วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์)

คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) 

จะเห็นได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ ไมโครอินชัวรันส์ได้เป็นข่าวที่ยอดฮิตหนาหูในวงการประกันภัยเกี่ยวกับการเปิดไฟเขียวของการนำ ไมโครอินชัวรันส์” ออกมาสู่ท้องตลาดให้ประชาชนทั่วไปได้ยลโฉมกันอีกครั้ง ทำให้เป็นที่วิจารณ์กันอย่างเมามันว่าประเทศไทยจะทำได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าแอคชัวรีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยก็ไม่พ้นที่จะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่จะพยายามช่วยผลักดันให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จไปตลอดรอดฝั่ง

อย่างไรก็ตาม คงมีบางคนยังสงสัยว่าไมโครอินชัวรันส์คืออะไรกันแน่ แล้วทำไมถึงต้องตื่นตัวผลักดันอยากให้มีกันนัก ซึ่งเราจะเห็นว่าในต่างประเทศก็มีการรณรงค์ให้บริษัทประกันขายไมโครอินชัวรันส์กันอยู่มาก และก็มีหลายประเทศที่เห็นว่าทำได้จนประสบความสำเร็จกันอย่างล้นหลาย
ไมโครอินชัวรันส์ จริงๆ แล้วก็คือการประกันภัยที่มีให้เห็นกันอยู่ในท้องตลาดเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่แตกต่างกันกับการประกันภัยทั่วไปก็คือ เบี้ยประกันภัยที่ต่ำและถูก” ทั้งนี้เพื่อทำให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาจับจ่ายเป็นเจ้าของกรมธรรม์ประกันภัยกับเขาได้บ้าง

เพราะการประกันภัยนั้นไม่ได้เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตของเรา ทำให้คนทั่วไปมักมองไม่เห็นความสำคัญของการทำประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกันภัยเป็นอะไรที่วัวหายล้อมคอก ถ้าไม่เจอกับตัวเองจริงๆ ก็คงไม่คิดที่จะซื้อ โดยที่คนที่มีรายได้น้อยและต้องหาเลี้ยงปากท้องนั้นคงจะเห็นการทำประกันภัยเป็นเรื่องรองเป็นแน่ ดังจะเห็นได้ชัดว่าถ้ากระดาษทิชชู่กับกรมธรรม์ประกันภัยให้เลือก คนส่วนใหญ่จะเลือกทิชชู่กันมากกว่า

ซึ่งก็จริงอยู่ที่ไมโครอินชัวรันส์นั้นเป็นประกันภัยสำหรับคนมีรายได้น้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีรายได้มากจะซื้อไม่ได้ เพียงแต่การประกันภัยที่มีเบี้ยต่ำแบบนี้ ได้ถูกออกแบบให้สามารถเข้าถึงคนที่มีรายได้น้อยโดยเฉพาะ เพื่อให้ความคุ้มครองเบื้องต้นได้ ซึ่งก็หมายถึงคนทั่วไปก็สามารถหาซื้อได้
แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการออกแบบประกันให้มีเบี้ยประกันภัยต่ำมากๆ ก็คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อ 1 กรมธรรม์นั่นเอง เพราะว่าการพิจารณารับประกันภัยต่อรายนั้นจะมีต้นทุนอยู่ไม่น้อย โดยการตรวจสุขภาพบางรายนั้นจะมีค่าใช้จ่ายเป็นพัน ทำให้ไม่เหมาะกับการออกแบบให้เบี้ยประกันภัยต่ำเป็นแน่ ดังนั้นการประกันภัยแบบนี้จึงควรตัดขั้นตอนการพิจารณารับประกันภัยออกไป ซึ่งถ้าต้องการให้เบี้ยประกันภัยถูกมากๆ แล้วจะทำให้ไม่สามารถออกแบบประกันชีวิตและประกันสุขภาพลงไปในกลุ่มนี้ได้ แบบประกันที่สามารถตัดขั้นตอนการพิจารณารับประกันภัยไปได้บ้างก็คือแบบประกันอุบัติเหตุนั่นเอง
ส่วนค่าใช้จ่ายในการออกกรมธรรม์ต่อหน่วยนั้นก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ และถ้ายอดขายที่เข้ามานั้นมีมากพอสมควรแล้วก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยถูกลงมาได้

ปัจจุบันนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้พยายามผลักดันไมโครอินชัวรันส์ให้มีเบี้ยประกันภัยต่ำอยู่ที่ 200 บาทต่อปี ที่ออกแบบมาพิเศษเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ผู้มีรายได้น้อย โดยคปภ. ช่วยสนับสนุน ในเรื่อง การให้ออกใบรับรองการประกันภัยแทนกรมธรรม์ (โดยรายละเอียดให้ศึกษาในเวปไซต์บริษัท) และขยายช่องทางการจำหน่าย ที่สามารถเลือกซื้อได้ผ่านร้านสะดวกซื้อที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้านิติบุคคล อาทิ Counterservice ที่อยู่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขา เคาน์เตอร์เทสโก้โลตัส โบรกเกอร์ประกันภัยในห้างเทสโก้โลตัส เคาน์เตอร์เซนทรัลสมาร์ทอินชัวร์ในห้างเซนทรัล โรบินสัน ท็อปส์
กรมธรรม์ประกันภัยชนิดนี้มีลักษณะพิเศษ คือ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ความคุ้มครองไม่ซับซ้อน มีขั้นตอนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่ไม่ยุ่งยาก โดยเป็นประกันภัยอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นความคุ้มครองพื้นฐานแก่ประชาชน คุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียมือ เท้า สายตา และทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง
 การประกันภัยรายย่อย หรือไมโครอินชัวรันส์นี้จะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นกับยอดขายที่มีมากพอที่จะทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยให้น้อยที่สุดได้ ซึ่งก็หวังว่าคอลัมน์นี้จะช่วยโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จอีกทางหนึ่งบ้างไม่มากก็น้อย

 ·         พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – ต้อนรับธุรกิจประกันภัย ปี พ.ศ. 2557


คุยกับแอคชัวรี – ต้อนรับธุรกิจประกันภัย ปี พ.ศ. 2557

เมื่อมาพิจารณาดูแล้ว จะเห็นว่าธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่มีโครงสร้างและลักษณะอุตสาหกรรมที่แตกต่างกับกลุ่มธุรกิจอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าของบริษัทประกันภัยก็คือ “กระดาษ” ที่ระบุถึงเงื่อนไขต่างๆ ในการทำข้อตกลงของคู่สัญญา ที่เข้าหลักวัตถุประสงค์ของการประกันภัย ซึ่งถ้าเงื่อนไขที่ระบุใน “กระดาษ” นั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตคน เราจะเรียกว่า “ประกันชีวิต” แต่ถ้าเงื่อนไขที่ระบุใน “กระดาษ” นั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งของ เราจะเรียกว่า “ประกันวินาศภัย”

เงื่อนไขที่ระบุนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตคน เราจะเรียกว่า “ประกันชีวิต”
เงื่อนไขที่ระบุนั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งของ เราจะเรียกว่า “ประกันวินาศภัย”

สินค้าในธุรกิจประกันภัยนั้นจึงเป็นสินค้าที่จับต้องไม่ได้ และยากแก่การทำความเข้าใจในตัวสินค้า ช่องทางการจัดจำหน่ายของธุรกิจประกันภัย ธุรกิจประกันภัยจึงเป็นธุรกิจที่มีสิ่งที่จับต้องได้คือ “กระดาษ” และ “ปากกา” เท่านั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ระหว่างลอตเตอรี่ ทิชชู่ และประกัน นั้นก็เป็นสินค้าที่ใช้ “กระดาษ” เป็นหลักเหมือนกัน แต่สิ่งที่เป็นคำถามชวนคิดคือ ทำไมคนจึงเลือกซื้อลอตเตอรี่ก่อน หลังจากนั้นจึงมาซื้อกระดาษทิชชู่ ส่วนประกันนั้นก็จะถูกลืมไปในที่สุด เพราะเงินในกระเป๋าหมดพอดี

สิ่งที่เหมือนกันระหว่างลอตเตอรี่กับประกันก็คือ ค่าคาดหวังค่าเฉลี่ยของสิ่งที่จะได้กลับคืนมานั้นจะมีมูลค่าน้อยกว่าราคาที่เสียเงินซื้อไป เพราะแน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากขายของขาดทุนเป็นแน่ แต่สิ่งที่ประกันแตกต่างกับลอตเตอรี่ก็คือประกันจะทำหน้าที่คุ้มครองลูกค้าในเวลาที่เกิดความสูญเสียทางการเงิน (Financial loss) ที่ไม่คาดฝันขึ้น (โดยจะจ่ายทุนประทันเป็นเงินคืนให้กับลูกค้า) ขณะที่ลอตเตอรี่จะจ่ายเงินให้กับคนที่ซื้อก็ต่อเมื่อคนๆ นั้นถูกหวยตามที่ตัวเองได้คาดฝันเอาไว้


และสิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ “ธุรกิจประกันภัยนั้น ได้รับเงินมาก่อน แล้วจึงค่อยมีต้นทุนของสินค้าตามออกมาทีหลัง” ซึ่งก็คงต้องเดากันว่าต้นทุนของสินค้าในแต่ละตัวนั้นจะเป็นเท่าไร ถ้าเดาถูกก็ดีไป แต่ถ้าเดาไม่ถูกก็จะทำให้บริษัทขาดทุน แล้วถ้าลองมาคิดดูดีๆ แล้วจะเห็นว่า ต้นทุนสินค้าของบริษัทประกันภัยนั้นจะขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่าง ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสำหรับการประกันชีวิต เช่น อายุ เพศ อาชีพการงาน งานอดิเรก สุขภาพ โรคประจำตัว และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้ต้นทุนสินค้าหรือการเคลมของกลุ่มคนแต่ละกลุ่มนั้นมีค่าต่างกัน ส่วนตัวอย่างของการประกันวินาศภัย ก็ได้แก่การประกันตัวรถยนต์ที่ต้องพิจารณาตั้งแต่อายุการใช้งาน ยี่ห้อ ประเภท หรือความแรงของเครื่องยนต์ เป็นต้น

ประเทศไทยจึงอาศัยตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนตัวแทนประกันชีวิตแล้วประมาณ 300,000 คน และจำนวนตัวแทนประกันวินาศภัยอีกประมาณ 30,000 คน ซึ่งนับเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

ส่วนนายหน้าประกันภัย (โบรกเกอร์) ประเภทบุคคลธรรมดาของประกันชีวิตและประกันวินาศภัยจะมีประมาณอย่างละ 70,000 – 80,000 คน และนายหน้าประกันภัย (โบรกเกอร์) ประเภทนิติบุคคล (รวมถึงธนาคาร) ของบริษัทประกันชีวิตจะมีประมาณ 200 แห่ง และประกันวินาศภัยจะมีประมาณ 400 แห่ง


ประมาณการทางสถิติ           จำนวนบริษัท         ตัวแทนประกันชีวิต              โบรกเกอร์ (บุคคลธรรมดา)                                โบรกเกอร์ (นิติบุคคล)
ประกันชีวิต                           24                            เกือบ 300,000 คน                  ประมาณ 70,000 คน                              ประมาณ 200 แห่ง
ประกันวินาศภัย                    71                            เกือบ 30,000 คน                    ประมาณ 80,000 คน                              ประมาณ 400 แห่ง


อย่างไรก็ตาม ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ผ่านทางธนาคารก็กำลังมาแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจประกันชีวิตที่ทางธนาคารนิยมขายประกันภัยประเภทสะสมทรัพย์กัน และที่ลืมไม่ได้ก็คือช่องทางการขายตรง ไม่ว่าจะเป็นทางอินเตอร์เน็ต สื่อทางจดหมาย หนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเดินเข้ามาซื้อประกันภัยกับบริษัทได้โดยตรง ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะซื้อผ่านทางช่องทางไหนก็ตาม ลูกค้าควรจะต้องพิจารณาและอ่านสัญญากรมธรรม์ให้ดีก่อนจะตัดสินใจซื้อ

และในขณะนี้คนไทยมีกรมธรรม์ประกันชีวิตถึงมากกว่า 17 ล้านฉบับ ในขณะที่มีกรมธรรม์ประกันวินาศภัยมากถึง 48 ล้านฉบับ และคาดว่าธุรกิจนี้จะมีการเติบโตมากกว่าปีละ 10 เปอร์เซ็นต์อยู่อีกนานนับ 10 ปี เนื่องจากประเทศไทยยังมีช่องว่างของความคุ้มครองประกันภัยอยู่อีกมาก อีกทั้ง การประกันภัยยังเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนให้มีอยู่คู่กับการบริหารความเสี่ยงระดับครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนของประเทศมีพื้นฐานสวัสดิการทางด้านนี้อย่างเพียงพอและไม่ทำให้เกิดภาระความลำบากกับคนข้างหลัง

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]




วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – บทส่งท้ายธุรกิจประกันภัย ปี พ.ศ. 2556

คุยกับแอคชัวรี – บทส่งท้ายธุรกิจประกันภัย ปี พ.ศ. 2556

ในฉบับส่งท้ายปีนี้ เราลองมาดูว่าธุรกิจประกันภัยในปีนี้มีความเป็นไปอย่างไรบ้างกันครับ เริ่มด้วยจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่ส่งผลกับธุรกิจประกันภัยกันก่อน ซึ่งในปีนี้โชคดีที่ไม่มีน้ำท่วม สึนามิ พายุ เทอร์นาโด หรือแผ่นดินไหวเข้ามาเหมือนประเทศอื่นๆ แต่เหมือนสุภาษิตที่เคยกล่าวกันไว้คือพระเจ้าสร้างโลกมาให้แต่ละประเทศมีความทัดเทียมกัน โดยในเมื่อประเทศอื่นๆ มีภัยธรรมชาติเฉพาะตัวเองอยู่แล้ว ประเทศไทยจึงไม่ยอมน้อยหน้า ให้มีนักการเมืองไทยขึ้นมาอยู่คู่กับประเทศไทยบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันภัยในปีนี้คงจะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมามากนัก

ในปีนี้ก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงผมได้รับเชิญให้มาเปิดคอลัมน์ “คุยกับแอคชัวรี” ให้กับหนังสือพิมพ์นี้ ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม เป็นต้นไป ซึ่งบทความที่นำมาเขียนก็พยายามจะให้มีอรรถรสต่างๆ กันไป โดยเริ่มจากการแนะนำตัวอาชีพแอคชัวรีหรือที่เรียกกันว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่อยู่คู่วงการประกันภัยให้รู้จักกัน เพราะธุรกิจประกันเป็นธุรกิจที่รับเงิน (เบี้ยประกันภัย) เข้ามาก่อน แล้วค่อยมีต้นทุน (จ่ายเคลม) เกิดขึ้นตามมาทีหลัง จึงเป็นที่มาของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ต้องไปสรรหาเทคนิคของการทำนายต้นทุน ซึ่งต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ทางการเงิน การลงทุน และสถิติ มาเป็นตัวช่วยให้ใจชื้นในการคำนวณต้นทุนล่วงหน้า เพื่อที่จะออกแบบประกันภัยและบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยได้

แล้วก็ได้นำเรื่องจากเหตุการณ์ของประเทศไซปรัสที่มีคนมาแห่ถอนเงินกัน โดยตอนนั้นประชาชนของไซปรัสก็ได้ตื่นกลัวและแห่ไปถอนเงินกันออกมามากมาย ทำให้ธนาคารของไซปรัสมีปัญหาสภาพคล่องตามมา ซึ่งเมื่อมีข่าวเรื่องสภาพคล่องเข้ามาก็ยิ่งทำให้ประชาชนยิ่งแห่กันเข้ามาถอนเงินกันมากยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้กลายเป็นปัญหาขยายตัวและลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็ว  โดยเราเรียกปรากฏการณ์ในตอนนั้นว่า spiral effect (หมุนเป็นขด) ซึ่งหมายถึงการที่มีเหตุการณ์ทำให้เกิดผลที่เลวร้าย และเมื่อผลที่เลวร้ายนั้นก็ทำให้เกิดเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งตามมา แล้วสะท้อนกลับมาทำให้ผลที่เลวร้ายนั้นกลับเลวร้ายมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับธุรกิจประกันภัยเหมือนกัน ถ้าเราจัดการความเสี่ยงกันได้ไม่ดีพอ

และหลังจากนั้นก็ได้หยิบยกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงจากแคลิฟอร์เนีย ว้าว ที่เป็นบทเรียนที่แสนแพงสำหรับคนไทยมาเปรียบเทียบกับธุรกิจชำระเบี้ยครั้งเดียวของทางฝั่งประกันชีวิตกันดู ว่าถ้าเจ๊งแล้วจะมีจ่ายหรือไม่ โดยสิ่งที่แตกต่างกันและเป็นคำถามระหว่างธุรกิจประกันภัยกับธุรกิจอื่นเวลาที่ “ได้รับเงินก้อนมาก่อนและมีพันธะที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าไปตามที่สัญญา” ก็คือ 1) ถ้าถอนก่อนแล้วจะมีเงินคืนหรือไม่ และ 2) ได้มีการตั้งเงินสำรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัยสำหรับลูกค้าหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วหลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial Science) นั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจอื่นๆ อย่างเช่นในกรณีนี้ด้วยก็ได้

พอมาในช่วงกลางปีนี้ ผมก็ได้มีโอกาสไปออกรายการคุยข้ามจอกับก้าวทันประกันภัย ซึ่งก็ได้พูดถึงอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย รวมถึงบทบาทหน้าที่ในการบริหารจัดการบริษัทประกันภัยกัน ไม่ว่าจะเป็นงานหน้าบ้าน และงานหลังบ้านให้ผู้อ่านได้พอเห็นภาพกว้างๆ ว่าในแต่ละวันนั้นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีหน้าที่หลักอะไรบ้าง โดยงานหน้าบ้าน เป็นงานที่เกี่ยวกับการออกแบบประกันภัยเพื่อหาความเป็นไปได้ว่า บริษัทจะสามารถขายสินค้าที่เป็นกระดาษแบบนี้ออกมาได้หรือไม่ ซึ่งเราเรียกแอคชัวรีที่ทำงานหน้าบ้านว่า “โปรดักส์แอคชัวรี (Product Actuary)” หรือ “มาร์เก็ตติ้งแอคชัวรี (Marketing Actuary)” กัน ส่วนงานหลังบ้าน คือการจัดการความเสี่ยง ดูแลงบการเงิน เพื่อมั่นใจในความสามารถในการชำระหนี้ได้ (solvency) ของบริษัทเอาไว้จนกว่าวันที่ต้องจ่ายเงินคืนให้กับลูกค้า

แล้วก็ข้ามมาถึงเรื่องการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นพื้นฐานของการจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยและของนักลงทุนทั่วไป โดยผมได้ใช้เวลารวบรวมงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเวลามากกว่า 2 ปี ในระหว่างนั้นก็ได้เอาเนื้อหาเหล่านี้ไปสอนการเงินระดับปริญญาโทให้กับนักศึกษาไปด้วย ทำให้สามารถปรับแต่งภาษาและวิธีการอธิบายจนให้ได้ภาษาที่เข้าใจง่าย เหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และในที่สุดก็ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมาผ่าน “ซีเอ็ด” เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ให้ติดตามอ่านกัน

