วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

คุยกับแอคชัวรี – LISTEN

คุยกับแอคชัวรี – LISTEN

เคยได้ยินไหมครับว่าบางทีก็มีคนถามว่าทำไมคนเราถึงมี 1 ปาก แต่มี 2 หู และนั่นก็เพราะคนเราอาจจะเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นผู้รับฟัง มากกว่าการที่จะเป็นเพียงแต่ผู้พูด เหมือนที่คนทั่วไปเขาสอนเด็กกันว่า เราควรใส่ความพยายามในการฟังให้มากกว่าการพูดเป็น 2 เท่า การเป็นผู้ฟังที่ดีนั้นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญ ไม่ว่าจะสำหรับคนทั่วไป และก็คงจะรวมไปถึงคนที่เป็นแอคชัวรีด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว คนเราก็จะไม่สามารถเติบโตและเพิ่มพูนความรู้ให้กับตัวเองในภายภาคหน้าได้

เพราะว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของมนุษย์เราก็คือการฟัง หรือที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า LISTEN นั่นเอง และเมื่อตัวอักษร 6 ตัวของคำว่า LISTEN มาเรียงกันใหม่แล้ว ผมก็ตกใจนะครับที่มันสามารถเขียนได้ว่า SILENT ซะด้วย ซึ่งสองคำนี้ใช้ตัวอักษร 6 ตัวเหมือนกัน เพียงแต่ว่างตำแหน่งกันคนละที่เท่านั้น แต่ที่น่าลึกซึ้งไปกว่านั้นก็คือความหมายของคำสองคำนี้ก็มีความสัมพันธ์ด้วย เพราะถ้าเราไม่เงียบ แล้วเราจะไปฟังใครเขาพูดได้อย่างไร จริงไหมครับ

เราลองมาดูความหมายของคำสองคำนี้ เท่าที่ผมเปิดมาจาก http://dictionary.cambridge.org กันนะครับ
- LISTEN = to give attention to someone or something in order to hear them
- SILENT = without talking or without any sound

จากการเปิดdictionaryข้างบนแล้ว ผมเลยสรุปได้ว่าการฟังนั้นมันเป็นไปมากกว่าการได้ยิน เพราะการฟังนั้นจะต้องบวกกับการใส่ใจกับสิ่งนั้นๆ ด้วย หมายความว่า LISTEN = hear + attention นั่นเอง

ยังไม่เพียงเท่านั้นครับ ตัวอักษรของคำว่า LISTEN แต่ละตัวนั้น ถ้าลองคิดๆ ดูแล้ว เราก็ยังสามารถแตกออกไปเป็นสิ่งต่อไปนี้ได้

L L = Leadership หมายถึง ความเป็นผู้นำ
I I = In-dept knowledge หมายถึง การที่มีความแตกฉานในความรู้
S S = Service mind หมายถึง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และคอยช่วยเหลือคนอื่น
T T = Talent หมายถึง ความสามารถ
E E = Endurance & Enthusiasm หมายถึง ความอดทน และ กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้
N N = Negotiation หมายถึง การรู้จักพูดคุยและเจรจา

Leadership หมายถึง ความเป็นผู้นำ
การฟังทำให้เราได้มาซึ่งความเป็นผู้นำ เพราะผู้นำที่ดี จะต้องเป็นผู้รับฟังที่ดีด้วย ไม่ใช่สักแต่จะสั่งงานเพียงอย่างเดียว ถ้าลองหยุดพูดซักนิด และหันมาใส่ใจกับสิ่งที่คนรอบข้างกำลังจะพูดขึ้น ผมคิดว่าผู้นำแบบนี้เป็นผู้นำที่น่าติดตามและทำงานอย่างถวายใจให้ด้วยได้อย่างแน่นอน และวิสัยทัศน์ของความเป็นผู้นำนั้น ส่วนหนึ่งก็คงมาจากการได้ฟังความเห็นจากกุนซือรอบข้าง แอคชัวรีที่ว่ากันว่าเป็นกุนซือ จริงๆ แล้วก็ต้องมีกุนซือระดับย่อยขึ้นมาเพื่อเสริมทัพและย่อยข้อมูลข่าวสารเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจไว้ด้วยเหมือนกัน

ผู้นำที่ไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่นก็คงจะไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริง


In-dept knowledge หมายถึง การที่มีความแตกฉานในความรู้
ผมเชื่อว่าความรู้จะเกิดขึ้นมาอัตโนมัติเองเมื่อเราสามารถแยกแยะสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าอะไรคือ สีครีม และอะไรคือสีเหลือง แต่พอเมื่อใดที่ได้ศึกษาอย่างเข้าใจ จนสามารถแยกแยะและบอกได้ว่าสีไหนคือสีครีม สีไหนคือสีเหลืองออกได้ เมื่อนั้นผมจึงจะถือว่าความรู้นั้นได้เกิดขึ้นตรงจุดนั้น

