตาย การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และการสูญเสียรายได้ในยามชรา โดยที่เมื่อบุคคลใดต้องประสบกับภัยเหล่านั้น ก็ได้รับเงินเฉลี่ยช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว โดยบริษัทประกันชีวิตจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการนำเงินก้อนดังกล่าวไปจ่ายให้แก่ผู้ได้รับภัย
 

ธุรกิจประกันชีวิตนั้น สามารถแบ่งออกได้ตามหมวดหมู่จากลักษณะของการออกกรมธรรม์ให้ลูกค้าได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.               การประกันชีวิตประเภทรายสามัญ – เป็นการประกันชีวิตรายบุคคล (หนึ่งกรมธรรม์จะมีชื่อผู้เอาประกันภัยได้เพียง 1 คน) ที่เห็นได้ตามโฆษณาส่วนใหญ่ และในการพิจารณารับประกันชีวิตนั้นอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจสุขภาพก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท และมีการชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี, ราย 6 เดือน, ราย 3 เดือน หรือรายเดือน

2.               การประกันชีวิตประเภทกลุ่ม - เป็นการประกันชีวิตที่กรมธรรม์หนึ่งจะมีผู้เอาประกันชีวิตร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ส่วนมากจะเป็นกลุ่มของพนักงานบริษัท ในการพิจารณารับประกันอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท การประกันชีวิตกลุ่มนี้อัตราเบี้ยประกันชีวิตจะต่ำกว่าประเภทสามัญและประเภทอุตสาหกรรม

3.               การประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรม - เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำ โดยทั่วไปตั้งแต่ 10,000 - 30,000 บาท เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ เช่น คนงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น การชำระเบี้ยประกันภัยจะชำระเป็นรายเดือน และไม่มีการตรวจสุขภาพ ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตจึงมีการกำหนดว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหลังจากที่ได้ทำประกันชีวิตไปไม่นาน บริษัทจะไม่จ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้ แต่จะคืนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ชำระมาแล้วทั้งหมด ระยะเวลาดังกล่าวที่บริษัทไม่จ่ายเงินเอาประกันภัยนั้นเรียกว่า “ระยะเวลารอคอย (waiting period)”

 
แบบประกันชีวิตนั้นยังสามารถแบ่งประเภทออกมาเป็นแบบที่ชำระเบี้ยครั้งเดียว (Single Premium) และแบบที่ชำระเบี้ยรายงวด (Regular Premium)

1.               แบบประกันที่ชำระเบี้ยครั้งเดียว (Single Premium) เป็นแบบที่จ่ายเบี้ยประกันภัยเพียงก้อนเดียว แต่มีระยะเวลาคุ้มครองจนครบกำหนดสัญญา ยกตัวอย่างเช่น แบบประกันภัยที่ชำระเบี้ยครั้งเดียวแต่คุ้มครอง 10 ปี ก็เหมือนกับการไปซื้อพันธบัตรที่มีระยะเวลาลงทุน 10 ปี แต่สิ่งที่แตกต่างกันของผลิตภัณฑ์ประกันภัยคือการมีความคุ้มครองจากทุนประกันชีวิต เป็นต้น และแบบประกันแบบนี้จะมีราคาผันผวนตามอัตราดอกเบี้ยในตลาด เพราะราคาพันธบัตรคือต้นทุนของสินค้าประกันภัยตัวนี้

2.               แบบประกันที่ชำระเบี้ยรายงวด (Regular Premium) เป็นแบบที่มีการจ่ายเบี้ยประกันภัยมากกว่า 1 ครั้งซึ่งระยะเวลาคุ้มครองนั้นไม่จำเป็นจะต้องเท่ากับจำนวนงวดที่จ่ายก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น แบบประกันภัยที่ชำระเบี้ย 15 ปีแต่คุ้มครอง 30 ปี แบบประกันที่ชำระเบี้ย 20 ปีแล้วคุ้มครองตลอดชีวิต หรือแบบประกันที่ชำระเบี้ยตลอดชีวิตและคุ้มครองตลอดชีวิต เป็นต้น สำหรับแบบประกันแบบนี้จะจำแนกเบี้ยประกันภัยออกเป็น “เบี้ยประกันภัยปีแรก (first year premium)” และ “เบี้ยประกันภัยต่ออายุ (renewal year premium) และเนื่องจากค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของบริษัทประกันชีวิตจะมาจากกรมธรรม์ในปีแรก จึงทำให้จำนวนเบี้ยประกันภัยต่ออายุนั้นมีความสำคัญมากกับธุรกิจประกันชีวิต
 

เบี้ยประกันภัยในปีที่ผ่านมาของธุรกิจประกันชีวิตนั้นมีค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 19
 
เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 82,944 ล้านบาท
เบี้ยประกันภัยต่ออายุ 260,811 ล้านบาท
เบี้ยประกันภัยชำระเบี้ยครั้งเดียว 47,603 ล้านบาท

 
เป็นที่น่าสนใจว่าคนไทยในประเทศประมาณ 3 ใน 4 ที่ยังไม่ได้มีการทำประกันชีวิต และถึงแม้ได้มีการทำประกันชีวิตแล้ว ก็อาจจะยังมีความคุ้มครองที่ไม่เพียงพอ เพราะปกติแล้วคนเราจะคำนวณความคุ้มครองประมาณ 10 เท่าของรายได้ต่อปี ซึ่งก็หมายความว่าถ้าเกิดคนที่หาเลี้ยงครอบครัวเป็นอะไรไป คนข้างหลังจะมีเงินใช้อยู่ประมาณ 10 ปี เพื่อที่จะไปตั้งตัวและปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตอยู่เองได้ โดยที่ไม่มีคนๆ นั้นอยู่
  

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น