แล้วในช่วงปลายปีก็เป็นเรื่องของการประกันภัยรายย่อยที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้พยายามผลักดันไมโครอินชัวรันส์ให้มีเบี้ยประกันภัยที่ต่ำมาก ซึ่งอยู่ที่ 200 บาทต่อปี และออกแบบมาพิเศษเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ผู้มีรายได้น้อย โดยคปภ. ช่วยสนับสนุน ในเรื่องการให้ออกใบรับรองการประกันภัยแทนกรมธรรม์ (โดยรายละเอียดให้ศึกษาในเวปไซต์บริษัท) และขยายช่องทางการจำหน่าย ที่สามารถเลือกซื้อได้ผ่านร้านสะดวกซื้อที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้านิติบุคคล

สำหรับแบบประกันไมโครอินชัวรันส์ของประเทศไทยที่กำลังจะคลอดออกมานั้น ในเบื้องต้น เบี้ยประกันจะอยู่ที่ 200 บาท มีความคุ้มครอง 3 ส่วนคือ
  1. เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเนื่องจากอุบัติเหตุวงเงิน 100,000 บาท
  2. เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะสาย ตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากถูกฆาตกรรม ลอบทำร้าย ร่างกาย และ/หรือจากขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครองวงเงิน 50,000 บาท
  3. ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจาก การเจ็บป่วย 10,000 บาท หากเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 120 วัน หลังเริ่มทำประกันจะไม่ได้เงินชดเชย โดยประชาชนต้องมีอายุ 20-60 ปี และสามารถซื้อความคุ้มครองได้ไม่เกินคนละ 2 กรมธรรม์


·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) – ตอนที่ 12 (การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินแบบมหภาคและจุลภาค (Macro vs Micro ALM))



ถ้ามองการจัดการ ALM ในอีกมุมหนึ่ง ในทางปฏิบัติเราจะสามารถจำแนกออกเป็น

1.               การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินแบบจุลภาค (Micro ALM)

2.               การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินแบบมหภาค (Macro ALM)


การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินแบบจุลภาค (Micro ALM)


การจัดการ ALM เชิงรุกแบบจุลภาค (Micro ALM) คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงในการลงทุนของสินทรัพย์ (Individual investment) หรือการขายแบบประกันภัย (Individual insurance product / fund) เป็นตัวๆไป ซึ่งบริษัทจะจัดการกับความเสี่ยงแต่ละประเภทเป็นตัวๆไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk), ความเสี่ยงจากความสามารถในการได้เงินคืน (Credit Risk), ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (Foreign Exchange) หรือความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้น ( Equity) เป็นต้น และโดยทั่วไปแล้วการจัดการความเสี่ยงแบบนี้จะครอบคลุมถึงความเสี่ยงจากการประกันภัย (Insurance risk) ซึ่งเป็นฝั่งที่ทำให้เกิดความผันผวนทางด้านหนี้สิน (Liability) อีกด้วย


ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการจัดการ ALM เชิงรุกแบบจุลภาค (Micro ALM) คือการจำกัดความผันผวนของสินทรัพย์ (Asset) และหนี้สิน (Liability) จากความเสี่ยง โดยการจับคู่ความเสี่ยงจากการลงทุนให้เข้ากับความเสี่ยงจากการประกันภัย (Insurance Risk) ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระดับของการการันตี (Guarantee Level), การนำเงินกลับมาลงทุนใหม่ (Reinvestment), การจำกัดความผันผวนจากยูนิตลิงค์ (Unit linked) และ ความเสี่ยงจากการยกเลิกกรมธรรม์ (Surrender risk) เป็นต้น โดยบริษัทอาจจะทำการซื้อขายเครื่องมือที่ใช้จัดการความเสี่ยงเป็นรายวันเพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากตลาดที่ขึ้นและลงอยู่ตลอดเวลา



การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินแบบมหภาค (Macro ALM)


การจัดการ ALM เชิงรุกแบบมหภาค (Macro ALM) คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงของเงินทุนในภาพรวมซึ่งจะมองแต่ละธุรกิจของบริษัทในเครือพร้อมๆ กัน (across all business units) โดยอาจจะใช้วิธีการโอนถ่ายเงินทุนหรือระดมทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ในการจัดการ ALM อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด วีธีการเหล่านี้จะรวมไปถึงการจัดการเงินทุนของกองทุนต่างๆ ในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นกองทุนแบบมีส่วนร่วมในเงินปันผล, กองทุนแบบไม่มีส่วนร่วมในเงินปันผล, กองทุนสำหรับยูนิตลิงค์ หรือกองทุนสำหรับยูนิเวอร์ซัลไลฟ์ เป็นต้น