ในตัวความรู้ที่มีนั้นก็อาจจะได้มาจากการอ่านหรือการฟัง และแน่นอนครับว่า ยิ่งรับฟังก็ยิ่งแตกฉานในความรู้ เพราะจะได้มีการสื่อสารกันทั้งสองทางไปในตัวระหว่างผู้ฟังกับผู้พูด แต่ผมก็ไม่เกี่ยงนะครับที่จะมีคนบอกว่ายิ่งอ่านก็ยิ่งมีความรู้ แต่ถ้าเป็นไปได้เราเอาสิ่งที่อ่านมาถกเถียงอภิปรายกันเพื่อให้ความรู้ที่ได้มานั้นมีความแตกฉานและตกผลึกกันมากขึ้น และก็อย่าลืมนะครับว่า ถ้าเราพยายามฟังให้มากกว่าพูดแล้ว ความรู้นั้นก็จะไม่หนีหายไปไหนไกลหรอกครับ

ยิ่งรับฟังก็ยิ่งแตกฉานในความรู้


S = Service mind หมายถึง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และคอยช่วยเหลือคนอื่น
เทคนิคของการที่จะเริ่มต้นเป็นผู้รับฟังที่ดีนั้น เราควรจะทำจิตใจให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไว้ซะก่อน ถ้ามีใจอยากช่วยเหลือคนอื่น หรือ มี service mind ที่ดีอยู่แล้ว การจะเป็นผู้ฟังที่ดีนั้นก็คงไม่ยาก

เพียงแค่เราฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ก็หมายถึงการที่เราได้แสดงความมีน้ำใจ เข้าอกเข้าใจให้แก่ผู้พูดแล้ว และสิ่งนั้นจะส่งเสริมให้เราเป็นผู้ฟังที่ดียิ่งๆ ขึ้น

ผู้รับฟังที่ดีนั้น เราควรจะทำจิตใจให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไว้ซะก่อน


T = Talent หมายถึง ความสามารถ
ถ้าเราฟังบ่อยๆ และสามารถนำสิ่งที่ได้ฟังเหล่านั้นไปลงมือปฏิบัติจริง และหมั่นฝึกฝนอยู่เรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดความสามารถที่เรียกว่า Talent ขึ้น สำหรับคำๆ นี้แล้ว เมื่อได้มีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษาเขาบ่อยๆ เราก็จะรู้เองว่า Talent นั้นจริงๆ แล้วไม่ได้แปลว่าพรสวรรค์หรอก แต่ Talent ในภาษาอังกฤษนั้นส่วนใหญ่เค้าก็ยังหมายถึงการสร้างความสามารถขึ้นมาให้มีไว้ให้อยู่กับตัวกันมากกว่า

ส่วนคำว่าพรสวรรค์จริงๆ ในภาษาอังกฤษนั้น เราจะเรียกว่า Gift กันมากกว่า หมายถึงความสามารถที่เหมือนกับว่าพระเจ้าได้ประทานไว้ให้เป็นของขวัญมาตั้งแต่เกิด

ฟังบ่อยๆ และลงมือปฏิบัติจริง ก็จะทำให้เกิดความสามารถขึ้น



Endurance & Enthusiasm หมายถึง ความอดทน และ กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้
การจะฟังสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ดีนั้น นอกจากที่จะต้องอาศัยความความอดทน (Endurance) แล้ว เรายังจะต้องมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ (Enthusiasm) ในสิ่งที่เรากำลังจะตั้งใจฟังเอาไว้ให้ดีด้วย ลองคิดดูสิครับว่าถ้าเราขาดสองสิ่งนี้แล้วเราจะกลายเป็นผู้ฟังที่ฟังคนอื่นพูดได้รู้เรื่องหรือไม่

การมีความอดทนและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้นั้นยังเป็นรากฐานของการก่อเกิดความรู้ ความสามารถ อย่างคาดไม่ถึงได้อีกด้วย

การฟังจะต้องอาศัยความอดทนและความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้


Negotiation หมายถึง การรู้จักพูดคุยและเจรจา
ตัวอักษรตัวสุดท้ายของคำว่า LISTEN นี้ก็คือ Negotiation นั่นเอง เพราะหลักการพื้นฐานของการพูดคุยเจรจานั้นจะต้องอาศัยการฟังที่ดีเท่านั้นเป็นจุดเริ่มต้น เมื่อใดก็ตามที่เราเป็นผู้ฟังที่ดี ก็จะทำให้การเจราจาได้ผลและมีประสิทธิภาพอย่างไม่น่าเชื่อ

เมื่อใดก็ตามที่เราเป็นผู้ฟังที่ดี ก็จะทำให้การเจราจาได้ผล



สุดท้ายนี้ ผมอยากจะฝากไว้ว่า ถ้าสังคมมีคนที่จะเอาแต่พูด แต่ไม่ยอมรับฟังกันและกันเลย สังคมนั้นก็คงเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคนเห็นแก่ตัว ไม่มีน้ำใจ และไม่คิดที่จะช่วยเหลือกัน เรามาพยายามฟังให้มากกว่าพูดกันเถอะครับ อย่าลืมนะครับ ถ้าจะฟัง ก็ควรจะฟังอย่างตั้งใจและเข้าอกเข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดเขากำลังจะพูด รับรองว่าสังคมคงมีแต่รอยยิ้มให้กันและกันอย่างแน่นอนครับ

วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555

“สินทรัพย์” ต่างกับ “ทรัพย์สิน” อย่างไร?

