วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2557

หน้าต่างประกันภัย – ภาษีคนโสด (ตอน จะเอาอะไรกับคนโสด)


 หน้าต่างประกันภัย – ภาษีคนโสด (ตอน จะเอาอะไรกับคนโสด)

ตอนนี้ก็โสดจนเซ็งจะตายอยู่แล้ว ยังจะเอาอะไรกับคนโสดอีก !?

นี่คงเป็นหนึ่งในเสียงตอบรับจากคนที่ได้ยินเรื่องของการที่มีแนวคิดหรือข้อเสนอให้มีการจับเก็บภาษีคนโสดให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยแนวคิดที่ว่านี้ ได้เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีคนโสดขึ้นมา โดยผู้ใดที่กำลังโสด (หรือไม่อยากโสด เพียงแต่ลงมาจากคานไม่ได้ก็เท่านั้น) ก็จะต้องถูกให้เสียภาษีเพิ่มขึ้น

เรื่องนี้จึงเป็นที่ฮือฮาและถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นอย่างมากจนกลายเป็นทอร์คออฟเดอะทาวน์ (talk of the town) ในช่วงนี้ หลายคนอาจจะบ่นว่าถ้าจะอยู่บนคานแล้วทำไมจะต้องเสียภาษีบนคานอีก อีกทั้งเรื่องนี้ยังพัวพันไปถึงเพศที่สามที่ไม่สามารถแต่งงานได้ ทำให้อาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องการแบ่งแยกชนชั้น (discriminate) ขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งโดยไม่รู้ตัว

แท้ที่จริงแล้ว เรื่องนี้มีวาระซ่อนเร้น (hidden agenda) อยู่ที่เรื่องการจัดการสัดส่วนประชากรหรือประชากรศาสตร์ของประเทศ ระหว่างคนวัยทำงานกับคนสูงอายุให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศจีนเอง ก็มีการออกระเบียบการของการมีลูก ซึ่งขึ้นกับเงื่อนไขของตระกูลโคตรเหง้าว่ามีผู้สืบสกุลมาแล้วกี่คน ถ้าต้นตระกูลมีลูกน้อย ก็อะลุ่มอล่วยให้มีลูกได้มากกว่า 1 คน แต่ถ้าต้นตระกูลของทั้งฝั่งผู้ชายและผู้หญิงนั้นมีลูกมากกว่า 1 คน แล้วก็จะต้องเสียเงินในรูปของค่าปรับหรือภาษีเพิ่มเติมในกรณีที่ครอบครัวนั้นยังมีลูกมากกว่า 1 คนขึ้นมาอีก เป็นต้น

ส่วนประเทศสิงคโปร์เองนั้นก็จะมีกฎระเบียบที่ออกมาในรูปแบบของการลดหย่อนภาษี สำหรับคนที่ไม่โสด (หรือได้แต่งงานอยู่ด้วยกัน) หนำซ้ำทางรัฐยังถึงขั้นส่งจดหมายเชิญไปถึงคนโสดที่ยังไม่แต่งงานให้มีการชุมนุมพบปะประสาคนโสดเป็นประจำทุกเดือนด้วย เพื่อที่คนในประเทศจะได้มีคู่กัน เรียกได้ว่ารัฐบาลคอยเป็นกามเทพให้เสียเอง พวกจับคู่หารัก (matchmaker) จึงค่อนข้างนิยมกันมากในสิงคโปร์

จากตัวอย่างของประเทศจีนและสิงคโปร์นั้น จะเห็นได้ทางภาครัฐได้ใช้ภาษีเป็นเครื่องจูงใจพฤติกรรมของคนในประเทศในการควบคุมปริมาณประชากรให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม โดยจีนนั้นต้องการจะจำกัดจำนวนประชากร ซึ่งตรงข้ามกับสิงคโปร์ที่ต้องการจะเร่งผลิตจำนวนประชากร

จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยเองก็กำลังจะประสบกับปัญหาที่มีประชากรผู้สูงอายุอยู่มากจากยุคเบบี้บูมเมอร์ (baby boomer) ทำให้ภาครัฐมีเงินไม่พอไปเลี้ยงคนกลุ่มนี้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไทยเริ่มจะมีลูกน้อยลง ทำให้ประชากรที่อยู่ในวัยทำงานค่อยๆ เหลือน้อยลงเมื่อเทียบกับประชากรที่อยู่ในวัยเกษียณที่กำลังเพิ่มมากขึ้น

และนั่นจึงเป็นสาเหตุที่มีแนวคิดอยากให้คนไทยหันมาแต่งงานและมีลูกกันมากขึ้น เพื่อให้เด็กที่เกิดมานี้ เป็นกำลังสำคัญในการจ่ายภาษีเข้ารัฐ และเกื้อหนุนกลุ่มคนเกษียณอายุที่ขยายตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะทำให้รัฐดูแลไม่ไหวในอนาคตอันใกล้นี้ !!!

แต่สิ่งที่แนวคิดเรื่องภาษีคนโสดนี้ได้มองข้ามไปก็คือ การมีลูกมากไม่ได้หมายความว่าจะเก็บได้ภาษีมากในอนาคต มิหนำซ้ำยังอาจจะเป็นภาระของรัฐบาลในการจัดงบประมาณเพื่อขัดเกลาส่งเสริมการศึกษาให้อยู่ในระดับมาตรฐาน เพราะถ้าบุคคลากรของประเทศได้ผลิตออกมาอย่างไม่มีคุณภาพ ไม่เพียงแต่รัฐจะจัดเก็บภาษีไม่ได้ แต่อาจนำมาซึ่งปัญหาของยาเสพติด ทะเลาะวิวาท รวมถึงการโจรกรรมต่างๆ นานาในภายหลัง

สิ่งสำคัญที่ควรจะพิจารณาในการวางแผนประชากรและจัดเก็บภาษีสำหรับอนาคตก็คือ การพัฒนาการวางแผนการเงินอย่างบูรณาการและยั่งยืนของประชาชนในประเทศ ซึ่งภาครัฐสามารถเตรียมความพร้อมของคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ (baby boomer) ที่กำลังจะเกษียณ ให้รู้จักการออมสำหรับยามเกษียณได้ ถ้าลองคิดตามกันดูแล้วก็คงจะเห็นว่าวิธีการนี้น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ดีที่สุด

ดังนั้น แทนที่จะไปเก็บ “ภาษีคนโสด” เพื่อแก้ปัญหาประชากรผู้สูงอายุในอนาคต ผมว่า “การเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันชีวิต” น่าจะเป็นทางเลือกที่แก้ปัญหาประชากรผู้สูงอายุได้เหมือนกัน แต่ดีกว่าการไปเก็บภาษีจากคนโสดหลายเท่า เนื่องจากการไปจัดเก็บภาษีคนโสดนั้นถึงแม้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างหนึ่ง แต่มันอาจไปทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีกหลายอย่าง เรียกได้ว่าการเก็บภาษีคนโสดเป็นการแก้ปัญหากันไม่ถูกจุดเสียมากกว่า

หากภาครัฐใส่เครื่องจูงใจให้ประชาชนหันมาออมเงินกันมากขึ้น ขอให้แต่ละคนมีการวางแผนทางการเงินที่ดีพอ ไม่ต้องรอพึ่งพึงสวัสดิการจากรัฐเมื่อยามเกษียณก็ได้ เพราะอนาคตมันไม่แน่นอน จริงไหมครับ?


