วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หน้าต่างประกันภัย – ภาษีคนโสด (ตอน การจัดตั้งเงินสำรองสำหรับเลี้ยงดูคนในยามเกษียณ)

 หน้าต่างประกันภัย – ภาษีคนโสด (ตอน การจัดตั้งเงินสำรองสำหรับเลี้ยงดูคนในยามเกษียณ)

แนวคิดเรื่อง “ภาษีคนโสด” มีออกมาเพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะปัญหาประชากรสูงอายุที่กำลังจะเข้าสู่วัยเกษียณเป็นจำนวนมาก ทำให้ภาครัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอเพื่อรองรับกับภาระเลี้ยงดูประชากรวัยเกษียณในอนาคต เพราะวิธีการจัดเก็บและนำเงินภาษีมาใช้นั้นยังเป็นแบบวิธี Pay as you go ซึ่งเป็นวิธีที่ “คนจ่ายภาษีไม่ได้ใช้ แต่คนใช้สวัสดิการจากภาษีนั้นไม่ได้จ่าย” ทำให้ต้องระวังเรื่องสัดส่วนของประชากรวัยทำงานกับวัยเกษียณเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคนในยุค baby-boomer ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยเกษียณในอีกไม่ช้า ยังผลให้ประชากรวัยทำงานในขณะนั้นจะต้องแบกรับภาระการเสียภาษีมากกว่ายุคอื่นๆ มากนัก

Pay as you go (จ่ายและเก็บภาษีตามมีตามเกิด)
ลักษณะการบริหารภาษีแบบนี้จะเป็นลักษณะที่เก็บเงินภาษีเข้ามากองไว้ จากนั้นก็จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งไว้บริหารประเทศและงบประมาณอีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับการเลี้ยงดูคนในยามเกษียณ ซึ่งจุดเด่นของวิธีการบริหารแบบนี้คือเป็นการบริหารแบบ “ปีต่อปี” และถ้าค่าใช้จ่ายในปีไหนที่ไม่น่าจะพอ ก็จะไปเรียกเก็บภาษีเพิ่มเอา แต่ถ้าเรามามองในส่วนของภาระเลี้ยงดูของภาครัฐที่มีให้กับประชากรเมื่อยามเกษียณเท่านั้น มันก็เหมือนกับว่า “รุ่นลูก” ที่เป็นประชากรวัยทำงานกำลังทำงานจ่ายภาษีเพื่อไปเลี้ยง “รุ่นแม่” ที่เป็นประชากรวัยที่เกษียณ เพราะฉะนั้น ภาครัฐจึงเป็นตัวกลางที่ทำให้คนวัยทำงานทำหน้าที่เลี้ยงดูคนวัยสูงอายุ และเมื่อคนวัยทำงานเหล่านี้แก่ตัวลงจนกลายเป็นคนวัยสูงอายุเสียเอง ถึงตอนนั้นก็จะมีเด็กที่กลายมาเป็นคนวัยทำงานเพื่อเลี้ยงดูคนสูงอายุแบบนี้ต่อไปในทุกรุ่นทุกยุคสมัย

วิธี Pay as you go ไม่ได้มีการวางแผนกันเงินสำรองล่วงหน้าแบบระยะยาวเอาไว้ จึงอาจจะเรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า “วิธีการจ่ายและเก็บภาษีกันตามมีตามเกิด” เพราะเป็นวิธีที่บริหารเงินกันเป็นปีต่อปี ซึ่งง่ายกับการจัดการบริหาร โดยจะใช้ได้ดีต่อเมื่อสัดส่วนของประชากรวัยทำงานกับวัยเกษียณนั้นมีค่าคงที่และไม่ผันผวนมากเกินไปนัก

วิธีการอีกแบบหนึ่งที่คำนึงถึงเงินสำรองในระยะยาวเอาไว้นั้นจะเรียกว่าวิธีแบบ Reserving basis โดยจะเป็นวิธีที่ตั้งเงินสำรองไว้สำหรับแต่ละคน หมายความว่าถ้าคนไหนจ่ายสะสมเอาไว้มากก็จะมีการตั้งเงินสำรองไว้มากเพื่อที่จะเก็บไว้ให้คนๆ นั้นในอนาคต ซึ่งก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ให้แต่ละคนออมเงินของตัวเอง

แต่สิ่งที่พิเศษและต่างกับการออมแบบฝากเงินนั้นก็คือ “การตั้งเงินสำรองเพื่อวางแผนสำหรับการเกษียณ” นั้นหมายถึงการเตรียมตัวสำหรับอนาคตที่จำเป็นต้องใช้เงินเมื่อยังมีชีวิตอยู่ในช่วงเกษียณ ทำให้การตั้งเงินสำรองแบบนี้จำเป็นจะต้องอาศัยหลักการทาง “คณิตศาสตร์ประกันภัย” เข้ามาช่วยคำนวณ ไม่ว่าจะเป็นอัตรามรณะ อัตราการเจ็บป่วย หรืออัตราดอกเบี้ยจากการลงทุน เป็นต้น


Reserving basis (การตั้งเงินสำรองตามหลักทางคณิตศาสตร์ประกันภัย)
ลักษณะการบริหารภาษีแบบนี้จะเป็นลักษณะที่เก็บเงินภาษีจากแต่ละคนเข้ามาและมีการตั้งเงินสำรองเอาไว้ให้สำหรับคนๆ นั้น ซึ่งจุดเด่นของวิธีการบริหารแบบนี้คือเป็นการบริหารแบบมีวางแผนตั้งเงินสำรองล่วงหน้าแบบระยะยาวเอาไว้ ทำให้มั่นใจได้ว่าแต่ละคนจะมีเงินใช้ในยามเกษียณตามที่ได้จ่ายเงินเข้ามาไว้ในช่วงวัยทำงาน แต่สิ่งที่เป็นข้อเสียของวิธีนี้ก็คือการดำเนินงานที่ยุ่งยากและขาดความยืดหยุ่นในการที่รัฐจะนำเงินไปใช้ทำอย่างอื่น

ปัจจัยต่อไปนี้จะมีผลกระทบกับการประมาณการของเงินสำรองที่จะต้องตั้งไว้ในแต่ละปี
1.      อัตรามรณะ เพื่อที่จะประมาณการว่าจะมีคนที่เหลืออยู่กี่คนถึงตอนที่เกษียณ และเมื่ออยู่ถึงยามเกษียณแล้วจะอยู่กันได้นานเท่าไร
2.       อัตราการเจ็บป่วย เพื่อที่จะประมาณค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพว่าจะต้องจ่ายเมื่อไรและเท่าไรในแต่ละปี ตราบใดที่คนๆ นั้นยังมีชีวิตอยู่
3.      อัตราดอกเบี้ยจากการลงทุน เพื่อให้เงินสำรองที่ตั้งขึ้นมาแต่ละปีได้งอกเงย โดยการลงทุนนั้นจะต้องมีการจัดการความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เหมาะสม เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์นั้นเป็นเงินที่จะต้องคืนให้กับคนที่จะเกษียณในอนาคต