“สินทรัพย์” ต่างกับ “ทรัพย์สิน” อย่างไร?
พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) FSA, FRM

เคยคิดกันหรือเปล่าครับว่าคนไทยส่วนใหญ่ใช้อะไรมาวัดความรวยของคนอื่น บางคนอาจจะเคยโดนคำถามว่า “คุณรวยแค่ไหน มีทรัพย์สมบัติอยู่เท่าไรล่ะ” ซึ่งแน่นอนครับว่าคำถามเหล่านี้คงจะตรงเกินไป และแทบจะไม่ได้ถูกเอ่ยออกมาจากปากของคน (ยกเว้นแต่จะมาจากปากของว่าที่พ่อตาหรือว่าที่แม่ยาย ก็ว่าไปอย่าง) แต่คำพูดที่ทุกคนอาจจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ก็คือ “ดูสิ คนๆ นั้นเขารวยจัง” จากการที่เห็นเขาออกรถป้ายแดง, ขับ Benz, ขับ BMW, นาฬิกา Rolex, บ้านหลังโต, หรืออะไรก็ตามที่เป็นของที่หรูและดูดีที่ใคร ๆ ต่างก็ใฝ่ฝัน

ที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่เพื่อที่จะบอกว่าถ้าอยากจะรวยก็ให้ซื้อของเหล่านี้นะครับ เพียงแต่บอกว่าถ้าอยากจะ ให้ดูว่ารวย” ในสายตาของคนอื่น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เป็นเครื่องบ่งบอกของความรวยได้เหมือนกัน แต่... ไม่ใช่ทั้งหมด

ที่ยังไม่ร่ำรวยอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะขี้เกียจทำงาน แต่อาจเป็นเพราะเข้าใจผิดเรื่องความหมายของทรัพย์สินต่างหาก

และนี่ก็ไม่ใช่บทความเพื่อที่จะสนับสนุนวัตถุนิยม แต่เป็นเนื้อหาที่จะพยายามแยะแยะสิ่งต่างๆ ทางโลกให้ออกและเข้าใจวิธีเลือกหาทรัพย์สินและสินทรัพย์เพื่อให้เหมาะกับเป้าหมายในชีวิตของคนเราได้ดียิ่งขึ้น

สินทรัพย์ vs ทรัพย์สิน
คงต้องมาเริ่มต้นจากตรงนี้กันก่อนว่า สองคำนี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วมันต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นมุมมองทางการเงินจากแอคชัวรี หรือจะเป็นมุมมองการใช้เงินในชีวิตประจำวันของคนเราก็ตาม

ผมเชื่อว่าเหตุผลที่เราต้องทำงานนั้นมีอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือ ความกลัว กลัวไม่มีจะกิน กลัวจะไม่มีบ้าน กลัวจะไม่มีรถขับ กลัวไปต่างๆ นานา และอย่างที่สองคือ ความโลภ โลภที่อยากจะได้ โลภที่อยากจะมี และโลภไปต่างๆ นานา

ผมเชื่อว่าเหตุผลที่เราต้องทำงานนั้นมีอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือ ความกลัว กลัวไม่มีจะกิน กลัวจะไม่มีบ้าน กลัวจะไม่มีรถขับ กลัวไปต่างๆ นานา และอย่างที่สองคือ ความโลภ โลภที่อยากจะได้ โลภที่อยากจะมี และโลภไปต่างๆ นานา แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าความกลัวและความโลภจะเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เราต้องความคุมให้อยู่ในความพอดี และสิ่งที่จะควบคุม ความกลัวกับความโลภได้นั้นคือ “ความรู้” หรือที่ในภาษาธรรมเราเรียกว่า “ปัญญา” นั่นเอง

และหลังจากที่ได้ตรากตรำกับตำราและการสอบให้ได้คุณวุฒิเพื่อเป็นแอคชัวรีระดับสากล จนกระทั่งเริ่มเข้าใจในเรื่องของระบบการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบัญชีหรือการลงทุน ประกอบกับได้เฝ้าสังเกตวิธีคิดของคนที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศแล้วจึงทำให้รู้สึกว่าคนในประเทศเราส่วนใหญ่มักจะมุ่งไปที่การสะสม “ทรัพย์สิน” โดยไม่ได้มีความรู้เรื่องการแยกแยะ “สินทรัพย์” ที่ตนเองมีอยู่

ตามความหมายในพจนานุกรม
ทรัพย์สิน คือ วัตถุทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
สินทรัพย์ คือ บรรดาทรัพย์สินที่บุคคลเป็นเจ้าของ

