วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน ประเทศรอบข้างในแถบเอเชีย

คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน ประเทศรอบข้างในแถบเอเชีย

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า Insurance หรือการประกันภัยนั้นเป็นการบริหารความเสี่ยงทางการเงินที่เข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการโอนความเสี่ยงของผู้ซื้อประกัน (ในภาษาประกันจะเรียกว่า “ผู้เอาประกันภัย”) ไปสู่ผู้ขายประกัน (ซึ่งในที่นี้ก็คือบริษัทประกันภัย) โดยเมื่อเกิดความเสียหายทางการเงินเกิดขึ้น (ไม่ว่าจะเป็นรถชน มีคนตาย หรือเจ็บไข้ได้ป่วย) บริษัทประกันภัยก็จะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา ทั้งนี้ก็เพื่อชดเชยความสูญเสียทางการเงินของผู้เอาประกันภัยนั่นเอง

ประเทศในแถบเอเชียจึงมีการผลักดัน “การประกันภัยรายย่อย” นี้กันอย่างมาก เพราะโดยทั่วไปแล้ว ภาครัฐจะตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันภัยของประชาชนในประเทศตัวเองเป็นอย่างดี เพื่อให้สวัสดิการทางสังคมของประเทศเกิดเสถียรภาพและแบ่งเบาภาระของภาครัฐในอนาคต

ดังจะเห็นได้ว่าประเทศฟิลิปปินส์มีประชาชนในระดับรากหญ้าและมีกำลังในการซื้อประกันภัยไม่ถึง โดยคนในประเทศฟิลิปปินส์มีการจ่ายเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยแค่ 600 บาทต่อคน เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่มีเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยประมาณ 5,000 บาทต่อคน จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่าหน่วยงานภาครัฐของประเทศฟิลิปปินส์ต้องหันมาผลักดันประกันภัยรายย่อยกันอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชากรในประเทศมีการประกันภัยกันอย่างทั่วถึง

ส่วนประเทศอินโดนีเซียก็ไม่แพ้กัน เนื่องจากคนในประเทศอินโดนีเซียมีการจ่ายเบี้ยประกันภัยเฉลี่ย 1,200 บาทต่อคน จึงทำให้ตลาดประกันภัยรายย่อยเป็นอะไรที่น่าจับตามองอยู่ไม่น้อยสำหรับประเทศนี้ และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะผลักดันให้โตไปข้างหน้าอย่างแน่นอน

และประเทศที่มองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือประเทศอินเดีย ที่มีการพัฒนารูปแบบประกันภัยรายย่อยไปไกล โดยในปี 2002 ทางหน่วยงานภาครัฐในประเทศอินเดียได้มีการปฏิวัติประกันภัยรายย่อย โดยให้กลายเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายสำหรับบริษัทประกันภัยไปในแง่ที่ว่าบริษัทประกันภัยในแต่ละแห่งจะต้องมีสัดส่วนของการขายแบบประกันภัยรายย่อยไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดกฎหมาย ซึ่งก็ส่งผลให้ตลาดประกันภัยรายย่อยเติบโตขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด แต่ก็ยังผลให้ภาพรวมของธุรกิจประกันภัยได้รับผลกระทบไปบ้างจากการจำกัดโควตาแบบนี้

นอกเหนือไปจากวิธีการบังคับภาคธุรกิจให้ขายแบบประกันภัยรายย่อยแล้ว การให้การสนับสนุนเพื่อขยายช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นก็มีให้เห็นอยู่บ่อย เช่น การที่บังคับพ่วงแบบประกันภัยรายย่อยไปกับสินค้าของเกษตรกรไปเลย ทำให้เกษตรกรหรือคนที่ซื้อสินค้าของเกษตรกรต้องซื้อประกันภัยรายย่อยไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การขายประกันภัยรายย่อยพ่วงปุ๋ย เป็นต้น

หรือการอาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อประกันภัยรายย่อยผ่านทางโทรศัพท์ โดยโทรไปที่ call center และให้ตัดเงินค่าเบี้ยประกันภัยผ่าน sim card เป็นต้น และบางครั้งก็สามารถเอาไปพ่วงกับค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าไปรษณีย์ เพื่อความสะดวกในการให้ประชาชนเข้าไปซื้อได้ง่ายก็มี

การประกันภัยรายย่อยของประเทศไทยนั้นไม่ได้มีการบังคับภาคธุรกิจให้ขาย แต่เป็นไปด้วยความสมัครใจ โดยทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้สนับสนุนและส่งเสริมภาคธุรกิจในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การประชาสัมพันธ์ตัวสินค้าแบบประกันภัยให้กับภาคธุรกิจ การออกใบรับรองการประกันภัยแทนที่จะต้องพิมพ์กรมธรรม์ทั้งเล่ม การจัดหาช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติมตามร้านสะดวกซื้อหรือเคาน์เตอร์เซอร์วิสตามห้างทั่วไป รวมไปถึงการยกเว้นการสอบใบอนุญาตการขายแบบประกันภัยรายย่อย เป็นต้น

นวัตกรรมสำหรับแบบประกันภัยรายย่อยนั้นมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้แบบประกันรายย่อยนั้นประสบความสำเร็จได้ ปัจจัยหลักที่เหมือนกันทุกประเทศก็คือต้องทำให้มีปริมาณยอดขายที่เยอะเพื่อจะได้มีเบี้ยประกันภัยที่ถูก ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีวิธีการพ่วงกับวัฒนธรรมหรือโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศของตนเองมีกัน ส่วนสำหรับประเทศไทยนั้นการขายประกันภัยรายย่อยพร้อมสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น อาจจะเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ทำให้ประเทศอื่นต้องตกตะลึงก็เป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการที่พ่วงกับการไปรษณีย์ การไฟฟ้า การประปา Call Center หรือพ่วงกับปุ๋ย ก็คงจะชิดซ้าย เพราะงานนี้หวยคงลอยลำและอยู่คู่กับคนไทยมาอย่างแนบแน่นอยู่แล้ว จริงไหมครับ

 ·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]


วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน ค่าใช้จ่ายจากช่องทางการจัดจำหน่าย

คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน ค่าใช้จ่ายจากช่องทางการจัดจำหน่าย

แน่นอนว่าสินค้าประกันภัยนั้นอยู่คู่กับการขาย ซึ่งช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นก็มีอยู่หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนประกันภัย โบรกเกอร์ ธนาคาร หรือการขายตรง เป็นต้น การจะลดต้นทุนจากช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นเป็นไปได้ยาก ถ้าสินค้าประกันภัยเหล่านี้ยังเป็นสินค้าเพื่อขายอยู่ (ไม่ได้ไว้เพื่อซื้อ)

เนื่องจากในกระบวนการขายตามปกตินั้น จะต้องเริ่มตั้งแต่การพบปะลูกค้าเพื่อเข้าใจถึงความต้องการและอธิบายถึงความสำคัญของการทำประกันภัย การให้ความรู้ทางด้านประกันภัย ตลอดจนเสนอแบบประกันภัยที่เหมาะสมกับลูกค้าคนนั้น ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการวิ่งไปมาเพื่อติดต่อกับลูกค้าอีกด้วย (แถมสุดท้ายแล้วลูกค้าดันตัดสินใจไม่ซื้ออีกต่างหาก และที่เจ็บใจมากไปกว่านั้นก็คือลูกค้าดันหันไปซื้อกับคนอื่นเสียอีก) สุดท้ายแล้ว การได้รับการอบรมและสอบเพื่อเอาใบอนุญาตจากการขายนั้นก็เป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน

สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกในการลด “ค่าใช้จ่ายจากช่องทางการจัดจำหน่าย” เป็นอย่างแรกก็คือ การเปลี่ยนประกันภัยรายย่อยเป็นแบบประกันสำหรับซื้อ (ไม่ได้ไว้สำหรับขาย) โดยการที่ไปปลูกฝังให้ความรู้และมีแบบประกันภัยที่ง่ายและไม่สลับซับซ้อน ซึ่งอาจจะในรูปแบบของการรณรงค์หรือโฆษณาประชาสัมพันธ์กันทั้งประเทศเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงแบบประกันภัยรายย่อยที่มีในท้องตลาด