·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – Young ASEAN Manager Award (YAMA) ตอนที่ 2


คุยกับแอคชัวรี – Young ASEAN Manager Award (YAMA) ตอนที่ 2

ครั้งที่แล้วเราได้กล่าวถึงความเป็นมาของรางวัลระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรางวัลนี้เป็นรางวัลสำหรับผู้บริหารดีเด่นรุ่นใหม่ประจำภูมิภาคอาเซียน (Young ASEAN Manager Award) ซึ่งในแต่ละปีจะมีการประกวดคัดเลือกผู้สมัครในแถบประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเพื่อเลือกผู้ชนะจากมาเพียง 1 คนเท่านั้น

คนไทยที่ได้รับรางวัลนี้เป็นคนแรก ในปี พ.ศ. 2548 คือคุณ สาระ ล่ำซำ ซึ่งปัจจุบันนี้ ท่านได้ดำรงเป็นประธานบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตและเป็นประธานสมาคมประกันชีวิตไทยคนปัจจุบัน จนมาอีกทีในปี พ.ศ. 2555 ที่ผมได้รับการสนับสนุนให้เข้ามาแข่งขันจนได้เป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัล YAMA บนเวทีภูมิภาคอาเซียน

ผมขอดึงตัวอย่างของบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมจากการได้รับรางวัลนี้ เผื่อเป็นแนวคิดให้กับคนที่ต้องการสมัครแข่งขันรางวัลนี้เพื่อเป็นเกียรติประวัติของประเทศไทยเรากันบ้างครับ

การดึงคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงเข้ามาทำงานในสายธุรกิจประกันภัยนั้นเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับภาคธุรกิจอยู่แล้ว ทำไมคุณถึงเลือกเข้ามาทำงานในสายนี้ และเข้ามาได้อย่างไร คุณคิดอย่างไรกับธุรกิจประกันภัยในตอนนั้น  และคุณคิดว่าอะไรที่สามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยและดึงดูดคนเก่งๆ เหล่านั้นเข้ามาทำงานในสายนี้

ผมเริ่มต้นการทำงานจากการเป็นวิศวกรมาก่อน จนกระทั่งปีค.ศ. 2000 ที่ผมตัดสินใจเปลี่ยนหางเสือมาอยู่ในธุรกิจประกันภัยโดยเริ่มต้นจาก Management Associate ผมคิดว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของประกันภัยที่มีต่อผู้คนและสังคมนั้นจะเป็นตัวกระตุ้นและยกระดับให้คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงได้เข้ามาในสายงานธุรกิจประกันภัยกันมากขึ้น ขณะเดียวกัน พวกเขาเหล่านี้จะสามารถช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยได้อีกทางหนึ่งด้วย

ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา ได้เปิดโอกาสให้ผมได้เก็บเกี่ยวความรู้ทางด้านธุรกิจประกันภัย ภาวะของความเป็นผู้นำ และความสามารถเฉพาะทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจกับการได้เป็นคนรุ่นใหม่ที่บริษัทได้ตระหนักถึงศักยภาพและความสามารถ

ผู้นำแบบไหนที่คุณอยากจะเป็น อะไรเป็นสิ่งที่คุณได้เรียนรู้และช่วยให้คุณเติบโตเป็นผู้นำที่ดีได้

ผมเชื่อว่าผู้นำที่เก่งจริงคือคนที่สามารถส่งเสริมให้คนรอบข้างได้ใช้ศักยภาพของตนเองได้มากที่สุด ซึ่งอาจทำได้โดยการให้กำลังใจ กระตุ้น และโน้มน้าว รวมไปถึงการวางตัวคนให้เหมาะสมกับงาน เวลา โอกาส และสถานที่นั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ ผู้นำที่ดีควรจะรู้จักจุดแข็งและจุดอ่อนของคนในทีมเพื่อที่จะหาโอกาสและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการแสดงศักยภาพของเขาได้

การมีวิสัยทัศน์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ผู้นำควรจะมีความรู้เชิงลึกของธุรกิจที่ตนเองทำอยู่และมีทิศทางที่ชัดเจนเพื่อที่จะนำทีมของตนมุ่งไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการเป็นผู้นำคือการใช้หลักการ 3 H ซึ่งก็คือ Hand (มือ), Head (หัวสมอง), และ Heart (ใจ) เนื่องจากผู้นำจำเป็นจะต้องมี มือผู้ช่วยที่ดีในการดำเนินงานให้ภารกิจสำเร็จลุล่วง และต้องมีผู้ช่วยที่เป็นมันสมองในการคิดวางแผนกำหนดกลยุทธ์ และที่ขาดไม่ได้ก็คือความสามารถของผู้นำที่จะเอาชนะใจของคนในทีมได้เพื่อเป็นแรงขับดันให้ไปข้างหน้าด้วยกัน