วัตถุประสงค์ของการจัดการ ALM เชิงรุกแบบมหภาค (Macro ALM) คือการจัดการเงินทุนให้อยู่ในความเสี่ยงที่เหมาะสมรวมถึงการใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องมีการตั้งประมาณการว่าความเสี่ยงในสินทรัพย์แต่ละประเภทนั้นควรเป็นเท่าไร และสามารถถ่ายโอนกันได้หรือไม่ จากนั้นก็ต้องคำนึงถึงการกระจายความเสี่ยงอีกด้วย


ประโยชน์ของ ALM

การวิเคราะห์สิ่งที่กล่าวมาจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์สิ่งต่างๆ เพิ่มเติมได้ดังต่อไปนี้

1.               โครงสร้างของเงินทุน (Capital structure) ซึ่งถ้าผู้บริหารเข้าใจแหล่งที่มาและความเสี่ยงของเงินทุนแล้วก็จะสามารถคิดกลยุทธ์ในการจัดการบริหารเงินทุน (Capital management strategies) ให้กับบริษัทอย่างเหมาะสมได้  ไม่ว่าจะเป็นเชื่อมต่อความสามารถในการชำระหนี้ (Solvency) ให้เข้ากับ Capital Adequacy Ratio (CAR) จาก Risk Based Capital ซึ่งมูลค่าของเงินทุนที่เหลืออยู่ก็มีผลกับการกำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นด้วย โดยถ้าบริษัทมีเงินทุนที่มากพอก็อาจจะตัดสินใจเอาเงินส่วนหนึ่งออกมาจ่ายเป็นเงินปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้นได้ แต่ในทางกลับกัน บริษัทจะต้องมีการระดมทุน (capital raising) จากผู้ถือหุ้นเช่นกันถ้าบริษัทค้นพบว่ามีเงินทุนไม่เพียงพอ หรือมี Capital Adequacy Ratio ที่ต่ำเกินไป

2.               มูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทในอนาคตภายใต้สภาวะตลาดต่างๆ เพื่อที่จะเตรียมแผนรับกับการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยจะรวมถึงข้อกำหนดทางด้านกฎหมาย (Local regulations) ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจที่จะเติบโตขึ้นในอนาคตด้วย ซึ่งในบางประเทศจะให้ส่งรายงานผลประกอบการในอนาคตในรูปแบบของ Dynamic Solvency Testing เพื่อที่จะจำลองสถานการณ์ที่เลวร้ายในอนาคตและดูว่าบริษัทจะมีสินทรัพย์และหนี้สินอย่างไรในอีก 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้า เป็นต้น

3.               การทำประกันภัยต่อเพื่อผลประโยชน์ทางการเงิน (Financial reinsurance) และการโยกย้ายเงินทุนของบริษัทในเครือเพื่อจัดการความเสี่ยงของภาพรวมในระดับภูมิภาค (Group level) โดยในที่นี้จะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนจากการลงทุนและผลประโยชน์ทางด้านภาษีของแต่ละประเทศด้วย


สามารถหาซื้อหนังสือ “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ “ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ  โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ


·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]


วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) – ตอนที่ 11 (ความเสี่ยงบางตัวที่แฝงเข้ามากับความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย)



Disintermediation risk กับ Reinvestment risk เป็นความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาพร้อมกันกับ Interest rate risk ของ ALM ด้วยทุกครั้ง ซึ่งจะมากน้อยอย่างไรก็ต้องขึ้นกับสถานการณ์ของอัตราดอกเบี้ยในตลาดกับวิธีการจัดการ Duration gap ของบริษัทในขณะนั้น


Disintermediation Risk เป็นความเสี่ยงที่ทำให้มูลค่าของสินทรัพย์ที่ถืออยู่มีค่าด้อยลงเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่เปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น ลงทุน 1 ล้านบาทในพันธบัตรที่มีอัตราผลตอบแทน 5% เป็นเวลา 10 ปี และเมื่อถือพันธบัตรไปได้ 3 ปีก็ปรากฏว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้นมาเป็น 10% จนทำให้พันธบัตรที่ถืออยู่นั้นด้อยค่าไปทันที เพราะในเวลานั้นก็คงไม่มีใครอยากได้พันธบัตรที่ถืออยู่ (ที่มีอัตราผลตอบแทนแค่ 5% ต่อปี) อยู่อีกต่อไป


Reinvestment risk เป็นความเสี่ยงที่เห็นได้ทั่วไป โดยเป็นความเสี่ยงที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนได้ไม่เท่าเดิมเมื่อมีการนำเงินต้นมาลงทุนใหม่ ยกตัวอย่างเช่น หากเราจำเป็นต้องหาเงิน 1 ล้านบาทมาลงทุนโดยได้ดอกเบี้ย 5% เป็นเวลา 20 ปีเพื่อที่จะชำระหนี้สินให้ได้ในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่ทว่าเรากลับลงทุน 1 ล้านบาทในพันธบัตรที่มีอัตราผลตอบแทน 5% เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งก็แน่นอนว่าในอีก 10 ปีให้หลังนั้น เราจะต้องนำเงินก้อนนี้มาลงทุนในพันธบัตรอีก 10 ปีใหม่อีกรอบ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้อัตราดอกเบี้ยเท่าไรในขณะนั้น ถ้าได้ดอกเบี้ยมากกว่า 5% ก็โชคดีไป แต่ถ้าดอกเบี้ยน้อยกว่า 5% นั้นก็จะไม่สามารถชำระหนี้ของในปีที่ 20 ได้