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อตัดค่าใช้จ่ายในการที่ช่องทางการจัดจำหน่ายจะต้องวิ่งไปมาเพื่อติดต่อกับลูกค้า แบบประกันภัยรายย่อยนี้ควรจะออกแบบเพื่อให้ลูกค้าวิ่งเข้ามาซื้อเองเสียมากกว่า ดังนั้น ความสะดวกในการซื้อจึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกเช่นกัน

และเมื่อทราบเหตุผลข้างต้นแล้ว เราจะเห็นว่าช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยนั้นอาจจะไม่เหมาะนัก เนื่องจากแบบประกันภัยรายย่อยที่ออกมาจะมีลักษณะที่เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้และปกติจะออกมาแค่ไม่กี่แบบ (เกือบจะคล้ายๆ กัน) ทำให้อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาอธิบาย อีกทั้ง แบบประกันภัยรายย่อยส่วนใหญ่จะไม่มีการพิจารณารับประกันภัยและมีการตัดขั้นตอนที่ยุ่งยากหลายๆ อย่าง ทำให้อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องมีคนคอยติดต่อกับลูกค้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าแบบประกันภัยรายย่อยไม่สมควรจะขายผ่านทางช่องทางการจัดจำหน่ายทางตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย เพียงแต่ค่าบำเหน็จหรือค่าคอมมิชชั่นจากแบบประกันภัยรายย่อยนั้นอาจจะแทบไม่มีเลยก็ได้ เพราะสินค้าเหล่านี้ได้ถูกออกแบบมาเป็นสินค้าที่เอาไว้ให้ประชาชนวิ่งเข้ามาซื้อ โดยไม่ได้เอาไว้ให้ช่องทางการจัดจำหน่ายวิ่งเข้าไปขาย

ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายที่เน้นให้คนเข้ามาซื้อนั้นก็คงจะเน้นเรื่องความสะดวกเป็นหลัก และเมื่อนึกถึงความสะดวก ก็คงหนีไม่พ้น ร้านสะดวกซื้อ หรือรวมไปถึงเคาน์เตอร์ตามห้าง ที่เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติมจากช่องทางหลักปกติ ซึ่งการจะเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายแบบนี้ได้ เป็นจะต้องอนุญาตให้พนักงานทั่วไปที่ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือความรู้ทางด้านการประกันภัย สามารถขายประกันภัยหน้าเคาน์เตอร์ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐยินดีสนับสนุนช่วยบนพื้นฐานที่ทำให้สินค้าประกันภัยรายย่อยเป็นสินค้าที่ให้คนเข้ามาซื้อ

และการที่คนจะเข้ามาซื้อได้นั้นจำเป็นจะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันภัย รวมถึงเข้าใจแบบประกันภัยรายย่อยเหล่านี้เสียก่อน ภาครัฐจึงทำหน้าที่ผลักดันและสนับสนุนให้มีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้และเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่ดีและเป็นสวัสดิการเพื่อสังคมและให้เข้าถึงประชาชนในระดับรากหญ้าได้

ปัจจุบันนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้พยายามผลักดันไมโครอินชัวรันส์ให้มีเบี้ยประกันภัยต่ำมาก ซึ่งอยู่ที่ 200 บาทต่อปี และออกแบบมาพิเศษเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ผู้มีรายได้น้อย โดยคปภ. ช่วยสนับสนุน ในเรื่องการให้ออกใบรับรองการประกันภัยแทนกรมธรรม์ (โดยรายละเอียดให้ศึกษาในเวปไซต์บริษัท) และขยายช่องทางการจำหน่าย ที่สามารถเลือกซื้อได้ผ่านร้านสะดวกซื้อที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้านิติบุคคล อาทิ Counterservice ที่อยู่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขา เคาน์เตอร์เทสโก้โลตัส โบรกเกอร์ประกันภัยในห้างเทสโก้โลตัส เคาน์เตอร์เซนทรัลสมาร์ทอินชัวร์ในห้างเซนทรัล โรบินสัน ท็อปส์