เนื่องจากการดำเนินงานที่ยุ่งยาก วิธีการ Reserving basis จึงไม่ค่อยนิยมใช้ในการจัดเก็บภาษี อาจเป็นเพราะงบประมาณภาษีนั้นก็มีลักษณะปีต่อปีเหมือนกัน วิธีการ Reserving basis จึงได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการจ่ายบำเหน็จบำนาญที่เป็นสวัสดิการของข้าราชการและพนักงาน หรือผลประโยชน์จากประกันชีวิตและประกันบำนาญ โดยคนจ่ายเงินเข้ามาให้นั้นจะเป็นนายจ้างหรือผู้เอาประกันภัยเองก็ได้


การออมเพื่อยามเกษียณโดยวิธี Reserving basis จึงเป็นวิธีที่สามารถใช้ควบคู่กับวิธี Pay as you go ได้อย่างแยบยล โดยภาครัฐสามารถกระตุ้นพฤติกรรมของประชาชนได้จากกลไกทางการออมแบบวิธี Reserving basis นี้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้คนทำประกันชีวิตหรือประกันบำนาญเพื่อวางแผนทางการเงินตั้งแต่ต้น

ดังนั้น การแก้ปัญหาของวิธี Pay as you go โดยไปมีแนวคิดเรื่อง “ภาษีคนโสด” นั้นเป็นเพียงการจะไปแก้ปัญหาระยะสั้นซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ ในทางกลับกัน เราสามารถหันไปส่งเสริมวิธี Reserving basis เช่น “การเพิ่มเพดานค่าลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันชีวิตหรือประกันบำนาญ” ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวและมีประสิทธิผลที่ดีกว่า

การแก้ปัญหาอย่างบูรณาการนั้นจึงจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศในขณะนี้มากที่สุด !!

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]


วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หน้าต่างประกันภัย – ภาษีคนโสด (ตอน หลักการบริหารเงินแบบ Pay as you go)

หน้าต่างประกันภัย – ภาษีคนโสด (ตอน หลักการบริหารเงินแบบ Pay as you go)

คำว่า “ภาษีคนโสด” เป็นคำที่กล่าวถึงกันมากในช่วงนี้ เนื่องจากมันดูเหมือนจะประชดชีวิตคนโสดอย่างไรไม่รู้ บ้างก็คิดว่าทำไมมีคานไว้อยู่แล้วมันผิดด้วยหรือ บ้างก็เข้าใจกันไปเองว่าภาษีคนโสดนั้นคงกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาษีโรงเรือนและที่ดินไปแล้ว เพราะคำว่าโรงเรือนนั้นหมายถึงอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งทำให้ “คาน” ถูกเข้าใจผิดโดนเหมารวมเข้าไปอยู่ในนั้นด้วยแน่เลย เป็นต้น

มีข้อถกเถียงกันไปต่างๆ นานา เกี่ยวกับความเหมาะสมในการจัดเก็บภาษีคนโสด ประกอบกับกระแสของคนโสดที่ออกมาค้านกับแนวคิดนี้  จึงทำให้ประเด็นเหล่านี้ตกไป แต่เราลองมาคิดดูว่าถ้าเกิดมีคนคิด “นโยบายลูกคนแรก” ขึ้นมาแล้วจะเป็นอย่างไร

แน่นอนว่า “นโยบายลูกคนแรก” คงจะฟังดูดีกว่า “ภาษีคนโสด” เป็นแน่ แต่ผลลัพธ์นั้นจะออกมาเหมือนกัน นั่นก็คือการกระตุ้นให้คนมีลูกกันมากขึ้น (ซึ่งก็คงไม่ได้ทำเพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนที่ต้องการทำในการออก “นโยบายรถคันแรก”) เพื่อให้เกิดความสมดุลของประชากรวัยทำงานกับวัยสูงอายุในอนาคตข้างหน้า มิเช่นนั้นแล้ว ประเทศก็จะขาดกำลังสำคัญจากประชากรวัยทำงานซึ่งจะต้องเป็นคนคอยเสียภาษีให้กับภาครัฐ  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแนวคิดเหล่านี้ได้ทำขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมตัวของภาครัฐสำหรับการเลี้ยงดูคนในยามเกษียณของประเทศนั่นเอง

ภาษีจึงได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดความสมดุลของประชากรศาสตร์เพื่อควบคุมปริมาณประชากรในแต่ละช่วงอายุให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม โดยในประเทศจีนเองก็มีการออกระเบียบการในรูปแบบค่าปรับทางภาษีในการมีลูกมากว่า 1 คน เพื่อจำกัดจำนวนประชากรที่จะเกิดมา ซึ่งก็ตรงกันข้ามกับประเทศสิงคโปร์ที่ต้องการจะเร่งผลิตจำนวนประชากรและได้มีกฎระเบียบที่ออกมาในรูปแบบของการลดหย่อนภาษีสำหรับคนที่ไม่โสด (หรือได้แต่งงานอยู่กินด้วยกัน)

โดยปกติแล้ว ภาครัฐสามารถได้แบ่งวิธีการเตรียมตัวสำหรับการเลี้ยงดูคนในยามเกษียณออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1.      การจ่ายและเก็บภาษีตามมีตามเกิด หรือในทางภาษาคณิตศาสตร์ประกันภัยจะเรียกว่าวิธี Pay as you go
2.      การจัดตั้งเงินสำรองสำหรับแต่ละคน โดยทางคณิตศาสตร์ประกันภัยจะเรียกว่า Reserving basis

Pay as you go (จ่ายและเก็บภาษีตามมีตามเกิด)

ลักษณะการบริหารภาษีแบบนี้จะเป็นลักษณะที่เก็บเงินภาษีเข้ามากองไว้ จากนั้นก็จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งไว้บริหารประเทศและงบประมาณอีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับการเลี้ยงดูคนในยามเกษียณ ซึ่งจุดเด่นของวิธีการบริหารแบบนี้คือเป็นการบริหารแบบปีต่อปี ถ้าค่าใช้จ่ายในปีไหนที่ไม่น่าจะพอ ก็จะไปเรียกเก็บภาษีเพิ่มเอา

ถ้าเรามามองในส่วนของภาระเลี้ยงดูของภาครัฐที่มีให้กับประชากรเมื่อยามเกษียณเท่านั้น มันก็เหมือนกับว่า “รุ่นลูก” ที่เป็นประชากรวัยทำงานกำลังทำงานจ่ายภาษีเพื่อไปเลี้ยง “รุ่นแม่” ที่เป็นประชากรวัยที่เกษียณ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะว่า “รุ่นลูก” ในตอนนี้ ก็จะกลายเป็น “รุ่นแม่” ในอนาคต เพราะฉะนั้น ภาครัฐจึงเป็นตัวกลางที่ทำให้คนวัยทำงานทำหน้าที่เลี้ยงดูคนวัยสูงอายุ และเมื่อคนวัยทำงานเหล่านี้แก่ตัวลงจนกลายเป็นคนวัยสูงอายุเสียเอง ถึงตอนนั้นก็จะมีเด็กที่กลายมาเป็นคนวัยทำงานเพื่อเลี้ยงดูคนสูงอายุแบบนี้ต่อไปในทุกรุ่นทุกยุคสมัย