กรณีที่ 1

ถ้า Duration ของสินทรัพย์มีค่าน้อยกว่า Duration ของหนี้สิน แสดงว่าบริษัทกำลังเผชิญอยู่กับ Reinvestment risk มากกว่า Disintermediation risk และเมื่ออัตราดอกเบี้ยเกิดลดลงมาก็จะทำให้บริษัทเกิดทั้ง 1) Reinvestment risk และ 2) Interest rate risk ขึ้นมาพร้อมๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีหนี้สินที่จะต้องชำระในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่สินทรัพย์ที่ลงทุนกลับคืนเงินต้นมาเสียก่อน บริษัทจึงต้องหาทางเอาเงินกลับไปลงทุนอีกทีในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมา (Reinvestment risk) อีกทั้งการที่อัตราดอกเบี้ยลดลงมาก็ยังทำให้มูลค่าของหนี้สินมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของสินทรัพย์ด้วย (Interest rate risk)


กรณีที่ 2

ถ้า Duration ของสินทรัพย์มีค่ามากกว่า Duration ของหนี้สิน แสดงว่าบริษัทกำลังเผชิญอยู่กับ Disintermediation risk มากกว่า Reinvestment risk และเมื่ออัตราดอกเบี้ยเกิดเพิ่มขึ้นมาก็จะทำให้บริษัทเกิดทั้ง 1) Disintermediation risk และ 2) Interest rate risk ขึ้นมาพร้อมๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีสินทรัพย์ที่มีอายุการลงทุนนานถึง 20 ปี แต่หนี้สินที่ต้องชำระนั้นคืออีก 10 ปีข้างหน้า บริษัทจึงต้องขายสินทรัพย์เพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ก่อนที่จะครบกำหนดสัญญาของสินทรัพย์ในปีที่ 20 ซึ่งสินทรัพย์ที่ขายนั้นจะด้อยค่าในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น (Disintermediation risk) อีกทั้งการที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาก็ยังทำให้มูลค่าของสินทรัพย์มีอัตราลดลงที่มากกว่ามูลค่าของหนี้สินที่ลดลงมาด้วย (Interest rate risk)


บทสรุป


การจัดการ ALM ในทางปฏิบัตินั้นจำเป็นจะต้องมองภาพให้ครบทั้งวงจร เพราะการที่ไปจัดการแก้ปัญหาโดยเน้นที่ ALM เพียงอย่างเดียวแต่ไม่สนใจองค์ประกอบอื่นนั้นจะกลับกลายเป็นทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เราสูญเสียโอกาสทางธุรกิจหรือการมองข้ามความเสี่ยงด้านอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น Operational risk, Reputational risk, Model risk, Disintermediation risk, Reinvestment Risk และอื่นๆ เป็นต้น


ในทางกลับกัน บริษัทจำเป็นจะต้องทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของ ALM และเข้าใจถึงทิศทางการจัดการที่บริษัทจะนำกลยุทธ์เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ ซึ่งในบางครั้งฝ่ายลงทุนเองที่มีหน้าที่ลงทุนให้บริษัทได้ผลตอบแทนสูงสุดอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างในการทำ ALM อยู่บ้าง ดังนั้น นโยบายการจัดการ Duration gap ของบริษัทจึงถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการจัดการความเสี่ยงขององค์กรที่มองข้ามไม่ได้


ฉะนั้น ทีมงานบริหารที่ดีจะไม่ได้พิจารณาเพียงผลตอบแทนของสิ่งที่บริษัทลงทุนว่าได้เป็นเท่าไร หากแต่ต้องเอาไปประเมินกับความเสี่ยงที่บริษัทจะสามารถรับได้ เช่น การทำความเข้าใจว่าขณะนี้บริษัทมี Duration ของสินทรัพย์เท่าไร มากหรือน้อยกว่า Duration ของหนี้สินแค่ไหน แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายในตลาดขึ้น บริษัทมีการคิดแผนรองรับไว้ในสถานการณ์นั้นหรือไม่ การทำ ALM ที่ดีนั้นจึงจำเป็นต้องตอบโจทย์เหล่านี้ให้ได้


สามารถหาซื้อหนังสือ “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ “ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ  โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ


·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) – ตอนที่ 10 (การสร้างภูมิต้านทานให้กับอัตราดอกเบี้ยที่ผันผวนขึ้น (Immunization))




