ที่มา : การศึกษาวันนี้
ปีพ.ศ. 2551
คงจะเป็นวาสนาของผู้เขียนที่ได้พบคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ (มาก) ผ่านเข้ามาในชีวิตการทำงานหนังสือ และได้ถ่ายทอดสู่ผู้อ่านเป็นความรู้แบบลูกโซ่ที่คุ้มค่ายิ่ง
เสียงปลายสายจากฮ่องกง สะท้อนบุคลิกของ "ทอมมี่" หรือ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน คนไทยที่ไปแสดงความเก่งกับตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัย บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล แอสชัวรันส์ ประจำสำนักงานใหญ่ ประเทศฮ่องกง
ไปไงมาไง ทำไมไม่ทำงานเมืองไทย หรือว่าคนเก่ง ๆ ต้องไปทำงานเมืองนอก?
ถ้าจะเรียกว่าคนเก่งรู้สึกจะเกินความเป็นจริงไปสักนิดครับ (หัวเราะ) เพราะผมรู้ตัวเองว่าไม่ได้มีสมองที่ล้ำเลิศหรือฉลาดเกินกว่าคนอื่น ๆ สมัยเรียนมัธยมต้นก็สอบได้ลำดับที่กลาง ๆ ยกเว้นวิชาไหนที่ชอบและขยันจริง ๆ คะแนนออกมาดีกับเขาบ้าง เรียนจบปริญญาตรีจากเมืองไทยเหมือนเพื่อน ๆ ไม่เคยย่างเท้าก้าวออกจากประเทศไทยเลย แต่อาจเป็นเพราะว่าผมกระตือรือร้นอยากจะเรียนรู้ ชอบชื่นชมคนเก่ง ๆ ทำให้ตั้งใจขวนขวายหาประสบการณ์ใหม่ ๆ
ทำงานที่เมืองไทยได้ 4 ปีกว่า อยากพัฒนาความสามารถของตัวเองทั้งในด้านสมองและวุฒิภาวะให้เติบโตขึ้นกว่านี้ ท้ายที่สุดก็เลือกทำงานในต่างประเทศแทน เพราะคิดว่าน่าจะได้ประสบการณ์ที่ท้าทายมากกว่า แล้วในที่สุดก็ตัดสินใจย้ายมาทำงานอยู่ในสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค ดูแลประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด ทำให้เรามองเห็นภาพของธุรกิจทั้งในด้านกลยุทธ์และการจัดการได้มากยิ่งขึ้น
เรื่องเรียนต่อเมืองนอกที่คิดไว้ยังไม่ได้ลืม พอทำงานได้ปีหนึ่ง เห็นว่ามีจังหวะได้เรียนเพิ่มเติมก็ไปสมัครเรียนหลักสูตรปริญญาโทพาร์ตไทม์ สาขาวิศวกรรมการเงิน จะได้ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย จากที่ได้สัมผัสกับคนฮ่องกงทั้งที่เป็นนักเรียนเต็มเวลาและคนที่ทำงานมาแล้ว คนฮ่องกงส่วนใหญ่หรือเรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดมองปริญญาโทเป็นเรื่องรอง ส่วนใหญ่ถ้าทำงานได้ 7-8 ปี บริษัทจะมีเงินทุนให้ส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนพนักงานที่สนใจไปเรียนพาร์ตไทม์เอง คนฮ่องกงส่วนใหญ่จึงไม่นิยมที่จะลาออกจากงานเพื่อไปเรียนเต็มเวลา แต่ให้ความสนใจกับการสอบเฉพาะทางของวิชาสายอาชีพมากกว่า กระแสเริ่มมาแรงมากขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ จะสังเกตว่าคนฮ่องกงบางคนมีหางยาวปรื๊ด (หัวเราะ) ที่ว่ายาวนี่คือหางต่อท้ายนามบัตรนะครับ ไม่ว่าจะเป็นสายนักบัญชี สายนักวิเคราะห์หุ้น หรือวิเคราะห์การลงทุน สายไอที หรือแม้แต่สายอาชีพที่ผมเป็นอยู่ เรียกว่า แอคชัวรี (Actuary) หรือภาษาจีนกวางตุ้งเรียกว่า จิงสุ่นซี แปลว่า นักคำนวณ อาชีพนี้ได้ติดท็อปไฟว์นิยมที่สุดในอเมริกาและในบางประเทศ ในฮ่องกง อาชีพหมอ ทนายความ และแอคชัวรี คนจะให้ความนับถือยกย่อง ประมาณว่าเป็นอาชีพในอุดมคติของคนฮ่องกง แม้แต่คนข้างบ้านหรือร้านขายของชำหน้าปากซอยก็รู้จักและอยากให้ลูกเรียนคณะนี้ แต่สำหรับในประเทศไทยบางทีเขาจะเรียกแอคชัวรีว่า "นักคณิตศาสตร์ประกันภัย" เพราะส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ในบริษัทประกันชีวิต หรือประกันวินาศภัยกันครับ
นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเรียนอะไรกัน?
