วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ไฟแช็คกับไฟฉาย... ในการสอบเป็นมืออาชีพหรือเรียนต่อโทในโลกแบนๆ ใบนี้

ไฟแช็คกับไฟฉาย... ในการสอบเป็นมืออาชีพหรือเรียนต่อโทในโลกแบนๆ ใบนี้
พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) FSA, FIA, FSAT, FRM, MBA, MScFE (Dist), B.Eng (Hons)


หลายคนคิดว่าเรียนต่อปริญญาโทหรือปริญญาเอกไปเถอะ แล้วจะดีเอง... แต่ก็มีบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด โดยเฉพาะกับคนที่มีประสบการณ์จากการทำงานซึ่งอาจได้ไปทำงานในหลายๆ ประเทศและรับรู้ทัศนคติของคนทำงานในประเทศนั้นๆ มาพอสมควร สิ่งที่กำลังจะเขียนต่อไปนี้จึงอาจจะสะท้อนถึงความคิดของคนบางคน แต่ก็อาจจะขัดต่อค่านิยมหรือความรู้สึกของอีกบางคนอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม เราคงจะหลีกเลี่ยงกระแสเรียกร้องของตลาดแรงงานในต่างประเทศและแนวโน้มที่กำลังจะระบาดในตลาดแรงงานภายในประเทศไม่ได้ การคิดและคาดการณ์แนวโน้มของตลาดแรงงาน

ขึ้นชื่อว่าไฟก็เป็นสิ่งที่เปรียบเสมือนแสงสว่างเป็นเครื่องมือเพื่อส่องนำทางไปสู่ความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นอนาคตหรือหน้าที่การงาน แต่ไฟแบบไหนนี่สิที่น่าจะมีประโยชน์และตรงกับความต้องการในตลาดมากกว่า ไฟแช็คนั้นจุดขึ้นมาแล้วก็จะเอาไว้ใช้เฉพาะที่ เพื่อเอาไว้จุดฟืนจุดไฟ หรือให้ความอบอุ่น แล้วนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรงได้เหมือนกับการสอบเป็นมืออาชีพเฉพาะทาง  ส่วนไฟฉายนั้นเป็นแสงสว่างที่สาดส่องเพื่อกวาดไปทั่วทำให้เห็นทางเดินไปข้างหน้าได้ง่ายขึ้นและก็มีโอกาสขยับขยายได้ง่ายขึ้น เหมือนกับการเรียนต่อเอาดีกรีปริญญาเพิ่มเติม แล้วแบบไหนมีประโยชน์กว่ากันล่ะ ระหว่างไฟแช็คกับไฟฉาย

เพราะเวลาคนเราก็มีเท่ากัน คงจะเลือกเอาไฟแช็คหรือไฟฉายได้อย่างใดอย่างนึงเท่านั้น เพราะกว่าจะได้มันมาอายุก็มีสิทธิ์อยู่แถวสามย่าน ปาเข้าไปสามสิบแล้ว แถมหักโหมเกินไปอายุจะสั้นไปซะเปล่าๆ นี่ยังไม่นับรอยเหี่ยวที่เพิ่มบนใบหน้า

ในปัจจุบันคุณวุฒิ (qualification) ทางการศึกษาเป็นใบเบิกทางของความเป็นมืออาชีพที่ใช้ได้ทั้งชีวิต เหมือนที่คนเขาบอกว่า ทรัพย์สินที่อยู่ติดตัวกับคนเราได้ทั้งชีวิตคือวิชาความรู้ที่ติดตัวไม่สามารถมีใครแย่งไปจากเราได้ เอาเป็นว่าในโลกยุคนี้ ถ้าไม่มี qualification ก็คงจะหางานดีๆ ได้ยาก จึงไม่แปลกเลยที่เด็กนักเรียนจะแย่งกันสอบเอนทรานซ์เพื่อให้ได้เรียนมหาวิทยาลัยที่ดีๆ เพื่อที่จะให้ได้ประกาศนียบัตรตอนที่จบออกมาเป็นตัวนำทางสู่ความสำเร็จในก้าวต่อไปได้  ขอกล่าวเล็กน้อยสำหรับเป็นข้อเตือนใจเล่นๆ นะครับว่ามันเป็นเพียงแค่ก้าวต่อไปจริงๆ เพราะการสอบเอ็นทรานซ์ได้ ไม่ได้หมายถึงการการันตีความสำเร็จเสมอไป มันเพียงแค่ทำให้ความสำเร็จที่ฝันเอาไว้ ใกล้ความจริงมากขึ้นเท่านั้นเอง

เคยทราบหรือไม่ว่าคุณวุฒิ หรือ ที่เรียกกันว่า qualification นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ หลายๆ คน คงแต่จะคิดว่า ฉันจบปริญญา หรือ เอาปริญญาสูงๆ เข้าไว้ก็พอ ไม่เห็นต้องคิดอะไรมาก แต่จริงๆ ไม่ใช่ครับ เพราะว่าในโลกข้างนอก (ประเทศไทย) นั้นเขาเห็นความสำคัญของปริญญาน้อยลงทุกปี สาเหตุนึงก็คือ มีคนจบปริญญาสูงขึ้นจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ถ้าท่านไปเห็นพนักงานในองค์กรใหญ่ๆ จะเห็นว่ามันไม่เป็นการยากเลยที่จะรับคนจบปริญญาโทหรือเอกมาทำงาน ไม่ว่าจะจากในประเทศหรือนอกประเทศ  คำถามก็คือว่าแล้วอะไรที่มันมีนอกเหนือไปจากปริญญาหรือไฟฉายที่มีได้ล่ะ

