ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ปีพ.ศ. 2551
ความเดิมจากตอนที่แล้ว ?การศึกษาวันนี้ ได้รับสายตรงจากฮ่องกง พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน ผู้จัดการฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัย บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล แอสชัวรันส์ ประจำสำนักงานใหญ่ ประเทศฮ่องกง ถ่ายทอดเรื่องราววิชาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย อาชีพที่ไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ และเขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยมีฝีมือไม่แพ้ชาติอื่น
พิเชฐ หรือทอมมี่ ตอบคำถามพร้อมให้คำแนะนำหลายเรื่อง ทั้งเรื่องงาน รายได้ และการศึกษา บอกได้คำเดียว รู้ไว้ได้เปรียบ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่หรือคุณลูก ที่มีความคิดอยากไปนอก ฮ่องกง เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
"ทอมมี่" อยู่ฮ่องกงมาเกือบ 5 ปี ทั้งที่อยากอยู่แค่ 2 ปี เป็นเพราะเขารู้ว่ามีอะไรที่น่าเรียนรู้ที่นั่นอีกมากมาย และอายุน้อย ๆ อย่างเขาก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ไม่เหมือนบางประเทศที่ยึดระบบอาวุโส
ที่ทำงานของผมอยู่หว่างไจ๋กับเซ็นทรัล ประมาณสีลมกับสาทรครับ ไป ๆ มา ๆ อยู่สองออฟฟิศ แล้วแต่จังหวะและเนื้องานในช่วงนั้น เทคโนโลยีสมัยนี้ทำให้คอมพิวเตอร์เชื่อมโยงกันได้หมด คิดว่าคงจะกลับเมืองไทยสักวัน พ่อแม่และพี่น้องก็อยู่เมืองไทยกันหมด อีกอย่างผมเห็นว่าอุตสาหกรรมการประกันภัยในประเทศยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก เพราะยังขาดบุคลากรที่มีความเข้าใจในธุรกิจนี้อย่างถ่องแท้
ฮ่องกงเป็นอย่างที่คิดไว้หรือเปล่า
แรก ๆ นึกว่าคนฮ่องกงจะพูดภาษาอังกฤษได้ปร๋อ ก็ตั้งความหวังอยู่เหมือนกันว่าคงจะได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษได้ทัดเทียมมาตรฐานสากลของโลก แต่ปรากฏว่าภาษาอังกฤษของคนท้องถิ่นทั่วไปไม่ได้ดีอย่างที่คิด แต่สำหรับคนที่ทำงานในระดับภูมิภาคที่เดียวกับผม ส่วนใหญ่จะโตมาจากเมืองนอก เช่น ออสเตรเลีย อเมริกา อังกฤษ หรือแคนาดา พวกนี้ภาษาเขาจะดี ทำให้เราฝึกภาษาอังกฤษได้เวลาอยู่ที่ทำงาน แต่พอออกนอกออฟฟิศปุ๊บ คนจะคาดหวังให้เราพูดภาษากวางตุ้ง ก็เริ่มมั่ว ๆ พอเอาตัวรอดได้ครับ ถ้าไม่รู้ภาษากวางตุ้งแล้วจะลำบากไหม ตอบได้เลยว่าไม่ลำบาก ผมก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นอยู่อย่างเดียว แต่ของที่โปรโมชั่นหรือมีส่วนลดจะเขียนเป็นภาษาจีนซะส่วนใหญ่ หรือร้านที่เด็กเสิร์ฟพูดภาษาอังกฤษได้ก็มีราคาแพงกว่าหน่อยเท่านั้นเอง