สำหรับผมแล้ว ผมอยากจะจำแนก “ทรัพย์สินโดยแบ่งตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1.               จับต้องได้ vs จับต้องไม่ได้
a.               ทรัพย์สินบางอย่างนั้นสามารถจับต้องได้ทันที อาจจะเป็นชิ้น, เป็นวง, เป็นคัน, เป็นใบ
b.              ทรัพย์สินบางอย่างกลับไม่สามารถจับต้องเพราะไม่มีรูปร่าง และเพราะมันอยู่ในกระดาษ ในแผ่น เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หุ้น หรือ พันธบัตร เป็นต้น
2.               เพิ่มมูลค่า vs เสื่อมมูลค่า
a.               ทรัพย์สินเพิ่มมูลค่า คือ ทรัพย์สินที่ได้มาแล้วจะเพิ่มมูลค่าหรือคาดหวังว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เพราะมันได้รับการคาดหวังว่าจะมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การทำบ้านจัดสรรเพื่อปล่อยให้เช่า การลงทุนอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ รวมไปถึงการซื้อประกันแบบสะสมทรัพย์ เป็นต้น
b.              ทรัพย์สินเสื่อมมูลค่า คือ ทรัพย์สินที่ได้มาแล้วมูลค่ามีแต่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เช่น ซื้อรถยนต์มาในราคา 3,000,000 บาท ขับไป 1 ปี ขายได้เหลือ 2,000,000 บาท ซึ่งก็แปลว่ามูลค่าลดลง 1,000,000 บาทภายในหนี่งปี แถมยังต้องจ่ายค่าที่จอดรถและค่าน้ำมันอีก หรือ ซื้อโทรศัพท์มาในราคา 20,000 บาท ผ่านไป 1 ปี ขายคืนได้เพียง 5,000 บาท เป็นต้น
3.               ได้มาจากหนี้สิน vs ได้มาจากเงินทุน
a.               ทรัพย์สินที่ได้มาจากการมีหนี้สิน คือ ทรัพย์สินที่ได้มาจากการซื้อหาสิ่งของเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของโดยการไปขอกู้หรือขอทำสินเชื่อมา ไม่ว่าจะเป็นการกู้มาเพื่อลงทุน หรือกู้มาซื้อรถป้ายแดงคันใหม่
b.              ทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุนของตัวเอง คือ ทรัพย์สินที่ได้มาจากการซื้อหาสิ่งของเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของโดยการใช้เงินของตัวเอง

สามารถจำแนก “ทรัพย์สินโดยแบ่งตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1.               จับต้องได้ vs จับต้องไม่ได้
2.               เพิ่มมูลค่า vs เสื่อมมูลค่า
3.               ได้มาจากหนี้สิน vs ได้มาจากเงินทุน


คนเราส่วนใหญ่จะใช้คำว่า “สินทรัพย์” ในภาษาของนักบัญชี ซึ่งจะเข้าใจกันว่า “สินทรัพย์” คือ ผลรวมของหนี้สินและเงินทุน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทหนึ่งมีหนี้สินอยู่ทั้งหมด 9,000,000 บาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นที่ถือว่าเป็นเงินทุนของบริษัทอยู่ 1,000,000 บาท เราก็จะบอกได้ว่าบริษัทนี้มีสินทรัพย์อยู่ทั้งหมด 10,000,000 บาท เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ต้องขึ้นกับวิธีประเมินมูลค่าในทางบัญชีว่าเป็นแบบไหนและใช้มาตรฐานอะไรเป็นข้อกำหนดในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินในแต่ละอย่าง

แต่สำหรับการทำความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อใช้กับชีวิตประจำวันแล้ว “สินทรัพย์” คือ ทรัพย์สินที่มีบุคคลเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการเป็นหนี้สินหรือได้มาจากเงินทุนของตัวเอง ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้จะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ทั้งนั้น

