วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หน้าต่างประกันภัย – ภาษีคนโสด (ตอน หลักการบริหารเงินแบบ Pay as you go)

หน้าต่างประกันภัย – ภาษีคนโสด (ตอน หลักการบริหารเงินแบบ Pay as you go)

คำว่า “ภาษีคนโสด” เป็นคำที่กล่าวถึงกันมากในช่วงนี้ เนื่องจากมันดูเหมือนจะประชดชีวิตคนโสดอย่างไรไม่รู้ บ้างก็คิดว่าทำไมมีคานไว้อยู่แล้วมันผิดด้วยหรือ บ้างก็เข้าใจกันไปเองว่าภาษีคนโสดนั้นคงกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาษีโรงเรือนและที่ดินไปแล้ว เพราะคำว่าโรงเรือนนั้นหมายถึงอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งทำให้ “คาน” ถูกเข้าใจผิดโดนเหมารวมเข้าไปอยู่ในนั้นด้วยแน่เลย เป็นต้น

มีข้อถกเถียงกันไปต่างๆ นานา เกี่ยวกับความเหมาะสมในการจัดเก็บภาษีคนโสด ประกอบกับกระแสของคนโสดที่ออกมาค้านกับแนวคิดนี้  จึงทำให้ประเด็นเหล่านี้ตกไป แต่เราลองมาคิดดูว่าถ้าเกิดมีคนคิด “นโยบายลูกคนแรก” ขึ้นมาแล้วจะเป็นอย่างไร

แน่นอนว่า “นโยบายลูกคนแรก” คงจะฟังดูดีกว่า “ภาษีคนโสด” เป็นแน่ แต่ผลลัพธ์นั้นจะออกมาเหมือนกัน นั่นก็คือการกระตุ้นให้คนมีลูกกันมากขึ้น (ซึ่งก็คงไม่ได้ทำเพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนที่ต้องการทำในการออก “นโยบายรถคันแรก”) เพื่อให้เกิดความสมดุลของประชากรวัยทำงานกับวัยสูงอายุในอนาคตข้างหน้า มิเช่นนั้นแล้ว ประเทศก็จะขาดกำลังสำคัญจากประชากรวัยทำงานซึ่งจะต้องเป็นคนคอยเสียภาษีให้กับภาครัฐ  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแนวคิดเหล่านี้ได้ทำขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมตัวของภาครัฐสำหรับการเลี้ยงดูคนในยามเกษียณของประเทศนั่นเอง

ภาษีจึงได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดความสมดุลของประชากรศาสตร์เพื่อควบคุมปริมาณประชากรในแต่ละช่วงอายุให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม โดยในประเทศจีนเองก็มีการออกระเบียบการในรูปแบบค่าปรับทางภาษีในการมีลูกมากว่า 1 คน เพื่อจำกัดจำนวนประชากรที่จะเกิดมา ซึ่งก็ตรงกันข้ามกับประเทศสิงคโปร์ที่ต้องการจะเร่งผลิตจำนวนประชากรและได้มีกฎระเบียบที่ออกมาในรูปแบบของการลดหย่อนภาษีสำหรับคนที่ไม่โสด (หรือได้แต่งงานอยู่กินด้วยกัน)

โดยปกติแล้ว ภาครัฐสามารถได้แบ่งวิธีการเตรียมตัวสำหรับการเลี้ยงดูคนในยามเกษียณออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1.      การจ่ายและเก็บภาษีตามมีตามเกิด หรือในทางภาษาคณิตศาสตร์ประกันภัยจะเรียกว่าวิธี Pay as you go
2.      การจัดตั้งเงินสำรองสำหรับแต่ละคน โดยทางคณิตศาสตร์ประกันภัยจะเรียกว่า Reserving basis

Pay as you go (จ่ายและเก็บภาษีตามมีตามเกิด)