ส่วนเรื่องงาน โหดสมชื่อครับ คนฮ่องกงเป็นพวกบ้าทำงานมากที่สุดในโลก (หัวเราะ) สำหรับผมแล้วคนขยันทำงานกับคนบ้างานต่างกันตรงที่คนบ้างานจะทำงานวนอยู่กับที่ ทำแบบไม่รู้วัตถุประสงค์ หรือไร้จุดหมาย สักแต่ได้ทำ ส่วนคนขยันทำงานจะรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ แม้ว่าจะทำงานเยอะ แต่ก็พอบริหารเวลาไปทำอย่างอื่นได้บ้าง เช่น ฟังเพลง หรือเรียนหนังสือเพิ่มเติม การทำงานในฮ่องกงแล้วก็เรียนต่อไปด้วย จึงต้องอาศัยวิธีบริหารเวลาและบริหารความสุขให้ลงตัว
ไปแรก ๆ ประทับใจอะไร
การตรงต่อเวลา และรถไฟฟ้า ถ้ารถไม่ติด เราจะมีเวลาทำอะไรในแต่ละวันมากขึ้นถึง 20 30% ไปไหนมาไหนก็สะดวก ไม่ต้องมานั่งเครียดว่าจะไปสายหรือต้องเผื่อเวลาเอาไว้เยอะ ๆ แล้วก็ประทับใจคนในสำนักภูมิภาค มีทัศนคติในการทำงานดี วุฒิภาวะสูง ส่วนเรื่องช็อปปิ้งกับของกิน มีให้เลือกซื้อเลือกกินจนน้ำตาไหลพราก (อาจเพราะกลัวไม่มีตังค์จ่าย)
ค่าครองชีพสูงไหม
ค่าครองชีพที่นี่ค่อนข้างแพงอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะค่าเช่าหรือพื้นที่บริเวณเกาะฮ่องกง ถ้าอยู่แบบห้องสตูดิโอ 100 150 ตารางฟุต (เดินได้ 3 ก้าวจากกำแพงถึงประตู) เดือนละ 3,000-4,000 เหรียญ (เกือบ 20,000 บาท) ค่าเช่าบ้านขนาดเท่าคอนโดในเมืองไทยอาจอยู่ที่ราว ๆ 20,000 เหรียญต่อเดือน สำหรับผมแล้วผมเลือกอยู่ในพื้นที่เกาะฮ่องกงเพราะใกล้ที่ทำงานแล้วก็มีของกินให้เลือกเยอะ ประมาณ 750 ตารางฟุต จะได้ไม่รู้สึกอึดอัดไปครับ แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาค่าเช่าบ้านสูงขึ้นมากจนน่าตกใจ ส่วนอาหารการกินแต่ละมื้อ ถ้ากินข้าวมันไก่บ้านเราธรรมดาให้ตีไว้ 30 เหรียญฮ่องกง (เกือบ 150 สิบบาท) ที่ลืมไม่ได้คือภาษี ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ครับ สุดท้ายห้ามลืมเรื่องค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับคนที่บ้านด้วย ค่าโทรศัพท์จากฮ่องกงกลับไทย แพงกว่าจากอเมริกาโทร.กลับไทยถึง 10 เท่า คงเป็นเพราะที่อเมริกาหรือชาติอื่นมีคนไทยเยอะกว่ามั้งครับ (หัวเราะ) แต่การมาอยู่ฮ่องกงแล้วใช้ชีวิตอยู่กับคนต่างชาติแทนที่จะไปเกาะกลุ่มคนไทยด้วยกันเองก็ไม่เลวเหมือนกัน แต่ยอมรับนะครับว่ามีเหงาบ้างเหมือนกัน แต่ก็รู้สึกสนุกด้วยปน ๆ กันไป
พ่อแม่ควรส่งลูกไปเรียนฮ่องกงตอนวัยไหน