 ·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วย


คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วย 

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยเป็นอะไรที่อยู่คู่กับการทำประกันภัยมาตั้งแต่แรก ถึงแม้ว่าสิ่งที่จับต้องได้ของธุรกิจประกันภัยจะมีแค่กระดาษกับปากกา แต่กว่าจะออกมาเป็นกรมธรรม์ประกันภัยได้ แน่นอนว่าต้องมีอะไรมากกว่านั้น โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องทำเพื่อออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ลูกค้าแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณารับประกันภัย การออกกรมธรรม์ประกันภัยเป็นรูปเล่ม หรืออากรแสตมป์ เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ค่าใช้จ่ายในการบริหารกรมธรรม์นั้นก็มีไม่น้อยเช่นกัน เพราะว่าค่าใช้จ่ายในการประเมินค่าสินไหม ออกจดหมายเพื่อติดต่อลูกค้า การบริหารการประกันภัยต่อ การบริหารความเสี่ยงของบริษัท หรือแม้กระทั่งรายงานทางคณิตศาสตร์ประกันภัย ก็ล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่ทั้งสิ้น

การที่ประกันภัยรายย่อยถูกออกแบบมาให้มีเบี้ยประกันภัยที่ถูกนั้น จะมีผลทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่า แบบประกันภัยทั่วไปมีเบี้ยประกันภัยเฉลี่ย 10,000 บาทในแต่ละฉบับ บริษัทประกันภัยมีค่าใช้จ่าย 1,000 บาทในการออกกรมธรรม์ประกันภัยมาแต่ละฉบับ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยในการออกกรมธรรม์เท่ากับ 10%

ในกรณีนี้ ถ้าบริษัทออกแบบให้เบี้ยประกันภัยมีค่าเท่ากับ 5,000 บาทในแต่ละฉบับ แต่บริษัทประกันภัยยังคงมีค่าใช้จ่าย 1,000 บาทในการออกกรมธรรม์ประกันภัยมาแต่ละฉบับ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยในการออกกรมธรรม์เท่ากับ 20% ไปแล้ว
นั่นก็หมายความว่า ถ้าบริษัทประกันภัยมีค่าใช้จ่าย 1,000 บาทในการออกกรมธรรม์ประกันภัยมาแต่ละฉบับ  เบี้ยประกันภัยที่จะต้องเก็บนั้นควรมีค่าอย่างน้อย 1,000 บาทเพื่อเอาไปจ่ายค่าใช้จ่ายต่อหน่วยเข้าไปแล้ว และนี่ยังไม่รวมค่าต้นทุนของประกันภัย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าใช้จ่ายของช่องทางการจัดจำหน่าย

ดังนั้น เพื่อให้การประกันภัยรายย่อยเกิดขึ้นมาได้ สิ่งที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะต้องทำก็คือ
1)    ตัดขั้นตอนการดำเนินงานที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งนั่นก็มีผลทำให้ลักษณะบางแบบของการทำประกันภัยถูกจำกัดเป็นเงาตามตัว และสิ่งที่จะตัดออกไปก่อนเพื่อนก็คือ ค่าใช้จ่ายในการพิจารณารับประกันภัย ซึ่งนั่นก็หมายความว่า บริษัทจะไม่สามารถขายประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพได้ เพราะจะทำให้รับความเสี่ยงเข้ามามากเกินไปและทำให้ราคาเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นมาอีกเป็นเท่าตัว
2)    ออกแบบเพื่อให้ปริมาณยอดขายมีมากขึ้น จนทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง ยกตัวอย่างเช่น ในการออกแบบประกันภัยหนึ่งตัว จะต้องวางระบบโดยใช้ค่าใช้จ่ายถึง 1 ล้านบาท ถ้าบริษัทขายได้ 10,000 กรมธรรม์ ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยก็จะเป็น 100 บาทต่อกรมธรรม์ แต่ถ้าบริษัทสามารถขายได้ถึง 1 ล้านกรมธรรม์ ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยก็จะกลายเป็น 1 บาทต่อกรมธรรม์เท่านั้น (ในภาษาของนักบริหารจะเรียกว่ามี Economies of Scale)