สิ่งที่ต้องพึงระวังในวิธีการบริหารเงินส่วนนี้ก็คือ “การจัดการสัดส่วนของประชากรวัยทำงานกับวัยสูงอายุ” ให้เหมาะสม เพราะวิธีการแบบนี้เป็นวิธีที่ “คนจ่ายไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้จ่าย” โดยคนวัยทำงานที่จ่ายภาษีอยู่นั้นจะไม่ได้รับประโยชน์ในตอนนี้ แต่ก็ได้แต่หวังว่าจะสามารถใช้สวัสดิการที่ตนเองได้จ่ายไว้เมื่อยามที่เกษียณไว้บ้าง ส่วนคนวัยเกษียณที่ได้รับประโยชน์ในตอนนี้ ก็ไม่ได้เป็นคนที่จ่ายภาษีอีกต่อไป

วิธีการนี้ไม่ได้มีการกันเงินสำรองล่วงหน้าระยะยาวเอาไว้ อีกทั้งวิธีการนี้ก็ไม่ได้กำหนดให้แต่ละคนต้องเสียภาษีสะสมไว้ให้มากพอเท่าไร จึงจะนำเงินไปใช้ในยามเกษียณอายุได้ เรียกได้ว่าจ่ายและเก็บภาษีกันตามมีตามเกิด


เนื่องจากประเทศไทยได้ใช้วิธีการแบบ Pay as you go กันข้างต้น และนั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดที่อยากให้คนไทยหันมาแต่งงานและมีลูกกันมากขึ้น เพื่อให้เด็กที่เกิดมานี้กลายเป็นประชากรวัยทำงานที่เสียภาษีเพื่อรองรับกลุ่มคนเกษียณอายุที่ขยายตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดดในวันข้างหน้า

แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังในแนวคิดแบบนี้ก็คือ การมีลูกมากไม่ได้หมายความว่าจะเก็บได้ภาษีมากในอนาคต ปัจจัยสำคัญคือการสร้างประชากรและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีคุณภาพเสียก่อน มิเช่นนั้น ไม่เพียงแต่รัฐจะจัดเก็บภาษีไม่ได้แต่ยังเป็นการไปสร้างปัญหาให้มีประชากรล้นประเทศมากขึ้นไปอีก และคนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นคนเกษียณอายุที่ไม่ได้รับการเตรียมตัวให้วางแผนการเงินกันมาก่อน

นี่คงเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการจ่ายและเก็บภาษีกันตามมีตามเกิดเพื่อการเตรียมตัวสำหรับการเลี้ยงดูคนในยามเกษียณอย่างแท้จริง

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]


วันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หน้าต่างประกันภัย – ภาษีคนโสด (ตอน การเตรียมตัวสู่วัยเกษียณ)


หน้าต่างประกันภัย – ภาษีคนโสด (ตอน การเตรียมตัวสู่วัยเกษียณ)

สืบเนื่องจากแนวคิดเรื่องภาษีคนโสดมีออกมาในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะประชากรสูงอายุที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณเป็นจำนวนมาก ทำให้ภาครัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอเพื่อรองรับกับภาระเลี้ยงดูประชากรวัยเกษียณในอนาคต

ในแต่ละประเทศทั่วโลกตอนนี้กำลังพยายามบริหารสัดส่วนประชากรวัยทำงานกับวัยเกษียณให้ลงตัว ในสมัยก่อน หลายๆ ประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) จะรณรงค์ให้คนในประเทศตัวเองมีลูกเยอะๆ เพื่อให้เด็กโตออกมาสู่ตลาดแรงงาน ทำให้ประชากรวัยทำงานมากกว่าประชากรวัยเกษียณ และขับเคลื่อนประเทศไปได้เร็วขึ้น แต่ในทางกลับกัน การเพิ่มจำนวนประชากรในประเทศนั้น ก็นำไปสู่ภาวะขาดแคลนทรัพยากรรวมไปถึงระบบการศึกษาเพื่อรองรับประชากรให้มีคุณภาพ ทำให้ในเวลาต่อมาภาครัฐรณรงค์ให้ประชากรคุมกำเนิดและมีลูกน้อยลง

ประชากรวัยทำงานที่มากล้นในสมัยก่อนได้ค่อยๆ ขยับเข้ามาเป็นประชากรวัยเกษียณในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้เราเริ่มเห็นว่าประชากรวัยเกษียณกำลังจะมีมากกว่าวัยทำงานหลายเท่า ซึ่งก็แน่นอนว่าแหล่งรายได้ของภาครัฐนั้นมาจากกลุ่มประชากรวัยทำงาน แต่แหล่งรายจ่ายของภาครัฐนั้นอยู่ที่กลุ่มประชากรวัยเกษียณ เป็นผลให้ประชากรวัยทำงานต้องทำงานเพื่อเสียภาษีให้รัฐมากขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของประชากรศาสตร์ ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดเรื่องภาษีคนโสด เพื่อสนับสนุนให้คนไทยหันมาแต่งงานและมีลูกกันมากขึ้น รัฐจะได้เก็บภาษีจากเด็กกลุ่มที่กำลังจะเกิดมาและเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งก็ได้ว่า รัฐกลัวว่าเด็กกลุ่มที่กำลังจะเกิดมานี้จะต้องช่วยกันทำงานหนักเพื่อรองรับกับภาวะประชากรสูงอายุที่ล้นหลาม การมีปริมาณของเด็กที่เกิดมาในกลุ่มนี้เยอะๆ จึงกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับทางออกที่ว่านี้

อย่างไรก็ตาม ปริมาณที่ออกมาโดยไม่มีพื้นฐานที่ดีพอมารองรับ ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการศึกษาที่ไม่ดีพอ การโจรกรรม ยาเสพติด หรือแม้แต่การคอรัปชั่น เป็นต้น ดังนั้น การแก้ปัญหาประชากรผู้สูงอายุ (aging population) โดยไปสนับสนุนให้คนแต่งงานมีลูกกันมากขึ้น (เช่น มาตรการภาษีคนโสด) นั้นจึงอาจเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น หนำซ้ำยังเป็นการซื้อเวลาเพื่อปัดปัญหาออกไปข้างหน้าเสียอีก เพราะยิ่งประเทศผลิตประชากรกันมากขึ้นเท่าไร คนกลุ่มนั้นก็จะกลายเป็นประชากรสูงอายุเข้าสักวัน และปัญหาก็ยังคงคารังคาซังเหมือนเดิมอยู่ดี ถึงตอนนั้นก็คงจะยิ่งแก้ปัญหากันยากขึ้นจนกลายเป็นภาวะงูกินหางที่ไม่มีที่สิ้นสุด

