วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วิธีการรับปริญญาแบบฉบับฮ่องกง

เกริ่นนำ
ตอนนี้คงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของน้องๆ หลายคนที่จบการศึกษาไม่ว่าจะระดับปริญญาตรี โท หรือ เอก ซึ่งเห็นแล้วก็อดชื่นชมไม่ได้กับความตั้งใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อยกระดับความสามารถของตัวเองให้เป็นที่ต้องการในตลาดได้ และเมื่อผมลองนึกย้อนกลับไปคิดถึงอดีตของตัวเองตอนที่อยู่ฮ่องกงทำงานไปด้วยเรียนหนังสือไปด้วย กว่าจะจบได้ก็เล่นเอาเหนื่อยหอบกันทีเดียว
ในวันที่รับปริญญากันในฮ่องกงจะเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ สำหรับอากาศของฮ่องกงในเดือนนั้นแล้วมันเหมาะกับการใส่ชุดครุยรับปริญญาซะมากกว่า เพราะขืนมัวให้ใส่ในหน้าร้อนหรือหน้าฝนก็คงจะไม่ไหว ยิ่งฮ่องกงมีพื้นที่เล็กๆ เบียดกันจนแทบจะหายใจไม่ออกอยู่ด้วย ดังนั้นอากาศในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้จะสบายๆ อยู่ที่ 21 24 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะกับการถ่ายรูปเพื่อรับปริญญามากที่สุด
แต่ถึงกระนั้น พิธีรับปริญญาที่ฮ่องกงก็ช่างง่ายดายจนแทบไม่มีอะไรซะเลย  เพื่อนๆ ในฮ่องกงก็ทำงานกันปกติจนถึงเวลาพักเที่ยง กินข้าวเสร็จก็เดินตัวปลิวถือถุงพลาสติกที่ใส่ชุดครุยไว้ แล้วก็นั่งรถไฟฟ้าไปมหาวิทยาลัย

เตรียมตัวกันก่อนวันรับปริญญา
เริ่มแรกก็คือเรื่องเสื้อครุยที่จะต้องไปเช่าหรือตัดซื้อจากข้างนอก ซึ่งชุดครุยแบบสวมทับนี้ถูกกว่าที่คิด มีแค่สามชิ้นแล้วก็ให้เช่าได้ 10 สัปดาห์ในราคาเพียงไม่กี่ร้อยเหรียญฮ่องกง (ตกเป็นเงินไทยยังไม่ถึง 1,500 บาท)
จากนั้นก็มาเป็นตารางเวลาในการรับปริญญาของแต่ละมหาวิทยาลัย และของแต่ละคณะ ซึ่งก็ทราบกันอยู่แล้วว่าพื้นที่ฮ่องกงนั้นเล็กมาก ดังนั้นการรับปริญญาของแต่ละคณะจึงถูกแบ่งซอยย่อยออกเป็นรายสัปดาห์เลย แล้วก็ไม่มีวันเสาร์กับวันอาทิตย์ มีแค่วันจันทร์ถึงวันศุกร์เท่านั้น
คณะวิศวกรรมการเงินที่ผมจบมานั้นส่วนใหญ่จะโดนวันพฤหัส นั่นก็หมายความว่าพวกเราต้องลาหยุดเพื่อไปรับปริญญา ผมซึ่งเป็นคนไทยก็จะเห็นว่าการรับปริญญานั้นต้องเตรียมตัวกันอย่างมาก ก็เลยถามหาวันซ้อมรับปริญญา เพราะไม่เห็นว่าจะมีในตารางเวลา แต่ผมกลับได้คำตอบจากเพื่อนคนฮ่องกงว่า  ซ้อมรับปริญญานั้นคืออะไรเหรอ ทำไมต้องซ้อมด้วย แค่จะไปรับยังไม่รู้ว่าจะไปดีหรือเปล่าเลย
ผมกลับได้คำตอบจากเพื่อนคนฮ่องกงว่า  ซ้อมรับปริญญานั้นคืออะไรเหรอ ทำไมต้องซ้อมด้วย แค่จะไปรับยังไม่รู้ว่าจะไปดีหรือเปล่าเลย