ไปตอนจบมัธยมปลายจะปรับตัวง่าย ทำให้ได้ภาษาที่ดีกลับมา ถ้าไม่มัวแต่คุยภาษาไทยอยู่ที่เมืองนอกอย่างเดียว แต่ก็อาจขาดเพื่อนไทยในมหาวิทยาลัยและการหล่อหลอมบุคลิกภาพก็อาจต่างกันไป เสี่ยงกับการเป็นเด็กใจแตก หรือกลายเป็นคนหัวนอก ใช้เงินเปลืองตัว ดังนั้นผมว่าให้ไปตอนที่เด็กคิดเองได้ รู้ตัวเองว่าอยากไปเพื่อหาประสบการณ์ แล้วก็มีวุฒิภาวะระดับหนึ่ง ไปแล้วมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับตัวคนที่ไปเอง ถ้าตั้งใจไปหาประสบการณ์ความรู้ก็น่าจะส่งไปเลย แต่ถ้ากะจะไปเที่ยวหรือโดนบังคับ พอไปแล้วบริหารเวลาและความสัมพันธ์กับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และเพื่อน ๆ ในเมืองไทยไม่เป็น ท้ายที่สุดอาจจะทำให้ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร
น้องชายคนเล็กสุดของผมเคยคิดว่าพอเรียนจบปริญญาตรีปุ๊บ อยากเรียนต่อโทปั๊บ แต่ผมอยากให้เขาหางานทำที่ต่างประเทศดูก่อน แล้วค่อยเรียนต่อโท ทำพาร์ตไทม์นอกเวลา จะได้ไม่เสียประสบการณ์การทำงานด้วย การศึกษานั้นมีอยู่ทุกแห่งขึ้นอยู่กับว่าเราอยากเลือกสภาพแวดล้อมแบบไหน แล้วการศึกษาที่ดีที่สุดคือการได้ทำจริง ไม่ใช่อ่านจากตำราหรืออภิปรายในห้องเรียน MBA กว่าจะคุยกันจนเห็นด้วย ใช้เวลาเกือบปีอยู่เหมือนกัน หลังจากเรียนอดทนรอถึงสามเดือนและสัมภาษณ์ผ่านรอบสุดท้ายกับบริษัทไมโครซอฟท์ สำนักงานใหญ่ที่อเมริกา ตอนนี้เริ่มงานได้หมาด ๆ เองครับ
สาขาวิชาไหนน่าเรียน และมีโอกาสได้งานทำ
ระดับปริญญาโทที่ฮ่องกง มีมหาวิทยาลัยติดอันดับโลกเยอะที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เพียงแต่ผมมองว่าสาหตุที่ไม่ค่อยมีคนไทยมาเรียนเพราะไม่มีรุ่นพี่ที่ให้คำแนะนำ หรือคนสมัครลืมนึกถึงฮ่องกง มัวแต่นึกว่าฮ่องกงมีแต่ที่ให้ช็อปปิ้งกับของกินอย่างเดียว ถ้ามองในแง่ของเศรษฐกิจแล้ว ฮ่องกงเป็นเมืองศูนย์กลางของสถาบันการเงินต่าง ๆ ดังนั้นอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการเงินจะดังมาก อย่างหลักสูตร M.B.A. มีอยู่สามสายที่ดังที่นั่น คือ สายการเงิน สายที่เน้นการทำธุรกิจในประเทศจีนและแถบเอเชีย และสายเทคโนโลยี ส่วนหลักสูตรที่เป็นปริญญาโทด้านไฟแนนซ์หรือแบงก์ ก็เป็นที่ยอมรับมาก ผมก็เรียนพาร์ตไทม์นอกเวลาจนจบหลักสูตรวิศวกรรมการเงิน จึงค่อยต่อ M.B.A. อีกใบ วิชาวิศวกรรมการเงินของที่นี่เป็นวิชาที่สร้างตราสารต่าง ๆ ออกสู่ตลาดหลักทรัพย์ แล้วที่อเมริกามีปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบมาถึงไทยตอนนี้ เพราะมีหลักทรัพย์บางตัวที่ออกมาแล้วเกิดการจัดการความเสี่ยงไม่ดีพอ ทำให้ล้มกันเป็นโดมิโน
ระดับปริญญาตรีคงแนะนำให้เรียนสายแอคชัวรี (Actuarial science) แต่จะเรียนในระดับปริญญาโทก็ได้ไม่ว่ากัน แต่ผมแนะนำให้เรียนตั้งแต่ปริญญาตรี จะได้มีเวลามาสอบแล้วเริ่มงานที่ท้าทายได้มากกว่า ส่วนคนที่สมัครเรียนได้คงต้องมาจากสายวิทย์ครับ นอกจากคณะแพทย์หรือกฎหมาย คณะที่ต้องใช้คะแนนเอ็นทรานซ์สูงที่สุด คือ แอคชัวรี คณะนี้จึงมีไว้สำหรับคนเก่งเลขหรือฟิสิกส์ คนที่เก่งชีวะจะเรียนหมอ ส่วนคนที่เก่งสายศิลป์อาจเลือกเรียนกฎหมาย