และเพื่อเป็นการตัดวงจรงูกินหางเหล่านี้ ภาครัฐสามารถเตรียมความพร้อมของคนที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณได้โดยการส่งเสริมการออมสำหรับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้แต่ละคนมีเป้าหมายทางการเงินและเก็บเงินสะสมเพื่อยามเกษียณสำหรับตนเอง ซึ่งวิธีนี้น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดที่สุด และภาครัฐเองยังสามารถใช้เครื่องมือทางภาษีเป็นเครื่องจูงใจและกระตุ้นพฤติกรรมของประชาชนในประเทศได้อยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องใช้ให้มีประสิทธิผลและมีวิธีการที่แยบยลมารองรับ (เช่น ค่าลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันชีวิตหรือประกันบำนาญ) แทนที่จะไปเก็บภาษีประชาชนบางกลุ่มเพื่อเร่งผลิตประชากรขึ้นมาเป็นแรงงานในอนาคต

การซื้อประกันชีวิตหรือประกันแบบบำนาญจึงเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ดีที่สุดเพื่อการออมไว้ใช้ในยามเกษียณ โดยกลไกการออมเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนทางการเงินในระยะยาวของแต่ละคน อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงระดับครัวเรือนสำหรับประชาชนในประเทศที่ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น การเพิ่มเพดานค่าลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันชีวิตหรือประกันบำนาญเพื่อการออมนั้นน่าจะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ได้ผลมากที่สุด แม้ภาครัฐจะขาดรายได้จากการที่เรียกเก็บภาษีได้น้อยลงไปบ้าง แต่ในระยะยาวแล้วภาครัฐเองก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการปัญหาประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มปริมาณขึ้นมาแบบก้าวกระโดดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่ได้มากยิ่งไปกว่านั้น คือการจูงใจให้ประชาชนมีวินัยในการออมและนำไปสู่ความพอเพียงเพื่อการเกษียณที่เพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมไทยสมัยนี้

และแม้ว่าแนวคิดภาษีคนโสดอาจจะโดนวิพากษ์วิจารณ์จนตกประเด็นไป แต่ถ้ายังแก้ปัญหากันไม่ถูกจุด รับรองว่าอนาคตคงมีคนเสนอนโยบายใหม่ๆ เอาใจประชาชนอย่าง “ลดหย่อนภาษีให้ลูกคนแรก” ออกมาแน่นอน !!!

ถึงเวลานั้นก็คงต้องให้ประชาชนตัดสินใจเองระหว่าง “การลดหย่อนภาษีให้ลูกคนแรก” หรือ “การเพิ่มเพดานค่าลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันชีวิตหรือประกันแบบบำนาญ” ทั้งสองอย่างแก้ปัญหาประชากรผู้สูงอายุได้เหมือนกัน เพียงแต่แบบแรกเป็นการยืดระเบิดเวลาให้ไกลออกไป ส่วนแบบหลังเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน

ถ้าดูจากลักษณะของความเป็นคนไทย ก็คงพอจะเดากันได้ครับว่า ถ้ามีให้เลือกแล้วอยากจะเลือกแบบไหน?


·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หน้าต่างประกันภัย – ภาษีคนโสด (ตอน ภาวะประชากรสูงอายุล้นประเทศ)


หน้าต่างประกันภัย – ภาษีคนโสด (ตอน ภาวะประชากรสูงอายุล้นประเทศ)

แนวคิดเรื่องภาษีคนโสดนั้น จริงๆ แล้วคงจะไม่ต่างอะไรกับการกระตุ้นให้คนในประเทศมีลูกกันมากขึ้น ซึ่งคิดไปคิดมาแล้วมันอาจจะออกมาในรูปแบบอื่นๆ เช่น “นโยบายลูกคนแรก” ที่จะลดหย่อนภาษีให้เมื่อมีลูกคนแรก (กับภรรยาคนแรก) ก็เป็นได้ 

สิ่งที่ทำให้ต้องคิดกันต่อก็คือที่มาของความอยากที่จะทำให้คนมีลูกกันมากขึ้น อาจเพราะเห็นว่าคนไทยในประเทศยังมีน้อยไป หรืออาจเป็นเพราะคิดว่าคนไทยมีนิสัยรักเด็กก็เป็นได้ แต่สิ่งที่เป็นเหตุผลจริงๆ ของที่มาในแนวคิดนี้ก็คือความต้องการให้มีความสมดุลระหว่างประชากรวัยทำงานกับประชากรสูงอายุในอีก 20 – 30 ปี ข้างหน้า นั่นเพราะว่าประเทศไทยกำลังจะประสบกับปัญหาประชากรสูงอายุล้นประเทศในอนาคต !!!

เนื่องจากภาวะประชากรสูงอายุล้นประเทศจะทำให้ภาครัฐไม่สามารถเลี้ยงดูประชากรผู้สูงอายุเหล่านี้ได้ทั้งหมด เงินภาษีที่เก็บมาจากประชากรในวัยทำงานจึงมีไม่พอ ซึ่งจะยังผลทำให้ประเทศชาติไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้

ถ้าคิดกันแบบธรรมดาประสาชาวบ้าน เราก็จะมองวิธีการแก้ปัญหาว่าทำได้โดยการไปเพิ่มประชากรวัยกระเตาะเข้ามาในประเทศตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เรื่องก็น่าจะจบ เพราะจะได้ให้เด็กเหล่านั้นเติบโตมาเป็นทรัพยากรของชาติที่สำคัญในการทำงานและจ่ายภาษีให้ภาครัฐในอนาคต แต่สิ่งที่ไม่จบ(แต่อาจจะนำไปสู่จุดจบ) ก็คือการไม่ยอมคิดต่อไปให้ไกลกว่านั้นว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทำให้ปัญหาใหม่ๆ จะเกิดขึ้นตามมาเป็นระลอกคลื่น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าไม่คิดถึงระบบที่จะรองรับคนที่จะเกิดมาในอนาคตให้ดีแล้ว มันก็เปรียบเหมือนการออกนโยบายรถคันแรกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการไปกระตุ้นให้คนซื้อรถกัน แต่สุดท้ายแล้วเราก็เห็นว่าไม่มีถนนให้ใช้กัน ทำให้รถติดมากยิ่งขึ้น ใช้เวลาบนถนนนานขึ้น และทำงานได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยแถมยังเปลืองน้ำมันมากขึ้นอีกต่างหาก สุดท้ายก็จอดรถกันไว้เฉยๆ เพราะหาที่จอดรถกันไม่ได้ ถึงแม้ว่าสิ่งที่ตามมาก็คือการที่เงินได้ถูกดึงออกมาจากกระเป๋าของประชากร ซึ่งแน่นอนว่าเศรษฐกิจจะถูกกระตุ้น (หรือจะเรียกว่า “กระตุก” ก็ได้) ได้ในระดับหนึ่ง แต่นั่นก็อาจทำให้กำลังซื้อของประชนเหือดหายไปจากระบบ เพราะประชาชนเป็นหนี้ผ่อนรถกันเสียส่วนใหญ่ และตอนนี้ก็กำลังทำงานผ่อนส่งจ่ายค่ารถ (หรือค่าดอกเบี้ยรถ)ในแต่ละเดือน สุดท้ายเศรษฐกิจก็คงถดถอยไปในที่สุด