“คำว่า Immunization นั้นแปลว่าการสร้างภูมิต้านทาน และเมื่อนำมาใช้กับ ALM ในที่นี้ก็จะหมายถึงการสร้างภูมิต้านทานจากการผันผวนของอัตราดอกเบี้ยหรือ Interest rate risk นั่นเอง

 

เมื่อเราเข้าใจความหมายและวิธีประยุกต์ใช้ของ Convexity อย่างถ่องแท้แล้ว ถ้าลองกลับมาพิจารณาดูก็จะเห็นว่าแค่การทำ Duration Matching ระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินนั้นคงจะไม่เพียงพอเป็นแน่ เราจะต้องทำ Convexity Matching เข้าไปด้วย และเมื่อลองมาพิจารณาลึกๆ ถึงเรื่องของ Convexity ดูแล้วก็จะเห็นว่าการที่มี Convexity ของสินทรัพย์มากกว่า Convexity ของหนี้สินนั้นก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย เพราะไม่ว่าเวลาที่ดอกเบี้ยตกลงหรือเพิ่มขึ้นมานั้นก็จะทำให้สินทรัพย์มีมูลค่าสูงกว่าหนี้สินได้ทั้งสองกรณี

 

ดังนั้นเพื่อเป็นการทำ ALM อย่างสมบูรณ์แบบ โดยไม่ว่าดอกเบี้ยจะขึ้นหรือจะลงก็ไม่ทำให้เกิดความสูญเสียกับบริษัท

เราควรจะจัดพอร์ต (Portfolio) ของเราให้ได้ดังนี้

1.               ทำให้มูลค่าของสินทรัพย์เท่ากับมูลค่าของหนี้สินซะก่อน

2.               ทำให้ Duration ของสินทรัพย์เท่ากับ Duration ของหนี้สิน

3.               ทำให้ Convexity ของสินทรัพย์มากกว่า Convexity ของหนี้สิน

 

มุมนี้สำหรับผู้ที่ชอบศัพท์เทคนิคด้านการเงิน

-                    Duration ที่มีอยู่ในแต่ละช่วงของอัตราดอกเบี้ยใน Yield curve นั้นก็จะเรียกว่า Key Duration
-                    Duration ที่นำมาคูณกับตัวมูลค่าในขณะนั้นจะเรียกว่า Dollar Duration สำหรับวิธีใช้ก็คือการนำ Dollar Duration มาคูณกับอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงไปก็จะได้มูลค่าของสินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงไปในทันที
-                    Macaulay Duration จะมีค่าเท่ากับระยะเวลาครบกำหนด (Maturity) ของ Zero coupon bond
-                    Macaulay Duration = PV (t x CFt) / PV (CFt) = ระยะเวลาที่จะได้รับกระแสเงินสดเฉลี่ยของมูลค่ากระแสเงินสดทั้งหมด
-                    Modified Duration ได้มาจากการนำ Macaulay Duration มาหารด้วย (1 + อัตราดอกเบี้ยในขณะนั้น) ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับการนำเข้าไปสู่สูตรสมการคำนวณที่ใช้กระแสเงินสด แต่ไม่เหมาะสำหรับตราสารที่มีตราสารอนุพันธ์ (embedded derivative) ฝังอยู่
-                    Effective Duration ได้มาจากการคำนวณหามูลค่าของตราสารโดยตรงเมื่อเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็นค่าต่างๆ

 

แต่ในทางปฏิบัติแล้วส่วนใหญ่เราจะเน้นการนำตัวมูลค่าของสินทรัพย์มาคูณด้วย Duration ของสินทรัพย์เพื่อให้ได้ค่าเท่ากับการนำมูลค่าของหนี้สินมาคูณด้วย Duration ของหนี้สิน ส่วนเรื่องของ Convexity ก็พยายามเลือกให้ทางฝั่งสินทรัพย์มีค่ามากๆ เข้าไว้ก็พอ

 

เราสามารถหามูลค่าของสินทรัพย์หรือหนี้สินที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลง โดยคำนวณได้จาก Duration และ Convexity ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการวิเคราะห์และจัดการความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest rate risk)

 

ทั้งนี้จะเห็นว่าการทำ ALM นั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับธุรกิจในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ผันผวน (ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง) ซึ่ง ALM เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของดอกเบี้ยนี้ และเมื่อทำ ALM อย่างมีประสิทธิภาพก็จะทำให้บริษัทมีภูมิต้านทาน (Immunize) จาก Interest rate risk ได้

 

ส่วนในความเป็นจริงแล้ว คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่การทำ ALM จะต้องมีต้นทุนเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางตรง (เช่นค่าใช้จ่ายจากการจัดการ) หรือต้นทุนทางอ้อม (เช่นการที่ได้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าในเวลาที่ต้องการจะลด Duration gap) ดังนั้น การทำ ALM จึงต้องพิจารณาสิ่งเหล่านี้ควบคู่กันไปด้วย


สามารถหาซื้อหนังสือ “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ “ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ  โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ

 

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]