ตัวอย่างการแยกแยะประเภทของทรัพย์สินตามเงื่อนไขข้างต้น
-                    ซื้อที่ดิน ซื้อทองคำแท่ง
o   จับต้องได้ เพราะเห็นที่ดินเป็นแปลง ได้ทองคำเป็นแท่ง
o   ไม่จำเป็นต้องเสียเงินเติมน้ำมันหรือเสียบปลั๊ก แต่อย่างมากก็คงต้องเสียค่าดูแลรักษาทรัพย์สินที่จับต้องได้เหล่านี้ ซึ่งก็แสดงว่าเป็นทรัพย์สินที่คาดหวังว่าจะเพิ่มมูลค่าไปเรื่อยๆ
o   ถ้ากู้มาซื้อก็เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการมีหนี้สิน แต่ถ้าแคะกระปุกมาเองก็จะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุนของตัวเอง
-                    ซื้อถ้วยโถโอชาม ของรักของสะสม หรือสะสมของโบราณ
o   จับต้องได้ เพราะเป็นชิ้นเป็นอัน
o   ถึงแม้ว่าจะไม่ต้องเติมน้ำมันหรือเสียบปลั๊กให้มันก็จริง แต่ก็ต้องขึ้นกับว่าจะขายได้กำไรมากกว่าการฝากเงินในธนาคารหรือเปล่า ซึ่งถ้าไม่ มันก็จะเป็นทรัพย์สินที่เสื่อมมูลค่า หรือถ้ากล่าวกันตรงๆ ก็อาจจะเป็นเพียงขยะรกบ้านเท่านั้น แต่ถ้าคาดหวังว่าจะขายได้ราคาที่สูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ก็จะเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มมูลค่า เช่น การสะสมแสตมป์ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้วการสะสมของโบราณจะเน้นให้คุณค่าทางด้านจิตใจแก่คนเป็นเจ้าของมากกว่าที่จะซื้อขึ้นมาเพื่อเก็งกำไรในอนาคต
o   ถ้ากู้มาซื้อก็เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการมีหนี้สิน แต่ถ้าแคะกระปุกมาเองก็จะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุนของตัวเอง
-                    พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น สลากออมสิน และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
o   จับต้องไม่ได้
o   เป็นทรัพย์สินที่ได้มาแล้วจะเพิ่มมูลค่าหรือคาดหวังว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
o   ถ้ากู้มาซื้อก็เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการมีหนี้สิน แต่ถ้าแคะกระปุกมาเองก็จะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุนของตัวเอง
-                    ล็อตเตอรี่
o   บางคนคิดว่ามันจับต้องได้เพราะเป็นแผ่นๆ แต่ในที่นี้ผมถือว่าจับต้องไม่ได้เพราะมันเป็นเพียงตั๋วกระดาษใบหนึ่ง ที่จะมีมูลค่าก็ต่อเมื่อถูกรางวัลตามเกมกติกาเท่านั้น
o   เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการออกสลากล็อตเตอรี่นั้นจะกำหนดให้มูลค่าเฉลี่ยของรางวัลต่อหนึ่งใบนั้นมีค่าน้อยกว่าราคาซื้อของล็อตเตอรี่อยู่แล้ว จึงถือว่าล็อตเตอรี่เป็นทรัพย์สินที่เสื่อมมูลค่า คือ ทรัพย์สินที่ได้มาแล้วมูลค่ามีแต่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
o   ถ้ากู้มาซื้อก็เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการมีหนี้สิน แต่ถ้าแคะกระปุกมาเองก็จะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุนของตัวเอง
-                    รถยนต์ โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่
o   จับต้องได้
o   ทรัพย์สินที่ได้มาแล้วมูลค่ามีแต่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
o   ถ้ากู้มาซื้อก็เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการมีหนี้สิน แต่ถ้าแคะกระปุกมาเองก็จะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุนของตัวเอง

บทวิเคราะห์
ที่ยังไม่ร่ำรวยอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะขี้เกียจทำงาน แต่อาจเป็นเพราะเข้าใจผิดเรื่องความหมายของทรัพย์สินต่างหาก คนเราปกติแล้วจะเห็นสิ่งของที่จับต้องได้และมีราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋งหรือเครื่องประดับตัวต่างๆ ว่าเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความโก้ ความหรู และความร่ำรวยของคนๆ นั้น ดังนั้นจึงไม่ผิดที่จะกล่าวว่าสิ่งของที่สามารถบ่งบอกถึงฐานะของคนเราส่วนใหญ่จึงเป็นสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย (luxury) ที่สามารถจับต้องได้ เพราะว่ามันจะแสดงให้คนรอบข้างเห็นได้ชัดกว่าสิ่งของที่จับต้องไม่ได้ แต่มีประเด็นให้เราคิดต่ออยู่อีกอย่าง คือ “สิ่งของที่ได้มาเหล่านี้ ได้มาจากความร่ำรวยของคนๆ นั้นจริงหรือไม่”

บางคนได้เก็บสะสมเงินทองไว้เป็นระยะเวลานานและมากพอที่จะซื้อของฟุ่มเฟือยเหล่านั้นจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง และบางคนก็อาจจะได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งเราก็คงจะเรียกพวกคนเหล่านี้ว่ามีสถานะทางการเงินที่ดี หรือ “ร่ำรวย” ก็คงจะไม่ผิด คนเหล่านี้ใช้สินทรัพย์เพื่อซื้อทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุนของตัวเอง ไม่ได้ไปเป็นหนี้กู้ยืมใครมา

แต่ก็มีคนส่วนใหญ่ที่พยายามจะแสร้งทำเป็นรวย โดยการพยายามจะยกระดับของตัวเองให้สูงขึ้น แล้วใช้สิ่งของราคาแพงเพื่อบ่งบอกคนรอบข้างให้เข้าใจว่าตัวเองมีสถานะร่ำรวย ทรัพย์สินเหล่านี้ได้มาจากการกู้ยืม และเมื่อได้เป็นเจ้าของแล้วก็จะถือเป็นสินทรัพย์ของคนๆ นั้น แต่เป็นสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากการมีหนี้สิน

การจะวิเคราะห์ว่าใครรวยหรือไม่นั้น เราต้องมองให้ลึกถึงสินทรัพย์ของคนๆ นั้นก่อน ว่าเป็นเจ้าของของทรัพย์สินประเภทไหน