Qualification นั้นสามารถจำแนกออกเป็น academic qualification (ไฟฉาย) กับ professional qualification (ไฟแช็ค)
  1. academic qualification นั้นก็คือ ขั้นของการจบปริญญา ไม่ว่าจะเป็นตรี โท หรือ เอก ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงดีกรีความสามารถในหมวดที่เรียนไป  เช่น วิศวกรรมศาสตร์, การเงินการบัญชี, เศรษฐศาสตร์, อักษรศาสตร์ เป็นต้น  คนที่จบปริญญาเขาจะถือว่ามีความรู้เกี่ยวกับศาสตร์นั้นๆ (specific body of knowledge) อยู่ในระดับหนึ่งๆ

ผมจะเห็นคอมเม้นต์จากหลายๆ องค์กรว่าเขาไม่ค่อยอยากจะจ้างนักเรียนปริญญาตรีที่จบจากมหาวิทยาลัยดังๆ เท่าไร เพราะพวกเขาเหล่านี้จะอยากไปเรียนต่อปริญญาโทแล้วก็ลาออกเข้าซักวัน อันนี้เป็นความจริงครับ ผมลองมานึกดูแล้วก็เศร้าสำหรับค่านิยมของคนไทยเหมือนกัน เด็กจบใหม่จะเห็นว่าการทำงานในระดับปริญญาตรีเป็นแค่การทำงานเล่นๆ เพื่อค้นหาตัวเองบ้างล่ะ หรือไม่ก็เพียงเพราะคณะที่ต้องไปเรียนต่อเขากำหนดเอาไว้ว่าจะต้องมีประสบการณ์ทำงานมาก่อนจึงต้องทำงานไปงั้นๆ ก็มี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสูตรสำเร็จที่คนไทยเคยใช้ต่อๆ กันมาครับ และกว่าจะเริ่มตั้งต้นทำงานกันได้ ก็มีอายุเยอะไปตามกันๆ แล้ว ทีนี้ทางบริษัทก็ไม่แพ้กัน พอเห็นอย่างนั้นแล้วจึงให้ความสำคัญกับเด็กปริญญาตรีน้อยลง แล้วหันมาจ้างปริญญาโทมากขึ้น (แต่เงินเดือนตั้งต้นอาจจะไม่ต่างกับปริญญาตรีมาก) มันก็เข้าหลัก demand กับ supply ด้วยแหละครับ เมื่อมีคนจบโทมาให้บริษัทเลือกมากขึ้น บริษัทก็ยิ้มแปร้ ทั้งที่จริงแล้วความรู้และประสบการณ์อาจจะไม่ได้ต่างจากเด็กที่จบมาจากปริญญาตรีก็ได้ เพียงแต่บริษัทหรือนายจ้างเขาอาจจะอุ่นใจมากกว่าว่าเด็กจบปริญญาโทคงจะไม่ลาออกไปเรียนต่อที่ไหน เลยสามารถให้เงินเดือนได้มากกว่าเด็กไทยที่จบปริญญาตรี

แต่ทว่าสิ่งที่น่าสนใจไปกว่านี้ก็คือ ในประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ฮ่องกง หรืออเมริกานั้น ปริญญาโทไม่ได้มีความหมาย (perceived value) มากเท่าบ้านเรา ผมไม่เคยได้ยินแม้กระทั่งคำว่า โห คนนี้เขาจบโทนะ หรือ คนนี้เขาจบเอกนะ จากคนต่างประเทศ ซึ่งคนไทยก็ชอบตบท้ายว่า คนนี้เขาจบเมืองนอก ด้วย คนไทยบางคนกว่าจะได้มาเจอของจริงจากชีวิตการทำงานก็ได้เสียเวลาผ่านไปเกือบครึ่งค่อนชีวิตแล้ว แต่ที่ประเทศอื่นๆ เท่าที่ผมได้มีโอกาสไปสัมผัสวิธีคิดวิธีทำงานเขานั้น ปกติเขามักจะถามกันว่า คุณเคยทำอะไรสำเร็จมาแล้วในชีวิตบ้าง กันมากกว่าการไปอวดอ้างปริญญาใส่กัน

ถ้าจะกล่าวกันจริงๆ แล้ว ปัญหาที่เป็นภาพรวมสำหรับเมืองไทยก็คือคนไทยยึดติดกับค่านิยมของการมีปริญญาไว้ในครอบครองมากจนเกินไป จนกระทั่งคนฮ่องกงหรือสิงคโปร์ไม่เข้าใจว่าทำไมคนไทยถึงยึดติดสิ่งนี้กัน แต่นี่เป็นเรื่องจริงครับ บางทีทำงานมีความสุขกับบริษัทอยู่ดีๆ เจ้านายรัก แต่ก็จำเป็นต้องลาออกไปเรียนต่อเมืองนอก เพราะมันจำต้องเรียนเพื่ออนาคต ไม่ใช่ว่าเรียนแล้วไม่ดีนะครับ ขอย้ำว่ามันจำเป็นต้องเรียนถ้าต้องการก้าวหน้าและมาทำงานอยู่ในเมืองไทยในอนาคต แต่ผมเชื่อเป็นการส่วนตัวว่าแนวโน้มของค่านิยมจากการมีปริญญาโทจะค่อยๆ หมดไป เมื่อเห็นแนวโน้มจากการมี professional qualification มาทดแทนเหมือนประเทศอื่นๆ

  1. professional qualification คือ คุณวุฒิเฉพาะทางในสายอาชีพ ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย เช่น วิชาชีพแพทย์ จะต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ หรือ แม้แต่ทนายความ ก็ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ แต่สิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ก็คือ professional qualification นั้นมีแนวโน้มว่าจะมีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งปกติแล้วการที่จะได้มาซึ่ง professional qualification นั้นก็จะต้องผ่านการสอบแบบที่ต้องสอบคล้ายๆ เอนทรานซ์ แต่เป็นเอนทรานซ์ระดับนานาชาตินะครับ! คุณไม่จำเป็นต้องไปเข้าเรียนหรือเช็คชื่อใดๆ ทั้งนั้น พอถึงเวลาสอบก็แค่เดินตัวเปล่ากับหัวใจที่ใสซื่อไปตอบข้อสอบให้ถูกเท่านั้น ถ้าผ่านเกณฑ์ (โดยปกติจะอิงกลุ่มด้วย) คุณก็ผ่านแล้วเป็นที่ยอมรับในสายวิชาชีพนั้นๆ  ซี่งแอคชัวรีหรือคณิตศาสตร์ประกันภัยเองก็เป็นหนึ่งในสายอาชีพที่ให้ความสำคัญกับ Professional Qualification เป็นหลักเช่นกัน