คนไทยที่สอบเป็นแอคชัวรีระดับเฟลโล่ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดอยู่แค่ 4 คน เท่านั้น ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น และขึ้นทำเนียบน้องใหม่เฟลโล่คนล่าสุดในช่วงตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา บางคนบอกว่ายากเทียบเท่ากับการจบดอกเตอร์ (ส่วนใหญ่ต้องสอบกันเป็นสิบปี) จึงทำให้ผมโชคดีได้มีโอกาสหางานในประเทศต่าง ๆ ได้ไม่ยากนัก เพราะเฟลโล่ที่ได้มานั้นเป็นมาตรฐานสากลของโลก คือทุกคนสอบอยู่ภายใต้ข้อสอบเดียวกัน ไม่ว่าจะจบอะไรหรือเป็นดอกเตอร์มาจากไหน ถ้าสอบข้อสอบชุดที่ว่านั้นไม่ผ่านก็ไม่มีสิทธิ์ได้เป็นเฟลโล่ แต่ถ้าได้เป็นเฟลโล่จะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ เมื่อถึงจุดสูงสุดของสายอาชีพ
แอคชัวรี คือผู้เชี่ยวชาญในการประเมินผลกระทบทางด้านการเงินของความไม่แน่นอนในอนาคต โดยทำให้การตัดสินใจทางด้านการเงินเป็นไปด้วยความมั่นใจมากยิ่งขึ้นด้วยการ วิเคราะห์ อดีต จำลอง อนาคต ประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และสื่อสารถึงผลลัพธ์ที่ออกมา เนื้อหาวิชาที่เรียนไม่พ้นพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และสถิติ ในการวิเคราะห์ อดีต และเพื่อคำนวณ อนาคต ให้ได้ถูกต้อง ก็ต้องเก่งด้านเศรษฐศาสตร์มหาภาคที่เป็นภาพรวมของเศรษฐกิจกับเศรษฐศาสตร์จุลภาคที่เป็นภาคย่อยในการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงการเรียนวิชาการจัดการความเสี่ยง ทฤษฎีดอกเบี้ย การจำลองโมเดลหรือการคำนวณราคาสินค้าที่ต้องจ่ายเงินให้ลูกค้าในอนาคต ซึ่งบริษัทที่จำเป็นต้องใช้แอคชัวรี คงหนีไม่พ้นบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย ในต่างประเทศต้องให้แอคชัวรีเซ็นรับรองสินค้าแต่ละชนิดที่ออกมาขายด้วยว่าถ้าขายแล้วบริษัทจะมีเงินสำรองเพียงพอที่จะจ่ายคืนลูกค้าในอนาคตได้ ถ้าเกิดเป็นอะไรไปก็อาจได้กินข้าวแกงในคุก เหมือนวิศวกรที่เซ็นออกแบบตึกแล้วตึกพังอะไรทำนองนั้นครับ (หัวเราะ)
รายได้ท่าทางจะดี?
