วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

งานหน้าบ้านของแอคชัวรี



ผมได้มีโอกาสได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ก้าวทันประกันภัย” ทางช่อง Nation Channel เป็นเวลาประมาณเกือบครึ่งชั่วโมง ซึ่งก็ได้พูดคุยเกี่ยวกับอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร และอาชีพนี้ทำอะไรบ้าง

 
รายการนี้เป็นรายการสด เพราะฉะนั้น คำถามและคำตอบจากการสัมภาษณ์ครั้งนี้จึงออกมาแบบสดๆ เป็นธรรมชาติ ซึ่งก็มีคำถามที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะคำถามที่ว่า “ในแต่ละวันนั้นแอคชัวรีได้ทำอะไรบ้าง”


พอได้ฟังคำถามนี้เท่านั้น ก็รู้สึกได้ทันทีว่าเป็นคำถามที่ดีมาก เพราะเชื่อว่าคงมีคนไม่น้อยที่นึกสงสัยว่าจำเป็นด้วยหรือที่บริษัทจะต้องมีแอคชัวรีกันมากมาย เพื่อมานั่งคำนวณเบี้ยประกันภัยในบริษัทประกันภัย

 
เมื่อฟังคำถามจบ ผมก็อดยิ้มที่มุมปากไม่ได้ ก่อนที่จะตอบไปว่า หน้าที่ของแอคชัวรีคงมีมากกว่าที่ทุกคนได้เห็นกันอยู่ เพราะงานของแอคชัวรีถ้าจะเปรียบง่ายๆ แล้วก็ยังแบ่งออกเป็นงานหน้าบ้านกับงานหลังบ้าน ซึ่งคราวนี้ผมขอเริ่มอธิบายงานหน้าบ้านก่อน

 
งานหน้าบ้าน เป็นงานที่เกี่ยวกับการออกแบบประกันภัยเพื่อหาความเป็นไปได้ว่า บริษัทจะสามารถขายสินค้าที่เป็นกระดาษแบบนี้ออกมาได้หรือไม่ ซึ่งมันก็เหมือนกับเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility) ก่อนที่บริษัทจะเริ่มลงมือลงทุนไปกับโครงการนี้ โดยการที่จะรู้ว่าโครงการนี้จะสำเร็จได้หรือไม่ ก็คงต้องดูกันว่าจะขายได้หรือไม่ และถ้าขายได้แล้ว บริษัทจะสามารถแบกรับหนี้ไปตลอดเพื่อจ่ายเงินคืนให้กับลูกค้าได้ครบถ้วนตามจำนวนและตามระยะเวลาที่กำหนดได้หรือไม่ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าบริษัทจะต้องรู้ว่าโครงการนี้พอมีกำไรเลี้ยงตัวเองได้ และการที่จะรู้ว่ามีกำไรหรือไม่ บริษัทจะต้องรู้ต้นทุนเสียก่อน

 
ต้นทุนที่ว่าสำหรับบริษัทประกันภัยนี้ เป็นต้นทุนที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเท่าไร ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นจะต้องอาศัยหลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัยเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อประมาณการหาต้นทุนของความเสี่ยงจากการวิเคราะห์อดีตและจำลองอนาคตขึ้นมา


การทำงานหน้าบ้านแบบนี้จะต้องมองการณ์ไกลเผื่ออนาคตที่จะเกิดขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น การตัดต่อยีนส์ เทคนิคการแพทย์ใหม่ๆ ที่จะช่วยให้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้น หรือแม้กระทั่งรถยนต์พลังแสงอาทิตย์ที่อาจจะเป็นที่แพร่หลายในอนาคตก็ได้ และสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการทำงานร่วมมือกับแผนกการตลาดและฝ่ายขายเพื่อที่จะเข้าใจสภาพตลาด และมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ออกแบบมานั้นสามารถนำไปขายได้จริง


ดังนั้น แอคชัวรีจึงไม่ได้ทำแค่การคำนวณเบี้ยประกันภัยแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่การจะขายแบบประกันแต่ละอย่างออกมาได้นั้น อาจจะต้องออกแบบประกันมาเป็นสิบตัว เพื่อเลือกแบบที่เหมาะสมที่สุดกับตลาดนั่นเอง

 
งานหน้าบ้านจึงต้องคอยติดต่อกับฝ่ายต่างๆ ต่อไปนี้

1.               ฝ่ายการตลาด (Marketing) และ ช่องทางการจัดจำหน่าย (Distribution channel) ไม่ว่าจะเป็นตัวแทน (Agency) ธนาคาร (Bancassurance) หรือการขายตรง (Direct marketing) เพื่อพูดคุยกันว่าแบบประกันที่จะเอาออกไปขายนั้นสามารถขายได้หรือไม่ และมีผลประโยชน์ให้กับช่องทางการจัดจำหน่ายและลูกค้าที่สมดุลหรือไม่ เป็นต้น