ผมถามเพื่อนที่ไม่ใช่คนไทยจากหลายๆ ประเทศว่าถ้ามีคนมาสมัครงานกับเขาสองคน ทั้งสองคนมีบุคคลิกและหน่วยก้านดีทั้งคู่ (หน้าตาไม่นับ) คนนึงมี academic qualification สูงกว่าเช่นจบโท แต่ไม่มี professional qualification ส่วนอีกคนจบแค่ตรี แต่มี professional qualification บางส่วน (สอบผ่านบางขั้น) ถามว่าเขาจะเลือกรับคนแบบไหน  ทุกคนเขาให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาจะเลือกแบบหลัง (ยกเว้นคนแรกจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาสามารถสอบเอา professional qualification ได้ตอนหลัง) เพราะในสมัยนี้มีคนเป็นจำนวนมากที่มี academic qualification (เช่นได้ปริญญาโทหรือเอก) แต่ก็ไม่สามารถสอบเอา professional qualification ได้ และการสอบ professional qualification นั้นก็เป็นสิ่งที่บริษัทหรือนายจ้างต้องการได้มาเพื่อเอามาใช้งานได้จริงๆ และมีเกณฑ์มาตรฐานระดับสากล ส่วนดีกรีปริญญา (academic qualification) นั้นเขาจึงขอแค่ปริญญาตรีก็พอแล้ว

ไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงคนจบปริญญาโทนะครับ เพราะผมเองก็บังเอิญมีปริญญาโท 2 ใบเหมือนกัน แล้วลูกน้องเก่าๆ ในฮ่องกงของผมก็เป็นคนจบโทด้วย แต่ถามว่าผมเลือกรับเขาเพราะจุดนั้นมั้ย ก็ขอบอกตามตรงว่าผมไม่ได้เอาเข้ามาเป็นตัวแปรในการตัดสินใจ (criteria) เลยด้วยซ้ำ ผมดูที่ประสบการณ์ทำงานกับ professional qualification ที่เขามีมากกว่า ซ้ำร้ายถ้าตำแหน่งนั้นรับคนที่ประสบการณ์การทำงานไม่มาก ผมยังอยากจะเลือกรับเอาคนที่อายุน้อยกว่ามาด้วย ไม่ใช่เพราะงูอยู่บนหัวนะครับ แต่เพราะว่าคนเหล่านี้เขาจะมีไฟในการเรียนรู้ที่แรงกว่า และเปิดใจในการไขว่คว้า professional qualification มากกว่า ซึ่งอันนี้คงเป็นกรณีเฉพาะในต่างประเทศ เพราะพวกเขาไม่ค่อยคิดจะลาออกเพื่อไปเรียนต่อกันเท่าไรนักด้วย


ผมขอยกตารางเปรียบเทียบ qualification ทั้งสองแบบนี้ให้ดูนะครับ เพื่อจะได้เห็นภาพกันได้มากขึ้น
Academic qualification ในขั้นปริญญาโท
Professional qualification หลังจากจบปริญญาตรี
  • เข้าเรียน นั่งเช็คชื่อ ส่งการบ้าน ทำโครงงาน
  • ถ้าเรียนในประเทศ ก็สามารถเลือก Full time หรือ part time ได้
  • ถ้าอยากเป็นนักเรียนนอก ก็ต้องลาออกจากบริษัทเพื่อไปเรียน full time และใช้เวลาในการเตรียมตัวทำเรื่องทำใบสมัครเกือบปี
  • คุณวุฒิที่ได้ขึ้นกับชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยที่จบมา
  • มีคนจบมากขึ้นทุกๆ ปี
  • ควรจะต้องไปสอบ professional qualification เมื่อจบปริญญาแล้วอยู่ดี เพื่อเป็นที่ยอมรับของมาตรฐานสากลโลก (โดยเฉพาะในบางสายอาชีพ เช่น แอคชัวรี (actuary) นักวิเคราะห์ (financial analyst) นักจัดการความเสี่ยง (risk management) เป็นต้น)
  • ต้องอยู่ในประเทศนั้นๆ (ยกเว้นเรียนออนไลน์)
  • กำหนดความเร็วช้าของการจบได้ยาก บางรายจะจบไม่จบต้องขึ้นกับว่าชาติก่อนทำบุญไว้ดีกับอาจารย์ (Supervisor) แค่ไหน

เหตุผลที่ไม่เป็นเหตุผลของการเรียน :
-                    เพื่อนๆ เขาจบโทกันหมดแล้ว (บ้าเห่อ)
-                    พ่อแม่ขอร้องมา (อันนี้กตัญญู แบบกู่ไม่กลับ)
-                    อยากเท่ (พ่อแม่มีเงิน)
-                    อยากจะหลบ(หนี)ไปใช้ชีวิตที่เมืองนอก (อันนี้พ่อแม่ก็มีเงิน)