ลักษณะการบริหารภาษีแบบนี้จะเป็นลักษณะที่เก็บเงินภาษีเข้ามากองไว้ จากนั้นก็จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งไว้บริหารประเทศและงบประมาณอีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับการเลี้ยงดูคนในยามเกษียณ ซึ่งจุดเด่นของวิธีการบริหารแบบนี้คือเป็นการบริหารแบบปีต่อปี ถ้าค่าใช้จ่ายในปีไหนที่ไม่น่าจะพอ ก็จะไปเรียกเก็บภาษีเพิ่มเอา

ถ้าเรามามองในส่วนของภาระเลี้ยงดูของภาครัฐที่มีให้กับประชากรเมื่อยามเกษียณเท่านั้น มันก็เหมือนกับว่า “รุ่นลูก” ที่เป็นประชากรวัยทำงานกำลังทำงานจ่ายภาษีเพื่อไปเลี้ยง “รุ่นแม่” ที่เป็นประชากรวัยที่เกษียณ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะว่า “รุ่นลูก” ในตอนนี้ ก็จะกลายเป็น “รุ่นแม่” ในอนาคต เพราะฉะนั้น ภาครัฐจึงเป็นตัวกลางที่ทำให้คนวัยทำงานทำหน้าที่เลี้ยงดูคนวัยสูงอายุ และเมื่อคนวัยทำงานเหล่านี้แก่ตัวลงจนกลายเป็นคนวัยสูงอายุเสียเอง ถึงตอนนั้นก็จะมีเด็กที่กลายมาเป็นคนวัยทำงานเพื่อเลี้ยงดูคนสูงอายุแบบนี้ต่อไปในทุกรุ่นทุกยุคสมัย

สิ่งที่ต้องพึงระวังในวิธีการบริหารเงินส่วนนี้ก็คือ “การจัดการสัดส่วนของประชากรวัยทำงานกับวัยสูงอายุ” ให้เหมาะสม เพราะวิธีการแบบนี้เป็นวิธีที่ “คนจ่ายไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้จ่าย” โดยคนวัยทำงานที่จ่ายภาษีอยู่นั้นจะไม่ได้รับประโยชน์ในตอนนี้ แต่ก็ได้แต่หวังว่าจะสามารถใช้สวัสดิการที่ตนเองได้จ่ายไว้เมื่อยามที่เกษียณไว้บ้าง ส่วนคนวัยเกษียณที่ได้รับประโยชน์ในตอนนี้ ก็ไม่ได้เป็นคนที่จ่ายภาษีอีกต่อไป

วิธีการนี้ไม่ได้มีการกันเงินสำรองล่วงหน้าระยะยาวเอาไว้ อีกทั้งวิธีการนี้ก็ไม่ได้กำหนดให้แต่ละคนต้องเสียภาษีสะสมไว้ให้มากพอเท่าไร จึงจะนำเงินไปใช้ในยามเกษียณอายุได้ เรียกได้ว่าจ่ายและเก็บภาษีกันตามมีตามเกิด


เนื่องจากประเทศไทยได้ใช้วิธีการแบบ Pay as you go กันข้างต้น และนั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดที่อยากให้คนไทยหันมาแต่งงานและมีลูกกันมากขึ้น เพื่อให้เด็กที่เกิดมานี้กลายเป็นประชากรวัยทำงานที่เสียภาษีเพื่อรองรับกลุ่มคนเกษียณอายุที่ขยายตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดดในวันข้างหน้า

แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังในแนวคิดแบบนี้ก็คือ การมีลูกมากไม่ได้หมายความว่าจะเก็บได้ภาษีมากในอนาคต ปัจจัยสำคัญคือการสร้างประชากรและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีคุณภาพเสียก่อน มิเช่นนั้น ไม่เพียงแต่รัฐจะจัดเก็บภาษีไม่ได้แต่ยังเป็นการไปสร้างปัญหาให้มีประชากรล้นประเทศมากขึ้นไปอีก และคนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นคนเกษียณอายุที่ไม่ได้รับการเตรียมตัวให้วางแผนการเงินกันมาก่อน

นี่คงเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการจ่ายและเก็บภาษีกันตามมีตามเกิดเพื่อการเตรียมตัวสำหรับการเลี้ยงดูคนในยามเกษียณอย่างแท้จริง

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น