เส้นทางการเติบโตของสายอาชีพนี้มีอนาคตไกลมาก เพราะตอนนี้เป็นที่ต้องการทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ที่ประเทศจีนมีการแนะแนวการศึกษาชี้ช่องทางนี้สู่สายตาประชาชน ปรากฏว่าคนแห่เรียนกันเป็นปีละหมื่น ๆ คน เห็นว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้ถึงปีละเป็นแสนหยวนต่อเดือน ในฮ่องกงรายได้เป็นแสน ๆ เหรียญฮ่องกงต่อเดือนเช่นกัน คนที่ทำอาชีพนี้ส่วนใหญ่เป็นคนรักตัวเลข ขยันเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ชอบคิด ชอบเผชิญสิ่งท้าทายที่เข้ามา เพราะการจะทำนายอนาคตได้ ต้องรู้รอบและรอบรู้
ตำแหน่งที่รับผิดชอบทำอะไรบ้าง?
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ผมเวียนงานไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะรับผิดชอบมาเลเซีย อินเดีย ไทย หรือโปรเจกต์ของบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ เกาหลี หรือประเทศในโซนตะวันออกกลาง เป็นต้น มีอยู่ช่วงหนึ่งผมย้ายออกไปทำงานบริษัทอื่นด้วยซ้ำ เพราะอยากลองเห็นวัฒนธรรมองค์กรและวิธีการทำงานของบริษัทอื่น ๆ ในฮ่องกงดูด้วย แต่ผมจะเน้นบริษัทที่เป็นสำนักงานระดับภูมิภาคอย่างเดียว ถึงแม้ว่าจะเข้ายากกว่าและการแข่งขันสูงกว่าก็ตาม
ส่วนงานที่เคยทำมีตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ด้านประกันชีวิต การลงทุน และการจัดการความเสี่ยง ตอนนี้ผมหันมาเก็บประสบการณ์ด้านประกันอุบัติเหตุและสุขภาพครับ เน้นเรื่องการจัดการด้วยมากกว่า ดูทั้งความเสี่ยงและความสามารถในการทำกำไร พร้อม ๆ กับออกแบบคำนวณผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สู่ตลาด ให้มีคุณภาพในราคาเหมาะสม ประเทศที่ได้รับมอบหมายอยู่ตอนนี้มีไทย อินเดีย เวียดนาม นิวซีแลนด์ กับออสเตรเลีย เป็นต้น
ฮ่องกงเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้าไปทำงานแค่ไหน?
บริษัทข้ามชาติมาเปิดสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกงหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น ซิตี้แบงก์ HSBC สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และสถาบันการเงินต่าง ๆ จากประเทศทั่วโลก ทำให้ดึงดูดคนชาติต่าง ๆ มาอยู่ที่ฮ่องกงเพื่อกระจายการดูแลให้ครอบคลุมเอเชียแปซิฟิก แต่ในแง่ที่บริษัทเป็นระดับท้องถิ่นของฮ่องกงเอง ผมยังมองว่าประสบการณ์ที่ได้คงไม่มากนักเมื่อเทียบกับการที่อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาทั้งที (หัวเราะ) คนฮ่องกงเองก็แย่งงานกันเองสูงครับ และเพราะเป็นบริษัทระดับท้องถิ่นจึงต้องพูดภาษากวางตุ้งให้ได้ คงเหมือนกับที่จะให้คนฮ่องกงมาทำงานอยู่บริษัทท้องถิ่นในเมืองไทยมั้งครับ และเนื้องานของบริษัทข้ามชาติต่างกันชัดเจนกับบริษัทที่ไม่ข้ามชาติ บริษัทข้ามชาติจะถือว่าประสบการณ์ในการทำงานจากประเทศต่าง ๆ สามารถนำไปใช้กับอีกประเทศได้ เขาคงจะเห็นประโยชน์คนต่างชาติในจุดนี้
จบไม่ลงเสียแล้วสำหรับคำตอบและเรื่องเล่าจากฮ่องกงของทอมมี่ ฉบับหน้ามีคำแนะนำเรื่องความเป็นอยู่ และการเลือกศึกษาต่อที่ประเทศฮ่องกง พลาดไม่ได้!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น