  • ทำงานไปด้วย แล้วก็ศึกษาหาความรู้ในสายวิชาชีพไปด้วย
  • ศึกษาด้วยตนเอง (self study) แล้วก็ไปสอบ
  • บริษัทสนับสนุนและส่งสอบ
  • บางบริษัทมีวันหยุดและเงินโบนัส หรือ การปรับเงินเดือนให้
  • เป็นเสมือนการเอนทรานซ์ระดับโลก ได้มาตรฐานสากล
  • เป็นที่ต้องการมากขึ้นทุกๆ ปี
  • สอบได้ยากกว่า อาจไม่มีกำหนดจบ บางคนใช้เวลาถึง 10 ปี แต่เมื่อจบแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องมีปริญญาอีกต่อไป (โดยเฉพาะในบางสายอาชีพ เช่น แอคชัวรี (actuary) นักวิเคราะห์ (financial analyst) นักจัดการความเสี่ยง (risk management) เป็นต้น)
  • สามารถสอบที่ไหนก็ได้ในทุกมุมโลก (เหมือนสอบ TOEFL)
  • เร็วช้าขึ้นกับความสามารถและความพยายาม ถ้ามีความสามารถสูงก็สอบจบได้เร็ว


เหตุผลที่เป็นเหตุผลของการเรียน :
-                    ไม่เสียประสบการณ์ทำงาน
-                    ไม่ต้องไปวุ่นเตรียมใบสมัคร
-                    เกี่ยวข้องโดยตรงกับสายวิชาชีพ
-                    ตรงตามมาตรฐานสากลโลก

ดังนั้นหลายๆ คนเคยถามผมว่า การเรียนต่อปริญญาโทนั้นจำเป็นหรือเปล่า ผมว่าไม่ว่าที่ไหนๆ ก็สามารถเรียนรู้อยู่ทุกเวลาทุกสถานที่ได้ ขอแค่ให้มีกรอบความคิดที่จะเรียนรู้ ความรู้มันก็มาเอง การศึกษาต่อในระดับปริญญาโทก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เรามีเวลาไปทุ่มเทเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ต่างๆ ได้มากขึ้น แต่ถ้าถามว่าการมีปริญญาโทมีความจำเป็นสำหรับความก้าวหน้าในอาชีพการงานมั้ย ผมคงต้องขอตอบตามความเห็นส่วนตัวว่า มันก็คงจะจำเป็นระดับหนึ่ง ที่จำเป็นเพราะ ขณะที่เป็นอยู่นี้ตลาดไทยมันบังคับ มาตรฐานของสังคม ผมเป็นคนไทยเหมือนกัน ผมเข้าใจความรู้สึกนี้ดี แต่เมื่อมามีประสบการณ์ในการทำงานในต่างประเทศ ได้มีโอกาสได้สัมภาษณ์(ตอนรับลูกน้อง) และถูกสัมภาษณ์(ตอนถูกล่าตัว) ก็ได้กรอบความคิดที่เป็นอีกมุมมองนึงซึ่งต่างกับสิ่งที่คนไทยคิดโดยสิ้นเชิง

แต่ก็ถามต่อไปว่าแล้ว professional qualification ล่ะจำเป็นหรือเปล่า อันนี้จำเป็นมากครับ การเรียนเหล่านี้เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วก็หล่อหลวมกระบวนการความคิดให้ถูกต้องตามยุคสมัยปัจจุบัน จะสังเกตเห็นว่าตำราเรียนที่ใช้ตอนเรียนปริญญานั้นเป็นตำราที่แต่งมานานแล้ว บางเล่มแต่งมานานถึง 20 ปี หมายความว่าเป็นความรู้ที่ถูกแช่มากว่า 20 ปีแล้ว ดังนั้นเขาจึงบอกว่า ตำราเรียนจาก academic qualification นั้นเป็นแบบอยู่นิ่ง (static) แล้วหันมานิยม professional qualification ซึ่งเป็นแบบทันยุคสมัยและมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา (dynamic) เนื่องจากคณะกรรมการที่จัดหลักสูตรด้าน professional qualification ก็เป็นคนที่คัดสรรมาจากบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลก ที่เป็นจ้าวแห่งวงการนั้นๆ นั่นเอง ดังนั้นในตัวหลักสูตรจึงได้มีการเชื่อมโยงกับความรู้ในตลาดการทำงานในขณะนั้นด้วย

สุดท้ายนี้ ขอยกตัวอย่างของ professional qualification ที่อาจจะเคยได้ยินบ้างในเมืองไทยนะครับ
FSA (Fellowship of Society of Actuaries) เป็น ขั้นสูงสุดของ professional qualification ของ แอคชัวรี (ปัจจุบันมีเพียง 6 คนในเมืองไทยเท่านั้น)
FRM (Financial Risk Manger) หรือ PRM (Professional Risk Manager) เป็น ขั้นสูงสุดของ professional qualification ของ financial risk management
CFA (Chartered Financial Analysts) เป็น ขั้นสูงสุดของ professional qualification ของ financial analyst
CERA (Chartered Enterprise Risk Analysts) เป็น ขั้นสูงสุดของ professional qualification ของ Enterprise Risk Management
CPA (Certified Public Accountant) หรือ ACCA (Association of Chartered Certified Accountants) เป็น ขั้นสูงสุดของ professional qualification ของ นักบัญชี
CIA (Certified Internal Auditor) เป็น ขั้นสูงสุดของ professional qualification ของ Auditor
CIPR (Chartered Institute of Public Relations) เป็น ขั้นสูงสุดของ professional qualification ทางด้าน Public Relations

ก่อนจะจบนั้น อยากจะแถมคำศัพท์ภาษากวางตุ้งที่ใช้กันในฮ่องกงอีกซักคำ เพราะคำว่าไฟฉายนั้นดันไปพ้องกับคำว่าไฟฉายในภาษากวางตุ้งซึ่งถือเป็นคำพูดหยาบคาบของเขาครับ ถ้าลองไปพูดใส่หน้าคนฮ่องกงว่า ไฟฉาย จะหมายถึงเรากำลังว่าเขาว่าไอ้คนไร้ประโยชน์ครับ

