Disintermediation risk กับ Reinvestment risk เป็นความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาพร้อมกันกับ
Interest rate risk ของ ALM ด้วยทุกครั้ง
ซึ่งจะมากน้อยอย่างไรก็ต้องขึ้นกับสถานการณ์ของอัตราดอกเบี้ยในตลาดกับวิธีการจัดการ
Duration gap ของบริษัทในขณะนั้น
Disintermediation Risk เป็นความเสี่ยงที่ทำให้มูลค่าของสินทรัพย์ที่ถืออยู่มีค่าด้อยลงเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่เปลี่ยนแปลง
ยกตัวอย่างเช่น ลงทุน 1 ล้านบาทในพันธบัตรที่มีอัตราผลตอบแทน
5% เป็นเวลา 10 ปี
และเมื่อถือพันธบัตรไปได้ 3 ปีก็ปรากฏว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้นมาเป็น
10% จนทำให้พันธบัตรที่ถืออยู่นั้นด้อยค่าไปทันที
เพราะในเวลานั้นก็คงไม่มีใครอยากได้พันธบัตรที่ถืออยู่ (ที่มีอัตราผลตอบแทนแค่ 5%
ต่อปี) อยู่อีกต่อไป
Reinvestment risk เป็นความเสี่ยงที่เห็นได้ทั่วไป
โดยเป็นความเสี่ยงที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนได้ไม่เท่าเดิมเมื่อมีการนำเงินต้นมาลงทุนใหม่
ยกตัวอย่างเช่น หากเราจำเป็นต้องหาเงิน 1 ล้านบาทมาลงทุนโดยได้ดอกเบี้ย
5% เป็นเวลา 20 ปีเพื่อที่จะชำระหนี้สินให้ได้ในอีก
20 ปีข้างหน้า แต่ทว่าเรากลับลงทุน 1 ล้านบาทในพันธบัตรที่มีอัตราผลตอบแทน
5% เป็นเวลา 10 ปี
ซึ่งก็แน่นอนว่าในอีก 10 ปีให้หลังนั้น เราจะต้องนำเงินก้อนนี้มาลงทุนในพันธบัตรอีก
10 ปีใหม่อีกรอบ
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้อัตราดอกเบี้ยเท่าไรในขณะนั้น ถ้าได้ดอกเบี้ยมากกว่า 5%
ก็โชคดีไป แต่ถ้าดอกเบี้ยน้อยกว่า 5% นั้นก็จะไม่สามารถชำระหนี้ของในปีที่
20 ได้
กรณีที่ 1
ถ้า Duration ของสินทรัพย์มีค่าน้อยกว่า
Duration ของหนี้สิน แสดงว่าบริษัทกำลังเผชิญอยู่กับ Reinvestment
risk มากกว่า Disintermediation risk และเมื่ออัตราดอกเบี้ยเกิดลดลงมาก็จะทำให้บริษัทเกิดทั้ง
1) Reinvestment risk และ 2) Interest rate risk ขึ้นมาพร้อมๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีหนี้สินที่จะต้องชำระในอีก 20
ปีข้างหน้า แต่สินทรัพย์ที่ลงทุนกลับคืนเงินต้นมาเสียก่อน
บริษัทจึงต้องหาทางเอาเงินกลับไปลงทุนอีกทีในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมา (Reinvestment
risk) อีกทั้งการที่อัตราดอกเบี้ยลดลงมาก็ยังทำให้มูลค่าของหนี้สินมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของสินทรัพย์ด้วย
(Interest rate risk)
กรณีที่ 2
ถ้า Duration ของสินทรัพย์มีค่ามากกว่า
Duration ของหนี้สิน แสดงว่าบริษัทกำลังเผชิญอยู่กับ Disintermediation
risk มากกว่า Reinvestment risk
และเมื่ออัตราดอกเบี้ยเกิดเพิ่มขึ้นมาก็จะทำให้บริษัทเกิดทั้ง 1) Disintermediation
risk และ 2) Interest rate risk ขึ้นมาพร้อมๆ
กัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีสินทรัพย์ที่มีอายุการลงทุนนานถึง 20 ปี
แต่หนี้สินที่ต้องชำระนั้นคืออีก 10 ปีข้างหน้า บริษัทจึงต้องขายสินทรัพย์เพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ก่อนที่จะครบกำหนดสัญญาของสินทรัพย์ในปีที่
20 ซึ่งสินทรัพย์ที่ขายนั้นจะด้อยค่าในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น (Disintermediation
risk) อีกทั้งการที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาก็ยังทำให้มูลค่าของสินทรัพย์มีอัตราลดลงที่มากกว่ามูลค่าของหนี้สินที่ลดลงมาด้วย
(Interest rate risk)
บทสรุป
การจัดการ
ALM ในทางปฏิบัตินั้นจำเป็นจะต้องมองภาพให้ครบทั้งวงจร
เพราะการที่ไปจัดการแก้ปัญหาโดยเน้นที่ ALM เพียงอย่างเดียวแต่ไม่สนใจองค์ประกอบอื่นนั้นจะกลับกลายเป็นทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ
ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เราสูญเสียโอกาสทางธุรกิจหรือการมองข้ามความเสี่ยงด้านอื่นๆ
ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น Operational risk, Reputational risk, Model
risk, Disintermediation risk, Reinvestment Risk และอื่นๆ เป็นต้น
ในทางกลับกัน
บริษัทจำเป็นจะต้องทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของ ALM และเข้าใจถึงทิศทางการจัดการที่บริษัทจะนำกลยุทธ์เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้
ซึ่งในบางครั้งฝ่ายลงทุนเองที่มีหน้าที่ลงทุนให้บริษัทได้ผลตอบแทนสูงสุดอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างในการทำ
ALM อยู่บ้าง ดังนั้น นโยบายการจัดการ Duration gap ของบริษัทจึงถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการจัดการความเสี่ยงขององค์กรที่มองข้ามไม่ได้
ฉะนั้น
ทีมงานบริหารที่ดีจะไม่ได้พิจารณาเพียงผลตอบแทนของสิ่งที่บริษัทลงทุนว่าได้เป็นเท่าไร
หากแต่ต้องเอาไปประเมินกับความเสี่ยงที่บริษัทจะสามารถรับได้ เช่น
การทำความเข้าใจว่าขณะนี้บริษัทมี Duration ของสินทรัพย์เท่าไร
มากหรือน้อยกว่า Duration ของหนี้สินแค่ไหน
แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายในตลาดขึ้น
บริษัทมีการคิดแผนรองรับไว้ในสถานการณ์นั้นหรือไม่ การทำ ALM ที่ดีนั้นจึงจำเป็นต้องตอบโจทย์เหล่านี้ให้ได้
สามารถหาซื้อหนังสือ
“ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ
“ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ
·
[ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน
(ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น