วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) – ตอนที่ 1 (ความสำคัญของการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน)


 

ธุรกิจประกันภัยนั้นคือธุรกิจที่บริหารความเสี่ยง (Risk Management) ซึ่งหัวใจของธุรกิจนี้จะอยู่ที่ “การจัดการความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Risk Management)” ของบริษัทประกันภัยเป็นหลัก โดยสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษก็คือการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) นั่นเอง

 

ไม่แน่ใจว่าเคยได้ยินตัวอักษรสามตัวที่เขียนว่า “ALM” กันมาก่อนหรือไม่ แต่คำๆ นี้เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการการเงิน นั่นก็เพราะว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ (Asset) และหนี้สิน (Liability) นั่นเอง ซึ่งวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งบริษัทโดยส่วนใหญ่นั้นก็ทำธุรกิจเพื่อที่จะมีสินทรัพย์ (Asset) ให้มากกว่าหนี้สิน (Liability) เท่าที่จะมากได้ และนั่นก็หมายถึงการทำให้มีส่วนของผู้ถือหุ้นมากเข้าไว้เท่านั้นเอง (Maximize the Equity)

 

ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) = สินทรัพย์ (Asset) – หนี้สิน (Liability)

 


 

ทีนี้ถ้าเราแปลกันตรงตัวของคำว่า Asset Liability Management ก็จะหมายความว่าการจัดการสินทรัพย์กับหนี้สิน แต่ในที่นี้จะเป็นการบริหารจัดการ“ความสัมพันธ์” ของสินทรัพย์กับหนี้สินซะมากกว่า และตัวย่อของคำนี้ก็คือ ALM ซึ่งมีการจัดสอนกันจนเป็นหนึ่งในวิชายอดฮิตของแอคชัวรีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยกันเลยทีเดียว

 

การทำ ALM นั้นก็ยิ่งมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นภายในกรอบของ RBC (Risk Based Capital)

 

ALM มีความสำคัญกับทุกวงการครับ และยิ่งมีความสำคัญมาก จนถึงขั้นมากที่สุดในวงการประกันภัย เพราะถ้าคร่ำหวอดอยู่กับวงการมานาน จะรู้ว่าบริษัทประกันภัยหลายแห่งในโลกนั้นได้ปิดกิจการหรือล้มละลายก็เพราะว่าทำ ALM ได้ไม่รัดกุมเพียงพอ และการทำ ALM นั้นก็ยิ่งมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นภายในกรอบของ RBC (Risk Based Capital) ที่ถูกกำหนดให้นำมาใช้ เรียกได้ว่าถ้าทำ ALM ได้ไม่ดีก็จะส่งผลให้บริษัทต้องถือ “มูลค่าเงินกองทุนขั้นต่ำ” ที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่งผลให้คนที่ทำ RBC หนาวกันไปตามๆ กัน

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินของธุรกิจประกันภัย เพราะบริษัทประกันภัยเมื่อเก็บเบี้ยประกันมาจากลูกค้าแล้ว ก็คงจะไม่เก็บใส่ตุ่มเอาไว้เฉยๆ แต่บริษัทจะเอาเงินเหล่านั้นไปลงทุนให้มีผลงอกเงยขึ้นมา เบี้ยประกันและดอกเบี้ยที่ได้จากการลงทุนเหล่านั้นก็จะกลายเป็นสินทรัพย์ของบริษัทนั่นเอง และสินทรัพย์เหล่านี้จะถูกนำไปจ่ายค่าสินไหมทดแทน (claim) ให้กับลูกค้าเมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ซึ่งค่าสินไหมเหล่านี้ก็คือหนี้สิน (Liability) ที่บริษัทต้องตั้งเอาไว้นั่นเอง

 

บริษัทประกันภัยจึงต้องแน่ใจว่าสินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่นั้นจะสามารถนำออกมาจ่ายเป็นเงินเมื่อยามที่บริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับลูกค้า ซึ่งนั่นก็หมายความว่าสินทรัพย์จะต้องประคองหนี้สินที่บริษัทมีอยู่ได้ ในทางปฏิบัติแล้วเราจะต้องจับกระแสเงินสดที่จะไหลออกมาจากสินทรัพย์ให้เข้าคู่กับกระแสเงินสดของหนี้สินที่จะไหลออกในแต่ละช่วงระยะเวลาให้ดี (Matching Asset with Liability) และสำหรับการประกันภัยแล้ว การจะรู้ว่าจะต้องจ่ายเงินออกในช่วงไหนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยทีเดียว แอคชัวรีจะต้องอาศัยทฤษฎีความน่าจะเป็นและสถิติประยุกต์เข้ามาช่วยจัดการในเรื่องนี้