สำหรับคนไทยเราในตอนนี้ก็ควรจะเลือกมองหาไฟแช็คกันบ้างได้แล้วล่ะครับ เพราะมันเป็นไฟที่จุดขึ้นมาแล้วได้ใช้ประโยชน์เฉพาะทางเหมือน professional qualification หรือการสอบเป็นมืออาชีพเฉพาะทางนั่นเอง อย่ามัวแต่พุ่งความสนใจกับไฟฉายจนพลาดโอกาสอื่นๆ ที่ดีในชีวิตไปครับ


วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บริหารเวลาภาษาแอคชัวรี (Time management)

บริหารเวลาภาษาแอคชัวรี (Time management)
พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) FSA, FIA, FSAT, FRM, MBA, MScFE (Dist), B.Eng (Hons)

การที่จะเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือแอคชัวรีที่ดีได้นั้นคงต้องอาศัยฝีมือทั้งบุ๋นและบู๊ให้แสดงได้ออกมาพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือสอบ การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ การจับประเด็นให้ไวและทัน การสื่อสาร การนำประชุม การตัดสินใจ ความมีไหวพริบ รวมไปถึงงานบริหาร เป็นต้น ซึ่งการบริหารที่สำคัญไปกว่าการบริหารงานและการบริหารคนทั้งปวงก็คือ “การบริหารเวลา”

การบริหารที่สำคัญไปกว่าการบริหารงานและการบริหารคนทั้งปวงก็คือ “การบริหารเวลา”

“การบริหารเวลา” เป็นหัวใจหลักของความสำเร็จสู่หนทางของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ต้องการขึ้นมาสอบผ่านหมดจนเป็นเฟลโล่ เพราะจำเป็นต้องอ่านหนังสือสอบไปด้วยพร้อมทั้งทำงานไปด้วยจนเวลาในแต่ละวันไม่เคยจะพอ และด้วยเหตุนี้เอง นักคณิตศาสตร์ประภันภัยที่สอบผ่านครบหมดแล้วจึงรู้สึกว่ามีเวลามากมายเหลือเกินในช่วงที่เป็นเฟลโล่แรกๆ เนื่องจากปรับตัวไม่ทันจากการที่เคยอ่านหนังสือต่อเนื่องกันนับสิบๆ ปี แต่พอผ่านไปสักระยะก็จะมีความสามารถรับงานได้มากมาย (Multi-tasks skill) เนื่องจากเรียนรู้วิชา “การบริหารเวลา” ตั้งแต่สมัยที่ยังต้องสอบมาอย่างไม่รู้ตัว

“การบริหารเวลา” เป็นหัวใจหลักของความสำเร็จสู่หนทางของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ต้องการขึ้นมาสอบผ่านหมดจนเป็นเฟลโล่

แนวคิดเรื่อง “การบริหารเวลา” นั้นได้มีการคิดค้นขึ้นมาหลายยุค โดยเริ่มแรกก็เป็นเพียงแค่การจดใส่กระดาษแล้วลิสต์เป็นหางว่าว พอทำงานชิ้นหนึ่งเสร็จก็ขีดฆ่า แล้วก็ไปทำงานชิ้นต่อไป แต่ในที่นี้ เราจะมากล่าวถึงเทคนิค “การบริหารเวลา” ในยุคสมัยใหม่ ที่ต้องอาศัยการมองการณ์ไกลประกอบกับการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของงานเข้าไปด้วย ดังเช่นการวิเคราะห์ตัวอย่างประกอบดังต่อไปนี้

หลักการบริหารเวลาแบบใหม่นี้คือการเพิ่มมิติของความสำคัญของสิ่งที่เราควรจะทำเข้าไป แล้วอย่าทำตัวเป็นเหมือนเครื่องจักร แต่ต้องมองการณ์ไกลแล้วก็กำหนดเป้าหมายระยะกลางกับระยะยาวให้ชัดเจน

ก้อนหิน ก้อนกรวด ก้อนทราย และน้ำ
มีอุปกรณ์อยู่ 4 ชนิด นั่นก็คือ ก้อนหิน ก้อนกรวด ก้อนทราย แล้วก็น้ำจำนวนหนึ่ง ทีนี้ถ้าเราต้องการใส่ของ 4 ชนิดนี้ลงไปในถังเหล็กใบใหญ่ใบหนึ่ง โดยบอกว่า ความจุของถังใบนี้เปรียบเหมือนกับขีดความสามารถของคนๆ หนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่ง” แล้วจะต้องเรียงลำดับการใส่ของ 4 ชนิดนี้ลงในถังอย่างไร

ในที่นี้เราจะให้ 1) ก้อนกรวดเปรียบเหมือนกับงานที่สำคัญและเร่งด่วน 2) ก้อนหินเปรียบเหมือนงานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน 3) เม็ดทรายเปรียบเหมือนกับงานที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ 4) น้ำเปรียบเหมือนงานที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน

ปกติคนเรานั้นจะพยายามจัดการกับงานที่สำคัญและเร่งด่วนซึ่งก็คือก้อนกรวดก่อน และเมื่อทดลองใส่ก้อนกรวดลงไปก่อน ก็ปรากฏว่าไม่เหลือที่จะใส่ก้อนหินซึ่งเปรียบเหมือนงานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วนได้

แต่ถ้าหากเปลี่ยนวิธีการใส่ใหม่ล่ะ ลองใส่ก้อนหินทีละก้อนลงไปในถังก่อน จนเต็มถัง ซึ่งดูผิวเผินแล้วก็เหมือนกับว่าถังใบนั้นมันเต็มและใส่อะไรไม่ได้อีกแล้ว แต่เมื่อหยิบก้อนกรวดใส่เข้าไปข้างบนถังแล้วเขย่าให้ก้อนกรวดตกลงไปในถังจนหมด หนำซ้ำจริงๆ แล้วยังมีที่เหลือพอไว้ให้ใส่ทรายเข้าไปอีกด้วย และก็คงจะเดากันออกว่า เราสามารถตักน้ำใส่เข้าไปในถังที่เหลือจนเต็มได้อีกด้วย