เทคนิคและหลักการอื่นๆ เช่นการบริหารเวลา (time management) การจัดการโครงการ (project management) กฎ 80/20 (priority management) และ การบริหาร 5M (man, machine, material, management, and money) ก็เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์และช่วยให้ผมจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มภาวะความเป็นผู้นำได้


ช่วยบอกเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวบ้าง เช่น เรื่องที่สนใจ การรักษาสมดุลชีวิตระหว่างชีวิตงานกับชีวิตส่วนตัว หรือ คติพจน์ประจำใจ เป็นต้น

ผมสนใจในเรื่องของการเขียนมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือหรือนิตยสารเพราะมันเป็นตัวกลางในการทำให้ผมสามารถติดต่อสื่อสารความรู้ที่ผมมีเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัยให้กับคนที่ไม่ใช่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือคนที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจประกันภัย หนังสือที่เขียนเล่มใหม่ล่าสุดและได้ติดอันดับหนังสือขายดีคือ The Top Job Secret – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก ซึ่งได้เขียนขึ้นเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยและส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยในสังคมไทย

ผมพยายามทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่ แต่เมื่อมีเวลาว่างผมจะใช้เวลาส่วนตัวในการไปว่ายน้ำ เพราะผมเห็นว่ามันเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผมสามารถออกกำลังกายไปด้วยและทำสมาธิคิดทบทวนเรื่องราวต่างๆ ไปได้ด้วยในขณะที่ว่ายอยู่ในน้ำ สำหรับการรักษาสมดุลชีวิตระหว่างชีวิตงานและชีวิตส่วนตัวนั้น ผมจะยึดหลักของ 6P (Proper Prior Planning Prevent Poor Performance) ที่ช่วยให้ผมสามารถจัดลำดับความสำคัญ จัดการ และแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ผมชอบอ่านหนังสือเพื่อช่วยเพิ่มแนวคิดให้มองได้กว้างและไกลสำหรับการใช้ชีวิต คติพจน์ประจำใจของผมคือ “เมื่อวานนั้นเป็นความทรงจำของวันนี้ แต่แรงบัดบาลใจของวันนี้คืออนาคตของวันข้างหน้า (Yesterday is today’s memory, tomorrow is today’s inspiration)” ผมถือประโยคนี้เอาไว้ในใจเสมอเพราะมันเป็นสิ่งเตือนใจไม่ให้ผมติดกับดักกับความสำเร็จที่ผ่านมาในอดีต และทำให้ผมคิดที่จะพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อการเติบโตในวันข้างหน้า

รางวัล YAMA เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีภาวะความเป็นผู้นำสูง มีความสามารถในการบริหารจัดการคน มีความคิดอย่างบูรณาการ และมีความทุ่มเทให้กับบริษัทไปตลอดจนถึงธุรกิจประกันภัย ผู้สมัครจะต้องมีอายุไม่เกิน 40 ปี และมีความสามารถพร้อมกับประสบการณ์รอบด้าน ที่แสดงได้ถึงศักยภาพของความเป็นผู้นำในธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งเป็นบุคคลที่สามารถเป็นตัวอย่างให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ได้

โดยในปีพ.ศ. 2556 ที่ผ่านมานี้ ได้มีการจัดประกวดกันขึ้นที่ประเทศเวียดนาม โดยมีผู้ผ่านเข้ารอบ 3 ประเทศสุดท้ายจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม โดยประเทศที่ได้รับรางวัล Young ASEAN Manager Award (YAMA) ประจำปี พ.ศ. 2556 นี้มาจากประเทศเวียดนาม ที่ได้แสดงถึงศักยภาพ วิสัยทัศน์ และความเป็นผู้นำในการแข่งประกวดในครั้งนี้