กระตุ้นให้มีรถคันแรกกัน à ระบบรองรับไม่ดีพอ à ถนนไม่พอใช้ à รถติด à ใช้เวลาบนถนนนานขึ้น à ทำงานได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย à เปลืองน้ำมัน à รถจอดไว้เฉยๆ à หาที่จอดรถกันไม่ได้ à ประชาชนเป็นหนี้ผ่อนรถ à ไม่มีเงินซื้อของอย่างอื่น à ประเทศถดถอย       

เฉกเช่นการที่อยากไปกระตุ้นให้คนมีลูกกันมากขึ้น แต่ไม่มีระบบรองรับที่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่มีได้รองรับไม่เพียงพอ หรือพ่อแม่มีเวลาดูแลลูกได้ไม่พอ ทำให้นำไปสู่การมีประชากรที่ไม่มีคุณภาพและปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด หรือโจรกรรมตามมา ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็คงไม่ต้องพูดถึงว่ารัฐคงจะเก็บภาษีได้เพราะแม้แต่ประชากรวัยทำงานเองยังไม่มีงานทำ และสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้กลับมาที่ปัญหาเก่าๆ คือภาครัฐมีเงินภาษีไม่พอที่จะไปเลี้ยงดูประชากรผู้สูงอายุ ทำให้ไม่เหลือเงินภาษีไปพัฒนาประเทศชาติได้ และนำพาประเทศให้ถดถอยไปในที่สุด

กระตุ้นให้มีลูกกัน à ระบบรองรับไม่ดีพอ à การศึกษาไม่พอให้ à พ่อแม่ดูแลลูกไม่ดีพอ à บุคลากรของชาติไม่มีจิตสำนึก à ประชากรไม่มีคุณภาพ à ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และโจรกรรม à ประชากรวัยทำงานไม่มีงานทำ à รัฐเก็บภาษีไม่ได้ à ไม่สามารถเลี้ยงดูประชากรผู้สูงอายุ à ไม่เหลือเงินภาษีไปพัฒนาประเทศ à ประเทศถดถอย

เหล่านี้เป็นเพียงแต่การจินตนการตามประสาของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ไม่ได้มีข้อมูลสถิติหรือตัวเลขมายืนยัน เพียงแต่อาศัยการสังเกตและประสบการณ์จากการประเมินอนาคตเท่านั้น ซึ่งถ้าแนวคิดนี้เกิดขึ้นจริง ก็ได้แต่ภาวนาให้สิ่งที่คาดการณ์ไว้นั้นไม่เป็นจริงครับ

ในมุมกลับกัน ภาครัฐสามารถเตรียมความพร้อมของคนที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณได้โดยการส่งเสริมการออมสำหรับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น ซึ่งวิธีนี้น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดที่สุด ทั้งนี้ ภาครัฐสามารถใช้เครื่องมือทางภาษีเป็นเครื่องจูงใจและกระตุ้นพฤติกรรมของประชาชนได้ เช่น การเพิ่มเพดานค่าลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันชีวิตหรือประกันบำนาญ เป็นต้น

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]


วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2557

หน้าต่างประกันภัย – ภาษีคนโสด (ตอน จะเอาอะไรกับคนโสด)


 หน้าต่างประกันภัย – ภาษีคนโสด (ตอน จะเอาอะไรกับคนโสด)

ตอนนี้ก็โสดจนเซ็งจะตายอยู่แล้ว ยังจะเอาอะไรกับคนโสดอีก !?

นี่คงเป็นหนึ่งในเสียงตอบรับจากคนที่ได้ยินเรื่องของการที่มีแนวคิดหรือข้อเสนอให้มีการจับเก็บภาษีคนโสดให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยแนวคิดที่ว่านี้ ได้เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีคนโสดขึ้นมา โดยผู้ใดที่กำลังโสด (หรือไม่อยากโสด เพียงแต่ลงมาจากคานไม่ได้ก็เท่านั้น) ก็จะต้องถูกให้เสียภาษีเพิ่มขึ้น

เรื่องนี้จึงเป็นที่ฮือฮาและถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นอย่างมากจนกลายเป็นทอร์คออฟเดอะทาวน์ (talk of the town) ในช่วงนี้ หลายคนอาจจะบ่นว่าถ้าจะอยู่บนคานแล้วทำไมจะต้องเสียภาษีบนคานอีก อีกทั้งเรื่องนี้ยังพัวพันไปถึงเพศที่สามที่ไม่สามารถแต่งงานได้ ทำให้อาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องการแบ่งแยกชนชั้น (discriminate) ขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งโดยไม่รู้ตัว

แท้ที่จริงแล้ว เรื่องนี้มีวาระซ่อนเร้น (hidden agenda) อยู่ที่เรื่องการจัดการสัดส่วนประชากรหรือประชากรศาสตร์ของประเทศ ระหว่างคนวัยทำงานกับคนสูงอายุให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศจีนเอง ก็มีการออกระเบียบการของการมีลูก ซึ่งขึ้นกับเงื่อนไขของตระกูลโคตรเหง้าว่ามีผู้สืบสกุลมาแล้วกี่คน ถ้าต้นตระกูลมีลูกน้อย ก็อะลุ่มอล่วยให้มีลูกได้มากกว่า 1 คน แต่ถ้าต้นตระกูลของทั้งฝั่งผู้ชายและผู้หญิงนั้นมีลูกมากกว่า 1 คน แล้วก็จะต้องเสียเงินในรูปของค่าปรับหรือภาษีเพิ่มเติมในกรณีที่ครอบครัวนั้นยังมีลูกมากกว่า 1 คนขึ้นมาอีก เป็นต้น

ส่วนประเทศสิงคโปร์เองนั้นก็จะมีกฎระเบียบที่ออกมาในรูปแบบของการลดหย่อนภาษี สำหรับคนที่ไม่โสด (หรือได้แต่งงานอยู่ด้วยกัน) หนำซ้ำทางรัฐยังถึงขั้นส่งจดหมายเชิญไปถึงคนโสดที่ยังไม่แต่งงานให้มีการชุมนุมพบปะประสาคนโสดเป็นประจำทุกเดือนด้วย เพื่อที่คนในประเทศจะได้มีคู่กัน เรียกได้ว่ารัฐบาลคอยเป็นกามเทพให้เสียเอง พวกจับคู่หารัก (matchmaker) จึงค่อนข้างนิยมกันมากในสิงคโปร์

จากตัวอย่างของประเทศจีนและสิงคโปร์นั้น จะเห็นได้ทางภาครัฐได้ใช้ภาษีเป็นเครื่องจูงใจพฤติกรรมของคนในประเทศในการควบคุมปริมาณประชากรให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม โดยจีนนั้นต้องการจะจำกัดจำนวนประชากร ซึ่งตรงข้ามกับสิงคโปร์ที่ต้องการจะเร่งผลิตจำนวนประชากร

จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยเองก็กำลังจะประสบกับปัญหาที่มีประชากรผู้สูงอายุอยู่มากจากยุคเบบี้บูมเมอร์ (baby boomer) ทำให้ภาครัฐมีเงินไม่พอไปเลี้ยงคนกลุ่มนี้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไทยเริ่มจะมีลูกน้อยลง ทำให้ประชากรที่อยู่ในวัยทำงานค่อยๆ เหลือน้อยลงเมื่อเทียบกับประชากรที่อยู่ในวัยเกษียณที่กำลังเพิ่มมากขึ้น

และนั่นจึงเป็นสาเหตุที่มีแนวคิดอยากให้คนไทยหันมาแต่งงานและมีลูกกันมากขึ้น เพื่อให้เด็กที่เกิดมานี้ เป็นกำลังสำคัญในการจ่ายภาษีเข้ารัฐ และเกื้อหนุนกลุ่มคนเกษียณอายุที่ขยายตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะทำให้รัฐดูแลไม่ไหวในอนาคตอันใกล้นี้ !!!

แต่สิ่งที่แนวคิดเรื่องภาษีคนโสดนี้ได้มองข้ามไปก็คือ การมีลูกมากไม่ได้หมายความว่าจะเก็บได้ภาษีมากในอนาคต มิหนำซ้ำยังอาจจะเป็นภาระของรัฐบาลในการจัดงบประมาณเพื่อขัดเกลาส่งเสริมการศึกษาให้อยู่ในระดับมาตรฐาน เพราะถ้าบุคคลากรของประเทศได้ผลิตออกมาอย่างไม่มีคุณภาพ ไม่เพียงแต่รัฐจะจัดเก็บภาษีไม่ได้ แต่อาจนำมาซึ่งปัญหาของยาเสพติด ทะเลาะวิวาท รวมถึงการโจรกรรมต่างๆ นานาในภายหลัง

สิ่งสำคัญที่ควรจะพิจารณาในการวางแผนประชากรและจัดเก็บภาษีสำหรับอนาคตก็คือ การพัฒนาการวางแผนการเงินอย่างบูรณาการและยั่งยืนของประชาชนในประเทศ ซึ่งภาครัฐสามารถเตรียมความพร้อมของคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ (baby boomer) ที่กำลังจะเกษียณ ให้รู้จักการออมสำหรับยามเกษียณได้ ถ้าลองคิดตามกันดูแล้วก็คงจะเห็นว่าวิธีการนี้น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ดีที่สุด

ดังนั้น แทนที่จะไปเก็บ “ภาษีคนโสด” เพื่อแก้ปัญหาประชากรผู้สูงอายุในอนาคต ผมว่า “การเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันชีวิต” น่าจะเป็นทางเลือกที่แก้ปัญหาประชากรผู้สูงอายุได้เหมือนกัน แต่ดีกว่าการไปเก็บภาษีจากคนโสดหลายเท่า เนื่องจากการไปจัดเก็บภาษีคนโสดนั้นถึงแม้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างหนึ่ง แต่มันอาจไปทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เพิ่มขึ้นมาอีกหลายอย่าง เรียกได้ว่าการเก็บภาษีคนโสดเป็นการแก้ปัญหากันไม่ถูกจุดเสียมากกว่า

หากภาครัฐใส่เครื่องจูงใจให้ประชาชนหันมาออมเงินกันมากขึ้น ขอให้แต่ละคนมีการวางแผนทางการเงินที่ดีพอ ไม่ต้องรอพึ่งพึงสวัสดิการจากรัฐเมื่อยามเกษียณก็ได้ เพราะอนาคตมันไม่แน่นอน จริงไหมครับ?


·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – Young ASEAN Manager Award (YAMA) ตอนที่ 2


คุยกับแอคชัวรี – Young ASEAN Manager Award (YAMA) ตอนที่ 2

ครั้งที่แล้วเราได้กล่าวถึงความเป็นมาของรางวัลระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรางวัลนี้เป็นรางวัลสำหรับผู้บริหารดีเด่นรุ่นใหม่ประจำภูมิภาคอาเซียน (Young ASEAN Manager Award) ซึ่งในแต่ละปีจะมีการประกวดคัดเลือกผู้สมัครในแถบประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเพื่อเลือกผู้ชนะจากมาเพียง 1 คนเท่านั้น

คนไทยที่ได้รับรางวัลนี้เป็นคนแรก ในปี พ.ศ. 2548 คือคุณ สาระ ล่ำซำ ซึ่งปัจจุบันนี้ ท่านได้ดำรงเป็นประธานบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตและเป็นประธานสมาคมประกันชีวิตไทยคนปัจจุบัน จนมาอีกทีในปี พ.ศ. 2555 ที่ผมได้รับการสนับสนุนให้เข้ามาแข่งขันจนได้เป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัล YAMA บนเวทีภูมิภาคอาเซียน

ผมขอดึงตัวอย่างของบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมจากการได้รับรางวัลนี้ เผื่อเป็นแนวคิดให้กับคนที่ต้องการสมัครแข่งขันรางวัลนี้เพื่อเป็นเกียรติประวัติของประเทศไทยเรากันบ้างครับ

การดึงคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงเข้ามาทำงานในสายธุรกิจประกันภัยนั้นเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับภาคธุรกิจอยู่แล้ว ทำไมคุณถึงเลือกเข้ามาทำงานในสายนี้ และเข้ามาได้อย่างไร คุณคิดอย่างไรกับธุรกิจประกันภัยในตอนนั้น  และคุณคิดว่าอะไรที่สามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยและดึงดูดคนเก่งๆ เหล่านั้นเข้ามาทำงานในสายนี้

ผมเริ่มต้นการทำงานจากการเป็นวิศวกรมาก่อน จนกระทั่งปีค.ศ. 2000 ที่ผมตัดสินใจเปลี่ยนหางเสือมาอยู่ในธุรกิจประกันภัยโดยเริ่มต้นจาก Management Associate ผมคิดว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของประกันภัยที่มีต่อผู้คนและสังคมนั้นจะเป็นตัวกระตุ้นและยกระดับให้คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงได้เข้ามาในสายงานธุรกิจประกันภัยกันมากขึ้น ขณะเดียวกัน พวกเขาเหล่านี้จะสามารถช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยได้อีกทางหนึ่งด้วย

ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา ได้เปิดโอกาสให้ผมได้เก็บเกี่ยวความรู้ทางด้านธุรกิจประกันภัย ภาวะของความเป็นผู้นำ และความสามารถเฉพาะทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจกับการได้เป็นคนรุ่นใหม่ที่บริษัทได้ตระหนักถึงศักยภาพและความสามารถ

ผู้นำแบบไหนที่คุณอยากจะเป็น อะไรเป็นสิ่งที่คุณได้เรียนรู้และช่วยให้คุณเติบโตเป็นผู้นำที่ดีได้