เทคนิคการบริหารเวลาสามารถแบ่งออกเป็น 3 ยุค
ยุคแรกเน้นการใช้เศษกระดาษบันทึก ยุคที่สองจะเน้นการใช้แผนการดำเนินงานและตารางโปรแกรมประจำวันซึ่งสะท้อนความสำคัญของการวางแผน ส่วนยุคปัจจุบันจะเน้นการจัดการโดยแบ่งแยกประเภทของหน้าที่การงานตามดีกรีความสำคัญของงานเพื่อพิจารณาลำดับความเร่งด่วนในการจัดการงานดังกล่าว เทคนิคทั้งสามแบบต่างมีเรื่องการมอบหมายงานเกี่ยวข้องอยู่ด้วยตามความต้องการของปริมาณและลักษณะเฉพาะของงานแต่ละชิ้น
  
ยุคแรกเน้นการใช้เศษกระดาษบันทึก ยุคที่สองจะเน้นการวางแผนการดำเนินงานและตารางโปรแกรมประจำวัน ส่วนยุคปัจจุบันจะเน้นการจัดการ

สำหรับหลักการบริหารเวลานั้น ถ้าเราให้ถังของเราเติมเต็มไปด้วยก้อนกรวด ทราย และน้ำ ก็คงจะไม่มีโอกาสได้ใส่ก้อนหินลงไปได้ แต่ถ้าหากใส่ก้อนหินลงไปก่อน ในถังก็จะยังมีเนื้อที่ที่จะใส่สิ่งอื่นๆ เข้าไปได้อีก ดังนั้น การบริหารเวลาที่ได้ผลต้องดูว่า อะไรคือก้อนหิน อะไรคือก้อนกรวด เม็ดทราย และน้ำ และยังไงซะ เราก็ควรจะต้องใส่ก้อนหินลงไปในถังเป็นอันดับแรกก่อน


งานที่เร่งด่วนและสำคัญ คือ ก้อนกรวด
งานที่ไม่เร่งด่วนแต่สำคัญ คือ ก้อนหิน
งานที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ คือ ทราย
งานที่ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญ คือ น้ำ



งานที่เร่งด่วนและสำคัญ คือ ก้อนกรวด

เรื่องที่เร่งด่วนและสำคัญคือ เรื่องวิกฤตที่ต้องทำเดี๋ยวนี้ วันสุดท้ายแล้ว ถ้าไม่ทำก็จะมีปัญหา หรือไม่ก็มีประชุมด่วนเข้ามา รวมถึงเรื่องอะไรที่ต้องแข่งกับเวลาเพื่อชี้เป็นชี้ตาย ถ้าเปรียบเทียบกับในสนามรบแล้ว ก็เหมือนกับแม่ทัพที่จะต้องจัดการกับข้าศึกประชิดเมือง หรือมีปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติที่จะต้องรีบจัดการอย่างเร่งด่วน

คนที่เน้นแต่จัดการเรื่องประเภทก้อนกรวดจะเป็นคนที่รู้สึกถูกกดดัน ลุกลี้ลุกลน และวนเวียนอยู่กับเรื่องวิกฤตการณ์ต่างๆ และวันๆ เอาแต่แก้ปัญหาประชิดตัวจนอ่อนล้า ไม่มีแรงเหลือไปทำอย่างอื่น เครียดแบบหมดสภาพเพราะมัวแต่ยุ่งกับเรื่องเฉพาะหน้า

ถ้าเปรียบกับชีวิตประจำวันในการทำงานแล้วก็เหมือนกับการที่มีคำสั่งด่วนจากประธานบริษัทให้จัดการแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งให้เสร็จสิ้นภายในวันนี้ เป็นต้น

งานที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ คือ ทราย

เรื่องที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ คือ เรื่องที่โทรมาขัดจังหวะแต่ไม่มีผลกับเรา ต้องตอบหรือทำธุระให้ชาวบ้านเขาเดี๋ยวนี้ แต่ไม่ทำก็ไม่ได้กระทบอะไรมากมายนัก เช่น รับรองแขกที่ไม่ได้รับชิญ จัดการกับจดหมายเอกสาร หรือ โทรศัพท์ทั่วไป เข้าประชุมทั่ไป หรือการประชุมและกิจกรรมทั่วไปที่ไม่สำคัญ

คนที่เน้นเรื่องประเภทเม็ดทรายจะขาดพลังสร้างสรรค์ คบคนแบบผิวเผิน มองเห็นแต่เรื่องเฉพาะหน้า ไม่รู้ว่าเป้าหมายในการทำงานคืออะไร มองในแง่ดีก็คือเป็นคนว่าง่าย มีใครสั่งให้ทำอะไรก็ทำ เป็นคนที่ยังแยกแยะว่าอะไรคือสิ่งสำคัญได้ไม่ดีนักซึ่งเมื่ออยู่ๆ ไปก็จะรู้สึกว่าตัวเองถูกควบคุม เบื่อ เซ็ง และเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้

งานที่ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญ คือ น้ำ

เรื่องที่ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญ คือ เรื่องหยุมหยิม ไม่เกี่ยวกับงานแล้วก็ไม่จำเป็น ทำแล้วไม่เกิดผลอะไร เสียเวลาแล้วก็ไม่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น งานจุกจิกทั่วไปที่ทำหรือไม่ทำก็ได้ งานเลี้ยงสังสรรค์ทั่วไปที่ไม่จำเป็น กิจกรรมที่น่าสนใจทั่วไป ซึ่งรวมถึงการติดหนังหรือบ้าดาราจนเกินความพอดี นั่งคุยโทรศัพท์ทั้งวัน หรือไม่ก็บ่นเรื่องแฟนไปมีชู้ เป็นต้น

