ถ้ามองการจัดการ
ALM ในอีกมุมหนึ่ง ในทางปฏิบัติเราจะสามารถจำแนกออกเป็น
1.
การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินแบบจุลภาค (Micro ALM)
2.
การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินแบบมหภาค (Macro ALM)
การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินแบบจุลภาค (Micro ALM)
การจัดการ ALM เชิงรุกแบบจุลภาค
(Micro ALM) คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงในการลงทุนของสินทรัพย์ (Individual
investment) หรือการขายแบบประกันภัย (Individual insurance
product / fund) เป็นตัวๆไป ซึ่งบริษัทจะจัดการกับความเสี่ยงแต่ละประเภทเป็นตัวๆไปเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate
Risk), ความเสี่ยงจากความสามารถในการได้เงินคืน (Credit
Risk), ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (Foreign
Exchange) หรือความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้น ( Equity) เป็นต้น
และโดยทั่วไปแล้วการจัดการความเสี่ยงแบบนี้จะครอบคลุมถึงความเสี่ยงจากการประกันภัย
(Insurance risk) ซึ่งเป็นฝั่งที่ทำให้เกิดความผันผวนทางด้านหนี้สิน
(Liability) อีกด้วย
ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการจัดการ ALM เชิงรุกแบบจุลภาค
(Micro ALM) คือการจำกัดความผันผวนของสินทรัพย์ (Asset)
และหนี้สิน (Liability) จากความเสี่ยง
โดยการจับคู่ความเสี่ยงจากการลงทุนให้เข้ากับความเสี่ยงจากการประกันภัย (Insurance
Risk) ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระดับของการการันตี (Guarantee
Level), การนำเงินกลับมาลงทุนใหม่ (Reinvestment), การจำกัดความผันผวนจากยูนิตลิงค์ (Unit linked) และ ความเสี่ยงจากการยกเลิกกรมธรรม์
(Surrender risk) เป็นต้น โดยบริษัทอาจจะทำการซื้อขายเครื่องมือที่ใช้จัดการความเสี่ยงเป็นรายวันเพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากตลาดที่ขึ้นและลงอยู่ตลอดเวลา
การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินแบบมหภาค (Macro ALM)
การจัดการ ALM เชิงรุกแบบมหภาค
(Macro ALM) คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงของเงินทุนในภาพรวมซึ่งจะมองแต่ละธุรกิจของบริษัทในเครือพร้อมๆ
กัน (across all business units) โดยอาจจะใช้วิธีการโอนถ่ายเงินทุนหรือระดมทุนในรูปแบบต่างๆ
เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ในการจัดการ ALM อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
วีธีการเหล่านี้จะรวมไปถึงการจัดการเงินทุนของกองทุนต่างๆ ในบริษัท
ไม่ว่าจะเป็นกองทุนแบบมีส่วนร่วมในเงินปันผล, กองทุนแบบไม่มีส่วนร่วมในเงินปันผล,
กองทุนสำหรับยูนิตลิงค์ หรือกองทุนสำหรับยูนิเวอร์ซัลไลฟ์ เป็นต้น
วัตถุประสงค์ของการจัดการ ALM เชิงรุกแบบมหภาค
(Macro ALM)
คือการจัดการเงินทุนให้อยู่ในความเสี่ยงที่เหมาะสมรวมถึงการใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งจะต้องมีการตั้งประมาณการว่าความเสี่ยงในสินทรัพย์แต่ละประเภทนั้นควรเป็นเท่าไร
และสามารถถ่ายโอนกันได้หรือไม่ จากนั้นก็ต้องคำนึงถึงการกระจายความเสี่ยงอีกด้วย
ประโยชน์ของ
ALM
การวิเคราะห์สิ่งที่กล่าวมาจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์สิ่งต่างๆ
เพิ่มเติมได้ดังต่อไปนี้
1.
โครงสร้างของเงินทุน (Capital structure) ซึ่งถ้าผู้บริหารเข้าใจแหล่งที่มาและความเสี่ยงของเงินทุนแล้วก็จะสามารถคิดกลยุทธ์ในการจัดการบริหารเงินทุน
(Capital management strategies) ให้กับบริษัทอย่างเหมาะสมได้
ไม่ว่าจะเป็นเชื่อมต่อความสามารถในการชำระหนี้
(Solvency) ให้เข้ากับ Capital Adequacy Ratio (CAR) จาก Risk Based Capital ซึ่งมูลค่าของเงินทุนที่เหลืออยู่ก็มีผลกับการกำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นด้วย
โดยถ้าบริษัทมีเงินทุนที่มากพอก็อาจจะตัดสินใจเอาเงินส่วนหนึ่งออกมาจ่ายเป็นเงินปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้นได้
แต่ในทางกลับกัน บริษัทจะต้องมีการระดมทุน (capital raising) จากผู้ถือหุ้นเช่นกันถ้าบริษัทค้นพบว่ามีเงินทุนไม่เพียงพอ หรือมี Capital
Adequacy Ratio ที่ต่ำเกินไป
2.
มูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทในอนาคตภายใต้สภาวะตลาดต่างๆ
เพื่อที่จะเตรียมแผนรับกับการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม
โดยจะรวมถึงข้อกำหนดทางด้านกฎหมาย (Local regulations) ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจที่จะเติบโตขึ้นในอนาคตด้วย
ซึ่งในบางประเทศจะให้ส่งรายงานผลประกอบการในอนาคตในรูปแบบของ Dynamic
Solvency Testing เพื่อที่จะจำลองสถานการณ์ที่เลวร้ายในอนาคตและดูว่าบริษัทจะมีสินทรัพย์และหนี้สินอย่างไรในอีก
5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้า เป็นต้น
3.
การทำประกันภัยต่อเพื่อผลประโยชน์ทางการเงิน (Financial
reinsurance) และการโยกย้ายเงินทุนของบริษัทในเครือเพื่อจัดการความเสี่ยงของภาพรวมในระดับภูมิภาค
(Group level) โดยในที่นี้จะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนจากการลงทุนและผลประโยชน์ทางด้านภาษีของแต่ละประเทศด้วย
สามารถหาซื้อหนังสือ
“ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ
“ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ
·
[ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน
(ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย
และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น