ไม่มีวันซ้อมรับปริญญา
ไม่ใช่เพื่อนผมที่แปลกหรอกครับ ผมต่างหากที่แปลกในสายตาของคนฮ่องกง เพราะเราเห็นว่าการรับปริญญานั้นจะมีอยู่เพียงครั้งเดียว อุตส่าห์ทุ่มแรงทุ่มใจเรียนไปตั้งนาน วันรับปริญญาก็คือวันที่เราเฝ้ารอ แต่เพื่อนๆ คนฮ่องกง (หมายถึงคนที่เป็นคนฮ่องกงจริงๆ ไม่ใช่นักเรียนจากต่างประเทศแบบผม) กลับมองเป็นว่ามันเป็นเรื่องที่เสียเวลางาน  ซึ่งประมาณหนึ่งในสี่ของเพื่อนๆ ที่จบด้วยกัน ก็จะไม่มากันในวันรับปริญญาครับ แต่กลับนัดเพื่อนๆ ในกลุ่มเพื่อถ่ายรูปหมู่กันเองในวันที่เค้าไม่ต้องไปทำงาน เช่น วันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ เป็นต้น
คนที่นี่ รวมทั้งผมนั้น เวลานัดก็นัดกันหลายสัปดาห์ด้วย เช่นสัปดาห์แรกนัดกับญาติพี่น้อง สัปดาห์ที่สองนัดกับเพื่อนที่เรียนจบมาด้วยกัน สัปดาห์ที่สามก็ค่อยนัดกับเพื่อนในที่ทำงานในบริษัท สัปดาห์ถัดมาก็นัดกับเพื่อนในวงการอาชีพเดียวกัน
สิ่งที่ผมมองไปในแนวคิดของคนฮ่องกงนั้นก็คือเค้าไม่ชอบอะไรที่เป็นพิธีรีตอง ยิ่งถ้ากระทบเวลางานของเค้าด้วยล่ะก็ เค้าจะให้ความสำคัญกับงานที่เค้ารับผิดชอบก่อน เพราะเค้าบอกว่าไปพิธีรับปริญญาก็ไม่ได้ช่วยให้เค้าก้าวหน้าอะไรขึ้นมา
กล่อมกันไปกล่อมกันมา ผมก็เริ่มเออออห่อหมกไปกับเค้าด้วย แทนที่จะลาหยุดทั้งวันก็ขอลาเป็นครึ่งวันแทน ประมาณว่าทำงานกินข้าวเที่ยงเสร็จปุ๊ป ก็จะถือชุดครุยใส่ถุงพลาสติกแล้วก็นั่งรถไฟฟ้าไปมหาวิทยาลัยในตอนบ่าย เอาแบบให้เฉียดเวลาตอนเริ่มพิธีให้ฉิวๆ เลย ประมาณว่าถ้าไปไม่ทันก็อดรับ

วันจริง
พอถึงมหาวิทยาลัยแล้วก็รีบแปลงร่างใส่ครุยสีดำ และก็ใส่หมวกซะหน่อย แต่งตัวอีกนิด จากนั้นก็ไปยื่นคูปองบัตรคิวเพื่อลงทะเบียน คูปองนี้เค้าจะส่งไปรษณีย์มาให้ที่บ้านพร้อมกับให้โควตาของผู้ติดตามเพื่อให้เข้าไปนั่งในห้องประชุมได้อีกหนึ่งคน
เมื่อยื่นคูปองลงทะเบียนแล้ว ก็ยืนรอหน้าห้องประชุม ซึ่งทุกอย่างของที่นี่เป็นบาร์โค้ดหมดครับ เอาเครื่องสแกนแล้วก็เดินเข้าหอประชุมไปเลย รายชื่อก็จะไปอยู่ในคอมพิวเตอร์หมด แล้วพอถึงช่วงเวลาประกาศชื่อ เราก็แค่ไปทาบบัตร ก่อนที่จะก้าวขึ้นเวทีเพื่อให้ชื่อเราปรากฏบนจออีกทีจะได้ให้คนอ่านประกาศชื่อได้ถูกต้อง ซึ่งวิธีนี้จะไม่มีการเรียกชื่อกันผิด ไม่ต้องซ้อมรับปริญญาหรือคอยมานั่งนับว่าเพื่อนข้างๆ เราจะอยู่มั๊ย
 เอาเครื่องสแกนแล้วก็เดินเข้าหอประชุมไปเลย รายชื่อก็จะไปอยู่ในคอมพิวเตอร์หมด แล้วพอเวลาประกาศชื่อ เราก็แค่ไปทาบบัตรก่อนที่จะก้าวขึ้นเวทีเพื่อให้ชื่อเราปรากฏบนจออีกทีจะได้ให้คนอ่านประกาศชื่อได้ถูกต้อง