พวกที่นิยมเรื่องราวประเภทน้ำมักไม่ค่อยจะมีความรับผิดชอบ ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน พึ่งพาตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยผู้อื่นให้คอยช่วยเหลือเสมอ แถมทำงานหลักๆ ที่ได้รับมอบหมายได้ไม่ทัน แต่ที่เก่งก็คือเรื่องการหาข้อแก้ตัวให้กับตัวเองให้บ่อยๆ ถ้าจะให้เรียกกันตรงๆ ก็คือการทำตัวได้ไร้สาระไปวันๆ อย่างไม่มีที่ติได้นั่นเอง

งานที่ไม่เร่งด่วนแต่สำคัญ คือ ก้อนหิน

เรื่องที่ไม่เร่งด่วนแต่สำคัญ คือ เรื่องการวางแผนงาน การพัฒนาตนเอง การดูแลสุขภาพ ถ้ามัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่งแล้วก็จะกลายเป็นเรื่องวิกฤตได้ในภายภาคหน้า ยกตัวอย่างเช่น โครงการใหม่ การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การสร้างความสัมพันธ์กับหุ้นส่วน การเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการกับปัญหาในอนาคต การพัฒนาบุคคลากรภายใต้การบังคับบัญชาของเราให้เก่งขึ้น หรือแม้กระทั่ง การเตรียมตัวสอบเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในเนื้องานที่ทำอยู่ให้มากขึ้น

คนที่จัดการกับเรื่องประเภทก้อนหินได้นั้น เป็นคนมีประสิทธิภาพ เพราะจะเก่งในการวิเคราะห์สถานการณ์ เวลา และสิ่งแวดล้อม สามารถจับประเด็นหลักของปัญหา สามารถจัดการกับเรื่องเร่งด่วนและควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกินกว่าเหตุ ป้องกันปัญหา กล้าฟันธงและใช้หลักการจัดการได้อย่างเหมาะสม คนพวกนี้จะมีวิสัยทัศน์ มีอุดมการณ์ มองการณ์ไกล เคารพระเบียบ สามารถควบคุมตัวเอง มีความสมดุลในชิวิต ดำเนินชีวิตอย่างมีวินัย และสามารถทำงานชิ้นใหญ่ได้

พอถึงตรงนี้แล้ว มีบางคนอาจจะถามว่าเป็นไปได้ไหมที่ว่าถ้าเน้นก้อนหินมากเกินไปจะมองข้ามก้อนกรวด เพราะก้อนกรวดมากับความเร่งด่วน แต่ถ้าคิดดูดีๆ แล้วก็จะรู้ว่า ก้อนกรวดนั้นมันก็คือก้อนหินที่แตกสลายลงไปเป็นก้อนกรวดนั่นเอง และถ้าเราให้ความสำคัญกับเรื่องประเภทก้อนหินเยอะ ก็จะทำให้มีปัญหาประเภทก้อนกรวดน้อย ส่วนคนที่เน้นก้อนกรวดนั้นก็จะมีแต่ก้อนกรวดเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลา



ตารางการบริหารเวลา
เร่งด่วน
ไม่เร่งด่วน
สำคัญ
เรื่องวิกฤตที่ต้องทำเดี๋ยวนี้ วันสุดท้ายแล้ว ถ้าไม่ทำก็จะมีปัญหา หรือไม่ก็มีประชุมด่วนเข้ามา เรื่องอะไรที่ต้องแข่งกับเวลาเพื่อชี้เป็นชี้ตาย
การวางแผนงาน การเตรียมตัวสอบ การพัฒนาตนเอง การดูแลสุขภาพ ถ้ามัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่งแล้วก็จะกลายเป็นเรื่องวิกฤตได้ในภายภาคหน้า
ไม่สำคัญ
เรื่องที่โทรมาขัดจังหวะแต่ไม่มีผลกับเรา ต้องตอบหรือทำธุระให้ชาวบ้านเขาเดี๋ยวนี้ แต่ไม่ทำก็ไม่ได้กระทบอะไรมากมายนัก
เรื่องหยุมหยิม ไม่เกี่ยวกับงานแล้วก็ไม่จำเป็น ทำแล้วไม่เกิดผลอะไร เสียเวลาแล้วก็ไม่สำคัญ ติดหนังหรือบ้าดาราจนเกินความพอดี นั่งคุยโทรศัพท์ทั้งวัน หรือไม่ก็บ่นเรื่องแฟนไปมีชู้


เมื่อรู้ซึ้งถึงการจัดลำดับความสำคัญของงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการมองการณ์ไกลแล้วก็มีเป้าหมายที่มุ่งมั่น แล้วก็แน่นอนครับ การสอบเป็นแอคชัวรีขั้นเฟลโล่ให้ได้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วนเหมือนงานประเภทที่เป็นก้อนหินที่พร้อมจะแตกเป็นก้อนกรวดได้ทุกเมื่อ เพราะเมื่อมีงานที่จำเป็นต้องใช้ความรู้ขึ้นมา แต่ทำไม่เป็นนั้น ก็จะทำให้งานที่ทำเกิดความผิดพลาดเสียหาย หรือสูญเสียโอกาสที่ดีในอนาคตได้

ซึ่งหลักการบริหารเวลาแบบนี้ก็คือการเพิ่มมิติของความสำคัญของสิ่งที่เราควรจะทำเข้าไป อย่าทำตัวเป็นเหมือนเครื่องจักร แต่ต้องมองการณ์ไกลแล้วก็กำหนดเป้าหมายระยะกลางกับระยะยาวให้ชัดเจน ผมว่าแค่นี้ก็ช่วยทำให้ใช้เวลาได้มีประสิทธิภาพแล้วก็มีความสุขเพิ่มขึ้นมากแล้วครับ

วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ใครว่าบริษัทประกันเป็นเสือนอนกิน