 

ความรู้ในด้านการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน (ALM) จึงเป็นเทคนิคเพื่อใช้สำหรับการจัดการความเสี่ยงในการบริหารงานและการลงทุนทุกประเภท เนื่องจากไม่มีธุรกิจและการลงทุนใดที่ไร้ซึ่งความเสี่ยง มีแค่ว่าจะเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยก็เท่านั้น ซึ่งการประเมินผลประกอบการและราคาหุ้นในสมัยนี้ควรจะรวมต้นทุนของการจัดการความเสี่ยงเหล่านี้เข้าไปด้วย

 

ถ้าท่านใดมีข้อสงสัย ต้องการให้คำแนะนำติชม หรือมีหัวข้อน่าสนใจที่อยากให้เขียนลงในคอลัมน์นี้ สามารถส่งมาได้ที่ tommy.pichet@gmail.com

 

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

 

 

 

วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ภาพรวมของธุรกิจประกันวินาศภัย


ปกติแล้ว เราจะเรียกประกันภัยที่เกี่ยวกับสิ่งของว่า “การประกันวินาศภัย” ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว เราสามารถแบ่งออกได้ตามสิ่งของที่ประกัน เช่น รถ เรือ บ้าน หรือแม้แต่ลักษณะของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว อันเป็นเหตุทำให้เกิดความเสียหายกับสิ่งของ เป็นต้น ถ้าจะกล่าวเป็นภาษาทางการ เราจะบอกว่าประกันวินาศภัยคือ การที่ผู้รับประกันภัยทำสัญญายินยอมที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือชดใช้เงินจำนวนหนึ่งในกรณีที่เกิดความเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั่นเอง 

 
ช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นจะต่างจากของธุรกิจประกันชีวิตตรงที่ ธุรกิจประกันวินาศภัยจะขายผ่านโบรกเกอร์ถึงประมาณ 50% ส่วนช่องทางหลักๆ ที่เหลือจะเป็นตัวแทน ธนาคาร และขายตรงอย่างละประมาณ 12%
 

สำหรับประเทศไทยนั้น เราได้แบ่งธุรกิจประกันวินาศภัยออกเป็น 4 หมวด ดังนี้

1.               การประกันภัยรถยนต์

2.               การประกันภัยอัคคีภัย

3.               การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง

4.               การประกันภัยเบ็ดเตล็ด
 

การประกันภัยรถยนต์

เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายบังคับให้ทุกคนที่มีรถยนต์จะต้องมีประกันรถยนต์ด้วย จึงแบ่งการประกันรถยนต์ออกเป็นภาคบังคับและภาคสมัครใจ  โดยในรอบปี 2555 นั้น ภาคบังคับมีเบี้ยประกันภัยรับถึงประมาณ 13,000 ล้านบาท และภาคสมัครใจมีเบี้ยประกันภัยรับถึงประมาณ 90,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นหมวดที่มีความสำคัญมากที่สุดในธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทยเรา
 

การประกันภัยอัคคีภัย

การประกันอัคคีภัยนั้นเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่าการประกันไฟ  ซึ่งก็มีแรงดีดตัวให้เติบโตเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยในรอบปี 2555 นี้ก็เกือบโตมาในอัตรา 26% ทำให้เบี้ยประกันภัยรับสูงเกือบถึง 10,000 ล้านบาทแล้ว

 
การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง

การประกันภัยประเภทนี้ คือ การประกันความเสียหายแก่เรือและทรัพย์สินหรือสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ทางทะเลแต่เพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงการขนส่งอื่นๆ เช่น ทางอากาศและทางบกที่ต่อเนื่องกับขนส่งทางทะเลด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัยในตัวเรือเอง หรือประกันภัยสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเลก็ตาม โดยเบี้ยรับประกันภัยในส่วนนี้มีประมาณ 5,000 ล้านบาทในรอบปี 2555

