โดย ไพเราะ เลิศวิราม
Positioning Magazine พฤษภาคม 2551
ในขณะที่ใครหลายคน คณิตศาสตร์ คือ ยาขม แต่สำหรับ “พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน” เขาเปรียบตัวเลขดังตัวโน้ต ได้สร้างโอกาสในการเข้าสู่อาชีพของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือ แอคชัวรรี่ ของเขาให้เป็นจริง อาชีพที่เปรียบดังมันสมองของบริษัทประกัน เขาจะเป็น 1 ใน 4 ของคนไทยที่ได้คุณวุฒินี้ เขายังเป็นคนไทยเพียงคนเดียวในทีม “แอคชัวรี่” ของบริษัท AIG บริษัทประจำฮ่องกง ออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยนับ 100 ประเภท ป้อนให้ประเทศต่างกว่า 10 ประเทศ
หลายคนอาจมีชีวิตการที่เกิดจากความบังเอิญ หรือขึ้นอยู่กับโอกาสที่เข้ามา แต่สำหรับ “พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน” ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัย บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด หนุ่มวัย 30 ปีผู้นี้ เลือกที่จะ “ลิขิต” เส้นทางชีวิตของการทำงานด้วยตัวเอง
ความมุ่งมั่น และขยันหมั่นเพียรได้พลิกจากอาชีพวิศวกร อุตสาหกรรม ก้าวเข้าสู่อาชีพ “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย” หรือ Actuary ที่เปรียบเป็นกุนซือ ของบริษัทประกันภัย ต้องประเมินเรื่องราวในอนาคตออกมาเป็นตัวเลขปัจจุบัน
“ถ้าซีอีโอเปรียบเหมือนเล่าปี่แล้ว แอคชัวรี่ ก็เปรียบเหมือนขงเบ้ง อาชีพนี้เปรียบเหมือนมันสมองของบริษัท เพราะต้องประเมินเรื่องราวในอนาคตว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นให้ออกมาเป็นตัวเลขปัจจุบัน และต้องมี Business Sense พอพร้อมๆ กัน ต้องใฝ่รู้ และหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ”
การประเมินจึงต้องถูกต้องแม่นยำมากที่สุด จึงต้องมองเกมให้ขาด เพราะอาจหมายถึงข้อมูลตัวเลขที่ทำออกมาบิดเบือนได้ และการขาดทุนของบริษัท เช่น การกำหนดราคาแบบประกันชีวิต หรือประกันภัย
เขายกตัวอย่าง การออกแบผลิตภัณฑ์ ประกันแบบคุ้มครอง 20 ปี บริษัทต้องคำนวณว่าอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีคนตายเท่าไหร่ มีคนอยู่รอดเท่าไหร่ที่ต้องคืนผลประโยชน์ ดังนั้นต้องมีการตั้งราคา จ่ายผลประโยชน์ให้ลูกค้า ตัวแทนขาย และต้องประเมินดอกเบี้ยที่บริษัทจะเอาไปลงทุน ค่าใช้จ่ายของบริษัทสามารถควบคุมได้มากแค่ไหน
ใช่แต่เพียงจะรู้เรื่องหลังบ้าน แอคชัวรีที่ดี ต้องเข้าใจการดำเนินงานของธุรกิจหลายๆ ฝ่าย ต้องทำงานร่วมกับฝ่ายการตลาด และฝ่ายขาย เพื่อทำความเข้าใจกับจุดขายและมุมมองของลูกค้าก่อนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
“เรื่องไหนที่ต้องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ของบริษัท จะมีแอคชัวรีเข้ามายุ่งด้วยเสมอ การตั้งราคาสินค้า การกำหนดผลประโยชน์ของตัวแทน การจัดการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน (Risk Management) โอกาสการเป็น CFO จึงเป็นไปได้สูงกว่าสายอาชีพอื่นๆ”
อาชีพนี้ จึงเป็นที่ต้องการของบริษัทประกันภัย และกำลังขาดแคลนทั้งในสหรัฐอเมริกาและจีน ติดอยู่ในท็อปไฟว์อาชีพที่คนอเมริกันอย่างทำมากที่สุด ทว่าการจะอยู่ในอาชีพก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องสอบผ่านคุณวุฒิ ที่เรียกว่า Fellowship of Society of Actuarie หรือ FSA เป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก ซึ่งในไทยมีเพียงแค่ 4 คนที่สอบได้ และพิเชฐ เป็นหนึ่งในนั้น
กว่าจะสอบผ่านได้คุณวุฒิ FSA ต้องเรียกว่า ยากลำบากมาก ไม่มีการเรียนการสอน ต้องศึกษาด้วยตัวเอง จากนั้นจึงสอบพร้อมกันทั่วโลก ซึ่งเปิดปีละ 2 ครั้ง เฉลี่ยแล้วแต่ละคนใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี และสำหรับพิเชฐ เขาใช้เวลาเพียงแค่ 4 ปี