2.               พิจารณารับประกัน (Underwriting) และพิจารณาการจ่ายค่าสินไหม (Claim) ที่ต้องมั่นใจว่าความเสี่ยงที่บริษัทรับเข้าและเม็ดเงินที่จะจ่ายออกไปนั้นสอดคล้องกับเงื่อนไขในการจ่ายผลประโยชน์และการจัดการความเสี่ยงที่ได้ประเมินไว้ในการคำนวณตามหลักการคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือไม่ เพราะการได้พูดคุยกับฝ่ายนี้จะทำให้แอคชัวรีเห็นภาพออกว่าความเสี่ยงที่บริษัทจะรับเข้ามานั้นมีมากน้อยแค่ไหน

3.               กฎหมาย (Legal) ที่จะช่วยร่างสัญญากรมธรรม์ให้มีความถูกต้องและครอบคลุมไปตลอดอายุสัญญาของกรมธรรม์

4.               ฝ่ายระบบดำเนินการ (Operation system) ที่จะต้องรองรับระบบปฏิบัติการของบริษัทได้

5.               คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่จะต้องอนุมัติแบบประกันแต่ละแบบก่อนที่จะออกขายสู่ท้องตลาด โดยจะต้องมีแอคชัวรีที่เซ็นกำกับรับรอง เหมือนกับวิศวกรโยธาที่เวลาจะสร้างแบบแปลนตึกที่ต้องเซ็นกำกับรับรองโครงสร้างของตึก


ปกติเราเรียกแอคชัวรีที่ทำงานหน้าบ้านว่า “โปรดักส์แอคชัวรี (Product Actuary)” หรือ “มาร์เก็ตติ้งแอคชัวรี (Marketing Actuary)” กัน


สำหรับท่านที่สนใจอยากดูคลิปการสัมภาษณ์สดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ประกันภัยในรายการก้าวทันประกันภัย ก็สามารถเข้าไปที่ YouTube แล้วพิมพ์คำว่า ก้าวทันประกันภัย คณิตศาสตร์ประกันภัยกันได้ครับ [หรือคลิ๊กที่ลิงค์ www.youtube.com/watch?v=IVZ_O5h2Yf0]


·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัยของบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

คุยข้ามจอกับรายการก้าวทันประกันภัย


 
ผมได้รับเกียรติเชิญไปออกรายการก้าวทันประกันภัยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พ.ค. 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรายการสัมภาษณ์สดประมาณ 20 – 25 นาที เกี่ยวกับธุรกิจประกันภัย และแน่นอนว่าหัวข้อที่ถูกสัมภาษณ์ถึงก็คือ “อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย” ที่เป็นอาชีพทึ่คนไทยยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแม้แต่ในแวดวงประกันภัยเท่าใดนัก

 

ในวันนั้นทางรายการจึงได้เชิญนักคณิตศาสตร์ประกันภัยตัวเป็นๆ มาออกรายการ โดยคำถามส่วนใหญ่ที่ถามก็จะเกี่ยวกับอาชีพนี้ว่าอาชีพคืออะไร ทำอะไร แล้วทำไมจึงต้องมี เป็นต้น

 

คอลัมน์ในวันนี้ ผมจึงได้ดึงสาระสำคัญของบทสนทนาในรายการที่น่าจะเป็นประโยชน์มาไว้ให้อีกที

 

“อาชีพนี้คืออาชีพที่สำคัญสำหรับธุรกิจที่รับเงินเข้ามาก่อน แต่ต้นทุนเกิดขึ้นมาทีหลัง โดยไม่รู้ว่าต้นทุนเกิดขึ้นเมื่อไร แล้วพอเกิดขึ้นแล้วก็ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเท่าไร ดังนั้น ธุรกิจที่มีลักษณะแบบนี้จึงจะต้องมีนักคำนวณเพื่อพยากรณ์หรือประมาณการต้นทุนเหล่านั้นขึ้นมา ซึ่งหลักการที่ใช้ก็คือคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial Science) ที่จะนำเอาความรู้ทางด้านสถิติความน่าจะเป็นมาประเมินผลเพื่อจะได้รู้ว่าต้นทุนจะเกิดขึ้นเมื่อไร แล้วพอเกิดขึ้นแล้วก็จะใช้วิชาทางการเงินมาคำนวณมูลค่าและราคาของสินค้าอีกทีหนึ่ง”

 