 
การประกันภัยเบ็ดเตล็ด

การประกันภัยเบ็ดเตล็ด คือการประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากอุบัติเหตุ หรือเกิดจากเหตุที่มิได้คาดหมายไว้ ซึ่งอยู่นอกเหนือความคุ้มครองจากการการประกันภัยรถยนต์ การประกันภัยอัคคีภัย หรือการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง โดยการประกันภัยเบ็ดเตล็ดที่มีอยู่ในประเทศไทยตอนนี้มีหลายชนิด และมีขายอยู่ในธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทยถึงมากกว่า 41 ประเภท เช่น การประกันภัยความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก หรือการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ก็จัดอยู่ในหมวดเบ็ดเตล็ด เป็นต้น และเป็นที่น่าจับตามองว่าสินค้าในหมวดนี้ได้เติบโตอย่างรวดเร็วมากกว่าหมวดอื่นๆ โดยในรอบปี 2555 ที่ผ่านมานั้น สินค้าในหมวดนี้โตถึง 38% และมีเบี้ยประกันภัยรับถึงมากกว่า 60,000 ล้านบาทแล้ว
 

โดยภาพรวมแล้วธุรกิจประกันวินาศภัยนั้นคงจะมียอดขายทะลุ 2 แสนล้านบาทต่อปีเป็นแน่ เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้เป็นฟันเฟืองที่ช่วยให้การดำเนินธุรกิจขับเคลื่อนไปได้ถึงเป้าหมาย รวมถึงทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปได้อย่างราบรื่นในวันที่เกิดเหตุที่คาดไม่ถึง

 
สิ่งที่เป็นจุดเด่นของธุรกิจประกันวินาศภัยคือสินค้าส่วนใหญ่เป็นการขายแบบปีต่อปี หมายถึงสินค้าจะหมดอายุภายใน 1 ปี จึงทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายกว่าการซื้อประกันชีวิตบางประเภท อีกทั้งผู้ซื้อสามารถมีประสบการณ์จากการใช้สินค้าของธุรกิจประกันวินาศภัยมากกว่าสินค้าของธุรกิจประกันชีวิตที่บางครั้งไม่ได้มีประสบการณ์จากการใช้เพราะแบบประกันบางประเภทจะต้องรอให้เสียชีวิตก่อนถึงจะได้เงินคืนก็มี

 
·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

 

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิต


การประกันชีวิต เป็นวิธีการที่บุคคลกลุ่มหนึ่งร่วมกันเฉลี่ยภัยอันเนื่องจากการตาย การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และการสูญเสียรายได้ในยามชรา โดยที่เมื่อบุคคลใดต้องประสบกับภัยเหล่านั้น ก็ได้รับเงินเฉลี่ยช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว โดยบริษัทประกันชีวิตจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการนำเงินก้อนดังกล่าวไปจ่ายให้แก่ผู้ได้รับภัย
 

ธุรกิจประกันชีวิตนั้น สามารถแบ่งออกได้ตามหมวดหมู่จากลักษณะของการออกกรมธรรม์ให้ลูกค้าได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.               การประกันชีวิตประเภทรายสามัญ – เป็นการประกันชีวิตรายบุคคล (หนึ่งกรมธรรม์จะมีชื่อผู้เอาประกันภัยได้เพียง 1 คน) ที่เห็นได้ตามโฆษณาส่วนใหญ่ และในการพิจารณารับประกันชีวิตนั้นอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจสุขภาพก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท และมีการชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี, ราย 6 เดือน, ราย 3 เดือน หรือรายเดือน

2.               การประกันชีวิตประเภทกลุ่ม - เป็นการประกันชีวิตที่กรมธรรม์หนึ่งจะมีผู้เอาประกันชีวิตร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ส่วนมากจะเป็นกลุ่มของพนักงานบริษัท ในการพิจารณารับประกันอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท การประกันชีวิตกลุ่มนี้อัตราเบี้ยประกันชีวิตจะต่ำกว่าประเภทสามัญและประเภทอุตสาหกรรม

3.               การประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรม - เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำ โดยทั่วไปตั้งแต่ 10,000 - 30,000 บาท เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ เช่น คนงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น การชำระเบี้ยประกันภัยจะชำระเป็นรายเดือน และไม่มีการตรวจสุขภาพ ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตจึงมีการกำหนดว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหลังจากที่ได้ทำประกันชีวิตไปไม่นาน บริษัทจะไม่จ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้ แต่จะคืนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ชำระมาแล้วทั้งหมด ระยะเวลาดังกล่าวที่บริษัทไม่จ่ายเงินเอาประกันภัยนั้นเรียกว่า “ระยะเวลารอคอย (waiting period)”