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีคนไทยขึ้นไปรางวัลนี้อีกครั้งหนึ่ง ขอเอาใจช่วยให้กับวงการประกันภัยของประเทศไทยครับ

 ·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]


วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – Young ASEAN Manager Award (YAMA) ตอนที่ 1



คุยกับแอคชัวรี – Young ASEAN Manager Award (YAMA) ตอนที่ 1 

รางวัลผู้บริหารดีเด่นรุ่นใหม่ประจำภูมิภาคอาเซียน (Young ASEAN Manager Award) เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีภาวะความเป็นผู้นำสูง มีความสามารถในการบริหารจัดการคน มีความคิดอย่างบูรณาการ และมีความทุ่มเทให้กับบริษัทไปตลอดจนถึงธุรกิจประกันภัย ซึ่งในแต่ละปีจะมีการประกวดคัดเลือกผู้สมัครในแถบประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเพื่อเลือกผู้ชนะจากมาเพียง 1 คนเท่านั้น

ผู้สมัครจะต้องมีอายุไม่เกิน 40 ปี และมีความสามารถพร้อมกับประสบการณ์รอบด้าน ที่แสดงได้ถึงศักยภาพของความเป็นผู้นำในธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งเป็นบุคคลที่สามารถเป็นตัวอย่างให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ได้

รางวัลนี้จึงเป็นที่หมายปองของคนในธุรกิจประกันภัย ซึ่งคนไทยที่ได้รับรางวัลนี้เป็นคนแรก ในปี พ.ศ. 2548 คือคุณ สาระ ล่ำซำ ซึ่งปัจจุบันนี้ ท่านได้ดำรงเป็นประธานบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตและเป็นประธานสมาคมประกันชีวิตไทย จนมาอีกทีในปี พ.ศ. 2555 ที่ผมได้รับการสนับสนุนให้เข้ามาแข่งขันจนได้เป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัล YAMA บนเวทีภูมิภาคอาเซียน

คงต้องยอมรับว่า การได้รับรางวัลนี้ต้องอาศัยความพยายามและไหวพริบค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้สมัครจากแต่ละประเทศนั้นมีความสามารถไม่ด้อยไปกว่ากันเลย ต่างกันก็ตรงที่การแสดงวิสัยทัศน์และศักยภาพให้กรรมการได้เห็น ซึ่งในปีนั้นก็ได้มีกรรมการที่เป็นคนไทยอยู่เพียง 1 ท่าน จากบรรดากรรมการทั้งหมด 10 ท่าน ทำให้รู้สึกโชคดีมากที่ได้รับการคัดเลือกจากกรรมการให้ชนะเลิศในการแข่งครั้งนี้

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราลองมาดูตัวอย่างของบทสัมภาษณ์ของหนังสือพิมพ์ต่างประเทศฉบับหนึ่ง หลังจากที่ได้รับรางวัลนี้กันครับ

รางวัลผู้บริหารดีเด่นรุ่นใหม่ของอาเซียน (Young ASEAN Manager Award) นี้เป็นรางวัลที่ให้เป็นเกียรติประวัติสำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ได้ทุ่มเทและสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับกับธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน ช่วยยกตัวอย่าง 2 สิ่งที่เป็นจุดเด่นของคุณซึ่งทำให้เอาชนะผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดในปีนี้ได้ครับ ?

