วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – บทส่งท้ายธุรกิจประกันภัย ปี พ.ศ. 2556

คุยกับแอคชัวรี – บทส่งท้ายธุรกิจประกันภัย ปี พ.ศ. 2556

ในฉบับส่งท้ายปีนี้ เราลองมาดูว่าธุรกิจประกันภัยในปีนี้มีความเป็นไปอย่างไรบ้างกันครับ เริ่มด้วยจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่ส่งผลกับธุรกิจประกันภัยกันก่อน ซึ่งในปีนี้โชคดีที่ไม่มีน้ำท่วม สึนามิ พายุ เทอร์นาโด หรือแผ่นดินไหวเข้ามาเหมือนประเทศอื่นๆ แต่เหมือนสุภาษิตที่เคยกล่าวกันไว้คือพระเจ้าสร้างโลกมาให้แต่ละประเทศมีความทัดเทียมกัน โดยในเมื่อประเทศอื่นๆ มีภัยธรรมชาติเฉพาะตัวเองอยู่แล้ว ประเทศไทยจึงไม่ยอมน้อยหน้า ให้มีนักการเมืองไทยขึ้นมาอยู่คู่กับประเทศไทยบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันภัยในปีนี้คงจะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมามากนัก

ในปีนี้ก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงผมได้รับเชิญให้มาเปิดคอลัมน์ “คุยกับแอคชัวรี” ให้กับหนังสือพิมพ์นี้ ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม เป็นต้นไป ซึ่งบทความที่นำมาเขียนก็พยายามจะให้มีอรรถรสต่างๆ กันไป โดยเริ่มจากการแนะนำตัวอาชีพแอคชัวรีหรือที่เรียกกันว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่อยู่คู่วงการประกันภัยให้รู้จักกัน เพราะธุรกิจประกันเป็นธุรกิจที่รับเงิน (เบี้ยประกันภัย) เข้ามาก่อน แล้วค่อยมีต้นทุน (จ่ายเคลม) เกิดขึ้นตามมาทีหลัง จึงเป็นที่มาของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ต้องไปสรรหาเทคนิคของการทำนายต้นทุน ซึ่งต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ทางการเงิน การลงทุน และสถิติ มาเป็นตัวช่วยให้ใจชื้นในการคำนวณต้นทุนล่วงหน้า เพื่อที่จะออกแบบประกันภัยและบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยได้

แล้วก็ได้นำเรื่องจากเหตุการณ์ของประเทศไซปรัสที่มีคนมาแห่ถอนเงินกัน โดยตอนนั้นประชาชนของไซปรัสก็ได้ตื่นกลัวและแห่ไปถอนเงินกันออกมามากมาย ทำให้ธนาคารของไซปรัสมีปัญหาสภาพคล่องตามมา ซึ่งเมื่อมีข่าวเรื่องสภาพคล่องเข้ามาก็ยิ่งทำให้ประชาชนยิ่งแห่กันเข้ามาถอนเงินกันมากยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้กลายเป็นปัญหาขยายตัวและลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็ว  โดยเราเรียกปรากฏการณ์ในตอนนั้นว่า spiral effect (หมุนเป็นขด) ซึ่งหมายถึงการที่มีเหตุการณ์ทำให้เกิดผลที่เลวร้าย และเมื่อผลที่เลวร้ายนั้นก็ทำให้เกิดเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งตามมา แล้วสะท้อนกลับมาทำให้ผลที่เลวร้ายนั้นกลับเลวร้ายมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับธุรกิจประกันภัยเหมือนกัน ถ้าเราจัดการความเสี่ยงกันได้ไม่ดีพอ

และหลังจากนั้นก็ได้หยิบยกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงจากแคลิฟอร์เนีย ว้าว ที่เป็นบทเรียนที่แสนแพงสำหรับคนไทยมาเปรียบเทียบกับธุรกิจชำระเบี้ยครั้งเดียวของทางฝั่งประกันชีวิตกันดู ว่าถ้าเจ๊งแล้วจะมีจ่ายหรือไม่ โดยสิ่งที่แตกต่างกันและเป็นคำถามระหว่างธุรกิจประกันภัยกับธุรกิจอื่นเวลาที่ “ได้รับเงินก้อนมาก่อนและมีพันธะที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าไปตามที่สัญญา” ก็คือ 1) ถ้าถอนก่อนแล้วจะมีเงินคืนหรือไม่ และ 2) ได้มีการตั้งเงินสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัยสำหรับลูกค้าหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วหลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial Science) นั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจอื่นๆ อย่างเช่นในกรณีนี้ด้วยก็ได้