 
แบบประกันชีวิตนั้นยังสามารถแบ่งประเภทออกมาเป็นแบบที่ชำระเบี้ยครั้งเดียว (Single Premium) และแบบที่ชำระเบี้ยรายงวด (Regular Premium)

1.               แบบประกันที่ชำระเบี้ยครั้งเดียว (Single Premium) เป็นแบบที่จ่ายเบี้ยประกันภัยเพียงก้อนเดียว แต่มีระยะเวลาคุ้มครองจนครบกำหนดสัญญา ยกตัวอย่างเช่น แบบประกันภัยที่ชำระเบี้ยครั้งเดียวแต่คุ้มครอง 10 ปี ก็เหมือนกับการไปซื้อพันธบัตรที่มีระยะเวลาลงทุน 10 ปี แต่สิ่งที่แตกต่างกันของผลิตภัณฑ์ประกันภัยคือการมีความคุ้มครองจากทุนประกันชีวิต เป็นต้น และแบบประกันแบบนี้จะมีราคาผันผวนตามอัตราดอกเบี้ยในตลาด เพราะราคาพันธบัตรคือต้นทุนของสินค้าประกันภัยตัวนี้

2.               แบบประกันที่ชำระเบี้ยรายงวด (Regular Premium) เป็นแบบที่มีการจ่ายเบี้ยประกันภัยมากกว่า 1 ครั้งซึ่งระยะเวลาคุ้มครองนั้นไม่จำเป็นจะต้องเท่ากับจำนวนงวดที่จ่ายก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น แบบประกันภัยที่ชำระเบี้ย 15 ปีแต่คุ้มครอง 30 ปี แบบประกันที่ชำระเบี้ย 20 ปีแล้วคุ้มครองตลอดชีวิต หรือแบบประกันที่ชำระเบี้ยตลอดชีวิตและคุ้มครองตลอดชีวิต เป็นต้น สำหรับแบบประกันแบบนี้จะจำแนกเบี้ยประกันภัยออกเป็น “เบี้ยประกันภัยปีแรก (first year premium)” และ “เบี้ยประกันภัยต่ออายุ (renewal year premium) และเนื่องจากค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของบริษัทประกันชีวิตจะมาจากกรมธรรม์ในปีแรก จึงทำให้จำนวนเบี้ยประกันภัยต่ออายุนั้นมีความสำคัญมากกับธุรกิจประกันชีวิต
 

เบี้ยประกันภัยในปีที่ผ่านมาของธุรกิจประกันชีวิตนั้นมีค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 19
 
เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 82,944 ล้านบาท
เบี้ยประกันภัยต่ออายุ 260,811 ล้านบาท
เบี้ยประกันภัยชำระเบี้ยครั้งเดียว 47,603 ล้านบาท

 
เป็นที่น่าสนใจว่าคนไทยในประเทศประมาณ 3 ใน 4 ที่ยังไม่ได้มีการทำประกันชีวิต และถึงแม้ได้มีการทำประกันชีวิตแล้ว ก็อาจจะยังมีความคุ้มครองที่ไม่เพียงพอ เพราะปกติแล้วคนเราจะคำนวณความคุ้มครองประมาณ 10 เท่าของรายได้ต่อปี ซึ่งก็หมายความว่าถ้าเกิดคนที่หาเลี้ยงครอบครัวเป็นอะไรไป คนข้างหลังจะมีเงินใช้อยู่ประมาณ 10 ปี เพื่อที่จะไปตั้งตัวและปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตอยู่เองได้ โดยที่ไม่มีคนๆ นั้นอยู่
  

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

 

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

โครงสร้างและลักษณะอุตสาหกรรมของกลุ่มธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย

 
การที่จะทำความรู้จักกับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมใดๆ นั้น เราควรจะเริ่มจากการทำความเข้าใจโครงสร้างและลักษณะอุตสาหกรรมเหล่านั้นก่อน ซึ่ง

โครงสร้างและลักษณะอุตสาหกรรมของแต่ละกลุ่มธุรกิจนั้นก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้ากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงกฎหมายในการกำกับดูแลธุรกิจเองก็ตาม

 
ธุรกิจประกันภัยก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีโครงสร้างและลักษณะอุตสาหกรรมที่แตกต่างกับกลุ่มธุรกิจอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าของบริษัทประกันภัยก็คือ “กระดาษ” ที่ระบุถึงเงื่อนไขต่างๆ ในการทำข้อตกลงของคู่สัญญา ที่เข้าหลักวัตถุประสงค์ของการประกันภัย ซึ่งถ้าเงื่อนไขที่ระบุใน “กระดาษ” นั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตคน เราจะเรียกว่า “ประกันชีวิต” แต่ถ้าเงื่อนไขที่ระบุใน “กระดาษ” นั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งของ เราจะเรียกว่า “ประกันวินาศภัย”

 

เงื่อนไขที่ระบุนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตคน เราจะเรียกว่า “ประกันชีวิต”
เงื่อนไขที่ระบุนั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งของ เราจะเรียกว่า “ประกันวินาศภัย”

 

ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจประกันภัยนั้นสามารถจำแนกออกมาได้เป็น 2 หมวดใหญ่ๆ ได้แก่

1.               ธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งแบ่งออกได้เป็นการคุ้มครองชีวิต คุ้มครองการเจ็บป่วย หรือการสะสมทรัพย์ เป็นต้น

2.               ธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งแบ่งออกได้ตามสิ่งของที่ประกัน เช่น รถ เรือ บ้าน หรือลักษณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว เป็นต้น

 
และการที่จะเข้ามาทำธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งก็แบ่งออกเป็นธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยเหมือนกัน โดยในขณะนี้จำนวนบริษัทประกันภัยในประเทศไทยนั้นมีอยู่เกือบ 100 บริษัท แบ่งเป็นประกันชีวิต 24 บริษัท และประกันวินาศภัย 71 บริษัท

 
เนื่องจากสินค้าในธุรกิจประกันภัยนั้นเป็นสินค้าที่จับต้องไม่ได้ และยากแก่การทำความเข้าใจในตัวสินค้า ช่องทางการจัดจำหน่ายของธุรกิจประกันภัยสำหรับประเทศไทยจึงยังอาศัยตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนตัวแทนประกันชีวิตแล้วถึงเกือบ 300,000 คน และจำนวนตัวแทนประกันวินาศภัยอีกประมาณเกือบ 30,000 คน

 
ส่วนนายหน้าประกันภัย (โบรกเกอร์) ประเภทบุคคลธรรมดาของประกันชีวิตและประกันวินาศภัยจะมีประมาณอย่างละ 70,000 – 80,000 คน และนายหน้าประกันภัย (โบรกเกอร์) ประเภทนิติบุคคล (รวมถึงธนาคาร) ของบริษัทประกันชีวิตจะมีประมาณ 200 แห่ง และประกันวินาศภัยจะมีประมาณ 400 แห่ง

 

 
ประมาณการทางสถิติ           จำนวนบริษัท         ตัวแทนประกันชีวิต              โบรกเกอร์ (บุคคลธรรมดา)                                โบรกเกอร์ (นิติบุคคล)
ประกันชีวิต                           24                            เกือบ 300,000 คน                  ประมาณ 70,000 คน                              ประมาณ 200 แห่ง
ประกันวินาศภัย                    71                            เกือบ 30,000 คน                    ประมาณ 80,000 คน                              ประมาณ 400 แห่ง
 

 

อย่างไรก็ตาม ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ผ่านทางธนาคารก็กำลังมาแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจประกันชีวิตที่ทางธนาคารนิยมขายประกันภัยประเภทสะสมทรัพย์ และที่ลืมไม่ได้ก็คือช่องทางการขายตรง ไม่ว่าจะเป็นทางอินเตอร์เน็ต สื่อทางจดหมาย หนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเดินเข้ามาซื้อประกันภัยกับบริษัทได้โดยตรง

 
ธุรกิจประกันภัยจึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจนี้กำลังเติบโตไปได้เรื่อยๆ ไม่ว่าตลาดหุ้นจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม เพราะคนไทยเริ่มให้ความสำคัญและเข้าใจถึงความจำเป็นในการทำประกันภัยกันมากขึ้น อีกทั้งผลิตภัณฑ์ประกันภัยในปัจจุบันนี้ก็มีความหลากหลายและครอบคลุมความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริการของประกันภัยรถยนต์ที่มีการบริการหลังการขายมากขึ้น หรือประกันพ่วงการลงทุนของทางธุรกิจประกันชีวิต
 

จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยที่ในขณะนี้คนไทยมีกรมธรรม์ประกันชีวิตถึง 17 ล้านฉบับ ในขณะที่มีกรมธรรม์ประกันวินาศภัยถึง 48 ล้านฉบับ และคาดว่าธุรกิจนี้จะมีการเติบโตมากกว่าปีละ 10 เปอร์เซ็นต์อยู่อีกนานนับทศวรรษ

 
·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]