จะเห็นได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ ไมโครอินชัวรันส์ได้เป็นข่าวที่ยอดฮิตหนาหูในวงการประกันภัยเกี่ยวกับการเปิดไฟเขียวของการนำ “ไมโครอินชัวรันส์” ออกมาสู่ท้องตลาดให้ประชาชนทั่วไปได้ยลโฉมกันอีกครั้ง ทำให้เป็นที่วิจารณ์กันอย่างเมามันว่าประเทศไทยจะทำได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าแอคชัวรีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยก็ไม่พ้นที่จะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่จะพยายามช่วยผลักดันให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จไปตลอดรอดฝั่ง
อย่างไรก็ตาม คงมีบางคนยังสงสัยว่าไมโครอินชัวรันส์คืออะไรกันแน่ แล้วทำไมถึงต้องตื่นตัวผลักดันอยากให้มีกันนัก ซึ่งเราจะเห็นว่าในต่างประเทศก็มีการรณรงค์ให้บริษัทประกันขายไมโครอินชัวรันส์กันอยู่มาก และก็มีหลายประเทศที่เห็นว่าทำได้จนประสบความสำเร็จกันอย่างล้นหลาย
ไมโครอินชัวรันส์ จริงๆ แล้วก็คือการประกันภัยที่มีให้เห็นกันอยู่ในท้องตลาดเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่แตกต่างกันกับการประกันภัยทั่วไปก็คือ “เบี้ยประกันภัยที่ต่ำและถูก” ทั้งนี้เพื่อทำให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาจับจ่ายเป็นเจ้าของกรมธรรม์ประกันภัยกับเขาได้บ้าง
เพราะการประกันภัยนั้นไม่ได้เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตของเรา ทำให้คนทั่วไปมักมองไม่เห็นความสำคัญของการทำประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกันภัยเป็นอะไรที่วัวหายล้อมคอก ถ้าไม่เจอกับตัวเองจริงๆ ก็คงไม่คิดที่จะซื้อ โดยที่คนที่มีรายได้น้อยและต้องหาเลี้ยงปากท้องนั้นคงจะเห็นการทำประกันภัยเป็นเรื่องรองเป็นแน่ ดังจะเห็นได้ชัดว่าถ้ากระดาษทิชชู่กับกรมธรรม์ประกันภัยให้เลือก คนส่วนใหญ่จะเลือกทิชชู่กันมากกว่า
ซึ่งก็จริงอยู่ที่ไมโครอินชัวรันส์นั้นเป็นประกันภัยสำหรับคนมีรายได้น้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีรายได้มากจะซื้อไม่ได้ เพียงแต่การประกันภัยที่มีเบี้ยต่ำแบบนี้ ได้ถูกออกแบบให้สามารถเข้าถึงคนที่มีรายได้น้อยโดยเฉพาะ เพื่อให้ความคุ้มครองเบื้องต้นได้ ซึ่งก็หมายถึงคนทั่วไปก็สามารถหาซื้อได้
แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการออกแบบประกันให้มีเบี้ยประกันภัยต่ำมากๆ ก็คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อ 1 กรมธรรม์นั่นเอง เพราะว่าการพิจารณารับประกันภัยต่อรายนั้นจะมีต้นทุนอยู่ไม่น้อย โดยการตรวจสุขภาพบางรายนั้นจะมีค่าใช้จ่ายเป็นพัน ทำให้ไม่เหมาะกับการออกแบบให้เบี้ยประกันภัยต่ำเป็นแน่ ดังนั้นการประกันภัยแบบนี้จึงควรตัดขั้นตอนการพิจารณารับประกันภัยออกไป ซึ่งถ้าต้องการให้เบี้ยประกันภัยถูกมากๆ แล้วจะทำให้ไม่สามารถออกแบบประกันชีวิตและประกันสุขภาพลงไปในกลุ่มนี้ได้ แบบประกันที่สามารถตัดขั้นตอนการพิจารณารับประกันภัยไปได้บ้างก็คือแบบประกันอุบัติเหตุนั่นเอง
ส่วนค่าใช้จ่ายในการออกกรมธรรม์ต่อหน่วยนั้นก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ และถ้ายอดขายที่เข้ามานั้นมีมากพอสมควรแล้วก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยถูกลงมาได้
ปัจจุบันนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้พยายามผลักดันไมโครอินชัวรันส์ให้มีเบี้ยประกันภัยต่ำอยู่ที่ 200 บาทต่อปี ที่ออกแบบมาพิเศษเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ผู้มีรายได้น้อย โดยคปภ. ช่วยสนับสนุน ในเรื่อง การให้ออกใบรับรองการประกันภัยแทนกรมธรรม์ (โดยรายละเอียดให้ศึกษาในเวปไซต์บริษัท) และขยายช่องทางการจำหน่าย ที่สามารถเลือกซื้อได้ผ่านร้านสะดวกซื้อที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้านิติบุคคล อาทิ Counterservice ที่อยู่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขา เคาน์เตอร์เทสโก้โลตัส โบรกเกอร์ประกันภัยในห้างเทสโก้โลตัส เคาน์เตอร์เซนทรัลสมาร์ทอินชัวร์ในห้างเซนทรัล โรบินสัน ท็อปส์
กรมธรรม์ประกันภัยชนิดนี้มีลักษณะพิเศษ คือ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ความคุ้มครองไม่ซับซ้อน มีขั้นตอนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่ไม่ยุ่งยาก โดยเป็นประกันภัยอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นความคุ้มครองพื้นฐานแก่ประชาชน คุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียมือ เท้า สายตา และทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง
การประกันภัยรายย่อย หรือไมโครอินชัวรันส์นี้จะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นกับยอดขายที่มีมากพอที่จะทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยให้น้อยที่สุดได้ ซึ่งก็หวังว่าคอลัมน์นี้จะช่วยโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จอีกทางหนึ่งบ้างไม่มากก็น้อย
· [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]