ซึ่งแน่นอนว่าก่อนที่จะมีการเดินขึ้นไปบนเวที ทางมหาวิทยาลัยจะเปิดงานโดยมีตัวแทนนักเรียนขึ้นไปกล่าวอำลาให้เป็นพิธี แล้วก็มีการมอบตำแหน่งอาจารย์ดีเด่น นักเรียนดีเด่น รวมถึงการมอบปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตให้ โดยในปีนั้นก็มี เจ้าของ Hopewell ซึ่งอายุ 80 กว่าปีเป็นคนรับไป ที่จำได้เพราะท่านเคยมากล่าวปาฐกถาเรื่องการทำธุรกิจของ Hopewell (หนึ่งในธุรกิจที่มีก็คือกิจการทางด่วนในเมืองไทย) ให้กับนักเรียน MBA ซึ่งตอนนั้นผมก็ได้เข้าไปนั่งฟังด้วย
แล้วช่วงจังหวะบนเวทีนั้นเอง ก็เป็นแค่การจับมือ มีการถ่ายวีดีโอ แต่ไม่มีการถ่ายรูปบนเวที แล้วก็เดินลงตัวเปล่า ถือหมวกใบเดิมไว้แก้เขิน เพราะว่าใบปริญญาจริงๆ เค้าจะให้ไปรับอีกทีกับสำนักทะเบียนหลังจากนี้อีกประมาณสองสัปดาห์เป็นต้นไป ซึ่งไปรับเองกับสำนักทะเบียน หรือไม่ก็ให้เขาส่งไปรษณีย์ตามหลังไปให้ก็ได้
จบแล้วก็ตัวใครตัวมันครับ พิธีทุกอย่างเสร็จภายใน 2 ชั่วโมง เป็นอันว่าพิธีก็จบครับ นี่ยังดีที่ตอนนั้นบอกให้คนที่บ้านในกรุงเทพไม่ต้องบินมา เพราะผมจะบินกลับไปเอง

บินกลับไปหาครอบครัว
เนื่องจากชุดครุยที่เช่าไว้ก็มีเวลาให้ใช้ถึง 10 สัปดาห์ ปกติคนที่นี่ก็เลยวางแผนทยอยกันถ่ายรูปในช่วงวันเสาร์หรืออาทิตย์ ผมก็เลยได้มีสิทธิ์ถ่ายรูปกับเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงานที่ฮ่องกงก่อน จากนั้นค่อยบินกลับเมืองไทยหิ้วชุดครุยไปถ่ายรูปกับครอบครัวและเพื่อนฝูงที่เมืองไทยทีหลัง
สิ่งที่พลาดไม่ได้ก็คือ การกลับมาที่บ้านของเราเองที่เมืองไทย เพื่อเก็บภาพที่ระลึกไว้กับครอบครัว ซึ่งจะเห็นได้จากในภาพว่าทุกคนยิ้มแย้มดีใจกับความสำเร็จของคนที่ได้จบปริญญากันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตัวเอง พ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนเก่าๆ ที่เคยทำงานด้วยกันมาในเมืองไทย เรียกได้ว่าชุดครุยที่เช่ามานี้ได้ถูกใช้อย่างสุดคุ้ม

ข้อคิดหลังรับปริญญา
อย่างไรก็ตาม หลังจากเรียนจบปริญญาใบนี้มาแล้ว ทำให้เป็นการตอกย้ำความในใจขึ้นว่า ปริญญาไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้คนเราเก่งขึ้นหรือดูสูงส่งขึ้นเลย หากแต่มันเป็นเพียงแค่สิ่งๆ หนึ่งที่บ่งบอกถึงความเพียรมานะอุตสาหะของคนที่เลือกประกอบวิชาชีพเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต ในส่วนตัวแล้วผมถือว่ามันเป็นรางวัลชิ้นหนึ่งที่ช่วยทำให้คนรอบข้างเราภูมิใจและดีใจกับสิ่งที่เราไขว่คว้ามา เพราะเค้าหวังว่าเราจะประสบความสำเร็จจากมัน

ปริญญาไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้คนเราเก่งขึ้นหรือดูสูงส่งขึ้นเลย หากแต่มันเป็นเพียงแค่สิ่งๆ หนึ่งที่บ่งบอกถึงความเพียรมานะอุตสาหะของคนที่เลือกประกอบวิชาชีพเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตการทำงานที่ได้สัมผัสจากการทำงานในหลายๆ ประเทศแล้วนั้น ก็เป็นตัวยืนยันที่บอกได้ว่า ปริญญามันเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของความสำเร็จในหน้าที่การงานเท่านั้น ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่าคนฮ่องกงจะให้ความสำคัญของปริญญาน้อยกว่าคนไทยบางคน โดยเฉพาะน้องๆ ที่เรียบจบมาใหม่ๆ ที่มองเห็นปริญญาว่าเป็นตัวการันตีแห่งความสำเร็จของหน้าที่การงาน คนฮ่องกงส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเรียนปริญญาโทไปด้วย ทำงานไปด้วย เพราะเค้าถือว่าประสบการณ์ในการทำงานเท่านั้น ที่จะนับความมีคุณค่าของสายวิชาชีพ
เวลาสัมภาษณ์งานคนฮ่องกงเค้าจะไม่ถามเราว่าเราจบปริญญาอะไรมาบ้าง แต่เค้าจะถามว่าในชีวิตนี้คุณทำอะไรสำเร็จมาแล้วบ้าง อันนี้น่าเก็บเอาไปคิดต่อนะครับ เพราะมันบ่งบอกถึงสิ่งที่คนสัมภาษณ์ว่าให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากันในการสัมภาษณ์งาน

สู้ต่อไป
หลังจากรับปริญญาทางด้านวิศวกรรมการเงินแล้ว ผมจึงตัดสินใจเรียนต่อ MBA ภาคค่ำเพื่อให้ได้ความรู้ในอีกมิติหรือมุมมองในอีกรูปแบบนึง ปริญญาโทใบแรกเป็นแบบเฉพาะทางด้านการเงิน (เชิงลึก) ส่วนใบที่สองที่เป็น MBA ก็จะมุ่งเน้นการจัดการแทน (เชิงกว้าง) โดยที่ตัดสินใจไปก็เพราะอยากจะเรียนเอาสนุก เรียนเพื่อจะได้มีโอกาสสังเกตความคิดของเพื่อนๆ ในอีกกลุ่มหนึ่งและในอีกมุมหนึ่ง  การเรียนปริญญาโทใบที่สองนี้ก็ใช้เวลาอีกถึง 2 ปี ก็เลยตั้งเป้าว่าจะไม่หวังเรียนเพื่อเอาเกรด แต่จะเรียนเพื่อเจียระไนความคิดของตัวเองให้ตกผลึกเป็นตัวของตัวเราเองยิ่งขึ้น แล้วผมก็ได้สังเกตเห็นมีเพื่อนในชั้นเรียน MBA หลายๆ คนที่มีวัตถุประสงค์คล้ายๆ กับของผม ทำให้เราเรียนแบบแลกเปลี่ยนแนวความคิดกัน การเรียนก็เลยยิ่งสนุกมากยิ่งขึ้น

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ที่มาของการสอบแนวแนวใหม่จาก SOA กับ SOA Ambassador

เนื่องจากแอคชัวรีไทยในตลาดธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยนั้นยังเป็นที่ขาดแคลนในประเทศไทยอย่างมาก ถึงแม้จะมีผู้สนใจในวิชาชีพแอคชัวรีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเมื่อปีที่ผ่านมา ตามที่สมาคมคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย (SOAT) ได้พยายามอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

ทาง Society of Actuaries (SOA) ที่เป็นสถาบันจัดมาตรฐานของแอคชัวรีระดับโลก และเป็นแหล่งกำเนิดของ Fellow ที่มาจากการสอบแข่งขันกันทั่วโลก ก็ได้มีความพยายามที่จะผลิตแเอคชัวรีให้ออกมาทันตามความต้องการของโลกเช่นกัน โดยที่ผ่านมาทาง SOA ก็เริ่มเปลี่ยนแนวข้อสอบครั้งยิ่งใหญ่ซึ่งเริ่มบังคับผลตั้งแต่เมื่อประมาณปี 2006 2007 (พ.ศ. 2550 - 2551) เป็นต้นมา เพื่อลดระยะเวลา (Travel time) ในการเป็น FSA ให้ได้เร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 5 ปี ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีอย่างยิ่งของแอคชัวรีรุ่นน้องๆ


โดยในช่วงเวลาก่อนที่ SOA กำลังจะตัดสินใจทำการเปลี่ยนแปลงแนวการสอบครั้งใหญ่นั้น ผมก็บังเอิญมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับประธานของ SOA ในตอนที่ท่านมาขอความคิดเห็นจาก Fellow ทั้งหลายในฮ่องกง (รวมถึงตัวผมด้วย) ซึ่งในตอนนั้น เราก็ได้ให้ความเห็นพ้องต้องกันว่า ระยะเวลา (Travel time) ในการเป็น FSA สำหรับแอคชัวรีรุ่นหลังนั้น ควรจะสั้นลงมาอย่างน้อย 5 ปี (ถือว่าเป็นของขวัญจาก Fellow รุ่นพี่ๆ ก็แล้วกันครับ)