มันเป็นเกียรติอย่างมากสำหรับผมที่ได้ถูกเสนอชื่อขึ้นมาในการแข่งขันครั้งนี้พร้อมๆ กับผู้สมัครท่านอื่นๆ ซึ่งผมก็เข้าใจว่าความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานของผู้สมัครท่านอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ก็มีมากมายและโดดเด่นไม่แพ้กัน

สำหรับผมแล้ว สิ่งแรกที่ทำให้คณะกรรมการประทับให้ผมก็คงจะเป็นเรื่องพื้นฐานของผู้บริหารทั่วไปซึ่งก็คือ “แรงขับเคลื่อนจากภายใน” หรือที่เรียกกันว่า passion นั่นเอง ผมได้เริ่มต้นอาชีพในธุรกิจประกันภัยเมื่อ 13 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากการเป็น Management Associate ของ AIA ซึ่งก็ทำให้ผมมีโอกาสที่จะเรียนรู้งานจากหลากหลายสายงานต่างๆ และทำให้ผมตระหนักว่าประกันภัยเป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งที่ช่วยเหลือสังคมและผู้คนเมื่อยามที่เขาเดือดร้อน และนี่ก็คือสิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้ผมเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจประกันภัย เพื่อที่จะช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน โดยลดช่องว่างที่ขาดหายไปสำหรับคนที่ยังไม่มีประกัน

สิ่งที่สองคือ ผมได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้พัฒนาไปข้างหน้าไปพร้อมๆ กับบริษัท ผมได้รับเชิญให้ไปช่วยเหลือหน่วยงานต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ดำรงตำแหน่งอุปนายกของสมาคมคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย ประธานอนุกรรมการของคณิตศาสตร์ประกันภัยในสมาคมประกันชีวิตไทย บรรณาธิการของ “สวัสดีแอคชัวรี” ซึ่งเป็นนิตยสารรายไตรมาสสำหรับธุรกิจประกันภัย รวมถึงเป็นตัวแทนของสมาคมคณิตศาสตร์ประกันภัยในอเมริกาสำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ ผมได้รับเกียรติให้มีโอกาสเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรในงานต่างๆ กับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรัฐทุกครั้งเมื่อมีเวลาอีกด้วย

ต้องขอขอบคุณสมาคมประกันชีวิตไทยที่เปิดโอกาสให้ผมได้แสดงความสามารถและศักยภาพเต็มที่ในการทำงานให้กับบริษัทและธุรกิจประกันภัย จนกระทั่งผมได้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารดีเด่นรุ่นใหม่ของภูมิภาคอาเซียนอย่างทุกวันนี้

รางวัลนี้ได้รับการคาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ ได้กลายเป็นผู้นำที่มีความสำคัญให้กับธุรกิจประกันภัยในอนาคต คุณคิดว่ารางวัลระดับภูมิภาคนี้เป็นเวทีที่ดีสำหรับการกระตุ้นให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ได้ทุ่มเทและทำประโยชน์ให้กับธุรกิจประกันภัยในระยะยาวหรือไม่ ทำไม? และอะไรที่คุณคิดว่าธุรกิจประกันภัยสามารถทำและส่งเสริมให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ได้บ้าง?

จากการที่ทุกคนยอมรับในชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของรางวัลสำหรับภูมิภาคนี้ ผมเชื่อว่ารางวัลนี้จะเป็นบันไดอีกขั้นหนึ่งให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ได้ก้าวขึ้นไป เพราะนี่ถือว่าเป็นหนึ่งในรางวัลที่มีเกียรติสูงสุดในธุรกิจประกันภัยจากทุกส่วนงาน ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายกำกับดูแลหรือจากภาคธุรกิจก็ตาม ดังนั้นรางวัลนี้จะนำพาผู้บริหารรุ่นใหม่ให้ก้าวไปสู่เวทีที่กว้างขึ้นและทำประโยชน์ให้กับธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

เนื่องด้วยความสำเร็จอันยิ่งใหญ่มากับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง ผู้ชนะรางวัลนี้จะเป็นตัวแทนของผู้บริหารรุ่นใหม่ และด้วยเป้าหมายนี้ในใจ ผมเชื่อว่าผู้นำรุ่นใหม่จะถูกจูงใจให้เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะกระตุ้นให้ผู้อื่นทำประโยชน์คืนสู่สังคมและธุรกิจประกันภัยบ้าง