แบบประกันภัยที่เน้นปริมาณยอดขายนั้นจึงจะต้องถูกออกแบบให้เข้าใจง่ายและตัดขั้นตอนที่ซับซ้อนออกไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าใช้จ่ายต่อหน่วยที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้

การประกันภัยรายย่อย หรือไมโครอินชัวรันส์นี้จะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นกับยอดขายที่มีมากพอที่จะทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยให้น้อยที่สุดได้ ซึ่งก็หวังว่าคอลัมน์นี้จะช่วยโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จอีกทางหนึ่งบ้างไม่มากก็น้อย

ปัจจุบันนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้พยายามผลักดันไมโครอินชัวรันส์ให้มีเบี้ยประกันภัยต่ำมาก ซึ่งอยู่ที่ 200 บาทต่อปี และออกแบบมาพิเศษเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ผู้มีรายได้น้อย โดยคปภ. ช่วยสนับสนุน ในเรื่องการให้ออกใบรับรองการประกันภัยแทนกรมธรรม์ (โดยรายละเอียดให้ศึกษาในเวปไซต์บริษัท) และขยายช่องทางการจำหน่าย ที่สามารถเลือกซื้อได้ผ่านร้านสะดวกซื้อที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้านิติบุคคล อาทิ Counterservice ที่อยู่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขา เคาน์เตอร์เทสโก้โลตัส โบรกเกอร์ประกันภัยในห้างเทสโก้โลตัส เคาน์เตอร์เซนทรัลสมาร์ทอินชัวร์ในห้างเซนทรัล โรบินสัน ท็อปส์


 ·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน Insurance & Micro


คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน Insurance & Micro

“การประกันภัยรายย่อย” มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ไมโครอินชัวรันส์ (Micro insurance) โดยจากชื่อของมันนั้น เราสามารถแตกความหมายออกมาได้เป็นคำว่า Micro (รายย่อย) กับคำว่า Insurance (การประกันภัย)

  1. Insurance หรือการประกันภัยเป็นการบริหารความเสี่ยงอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งจะโอนความเสี่ยงของผู้ซื้อประกัน (เรียกว่าผู้เอาประกันภัย) ไปสู่ผู้ขายประกัน (ซึ่งก็คือบริษัทประกันภัย) โดยเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นบริษัทประกันภัยก็จะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา ทั้งนี้ก็เพื่อชดเชยความสูญเสียทางการเงินของผู้เอาประกันภัยนั่นเอง และโดยทั่วไปแล้ว เราสามารถบอกได้ว่า “การประกันภัย” คือการวางแผนทางการเงินชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นการวางแผนทางการเงินในสถานการณ์ที่เลวร้ายหรือเกิดความสูญเสียขึ้นกับคนที่ต้องการทำประกันภัย ภาครัฐจึงตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยของประชาชนในประเทศเป็นอย่างมาก เพราะนั่นหมายถึงฟันเฟืองเพื่อเสถียรภาพของสวัสดิการทางสังคมของประเทศ
  2. Micro หรือรายย่อย ในที่นี้หมายถึง ลูกค้ารายย่อย ซึ่งอาจจะไม่สามารถซื้อประกันภัยในท้องตลาดทั่วไปได้เนื่องจากลูกค้ารายย่อยเหล่านี้อาจจะมีกำลังซื้อไม่พอ หรือเรียกได้อีกนัยหนึ่งว่าลูกค้ารายย่อยในที่นี้ก็คือกลุ่มตลาดรากหญ้าที่ภาครัฐต้องการให้คนกลุ่มนี้มีสวัสดิการทางสังคมที่ดีพอผ่านการวางแผนทางการเงินเพื่อการจัดการความเสี่ยงที่ดี