ทำงานพาร์ตไทม์ระหว่างเรียนได้หรือไม่
การหางานพาร์ตไทม์ระหว่างเป็นนักศึกษาอาจยากหน่อยครับ เนื่องจากว่าถ้าทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟ ต้องพูดกวางตุ้งกับคนพื้นเมืองเป็น แล้วนักเรียนฮ่องกงเองก็มีคนที่ต่อสายอาชีวะเยอะ พวกนี้จะหางานพาร์ตไทม์ทำเหมือนกันครับ แต่ถ้าตอนฝึกงานได้ทำที่บริษัทดี ๆ หรือเป็นสำนักงานใหญ่ในระดับภูมิภาคแล้วละก็ รายได้จะดีมาก
ฮ่องกงมีคนไทยเยอะไหม
คนไทยที่เป็นแม่บ้านมาช่วยทำความสะอาดบ้านและทำงานตามร้านอาหารมีเยอะพอสมควร ผมอยู่มาเกือบ 5 ปี เห็นว่ายังไม่เคยมีใครตั้งสมาคมนักเรียนไทยในฮ่องกงเลย ทั้ง ๆ ที่น่าจะมี เมื่อปลายปีที่แล้วนักเรียนไทยในฮ่องกงซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 กว่าคน ได้มีโอกาสมาเจอกัน โดยเฉพาะในงานวันพ่อ ซึ่งทางสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง จัดขึ้นและเชิญพวกเรา หลังจากนั้นผมพยายามนัดรวมกลุ่มและพบปะกับคนไทยที่นี่ จนตอนนี้สามารถตั้งเป็นสมาคมคนไทยได้แล้ว
แต่สภาพแวดล้อมในฮ่องกงเป็นเมืองของคนทำงานที่อาจจะดูวุ่นวายและเวลาเป็นเงินเป็นทองกันหมด คนไทยบางคนจึงอยากที่จะอยู่คนเดียวมากกว่า หรือกลัวผมไปขอตังค์ใช้ไม่รู้ (ฮ่า ๆ...) ผมรอให้มีคนมาตั้งสมาคมมาเกือบ 5 ปีแล้ว ทำให้ผมมองเห็นว่าถ้าไม่มีคนเริ่มทำให้วงล้อขับเคลื่อน ก็จะไม่มีอะไรให้เห็นขึ้นมาสักที ดังนั้นผมจึงพยายามต่อไปเพื่อที่คนไทยที่ทำงานหรือเรียนอยู่ที่นี่จะได้ช่วยเหลือกันได้ อีกทั้งในอนาคตก็คิดจะให้คำแนะนำเรื่องเรียนต่อกับน้อง ๆ ที่อยู่เมืองไทย หรือแม้แต่การหาที่ฝึกงานหรือที่ทำงานหลังเรียนจบ ผมคิดว่านั่นคือกิจกรรมที่สามารถตอบแทนสังคมและเป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่ามีชีวิตที่สมดุลขึ้นหลังจากการทำงานและการเรียนที่เหน็ดเหนื่อยในแต่ละวัน
หลังได้รับความร่วมมือจากน้อง ๆ นักเรียนไทย และพี่ ๆ หลายคน ตอนนี้ทอมมี่รวบรวมสมาชิกได้ประมาณ 40 คน ประกอบด้วย อาจารย์ นักเรียน และคนทำงานบริษัทข้ามชาติ โดยตั้งชื่อว่า T-SPAHK (Thai-Scholars and Professionals in Hong Kong) หรืออ่านว่า ที-สปาร์ค
ได้ทำงานเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว และเพื่อสังคมแล้ว ทอมมี่ยังมีอีกหน้าที่คือเพื่อผู้อ่าน ด้วยการอัพเดทข่าวสารที่ฮ่องกงในคอลัมน์ สายตรงฮ่องกง นิตยสารเรียนรอบโลก หรือถ้าต้องการทราบข้อมูลอื่น ๆ ที่ทอมมี่พอจะช่วยได้ อีเมล์ไปคุยที่ Tommy.Pichet@gmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น