ผมเชื่อว่าผู้นำที่เก่งจริงคือคนที่สามารถส่งเสริมให้คนรอบข้างได้ใช้ศักยภาพของตนเองได้มากที่สุด ซึ่งอาจทำได้โดยการให้กำลังใจ กระตุ้น และโน้มน้าว รวมไปถึงการวางตัวคนให้เหมาะสมกับงาน เวลา โอกาส และสถานที่นั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ ผู้นำที่ดีควรจะรู้จักจุดแข็งและจุดอ่อนของคนในทีมเพื่อที่จะหาโอกาสและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการแสดงศักยภาพของเขาได้

การมีวิสัยทัศน์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ผู้นำควรจะมีความรู้เชิงลึกของธุรกิจที่ตนเองทำอยู่และมีทิศทางที่ชัดเจนเพื่อที่จะนำทีมของตนมุ่งไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการเป็นผู้นำคือการใช้หลักการ 3 H ซึ่งก็คือ Hand (มือ), Head (หัวสมอง), และ Heart (ใจ) เนื่องจากผู้นำจำเป็นจะต้องมี มือผู้ช่วยที่ดีในการดำเนินงานให้ภารกิจสำเร็จลุล่วง และต้องมีผู้ช่วยที่เป็นมันสมองในการคิดวางแผนกำหนดกลยุทธ์ และที่ขาดไม่ได้ก็คือความสามารถของผู้นำที่จะเอาชนะใจของคนในทีมได้เพื่อเป็นแรงขับดันให้ไปข้างหน้าด้วยกัน

เทคนิคและหลักการอื่นๆ เช่นการบริหารเวลา (time management) การจัดการโครงการ (project management) กฎ 80/20 (priority management) และ การบริหาร 5M (man, machine, material, management, and money) ก็เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์และช่วยให้ผมจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มภาวะความเป็นผู้นำได้


ช่วยบอกเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวบ้าง เช่น เรื่องที่สนใจ การรักษาสมดุลชีวิตระหว่างชีวิตงานกับชีวิตส่วนตัว หรือ คติพจน์ประจำใจ เป็นต้น

ผมสนใจในเรื่องของการเขียนมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือหรือนิตยสารเพราะมันเป็นตัวกลางในการทำให้ผมสามารถติดต่อสื่อสารความรู้ที่ผมมีเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัยให้กับคนที่ไม่ใช่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือคนที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจประกันภัย หนังสือที่เขียนเล่มใหม่ล่าสุดและได้ติดอันดับหนังสือขายดีคือ The Top Job Secret – อาชีพเงินล้านที่คนไทยยังไม่รู้จัก ซึ่งได้เขียนขึ้นเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยและส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยในสังคมไทย

ผมพยายามทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่ แต่เมื่อมีเวลาว่างผมจะใช้เวลาส่วนตัวในการไปว่ายน้ำ เพราะผมเห็นว่ามันเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผมสามารถออกกำลังกายไปด้วยและทำสมาธิคิดทบทวนเรื่องราวต่างๆ ไปได้ด้วยในขณะที่ว่ายอยู่ในน้ำ สำหรับการรักษาสมดุลชีวิตระหว่างชีวิตงานและชีวิตส่วนตัวนั้น ผมจะยึดหลักของ 6P (Proper Prior Planning Prevent Poor Performance) ที่ช่วยให้ผมสามารถจัดลำดับความสำคัญ จัดการ และแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ผมชอบอ่านหนังสือเพื่อช่วยเพิ่มแนวคิดให้มองได้กว้างและไกลสำหรับการใช้ชีวิต คติพจน์ประจำใจของผมคือ “เมื่อวานนั้นเป็นความทรงจำของวันนี้ แต่แรงบัดบาลใจของวันนี้คืออนาคตของวันข้างหน้า (Yesterday is today’s memory, tomorrow is today’s inspiration)” ผมถือประโยคนี้เอาไว้ในใจเสมอเพราะมันเป็นสิ่งเตือนใจไม่ให้ผมติดกับดักกับความสำเร็จที่ผ่านมาในอดีต และทำให้ผมคิดที่จะพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อการเติบโตในวันข้างหน้า

รางวัล YAMA เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีภาวะความเป็นผู้นำสูง มีความสามารถในการบริหารจัดการคน มีความคิดอย่างบูรณาการ และมีความทุ่มเทให้กับบริษัทไปตลอดจนถึงธุรกิจประกันภัย ผู้สมัครจะต้องมีอายุไม่เกิน 40 ปี และมีความสามารถพร้อมกับประสบการณ์รอบด้าน ที่แสดงได้ถึงศักยภาพของความเป็นผู้นำในธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งเป็นบุคคลที่สามารถเป็นตัวอย่างให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ได้

โดยในปีพ.ศ. 2556 ที่ผ่านมานี้ ได้มีการจัดประกวดกันขึ้นที่ประเทศเวียดนาม โดยมีผู้ผ่านเข้ารอบ 3 ประเทศสุดท้ายจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม โดยประเทศที่ได้รับรางวัล Young ASEAN Manager Award (YAMA) ประจำปี พ.ศ. 2556 นี้มาจากประเทศเวียดนาม ที่ได้แสดงถึงศักยภาพ วิสัยทัศน์ และความเป็นผู้นำในการแข่งประกวดในครั้งนี้

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีคนไทยขึ้นไปรางวัลนี้อีกครั้งหนึ่ง ขอเอาใจช่วยให้กับวงการประกันภัยของประเทศไทยครับ

 ·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]


วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – Young ASEAN Manager Award (YAMA) ตอนที่ 1



คุยกับแอคชัวรี – Young ASEAN Manager Award (YAMA) ตอนที่ 1 

รางวัลผู้บริหารดีเด่นรุ่นใหม่ประจำภูมิภาคอาเซียน (Young ASEAN Manager Award) เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีภาวะความเป็นผู้นำสูง มีความสามารถในการบริหารจัดการคน มีความคิดอย่างบูรณาการ และมีความทุ่มเทให้กับบริษัทไปตลอดจนถึงธุรกิจประกันภัย ซึ่งในแต่ละปีจะมีการประกวดคัดเลือกผู้สมัครในแถบประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเพื่อเลือกผู้ชนะจากมาเพียง 1 คนเท่านั้น

ผู้สมัครจะต้องมีอายุไม่เกิน 40 ปี และมีความสามารถพร้อมกับประสบการณ์รอบด้าน ที่แสดงได้ถึงศักยภาพของความเป็นผู้นำในธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งเป็นบุคคลที่สามารถเป็นตัวอย่างให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ได้

