คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย
(ไมโครอินชัวรันส์) ตอน ประเทศรอบข้างในแถบเอเชีย
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า Insurance หรือการประกันภัยนั้นเป็นการบริหารความเสี่ยงทางการเงินที่เข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่ง
ซึ่งจะเป็นการโอนความเสี่ยงของผู้ซื้อประกัน (ในภาษาประกันจะเรียกว่า
“ผู้เอาประกันภัย”) ไปสู่ผู้ขายประกัน (ซึ่งในที่นี้ก็คือบริษัทประกันภัย) โดยเมื่อเกิดความเสียหายทางการเงินเกิดขึ้น
(ไม่ว่าจะเป็นรถชน มีคนตาย หรือเจ็บไข้ได้ป่วย)
บริษัทประกันภัยก็จะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา
ทั้งนี้ก็เพื่อชดเชยความสูญเสียทางการเงินของผู้เอาประกันภัยนั่นเอง
ประเทศในแถบเอเชียจึงมีการผลักดัน
“การประกันภัยรายย่อย” นี้กันอย่างมาก เพราะโดยทั่วไปแล้ว
ภาครัฐจะตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันภัยของประชาชนในประเทศตัวเองเป็นอย่างดี
เพื่อให้สวัสดิการทางสังคมของประเทศเกิดเสถียรภาพและแบ่งเบาภาระของภาครัฐในอนาคต
ดังจะเห็นได้ว่าประเทศฟิลิปปินส์มีประชาชนในระดับรากหญ้าและมีกำลังในการซื้อประกันภัยไม่ถึง
โดยคนในประเทศฟิลิปปินส์มีการจ่ายเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยแค่ 600 บาทต่อคน
เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่มีเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยประมาณ 5,000 บาทต่อคน
จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่าหน่วยงานภาครัฐของประเทศฟิลิปปินส์ต้องหันมาผลักดันประกันภัยรายย่อยกันอย่างจริงจัง
เพื่อให้ประชากรในประเทศมีการประกันภัยกันอย่างทั่วถึง
ส่วนประเทศอินโดนีเซียก็ไม่แพ้กัน
เนื่องจากคนในประเทศอินโดนีเซียมีการจ่ายเบี้ยประกันภัยเฉลี่ย 1,200 บาทต่อคน
จึงทำให้ตลาดประกันภัยรายย่อยเป็นอะไรที่น่าจับตามองอยู่ไม่น้อยสำหรับประเทศนี้
และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นในอนาคต
ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะผลักดันให้โตไปข้างหน้าอย่างแน่นอน
และประเทศที่มองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือประเทศอินเดีย
ที่มีการพัฒนารูปแบบประกันภัยรายย่อยไปไกล โดยในปี 2002 ทางหน่วยงานภาครัฐในประเทศอินเดียได้มีการปฏิวัติประกันภัยรายย่อย
โดยให้กลายเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายสำหรับบริษัทประกันภัยไปในแง่ที่ว่าบริษัทประกันภัยในแต่ละแห่งจะต้องมีสัดส่วนของการขายแบบประกันภัยรายย่อยไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดกฎหมาย
ซึ่งก็ส่งผลให้ตลาดประกันภัยรายย่อยเติบโตขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด
แต่ก็ยังผลให้ภาพรวมของธุรกิจประกันภัยได้รับผลกระทบไปบ้างจากการจำกัดโควตาแบบนี้
นอกเหนือไปจากวิธีการบังคับภาคธุรกิจให้ขายแบบประกันภัยรายย่อยแล้ว
การให้การสนับสนุนเพื่อขยายช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นก็มีให้เห็นอยู่บ่อย เช่น
การที่บังคับพ่วงแบบประกันภัยรายย่อยไปกับสินค้าของเกษตรกรไปเลย
ทำให้เกษตรกรหรือคนที่ซื้อสินค้าของเกษตรกรต้องซื้อประกันภัยรายย่อยไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น การขายประกันภัยรายย่อยพ่วงปุ๋ย เป็นต้น
หรือการอาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วย
ไม่ว่าจะเป็นการซื้อประกันภัยรายย่อยผ่านทางโทรศัพท์ โดยโทรไปที่ call
center และให้ตัดเงินค่าเบี้ยประกันภัยผ่าน sim
card เป็นต้น
และบางครั้งก็สามารถเอาไปพ่วงกับค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าไปรษณีย์
เพื่อความสะดวกในการให้ประชาชนเข้าไปซื้อได้ง่ายก็มี
การประกันภัยรายย่อยของประเทศไทยนั้นไม่ได้มีการบังคับภาคธุรกิจให้ขาย
แต่เป็นไปด้วยความสมัครใจ โดยทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
(คปภ.)
ได้สนับสนุนและส่งเสริมภาคธุรกิจในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น
การประชาสัมพันธ์ตัวสินค้าแบบประกันภัยให้กับภาคธุรกิจ
การออกใบรับรองการประกันภัยแทนที่จะต้องพิมพ์กรมธรรม์ทั้งเล่ม การจัดหาช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติมตามร้านสะดวกซื้อหรือเคาน์เตอร์เซอร์วิสตามห้างทั่วไป
รวมไปถึงการยกเว้นการสอบใบอนุญาตการขายแบบประกันภัยรายย่อย เป็นต้น
นวัตกรรมสำหรับแบบประกันภัยรายย่อยนั้นมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้แบบประกันรายย่อยนั้นประสบความสำเร็จได้
ปัจจัยหลักที่เหมือนกันทุกประเทศก็คือต้องทำให้มีปริมาณยอดขายที่เยอะเพื่อจะได้มีเบี้ยประกันภัยที่ถูก
ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีวิธีการพ่วงกับวัฒนธรรมหรือโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศของตนเองมีกัน
ส่วนสำหรับประเทศไทยนั้นการขายประกันภัยรายย่อยพร้อมสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น
อาจจะเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ทำให้ประเทศอื่นต้องตกตะลึงก็เป็นได้
ไม่ว่าจะเป็นวิธีการที่พ่วงกับการไปรษณีย์ การไฟฟ้า การประปา Call Center
หรือพ่วงกับปุ๋ย ก็คงจะชิดซ้าย
เพราะงานนี้หวยคงลอยลำและอยู่คู่กับคนไทยมาอย่างแนบแน่นอยู่แล้ว จริงไหมครับ
·
[ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่)
– ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ
รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]