“นักคณิตศาสตร์ประกันภัย มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า แอคชัวรี (Actuary) ซึ่งบางครั้งก็จะถูกเรียกว่า นักคณิตศาสตร์พยากรณ์หรือนักคณิตศาสตร์การเงินก็ได้ และอาชีพนี้ก็ใช้หลักการคล้ายๆ กับวิศวกรการเงิน (Financial Engineering) ที่จะต้องใช้หลักการความน่าจะเป็นมาประกอบกับความรู้ทางด้านการเงิน เพียงแต่ตัวสินค้าที่ออกแบบโดยวิศวกรการเงินจะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนสินค้าที่ออกแบบโดยแอคชัวรีจะเกี่ยวกับประกันภัยหรือสวัสดิการในสังคม”

 

“มืออาชีพ (Professional) ส่วนใหญ่จะต้องผ่านกระบวนการสอบเพื่อคัดกรองและบ่มให้คนๆ นั้นมีความสามารถเฉพาะทาง ซึ่งเราจะเรียกคนที่สามารถสอบวัดระดับไปจนถึงจุดสูงสุดของอาชีพนี้ว่า “เฟลโล่ (Fellow)” โดยอาจจะต้องใช้เวลาถึง 10 – 20 ปีโดยเฉลี่ยจากการสอบผ่านครบทุกขั้นให้ได้ทั้งหมด แต่โอกาสผ่านทั้งหมดนั้นน่าจะอยู่ที่ราวๆ 3 เปอร์เซ็นต์จากที่คำนวณจากสถิติทั่วโลกมา (หมายความว่าเริ่มต้นมีคนสอบ 100 คน พอสอบไป 10 ปี อาจจะมีคนที่เป็น เฟลโล่อยู่ 3คน) และจะเห็นว่าการสอบวัดระดับเหล่านี้ก็ไม่ต่างไปกับอาชีพหมอหรือทนายความเท่าใดนัก”

 

ในระหว่างรายการ ผมก็ถูกถามขึ้นมาว่าไปจับผลัดจับผลูอย่างไรจึงได้มาทำอาชีพนี้ ซึ่งผมก็ได้ตอบไปว่า ตอนที่ผมได้เป็นวิศวกรทำงานอยู่ในโรงงานนั้นได้ไปค้นหา Top Job ที่มีอยู่ในโลก และก็ไปเจอของอเมริกาว่าอาชีพแอคชัวรีเป็นอาชีพติดอันดับ 1 ใน 5 ของอเมริกาติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ผมจึงสนใจเข้าไปศึกษาทำความเข้าใจและได้เข้ามาทำงานในเอไอเอ ในตำแหน่ง Management Associate และสอบไปด้วยจนกระทั่งได้เป็นเฟลโล่และย้ายไปทำงานอยู่ที่ฮ่องกงเป็นเวลา 6 ปี จึงค่อยกลับมาประจำอยู่ที่ประเทศไทยอีกครั้ง

 

ข่าวดีก็คือเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งจะเห็นว่าอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือแอคชัวรีนั้นได้กลายเป็นอาชีพอันดับที่ 1 ในอเมริกาในปีพ.ศ. 2556 โดยการจัดระดับนั้นจะดูจากความเครียด จำนวนชั่วโมงการทำงาน รายได้ และการได้รับการยอมรับในสังคม

 

 

ถ้าจะถามว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นมีภาพอยู่ประมาณไหน ก็คงจะตอบได้ว่าอาชีพนี้คงคาบเกี่ยวอยู่ตรงกลางระหว่าง นักเศรษฐศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักพยากรณ์ และนักการเงิน ก็เป็นได้ เพราะตั้งอาศัยองค์ประกอบหลายๆ อย่างมาวิเคราะห์อดีตและจำลองอนาคต เพื่อประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันให้ออกมาเป็นต้นทุนที่สะท้อนความเสี่ยงต่างๆ ในธุรกิจอย่างแท้จริง

 

 

สำหรับท่านที่สนใจอยากดูคลิปการสัมภาษณ์สดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ประกันภัยในรายการก้าวทันประกันภัย ก็สามารถเข้าไปที่ YouTube แล้วพิมพ์คำว่า ก้าวทันประกันภัย คณิตศาสตร์ประกันภัยกันได้ครับ [หรือคลิ๊กที่ลิงค์ www.youtube.com/watch?v=IVZ_O5h2Yf0]

 

หรือถ้าสนใจอยากรู้เพิ่มเติมถึงที่มาที่ไปของการเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ก็สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ The Top Job Secret ที่แต่งโดยอาจารย์พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน หรือพิมพ์คำว่า นักคณิตศาสตร์ประกันภัยใน Facebook เพื่อกด Like ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ กันครับ

 

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัยของบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]