ธุรกิจประกันภัยก็สามารถส่งเสริมผู้บริหารรุ่นใหม่ได้โดยการกระตุ้นความสนใจของผู้บริหารรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงความสำคัญและโอกาสที่จะได้รับจากรางวัลนี้ ผู้บริหารรุ่นใหม่ควรจะได้รับโอกาสจากบริษัทให้สามารถทำประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจได้เหมือนอย่างที่ธุรกิจประกันภัยได้มอบโอกาสให้กับผม


คงจะเห็นภาพกันบ้างจากตัวอย่างบทสัมภาษณ์ข้างต้นนี้ ผมจึงอยากเชิญชวนให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ในวงการที่อายุยังไม่ถึง 40 ปี ลองไปสมัครแข่งขันรางวัลนี้เพื่อเป็นเกียรติประวัติของประเทศไทยเรากันเยอะๆ ในปีนี้ครับ

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]


วันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน การบริหารความเสี่ยงระดับครัวเรือน


คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน การบริหารความเสี่ยงระดับครัวเรือน

หนึ่งในตัววัดดัชนีของสวัสดิการทางสังคมในประเทศก็คือช่องว่างของความคุ้มครอง (Protection gap) ที่มีอยู่ในระดับครัวเรือน ซึ่งหาได้โดยการประมาณค่าของความสูญเสียทางการเงินที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นและนำมาเปรียบเทียบกับทุนประกันภัยที่มีอยู่ว่าจะมีพอหรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเหล่านี้มีได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการตายที่เหลือภาระให้คนข้างหลัง การเจ็บป่วยที่ทำให้ต้องนำเงินฉุกเฉินออกมาใช้รักษาตัว หรือแม้กระทั่งสิ่งของเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม เป็นต้น

สิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญ คือความคุ้มครองจากการสูญเสียคนในครอบครัวและทิ้งภาระให้คนข้างหลังไว้ ซึ่งสถาบันครอบครัวของประเทศนั้นเป็นที่มาของรากฐานอื่นๆ ทั้งหมด ทำให้การบริหารความเสี่ยงสำหรับประชากรในประเทศนั้นมุ่งเน้นความสำคัญไปที่การบริหารความเสี่ยงระดับครัวเรือน เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาบุคลากรของประเทศให้ขับเคลื่อนไปได้ต่อเนื่อง

และเพื่อให้การประกันภัยที่ว่านี้เข้าถึงแต่ละระดับครัวเรือนมากที่สุด แบบประกันภัยจึงจะต้องมีลักษณะที่ซื้อง่ายขายคล่อง ไม่ต้องมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนเหมือนกับแบบประกันอื่นๆ ซึ่งการจะทำแบบนี้ให้เป็นรูปเป็นร่างได้จึงต้องเริ่มจากการประกันอุบัติเหตุที่มีราคาไม่แพงนัก

สิ่งที่ต้องการให้ความคุ้มครองหลักในการประกันภัยแบบนี้ก็คือการจ่ายเงินเอาประกันภัยเมื่อมีการตายจากอุบัติเหตุขึ้น และจากนั้นจึงสามารถใส่เครื่องปรุงต่างๆ เพื่อให้แบบประกันมีประโยชน์และมีสีสันขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ ทางคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  ได้มีโครงการที่จะส่งเสริมเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงระดับครัวเรือนในรูปแบบของการประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ขึ้น โดยได้ร่วมมือกับภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย ในการออกแบบการประกันที่เน้นความคุ้มครองทางด้านอุบัติเหตุ

รายละเอียดของการประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) มีดังนี้

ข้อตกลงคุ้มครอง
จำนวนเงินเอาประกันภัย (บาท)
ข้อ 1. ผลประโยชน์การเสียชีวิต การสูญเสียมือ เท้า  การสูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกายและ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
100,000
ข้อ 2. ผลประโยชน์การเสียชีวิต การสูญเสียมือ เท้า การสูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
50,000
ข้อ 3. ผลประโยชน์ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 120 วันแรก นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย)
10,000
เบี้ยประกันภัยรวม                                                                                                                             200   บาท/ปี


·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]