เหตุผลที่ทำแบบนี้ก็เนื่องจากกฎหมายในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จะยอมให้แอคชัวรีเซ็นรับรองได้ก็ต่อเมื่อได้เป็น Fellow มาแล้วอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งทำให้การหาแอคชัวรีมาเซ็นรับรองให้นั้นเป็นเรื่องยากลำบากยิ่งนัก เพราะในสมัยนั้นการจะเป็น Fellow ได้ต้องใช้เวลาสอบกันประมาณ 5 15 ปี แล้วแต่ความพยายามและโชค (ชะตา) ของแต่ละคน

การสอบของแอคชัวรีหลักสูตรแนวใหม่นี้ก็สามารถติดตามจาก Exam Update ของสวัสดีแอคชัวรีได้ทุกฉบับครับ วัตถุประสงค์ของการสอบ SOA ในหลักสูตรที่เพิ่งเปลี่ยนไปเมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี้ จะทำให้แอคชัวรีรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งสามารถเพิ่มปริมาณแอคชัวรีให้ออกมารองรับความต้องการของตลาดได้มากๆ ยิ่งขึ้น โดยเค้าว่ากันว่า ระยะเวลา (Travel time) ในการเป็น Fellow ควรจะลดสั้นลงมาอยู่ที่ประมาณ 3 10 ปีแทน

ทั้งนี้ก็ได้สอดคล้องกับข้อบังคับใหม่ของสมาคมคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย (SOAT) ที่ได้กำหนดไว้ว่า ภายในอีก 7 ปีข้างหน้า (ปี 2015 หรือ พ.ศ. 2558) Fellow ของ SOAT จะต้องมาจากการเป็น Fellow ของ SOA หรือ สถาบันที่ได้รับการยอมรับระดับโลกเท่านั้น ซึ่งก็หมายถึงว่าจะไม่มี Fellow ของ SOAT โดยมาจากการแต่งตั้งหรือโหวตลงคะแนนเสียงอีกต่อไป (อ่านข้อสรุปสมาชิกภาพของสมาคมของ SOAT ได้ในฉบับนี้)

คนที่จะมาเป็น Fellow ในรุ่นหลังๆ ของ SOAT จึงต้องสอบผ่านมาตรฐานระดับสากลให้ได้ ส่วนคนที่เป็น Fellow ของ SOAT ในปัจจุบันก็ไม่ต้องตกใจแต่อย่างใด เพราะ SOAT ให้เวลาถึงอีก 7 ปี ในการสอบให้ได้เป็น Fellow จากสถาบันระดับโลก เช่น SOA เป็นต้น

ส่วนข่าวดีอีกทางหนึ่งจากทาง SOA เองก็คือการให้ความสำคัญกับโครงการ SOA Ambassador ของแต่ละประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยส่งเสริมและพัฒนาบุคคลากรของแต่ละประเทศให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดอีกทางหนึ่ง โดยโครงการนี้ได้มีขึ้นเป็นทศวรรษแล้ว แต่ไม่ได้มีการทำกิจกรรมกันอย่างจริงจังเนื่องจากในสมัยนั้นตลาดยังไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร ทั้งนี้ผมก็ได้รับมอบหมายให้เป็น SOA Ambassador คนปัจจุบันสำหรับประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว โดยก่อนหน้านั้นก็คอยเป็นเรี่ยวเป็นแรงให้กับสวัสดีแอคชัวรีอยู่เรื่อยมาจนมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการเสียเอง

สวัสดีแอคชัวรีมุ่งเน้นให้แอคชัวรีไทยได้มีการรวมกลุ่มและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อีกทั้งยังเป็นสื่ออีกทางหนึ่งที่คอยส่งเสริมให้แอคชัวรีไทยได้มีบทบาทกับสังคมไทยและเข้าถึงคนทั่วไปมากยิ่งขึ้น ซึ่งการจัดพิมพ์สวัสดีแอคชัวรีนั้นคงจะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ ถ้าไม่ได้รับความสนับสนุนจากทางสมาคมคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย (SOAT) ที่ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในด้านการจัดพิมพ์ให้ ต้องขอขอบคุณทางสมาคมเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่งครับ