วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – Young ASEAN Manager Award (YAMA) ตอนที่ 1



คุยกับแอคชัวรี – Young ASEAN Manager Award (YAMA) ตอนที่ 1 

รางวัลผู้บริหารดีเด่นรุ่นใหม่ประจำภูมิภาคอาเซียน (Young ASEAN Manager Award) เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีภาวะความเป็นผู้นำสูง มีความสามารถในการบริหารจัดการคน มีความคิดอย่างบูรณาการ และมีความทุ่มเทให้กับบริษัทไปตลอดจนถึงธุรกิจประกันภัย ซึ่งในแต่ละปีจะมีการประกวดคัดเลือกผู้สมัครในแถบประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเพื่อเลือกผู้ชนะจากมาเพียง 1 คนเท่านั้น

ผู้สมัครจะต้องมีอายุไม่เกิน 40 ปี และมีความสามารถพร้อมกับประสบการณ์รอบด้าน ที่แสดงได้ถึงศักยภาพของความเป็นผู้นำในธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งเป็นบุคคลที่สามารถเป็นตัวอย่างให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ได้

รางวัลนี้จึงเป็นที่หมายปองของคนในธุรกิจประกันภัย ซึ่งคนไทยที่ได้รับรางวัลนี้เป็นคนแรก ในปี พ.ศ. 2548 คือคุณ สาระ ล่ำซำ ซึ่งปัจจุบันนี้ ท่านได้ดำรงเป็นประธานบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตและเป็นประธานสมาคมประกันชีวิตไทย จนมาอีกทีในปี พ.ศ. 2555 ที่ผมได้รับการสนับสนุนให้เข้ามาแข่งขันจนได้เป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัล YAMA บนเวทีภูมิภาคอาเซียน

คงต้องยอมรับว่า การได้รับรางวัลนี้ต้องอาศัยความพยายามและไหวพริบค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้สมัครจากแต่ละประเทศนั้นมีความสามารถไม่ด้อยไปกว่ากันเลย ต่างกันก็ตรงที่การแสดงวิสัยทัศน์และศักยภาพให้กรรมการได้เห็น ซึ่งในปีนั้นก็ได้มีกรรมการที่เป็นคนไทยอยู่เพียง 1 ท่าน จากบรรดากรรมการทั้งหมด 10 ท่าน ทำให้รู้สึกโชคดีมากที่ได้รับการคัดเลือกจากกรรมการให้ชนะเลิศในการแข่งครั้งนี้

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราลองมาดูตัวอย่างของบทสัมภาษณ์ของหนังสือพิมพ์ต่างประเทศฉบับหนึ่ง หลังจากที่ได้รับรางวัลนี้กันครับ

รางวัลผู้บริหารดีเด่นรุ่นใหม่ของอาเซียน (Young ASEAN Manager Award) นี้เป็นรางวัลที่ให้เป็นเกียรติประวัติสำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ได้ทุ่มเทและสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับกับธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน ช่วยยกตัวอย่าง 2 สิ่งที่เป็นจุดเด่นของคุณซึ่งทำให้เอาชนะผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดในปีนี้ได้ครับ ?

มันเป็นเกียรติอย่างมากสำหรับผมที่ได้ถูกเสนอชื่อขึ้นมาในการแข่งขันครั้งนี้พร้อมๆ กับผู้สมัครท่านอื่นๆ ซึ่งผมก็เข้าใจว่าความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานของผู้สมัครท่านอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ก็มีมากมายและโดดเด่นไม่แพ้กัน

สำหรับผมแล้ว สิ่งแรกที่ทำให้คณะกรรมการประทับให้ผมก็คงจะเป็นเรื่องพื้นฐานของผู้บริหารทั่วไปซึ่งก็คือ “แรงขับเคลื่อนจากภายใน” หรือที่เรียกกันว่า passion นั่นเอง ผมได้เริ่มต้นอาชีพในธุรกิจประกันภัยเมื่อ 13 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากการเป็น Management Associate ของ AIA ซึ่งก็ทำให้ผมมีโอกาสที่จะเรียนรู้งานจากหลากหลายสายงานต่างๆ และทำให้ผมตระหนักว่าประกันภัยเป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งที่ช่วยเหลือสังคมและผู้คนเมื่อยามที่เขาเดือดร้อน และนี่ก็คือสิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้ผมเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจประกันภัย เพื่อที่จะช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน โดยลดช่องว่างที่ขาดหายไปสำหรับคนที่ยังไม่มีประกัน