พิเชฐ เล่าว่า ความยากจะอยู่ที่ ต้องมองเกมทุกอย่างให้ออก ต้องคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคต เช่น เศรษฐศาสตร์จุลภาค มหภาค ดอกเบี้ย สถิติ แคลคูลัส งบการเงิน บัญชี กฎหมาย
“การสอบแบ่งเป็น 3 ขั้น คนไทยที่สอบถึงขั้นสูงสุดมีน้อยมาก ตอนนั้นมีแค่ 3 คน เป็นอาชีพที่วัดความสามารถ และความมุ่งมั่น ผมเลยทุ่มเวลาอ่านหนังสืออย่างหนัก วันหยุดก็อ่านหนังสือ ไม่ไปเที่ยวที่ไหน จากที่ใช้เวลาเป็น 7-8 ปี ก็เลยใช้เวลาแค่ 4 ปี
เนื่องจากอาชีพนี้ยังมีน้อยมากในไทย ส่วนใหญ่ต้องอิมพอร์ตเข้ามา เป็นมาเลเซีย ฮ่องกง บริษัท AIA ที่เขาทำงานจึงสนับสนุนให้ทั้งตำรา และผลตอบแทนกับพนักงานที่เข้าสอบ
หลังจากพิเชฐสอบผ่านได้เป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ได้ใบคุณวุฒิ FSA มาในวัยเพียงแค่ 25 ปี เขาถูกเสนอให้ไปเรียนรู้งานเพิ่มเติมที่บริษัทแม่ คือ AIG ที่ฮ่องกง เริ่มจากการฝึกงาน จากนั้นได้เป็นพนักงานประจำ ในตำแหน่งแอคชัวรี โดยเป็นคนไทย และสัญชาติไทย คนเดียวที่ทำงานในตำแหน่งนี้
4 ปีที่เขาทำงานในฮ่องกง เป็นช่วงเวลาที่เขาได้เรียนรู้อย่างเต็มที่กับการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ๆ นับ 100 ประเภท ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ นำไปใช้ประเทศทั่วโลกนับ 10 ประเทศ มาเลเซีย ดูไบ เกาหลี และประเทศในตะวันออกกลาง
ผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เขาออกแบบและภูมิใจมากที่สุดการออกแบบ Universal Life ขายในสิงคโปร์ ซึ่งออกแบบโดยยึดความต้องการลูกค้าเป็นหลัก
เป้าหมายของพิเชฐ คือ อยากทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยของไทยเติบโต และทันสมัยมากขึ้น
“หลายผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบ เมืองไทยยังไม่มี ของเราตามหลังประเทศอื่นๆ นับ 10 ปี สินค้าประกันในไทย ยังเป็นสินค้าเพื่อขาย ไม่ใช่สินค้าเพื่อซื้อ เมื่อเป็นสินค้าเพื่อขาย ต้นทุนของผลิตภัณฑ์ต้องสูงกว่าเป็นธรรมดา เมื่อเทียบประเทศในแถบเดียวกัน เขามีเครื่องมือในการคำนวณเยอะมาก ทำให้มีสินค้าประกันมีมากมาย”
อาชีพนี้ยังไปได้อีกไกล หลายประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา และจีน ความต้องการคนในอาชีพนี้มีมาก รายได้ของอาชีพนี้จึงดีมาก
“ในฮ่องกงมีแอคชัวรีประมาณ 100 คน มีรายได้ประมาณ 50,000-60,000 เหรียญฮ่องกง เป็นอาชีพที่รายได้ดี และมีแคเรียพาร์ต เป็นหนึ่งในอาชีพยอดนิยม อย่างในสหรัฐอเมริการายได้ถึง 1 แสนเหรียญต่อปี หรืออย่างจีนก็กำลังขาดแคลนอย่างหนัก”
แม้ว่าทุกวันนี้ พิเชฐ จะต้องทำงานในตำแหน่งที่เป็นมันสมองของบริษัท ต้องความรับผิดชอบสูง ซึ่งมีทั้งความเครียดและกดดันสูง และยังต้องเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานที่ฮ่องกง ที่คิดเร็วทำเร็ว แข่งขันสูง เน้นที่ตัวงาน แต่เขาก็มีความสุขกับการทำงาน กับการคิดคำนวณ ที่ต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา
และหากใครจะเข้าสู่อาชีพนี้ ข้อแนะนำสำหรับเขา นอกจากความมุ่งมั่น ขยัน และรอบรู้แล้ว สิ่งที่จะขาดไม่ได้ คือ ต้องรักตัวเลข
“บางคนอาจจะมองว่าแอคชัวรีจะต้องหมกหมุ่นอยู่กับการคั้นให้ได้ตัวเลขออกมา แต่สำหรับ ผมจะเน้นบทบาทของผมในการตีความตัวเลขให้ออกมาเป็นเรื่องราวซะมากกว่า ผมชอบเล่นดนตรีและแต่งเพลง จึงมองว่างานของผมก็เหมือนกับแปลงตัวเลขให้เป็นตัวโน้ตที่พร้อมจะบรรเลงท่วงทำนองให้คนรอบข้างได้ฟังและรู้สึกสบายใจที่ได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น”
น่าสนใจมากครับ ขอสอบถามคุณพิเชษ หน่อยครับว่า การเรียนเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาได้ดีแค่ไหนครับ ถ้าหากว่า ผมเข้าเรียนคณะของจุฬาที่ไม่ใช่อินเตอร์ กับของมหิดลที่เป็นอินเตอร์ ผมเลยอยากสอบถามว่าจะต้องทำอย่างไรครับ
ตอบลบขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำแนะนำครับ
himakopolis@gmail.com