รางวัลนี้จึงเป็นที่หมายปองของคนในธุรกิจประกันภัย ซึ่งคนไทยที่ได้รับรางวัลนี้เป็นคนแรก ในปี พ.ศ. 2548 คือคุณ สาระ ล่ำซำ ซึ่งปัจจุบันนี้ ท่านได้ดำรงเป็นประธานบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตและเป็นประธานสมาคมประกันชีวิตไทย จนมาอีกทีในปี พ.ศ. 2555 ที่ผมได้รับการสนับสนุนให้เข้ามาแข่งขันจนได้เป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัล YAMA บนเวทีภูมิภาคอาเซียน

คงต้องยอมรับว่า การได้รับรางวัลนี้ต้องอาศัยความพยายามและไหวพริบค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้สมัครจากแต่ละประเทศนั้นมีความสามารถไม่ด้อยไปกว่ากันเลย ต่างกันก็ตรงที่การแสดงวิสัยทัศน์และศักยภาพให้กรรมการได้เห็น ซึ่งในปีนั้นก็ได้มีกรรมการที่เป็นคนไทยอยู่เพียง 1 ท่าน จากบรรดากรรมการทั้งหมด 10 ท่าน ทำให้รู้สึกโชคดีมากที่ได้รับการคัดเลือกจากกรรมการให้ชนะเลิศในการแข่งครั้งนี้

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราลองมาดูตัวอย่างของบทสัมภาษณ์ของหนังสือพิมพ์ต่างประเทศฉบับหนึ่ง หลังจากที่ได้รับรางวัลนี้กันครับ

รางวัลผู้บริหารดีเด่นรุ่นใหม่ของอาเซียน (Young ASEAN Manager Award) นี้เป็นรางวัลที่ให้เป็นเกียรติประวัติสำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ได้ทุ่มเทและสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับกับธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน ช่วยยกตัวอย่าง 2 สิ่งที่เป็นจุดเด่นของคุณซึ่งทำให้เอาชนะผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดในปีนี้ได้ครับ ?

มันเป็นเกียรติอย่างมากสำหรับผมที่ได้ถูกเสนอชื่อขึ้นมาในการแข่งขันครั้งนี้พร้อมๆ กับผู้สมัครท่านอื่นๆ ซึ่งผมก็เข้าใจว่าความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานของผู้สมัครท่านอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ก็มีมากมายและโดดเด่นไม่แพ้กัน

สำหรับผมแล้ว สิ่งแรกที่ทำให้คณะกรรมการประทับให้ผมก็คงจะเป็นเรื่องพื้นฐานของผู้บริหารทั่วไปซึ่งก็คือ “แรงขับเคลื่อนจากภายใน” หรือที่เรียกกันว่า passion นั่นเอง ผมได้เริ่มต้นอาชีพในธุรกิจประกันภัยเมื่อ 13 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากการเป็น Management Associate ของ AIA ซึ่งก็ทำให้ผมมีโอกาสที่จะเรียนรู้งานจากหลากหลายสายงานต่างๆ และทำให้ผมตระหนักว่าประกันภัยเป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งที่ช่วยเหลือสังคมและผู้คนเมื่อยามที่เขาเดือดร้อน และนี่ก็คือสิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้ผมเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจประกันภัย เพื่อที่จะช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน โดยลดช่องว่างที่ขาดหายไปสำหรับคนที่ยังไม่มีประกัน

สิ่งที่สองคือ ผมได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้พัฒนาไปข้างหน้าไปพร้อมๆ กับบริษัท ผมได้รับเชิญให้ไปช่วยเหลือหน่วยงานต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ดำรงตำแหน่งอุปนายกของสมาคมคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย ประธานอนุกรรมการของคณิตศาสตร์ประกันภัยในสมาคมประกันชีวิตไทย บรรณาธิการของ “สวัสดีแอคชัวรี” ซึ่งเป็นนิตยสารรายไตรมาสสำหรับธุรกิจประกันภัย รวมถึงเป็นตัวแทนของสมาคมคณิตศาสตร์ประกันภัยในอเมริกาสำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ ผมได้รับเกียรติให้มีโอกาสเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรในงานต่างๆ กับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรัฐทุกครั้งเมื่อมีเวลาอีกด้วย

ต้องขอขอบคุณสมาคมประกันชีวิตไทยที่เปิดโอกาสให้ผมได้แสดงความสามารถและศักยภาพเต็มที่ในการทำงานให้กับบริษัทและธุรกิจประกันภัย จนกระทั่งผมได้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารดีเด่นรุ่นใหม่ของภูมิภาคอาเซียนอย่างทุกวันนี้

รางวัลนี้ได้รับการคาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ ได้กลายเป็นผู้นำที่มีความสำคัญให้กับธุรกิจประกันภัยในอนาคต คุณคิดว่ารางวัลระดับภูมิภาคนี้เป็นเวทีที่ดีสำหรับการกระตุ้นให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ได้ทุ่มเทและทำประโยชน์ให้กับธุรกิจประกันภัยในระยะยาวหรือไม่ ทำไม? และอะไรที่คุณคิดว่าธุรกิจประกันภัยสามารถทำและส่งเสริมให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ได้บ้าง?

จากการที่ทุกคนยอมรับในชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของรางวัลสำหรับภูมิภาคนี้ ผมเชื่อว่ารางวัลนี้จะเป็นบันไดอีกขั้นหนึ่งให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ได้ก้าวขึ้นไป เพราะนี่ถือว่าเป็นหนึ่งในรางวัลที่มีเกียรติสูงสุดในธุรกิจประกันภัยจากทุกส่วนงาน ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายกำกับดูแลหรือจากภาคธุรกิจก็ตาม ดังนั้นรางวัลนี้จะนำพาผู้บริหารรุ่นใหม่ให้ก้าวไปสู่เวทีที่กว้างขึ้นและทำประโยชน์ให้กับธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

เนื่องด้วยความสำเร็จอันยิ่งใหญ่มากับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง ผู้ชนะรางวัลนี้จะเป็นตัวแทนของผู้บริหารรุ่นใหม่ และด้วยเป้าหมายนี้ในใจ ผมเชื่อว่าผู้นำรุ่นใหม่จะถูกจูงใจให้เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะกระตุ้นให้ผู้อื่นทำประโยชน์คืนสู่สังคมและธุรกิจประกันภัยบ้าง

ธุรกิจประกันภัยก็สามารถส่งเสริมผู้บริหารรุ่นใหม่ได้โดยการกระตุ้นความสนใจของผู้บริหารรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงความสำคัญและโอกาสที่จะได้รับจากรางวัลนี้ ผู้บริหารรุ่นใหม่ควรจะได้รับโอกาสจากบริษัทให้สามารถทำประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจได้เหมือนอย่างที่ธุรกิจประกันภัยได้มอบโอกาสให้กับผม


คงจะเห็นภาพกันบ้างจากตัวอย่างบทสัมภาษณ์ข้างต้นนี้ ผมจึงอยากเชิญชวนให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ในวงการที่อายุยังไม่ถึง 40 ปี ลองไปสมัครแข่งขันรางวัลนี้เพื่อเป็นเกียรติประวัติของประเทศไทยเรากันเยอะๆ ในปีนี้ครับ

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]