พอมาในช่วงกลางปีนี้ ผมก็ได้มีโอกาสไปออกรายการคุยข้ามจอกับก้าวทันประกันภัย ซึ่งก็ได้พูดถึงอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย รวมถึงบทบาทหน้าที่ในการบริหารจัดการบริษัทประกันภัยกัน ไม่ว่าจะเป็นงานหน้าบ้าน และงานหลังบ้านให้ผู้อ่านได้พอเห็นภาพกว้างๆ ว่าในแต่ละวันนั้นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีหน้าที่หลักอะไรบ้าง โดยงานหน้าบ้าน เป็นงานที่เกี่ยวกับการออกแบบประกันภัยเพื่อหาความเป็นไปได้ว่า บริษัทจะสามารถขายสินค้าที่เป็นกระดาษแบบนี้ออกมาได้หรือไม่ ซึ่งเราเรียกแอคชัวรีที่ทำงานหน้าบ้านว่า “โปรดักส์แอคชัวรี (Product Actuary)” หรือ “มาร์เก็ตติ้งแอคชัวรี (Marketing Actuary)” กัน ส่วนงานหลังบ้าน คือการจัดการความเสี่ยง ดูแลงบการเงิน เพื่อมั่นใจในความสามารถในการชำระหนี้ได้ (solvency) ของบริษัทเอาไว้จนกว่าวันที่ต้องจ่ายเงินคืนให้กับลูกค้า

แล้วก็ข้ามมาถึงเรื่องการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นพื้นฐานของการจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยและของนักลงทุนทั่วไป โดยผมได้ใช้เวลารวบรวมงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเวลามากกว่า 2 ปี ในระหว่างนั้นก็ได้เอาเนื้อหาเหล่านี้ไปสอนการเงินระดับปริญญาโทให้กับนักศึกษาไปด้วย ทำให้สามารถปรับแต่งภาษาและวิธีการอธิบายจนให้ได้ภาษาที่เข้าใจง่าย เหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และในที่สุดก็ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมาผ่าน “ซีเอ็ด” เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ให้ติดตามอ่านกัน

แล้วในช่วงปลายปีก็เป็นเรื่องของการประกันภัยรายย่อยที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้พยายามผลักดันไมโครอินชัวรันส์ให้มีเบี้ยประกันภัยที่ต่ำมาก ซึ่งอยู่ที่ 200 บาทต่อปี และออกแบบมาพิเศษเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ผู้มีรายได้น้อย โดยคปภ. ช่วยสนับสนุน ในเรื่องการให้ออกใบรับรองการประกันภัยแทนกรมธรรม์ (โดยรายละเอียดให้ศึกษาในเวปไซต์บริษัท) และขยายช่องทางการจำหน่าย ที่สามารถเลือกซื้อได้ผ่านร้านสะดวกซื้อที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้านิติบุคคล

สำหรับแบบประกันไมโครอินชัวรันส์ของประเทศไทยที่กำลังจะคลอดออกมานั้น ในเบื้องต้น เบี้ยประกันจะอยู่ที่ 200 บาท มีความคุ้มครอง 3 ส่วนคือ
  1. เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเนื่องจากอุบัติเหตุวงเงิน 100,000 บาท
  2. เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะสาย ตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากถูกฆาตกรรม ลอบทำร้าย ร่างกาย และ/หรือจากขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครองวงเงิน 50,000 บาท
  3. ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจาก การเจ็บป่วย 10,000 บาท หากเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 120 วัน หลังเริ่มทำประกันจะไม่ได้เงินชดเชย โดยประชาชนต้องมีอายุ 20-60 ปี และสามารถซื้อความคุ้มครองได้ไม่เกินคนละ 2 กรมธรรม์


·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น