Food for thought - ใครว่าบริษัทประกันเป็นเสือนอนกิน
หลายคนในที่นี้คงเคยได้ยินคำว่าเสือนอนกินกันอยู่บ้าง และก็มีไม่น้อยที่คิดว่าบริษัทประกันนั้นขายแค่กระดาษและก็คอยเป็นเสือนอนกิน เพราะเก็บเบี้ยประกันภัยเข้ามาก่อน แต่เวลาจ่ายเคลมนั้น ดูเหมือนจะเข้มงวดกันเสียเหลือเกิน อย่างนี้บริษัทประกันภัยคงต้องมีกำไรมหาศาลเลยแน่ๆ จะเป็นจริงหรือไม่นั้น เราค่อยๆ มาดูกันดีกว่าครับ ว่าที่มาที่ไปของกำไรที่ว่านั้นมันมาอย่างไร
ก่อนอื่นก็คงต้องเริ่มจากเบี้ยประกันภัยที่รับเข้ามาก่อน เพราะนี่ถือว่าเป็นรายรับของบริษัทอยู่แล้ว และเมื่อได้รับเบี้ยเข้ามาแล้ว บริษัทก็จะนำเงินก้อนนี้มาลงทุนให้เกิดดอกออกผล เพราะคงจะไม่มีใครที่เอาเงินมาแล้วเก็บใส่ไว้ในตุ่มเฉยๆ แต่การลงทุนของบริษัทประกันภัยนั้น จะต้องลงทุนแบบมีเหตุมีผล แบบว่าไม่เสี่ยงจนเกินไป เพราะบริษัทจะต้องเจียมเนื้อเจียมตัว และพึงสังวรณ์อยู่เสมอว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่นำมาลงทุนอยู่นั้น คือเงินของผู้เอาประกันภัยที่หวังจะได้รับความคุ้มครองจากการสูญเสียทางการเงิน (financial loss) บางอย่างขึ้นในอนาคต
แน่นอนว่าในสินค้าใดๆ ก็ตาม เมื่อมีการขายเกิดขึ้นแล้ว บริษัทต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นหรือค่าบำเหน็จให้กับฝ่ายขายที่ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนหรือโบรกเกอร์ต่างๆ ซึ่งก็ต้องไม่ลืมว่าบริษัทจะต้องหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทออกไปอีกด้วย ส่วนที่เหลือหลังจากนั้นก็ต้องมาดูกันว่าเคลม หรือค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้กับผู้รับประกันภัยนั้นมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพอถึงตรงนี้แล้วก็คงจะต้องอาศัยสถิติและข้อมูลล้วนๆ ในการประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าตามหลักการของคณิตศาสตร์ประกันภัย
ยอดขายหรือเบี้ยประกันภัย คอมมิชชั่นหรือค่าบำเหน็จให้กับฝ่ายขาย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัท ค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้กับผู้รับประกันภัย = ส่วนที่เหลือที่เป็นรายได้ของบริษัท

สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ “ธุรกิจประกันภัยนั้น ได้รับเงินมาก่อน แล้วจึงค่อยมีต้นทุนของสินค้าตามออกมาทีหลัง” ซึ่งก็คงต้องเดากันล่ะว่าต้นทุนของสินค้าในแต่ละตัวนั้นจะเป็นเท่าไร ถ้าเดาถูกก็ดีไป แต่ถ้าเดาไม่ถูกแล้วล่ะก็บริษัทก็ขาดทุนไป แล้วถ้าลองมาคิดดูดีๆ แล้วล่ะก็ ต้นทุนสินค้าของบริษัทประกันภัยนั้นจะขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่าง ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสำหรับการประกันชีวิต เช่น อายุ เพศ อาชีพการงาน งานอดิเรก สุขภาพ โรคประจำตัว และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้ต้นทุนสินค้าหรือการเคลมของกลุ่มคนแต่ละกลุ่มนั้นมีค่าต่างกัน ส่วนตัวอย่างของการประกันวินาศภัย ก็ได้แก่การประกันตัวรถยนต์ที่ต้องพิจารณาตั้งแต่อายุการใช้งาน ยี่ห้อ ประเภท หรือความแรงของเครื่องยนต์ เป็นต้น
ดังนั้น สิ่งที่ขาดไปไม่ได้สำหรับบริษัทประกันภัยในเวลาที่ต้องกำหนดราคาสินค้าเลยก็คือ การแบ่งกลุ่มประเภทของผู้เอาประกันภัยตามความเสี่ยง ถ้าเสี่ยงมาก ก็ควรจะเก็บเบี้ยประกันภัยมาก ถ้าเสี่ยงน้อย ก็ควรจะเก็บเบี้ยน้อย
แต่แล้วก็มีคนถามคำถามเกี่ยวกับการซื้อประกันชีวิตขึ้นมาอีกว่า ถ้าเก็บเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยให้เท่ากันให้หมดไปเลยจะไม่ดีกว่าเหรอ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียเวลาในการตรวจสุขภาพ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง ก็คงจะไม่ได้หรอกครับ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว คนที่เสี่ยงน้อย ก็จะยิ่งเสียเปรียบสิ กลายเป็นว่าเค้าจะไม่มาทำประกันภัย แล้วก็จะเหลือแต่คนที่มีความเสี่ยงมากมาซื้อประกัน ทำให้ต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจริงๆ นั้นมีราคาสูงกว่าเบี้ยประกันที่เป็นราคาขายเฉลี่ยไปโดยที่ไม่ทันรู้ตัว
เห็นมั๊ยครับว่าก่อนที่บริษัทประกันภัยจะทำอะไรนั้น  จะต้องมีการคิดไว้ล่วงหน้าเสมอ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะได้กำไรเสมอไปเหมือนกัน แค่ได้กำไรพอประมาณที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่บริษัทต้องรับผิดชอบไว้ก็พอแล้ว ไม่เชื่อก็ลองมาถามนักคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือแอคชัวรีกันดูได้ครับ