วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วย


คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วย 

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยเป็นอะไรที่อยู่คู่กับการทำประกันภัยมาตั้งแต่แรก ถึงแม้ว่าสิ่งที่จับต้องได้ของธุรกิจประกันภัยจะมีแค่กระดาษกับปากกา แต่กว่าจะออกมาเป็นกรมธรรม์ประกันภัยได้ แน่นอนว่าต้องมีอะไรมากกว่านั้น โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องทำเพื่อออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ลูกค้าแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณารับประกันภัย การออกกรมธรรม์ประกันภัยเป็นรูปเล่ม หรืออากรแสตมป์ เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ค่าใช้จ่ายในการบริหารกรมธรรม์นั้นก็มีไม่น้อยเช่นกัน เพราะว่าค่าใช้จ่ายในการประเมินค่าสินไหม ออกจดหมายเพื่อติดต่อลูกค้า การบริหารการประกันภัยต่อ การบริหารความเสี่ยงของบริษัท หรือแม้กระทั่งรายงานทางคณิตศาสตร์ประกันภัย ก็ล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่ทั้งสิ้น

การที่ประกันภัยรายย่อยถูกออกแบบมาให้มีเบี้ยประกันภัยที่ถูกนั้น จะมีผลทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่า แบบประกันภัยทั่วไปมีเบี้ยประกันภัยเฉลี่ย 10,000 บาทในแต่ละฉบับ บริษัทประกันภัยมีค่าใช้จ่าย 1,000 บาทในการออกกรมธรรม์ประกันภัยมาแต่ละฉบับ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยในการออกกรมธรรม์เท่ากับ 10%

ในกรณีนี้ ถ้าบริษัทออกแบบให้เบี้ยประกันภัยมีค่าเท่ากับ 5,000 บาทในแต่ละฉบับ แต่บริษัทประกันภัยยังคงมีค่าใช้จ่าย 1,000 บาทในการออกกรมธรรม์ประกันภัยมาแต่ละฉบับ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยในการออกกรมธรรม์เท่ากับ 20% ไปแล้ว
นั่นก็หมายความว่า ถ้าบริษัทประกันภัยมีค่าใช้จ่าย 1,000 บาทในการออกกรมธรรม์ประกันภัยมาแต่ละฉบับ  เบี้ยประกันภัยที่จะต้องเก็บนั้นควรมีค่าอย่างน้อย 1,000 บาทเพื่อเอาไปจ่ายค่าใช้จ่ายต่อหน่วยเข้าไปแล้ว และนี่ยังไม่รวมค่าต้นทุนของประกันภัย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าใช้จ่ายของช่องทางการจัดจำหน่าย

ดังนั้น เพื่อให้การประกันภัยรายย่อยเกิดขึ้นมาได้ สิ่งที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะต้องทำก็คือ
1)    ตัดขั้นตอนการดำเนินงานที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งนั่นก็มีผลทำให้ลักษณะบางแบบของการทำประกันภัยถูกจำกัดเป็นเงาตามตัว และสิ่งที่จะตัดออกไปก่อนเพื่อนก็คือ ค่าใช้จ่ายในการพิจารณารับประกันภัย ซึ่งนั่นก็หมายความว่า บริษัทจะไม่สามารถขายประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพได้ เพราะจะทำให้รับความเสี่ยงเข้ามามากเกินไปและทำให้ราคาเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นมาอีกเป็นเท่าตัว
2)    ออกแบบเพื่อให้ปริมาณยอดขายมีมากขึ้น จนทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง ยกตัวอย่างเช่น ในการออกแบบประกันภัยหนึ่งตัว จะต้องวางระบบโดยใช้ค่าใช้จ่ายถึง 1 ล้านบาท ถ้าบริษัทขายได้ 10,000 กรมธรรม์ ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยก็จะเป็น 100 บาทต่อกรมธรรม์ แต่ถ้าบริษัทสามารถขายได้ถึง 1 ล้านกรมธรรม์ ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยก็จะกลายเป็น 1 บาทต่อกรมธรรม์เท่านั้น (ในภาษาของนักบริหารจะเรียกว่ามี Economies of Scale)

แบบประกันภัยที่เน้นปริมาณยอดขายนั้นจึงจะต้องถูกออกแบบให้เข้าใจง่ายและตัดขั้นตอนที่ซับซ้อนออกไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าใช้จ่ายต่อหน่วยที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้

การประกันภัยรายย่อย หรือไมโครอินชัวรันส์นี้จะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นกับยอดขายที่มีมากพอที่จะทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยให้น้อยที่สุดได้ ซึ่งก็หวังว่าคอลัมน์นี้จะช่วยโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จอีกทางหนึ่งบ้างไม่มากก็น้อย

ปัจจุบันนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้พยายามผลักดันไมโครอินชัวรันส์ให้มีเบี้ยประกันภัยต่ำมาก ซึ่งอยู่ที่ 200 บาทต่อปี และออกแบบมาพิเศษเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ผู้มีรายได้น้อย โดยคปภ. ช่วยสนับสนุน ในเรื่องการให้ออกใบรับรองการประกันภัยแทนกรมธรรม์ (โดยรายละเอียดให้ศึกษาในเวปไซต์บริษัท) และขยายช่องทางการจำหน่าย ที่สามารถเลือกซื้อได้ผ่านร้านสะดวกซื้อที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้านิติบุคคล อาทิ Counterservice ที่อยู่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขา เคาน์เตอร์เทสโก้โลตัส โบรกเกอร์ประกันภัยในห้างเทสโก้โลตัส เคาน์เตอร์เซนทรัลสมาร์ทอินชัวร์ในห้างเซนทรัล โรบินสัน ท็อปส์


 ·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น