ดังนั้น Micro insurance หรือ ประกันภัยรายย่อย จึงได้ออกแบบขึ้นมาเพื่อมีวัตถุประสงค์ให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเข้าไปสู่กลุ่มตลาดรากหญ้าได้ทั่วถึง และนี่เองที่เป็นที่ว่ามาทำไมหน่วยงานภาครัฐในแต่ละประเทศถึงมีนโยบายสนับสนุนให้ภาคธุรกิจนำแบบประกันภัยรายย่อยออกมาสู่ท้องตลาด เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการความเสี่ยงระดับครัวเรือนขึ้นในประเทศ

และสิ่งที่ทำให้ประกันภัยรายย่อยนั้นเข้าถึงลูกค้ารายย่อยได้ก็คือ “เบี้ยประกันภัยที่ถูก” เพื่อให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจกับแบบประกันภัยตัวนี้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า อุปสรรคหลักของการประกันภัยรายย่อยก็คือ “ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วย” และ “ค่าใช้จ่ายจากช่องทางการจัดจำหน่าย” นั่นเอง
  1. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยจะต้องต่ำมาก ซึ่งทำได้โดยการตัดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการดำเนินงานและออกแบบแบบประกันให้มีความง่ายไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งภาคธุรกิจจะต้องเน้นปริมาณยอดขายให้สูงมาก เพื่อคงค่าใช้จ่ายต่อหน่วยให้ต่ำไว้
  2. ค่าใช้จ่ายจากช่องทางการจัดจำหน่ายจะต้องต่ำมาก ซึ่งทำได้โดยเปลี่ยนกลยุทธ์จากการที่สินค้าประกันภัยนั้นต้องมีไว้ขาย ให้เป็นสินค้าประกันภัยที่ให้คนวิ่งเข้ามาซื้อ เพื่อจะลดต้นทุนในการทำธุรกิจและสรรหาช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม

สำหรับแบบประกันไมโครอินชัวรันส์ของประเทศไทยที่กำลังจะคลอดออกมานั้น ในเบื้องต้น เบี้ยประกันจะอยู่ที่ 200 บาท มีความคุ้มครอง 3 ส่วนคือ
  1. เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเนื่องจากอุบัติเหตุวงเงิน 100,000 บาท
  2. เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะสาย ตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากถูกฆาตกรรม ลอบทำร้าย ร่างกาย และ/หรือจากขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครองวงเงิน 50,000 บาท
  3. ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจาก การเจ็บป่วย 10,000 บาท หากเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 120 วัน หลังเริ่มทำประกันจะไม่ได้เงินชดเชย โดยประชาชนต้องมีอายุ 20-60 ปี และสามารถซื้อความคุ้มครองได้ไม่เกินคนละ 2 กรมธรรม์
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้พยายามผลักดันไมโครอินชัวรันส์ให้มีเบี้ยประกันภัยต่ำมาก ซึ่งอยู่ที่ 200 บาทต่อปี และออกแบบมาพิเศษเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ผู้มีรายได้น้อย โดยคปภ. ช่วยสนับสนุน ในเรื่องการให้ออกใบรับรองการประกันภัยแทนกรมธรรม์ (โดยรายละเอียดให้ศึกษาในเวปไซต์บริษัท) และขยายช่องทางการจำหน่าย ที่สามารถเลือกซื้อได้ผ่านร้านสะดวกซื้อที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้านิติบุคคล อาทิ Counterservice ที่อยู่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขา เคาน์เตอร์เทสโก้โลตัส โบรกเกอร์ประกันภัยในห้างเทสโก้โลตัส เคาน์เตอร์เซนทรัลสมาร์ทอินชัวร์ในห้างเซนทรัล โรบินสัน ท็อปส์
ตามกำหนดการนั้น แบบประกันภัยรายย่อยจะเริ่มขายในท้องตลาดตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป


 ·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]