ดังนั้น ถ้ามองให้ลึกก็จะเห็นว่าคนเราทุกคนนั้นมีสิทธิ์หาซื้อของฟุ่มเฟือยกันได้ทั้งนั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การจะวิเคราะห์ว่าใครรวยหรือไม่นั้น เราต้องมองให้ลึกถึงสินทรัพย์ของคนๆ นั้นก่อน ว่าเป็นเจ้าของของทรัพย์สินประเภทไหน ถ้าเป็นประเภทที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองก็แปลว่ารวยจริง แต่ถ้าไปกู้หนี้ยืมสินมาก็จะเป็นเพียงคนๆ หนึ่งที่ใช้เงินเกินตัว คอยคิดถึงแต่ความสบาย ความโก้ ในระยะสั้นๆ เท่านั้น

และก็มีบางคนที่ดูภายนอกเหมือนคนทั่วไปและบางครั้งอาจดูเหมือน คนจนแต่คนกลุ่มนี้ได้ถือครองทรัพย์สินที่สร้างมูลค่าเอาไว้มาก ซึ่งเราอาจเรียกว่าใช้จ่ายอย่างพอเพียง แต่รวยจริง รวยนิ่งๆ แบบยั่งยืน

ยังมีทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งที่ถือว่าพิเศษออกไป และไม่สามารถวัดมูลค่าเป็นตัวเลขได้ นั่นก็คือคุณค่าทางจิตใจ

สุดท้ายนี้ อยากจะขอแทรกเอาไว้ว่ายังมีทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งที่ถือว่าพิเศษออกไป และไม่สามารถวัดมูลค่าเป็นตัวเลขได้ นั่นก็คือคุณค่าทางจิตใจ คนที่ซื้อของฟุ่มเฟือยนั้นไม่ผิดเลย ลองคิดในมุมมองที่ว่า ถึงแม้ว่าทรัพย์สินเหล่านั้นจะเสื่อมมูลค่าไปตามเวลา แต่สินทรัพย์ทางใจได้เกิดขึ้นมาตอนที่ได้เป็นเจ้าของก็เป็นได้ แต่สินทรัพย์ทางใจนั้นขึ้นหรือลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะมันอาจจะมีค่าตอนที่ซื้อมาใหม่ๆ แต่ถ้าหากได้มาแบบเป็นหนี้เป็นสิน ไม่มีเงินผ่อน หรือทำให้สถานะการเงินตกต่ำไปเรื่อยๆ ก็จะมีผลทำให้คุณค่าของจิตใจแย่ลงไปด้วย

ทรัพย์สินที่ให้คุณค่าทางจิตใจนั้น ไม่จำเป็นที่จะได้มาโดยการซื้อของฟุ่มเฟือย หรือช้อปปิ้งเพื่อซื้อของที่เสื่อมมูลค่าเสมอไป ทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดก็คือ “ความดี” นั่นเอง

สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า ทรัพย์สินที่ให้คุณค่าทางจิตใจนั้น ไม่จำเป็นที่จะได้มาโดยการซื้อของฟุ่มเฟือย หรือช้อปปิ้งเพื่อซื้อของที่เสื่อมมูลค่าเสมอไป ทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดก็คือ “ความดี” นั่นเอง ไม่ต้องไปหาซื้อมา แต่ต้องหมั่นสร้างและสะสมไว้ มันจะพอกพูนขึ้นไปเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่า “รวยอย่างแท้จริง


ตารางแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ กับ ทรัพย์สินประเภทต่างๆ
ทรัพย์สิน
จับต้องได้
จับต้องไม่ได้
เพิ่มมูลค่า
เสื่อมมูลค่า
เพิ่มมูลค่า
เสื่อมมูลค่า
สินทรัพย์
ทรัพย์สินที่ได้มาจากหนี้สิน
ที่ดิน, ทอง, เงินลงทุน, ธุรกิจบ้านจัดสรร
บ้าน, รถ, กระเป๋า,
มือถือ, แหวน, ของฟุ่มเฟือย
พันธบัตร, หุ้น, สิทธิบัตร


ล็อตเตอรี่

ทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุน
ทรัพย์สินที่เป็นคุณค่าทางจิตใจ


วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555

การจัดการความเสี่ยงในองค์กรแบบยั่งยืนภาคจบ (Sustainable ERM – Part II)

Risk matter – การจัดการความเสี่ยงในองค์กรแบบยั่งยืนภาคจบ (Sustainable ERM – Part II)
โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) FSA, FRM

เกริ่นนำ

เมื่อฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของ ERM รวมไปถึงสาเหตุที่ ERM ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยได้กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับ “ความเสี่ยง” ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล

กลุ่มที่ได้กล่าวไปแล้วคือ “กลุ่มที่เน้นกำไร” กับ “กลุ่มที่เน้นไม่เสี่ยง”
1.             กลุ่มที่เน้นกำไรจะเห็นความเสี่ยงว่าเป็นเรื่องรอง ตราบใดที่เห็นว่าบริษัทยังสามารถทำกำไรได้อยู่ และจะรับธุรกิจที่มีความเสี่ยงมาก ถ้าหากว่าเขาคิดว่ามันคุ้มค่ากับการตัดสินใจทำลงไป
2.             กลุ่มที่เน้นไม่เสี่ยงจะเห็นว่าความเสี่ยงเป็นตัวอันตรายและควรจะหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนทำให้บางครั้งพวกเขาคิดว่า ERM นั้นเป็นเครื่องมือที่อันตรายที่ไปส่งเสริมให้บริษัทวิ่งเข้าหาความเสี่ยงในบางสถานการณ์ที่ความเสี่ยงนั้นทำให้เกิดผลตอบแทนที่รับได้


มุมมองของคำว่า “ความเสี่ยง” (ต่อ)
เรามาเริ่มทำความเข้าใจในกลุ่มที่เหลือที่มีมุมมองของ “ความเสี่ยง” ที่แตกต่างกันดีกว่า

3.             กลุ่มที่ไม่ชอบกฎเกณฑ์
กลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจและเห็นได้อยู่บ่อยๆ เพราะว่าในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ผู้บริหารแต่ละคนมักจะใช้ประสบการณ์ของตัวเองในการจัดการมากกว่าจะกางตำราการบริหารความเสี่ยงมาว่ากันเป็นบทๆ ไป

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะมีคนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เชื่อในเรื่องทฤษฎีเลย และก็ทำให้คิดต่อไปได้ว่าผู้บริหารในกลุ่มนี้ก็คงจะไม่เชื่อแบบจำลองอนาคตที่บริษัททำขึ้นมาสักเท่าใดนัก และแน่นอนว่าพวกเขาคงจะไม่ยอมให้มีแบบจำลองสถานการณ์ต่างๆ มาคอยชี้นำองค์กรของพวกเขาโดยเด็ดขาด เอาเป็นว่าคนกลุ่มนี้จะคิดว่าอนาคตเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก สู้ไม่ต้องเสียเวลาคาดการณ์เลยจะดีกว่า

“กลุ่มที่ไม่ชอบกฎเกณฑ์จะไม่เชื่อในเรื่องทฤษฎีเลย พวกเขาจะคิดว่าอนาคตเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก สู้ไม่ต้องเสียเวลาคาดการณ์เลยจะดีกว่า ดังนั้นพวกเขาจะชอบอิสระในการจัดการและจะพยายามที่จะมีทางออกหรือตัวเลือกให้มากที่สุดไว้ก่อน

สิ่งที่สังเกตเห็นในมุมมองของผู้บริหารเหล่านี้ก็คือ “การวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Strategic planning)” ของบริษัทจะเป็นเรื่องรองหรือเห็นว่าไม่มีความจำเป็นเท่าที่ควร และการที่กฎเกณฑ์ได้ถูกตั้งขึ้นมาจะกลายเป็นการจำกัดกรอบความสามารถของพวกเขาที่จะปฏิบัติตัวต่อสถานการณ์หนึ่งๆ ให้ฉับไวและทันท่วงทีได้

ดังนั้น คนในกลุ่มนี้จึงไม่ชอบให้มีกฎเกณฑ์ พวกเขาชอบอิสระในการจัดการและจะพยายามที่จะมีทางออกหรือตัวเลือกให้มากที่สุดไว้ก่อนเพื่อใช้ในวันที่จำเป็นต้องตัดสินใจฟันฝ่าเหตุการณ์ร้ายๆ ของบริษัทขึ้น ซึ่งตัวเลือกเหล่านี้อาจจะได้มาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้บริหารกลุ่มนั้นๆ

“เพราะกลุ่มที่ไม่ชอบกฎเกณฑ์คิดว่าอนาคตนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ จึงคิดว่าการกระจายความเสี่ยงตั้งแต่แรกจะเป็นการช่วยเพิ่มทางออกและความสามารถในการตัดสินใจทางธุรกิจได้ดีกว่า”

เราจะเห็นว่าทางออกที่เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของคนกลุ่มนี้ก็คือ “การกระจายความเสี่ยง” เพราะคนกลุ่มนี้คิดว่าอนาคตนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ จึงคิดว่าการกระจายความเสี่ยงตั้งแต่แรกจะเป็นการช่วยเพิ่มทางออกและความสามารถในการตัดสินใจทางธุรกิจได้ดีกว่า แต่ถ้าดูจากลักษณะของคนกลุ่มนี้แล้วก็เดาได้ว่าพวกเขาคงจะไม่เชื่อในเรื่องทฤษฎีหรือกระบวนการกระจายความเสี่ยงที่คำนวณออกมาเป็นตัวเลขเท่าใดนัก

4.             กลุ่มที่เน้นความสมดุล
คนกลุ่มนี้จะคิดว่า “ที่ใดมีผลตอบแทนที่นั่นย่อมต้องมีความเสี่ยงอยู่” ซึ่งการจัดการให้ทั้งสองสิ่งนี้มีความสมดุลกันนั้นสำคัญที่สุด ผู้บริหารที่มีมุมมองแบบนี้จะพยายามจ้างผู้เชี่ยวชาญให้มาช่วยหาว่าบริษัทมีความเสี่ยงตรงไหน และมันจะสมดุลกับผลตอบแทนที่ได้หรือไม่