สิ่งที่สองคือ ผมได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้พัฒนาไปข้างหน้าไปพร้อมๆ กับบริษัท ผมได้รับเชิญให้ไปช่วยเหลือหน่วยงานต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ดำรงตำแหน่งอุปนายกของสมาคมคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย ประธานอนุกรรมการของคณิตศาสตร์ประกันภัยในสมาคมประกันชีวิตไทย บรรณาธิการของ “สวัสดีแอคชัวรี” ซึ่งเป็นนิตยสารรายไตรมาสสำหรับธุรกิจประกันภัย รวมถึงเป็นตัวแทนของสมาคมคณิตศาสตร์ประกันภัยในอเมริกาสำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ ผมได้รับเกียรติให้มีโอกาสเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรในงานต่างๆ กับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรัฐทุกครั้งเมื่อมีเวลาอีกด้วย

ต้องขอขอบคุณสมาคมประกันชีวิตไทยที่เปิดโอกาสให้ผมได้แสดงความสามารถและศักยภาพเต็มที่ในการทำงานให้กับบริษัทและธุรกิจประกันภัย จนกระทั่งผมได้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารดีเด่นรุ่นใหม่ของภูมิภาคอาเซียนอย่างทุกวันนี้

รางวัลนี้ได้รับการคาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ ได้กลายเป็นผู้นำที่มีความสำคัญให้กับธุรกิจประกันภัยในอนาคต คุณคิดว่ารางวัลระดับภูมิภาคนี้เป็นเวทีที่ดีสำหรับการกระตุ้นให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ได้ทุ่มเทและทำประโยชน์ให้กับธุรกิจประกันภัยในระยะยาวหรือไม่ ทำไม? และอะไรที่คุณคิดว่าธุรกิจประกันภัยสามารถทำและส่งเสริมให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ได้บ้าง?

จากการที่ทุกคนยอมรับในชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของรางวัลสำหรับภูมิภาคนี้ ผมเชื่อว่ารางวัลนี้จะเป็นบันไดอีกขั้นหนึ่งให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ได้ก้าวขึ้นไป เพราะนี่ถือว่าเป็นหนึ่งในรางวัลที่มีเกียรติสูงสุดในธุรกิจประกันภัยจากทุกส่วนงาน ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายกำกับดูแลหรือจากภาคธุรกิจก็ตาม ดังนั้นรางวัลนี้จะนำพาผู้บริหารรุ่นใหม่ให้ก้าวไปสู่เวทีที่กว้างขึ้นและทำประโยชน์ให้กับธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

เนื่องด้วยความสำเร็จอันยิ่งใหญ่มากับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง ผู้ชนะรางวัลนี้จะเป็นตัวแทนของผู้บริหารรุ่นใหม่ และด้วยเป้าหมายนี้ในใจ ผมเชื่อว่าผู้นำรุ่นใหม่จะถูกจูงใจให้เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะกระตุ้นให้ผู้อื่นทำประโยชน์คืนสู่สังคมและธุรกิจประกันภัยบ้าง

ธุรกิจประกันภัยก็สามารถส่งเสริมผู้บริหารรุ่นใหม่ได้โดยการกระตุ้นความสนใจของผู้บริหารรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงความสำคัญและโอกาสที่จะได้รับจากรางวัลนี้ ผู้บริหารรุ่นใหม่ควรจะได้รับโอกาสจากบริษัทให้สามารถทำประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจได้เหมือนอย่างที่ธุรกิจประกันภัยได้มอบโอกาสให้กับผม


คงจะเห็นภาพกันบ้างจากตัวอย่างบทสัมภาษณ์ข้างต้นนี้ ผมจึงอยากเชิญชวนให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ในวงการที่อายุยังไม่ถึง 40 ปี ลองไปสมัครแข่งขันรางวัลนี้เพื่อเป็นเกียรติประวัติของประเทศไทยเรากันเยอะๆ ในปีนี้ครับ

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น