กลุ่มที่เน้นความสมดุลจะพยายามปรับสมดุล “กลุ่มที่เน้นกำไร” กับ “กลุ่มที่เน้นไม่เสี่ยง” ไว้ด้วยกัน โดยเชื่อว่า “ที่ใดมีผลตอบแทนที่นั่นย่อมต้องมีความเสี่ยงอยู่”

แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็เชื่อว่าการจัดการกับความเสี่ยงแบบสมดุลนี้จะต้องช่วยทำให้บริษัทอยู่ดีมีสุขได้ เพราะเขาจะพยายามปรับสมดุลของ “กลุ่มที่เน้นกำไร” กับ “กลุ่มที่เน้นไม่เสี่ยง” ไว้ด้วยกัน

ผู้บริหารในกลุ่มนี้จะเน้นในการจัดการความเสี่ยงในภาพรวม แล้วแทนที่จะเน้นหา “ต้นทุนของความเสี่ยง” ในแต่ละตัวเหมือน “กลุ่มที่เน้นกำไร” พวกเขากลับจะเน้นที่ความสามารถขององค์กรที่จะรองรับความเสี่ยงโดยรวมเอาไว้ และจะพยายามขับเคลื่อนบริษัทไปในทิศทางที่ต้องการ

จะเห็นว่าวิธีการเหล่านี้จะมีทฤษฎีมารองรับ จึงทำให้เป็นที่ถูกใจของนักวิชาการและบริษัทที่ปรึกษากันอย่างมากมาย แต่ในท้ายที่สุดแล้วก็จะมีแค่คนกลุ่มนี้เท่านั้นที่นำ ERM ไปปฏิบัติด้วยใจ ในทางตรงกันข้าม คนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากคนกลุ่มอื่นๆ เท่าใดนัก

ความแตกต่างที่ยืนอยู่บนความเสี่ยง
ที่แล้วมาจะเห็นว่านิยามของ ERM จะถูกจำกัดอยู่กับ “กลุ่มคนที่เน้นความสมดุล”  แต่จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าแต่ละกลุ่มต่างก็มีมุมมองและความคิดที่แตกต่างกันออกไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่อาจจะมีแรงต่อต้านเมื่อองค์กรต้องการจะผลักดัน ERM ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง บางคนก็รู้สึกเฉยๆ เนือยๆ กับคำว่า ERM ไปแล้ว เพราะถึงแม้ว่า ERM จะดีมากแค่ไหน หรือมีเหตุผลดีแค่ไหนก็ตาม แต่มันก็ยังคงจำกัดอยู่กับ “กลุ่มที่เน้นความสมดุล” เพียงอย่างเดียว

“ยังมีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มที่ ERM ในตำราไม่สามารถทำให้สอดคล้องกับแนวคิดและความเชื่อของคนเหล่านั้นได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่อาจจะมีแรงต่อต้านเมื่อองค์กรต้องการจะผลักดัน ERM ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

ยังมีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มที่ ERM ในตำราไม่สามารถทำให้สอดคล้องกับแนวคิดและความเชื่อของคนเหล่านั้นได้ ซึ่งกลุ่มต่างๆ ที่เหลือเหล่านี้ก็ทำได้แค่พยักหน้าเวลาฟังเรื่องของ ERM แต่ที่น่าเศร้าก็คือเราคงจะไปบังคับให้พวกเขานำไปปฏิบัติจริงตลอดก็คงไม่ได้ ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในตอนนี้จะคิดว่า ERM คือหนทางในการแก้ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับความเสี่ยงในองค์กรได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ERM ไม่ได้เป็นยาครอบจักรวาลเสมอไป มันเป็นเพียงเครื่องมือให้กับคนที่นำมันไปใช้เท่านั้น ซึ่งก็สามารถนำพาหายนะมาสู่องค์กรได้ถ้าเรานำมันมาใช้อย่างไม่ถูกต้อง

ซึ่งเราคงต้องไม่ลืมว่า “ความเสี่ยง” นั้นมันไม่ได้อยู่กับที่เสมอไป มันเป็นอะไรที่ดิ้นได้และเปลี่ยนไปตามสถานการณ์อยู่บ่อยๆ ซึ่งจะสังเกตได้จากการที่มีกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ความเสี่ยง” ที่ต่างกัน แต่ก็เห็นได้ว่าพวกเขาสามารถนำมันมาประยุกต์ใช้กับองค์กรในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรที่ร้ายแรงนัก

“เราคงต้องไม่ลืมว่า “ความเสี่ยง” นั้นมันไม่ได้อยู่กับที่เสมอไป

บางคนอาจจะมองว่าสถานการณ์อย่างหนึ่งคือสภาวะปกติ แต่อีกคนอาจจะมองว่านั่นคือสภาวะที่อันตรายและต้องรีบไปแก้ไขก็ได้ เพราะฉะนั้น การนำ ERM ไปประยุกต์ใช้ให้ได้ผลก็คงหนีไม่พ้นที่ต้องยึดหลัก “นานาจิตตัง” เข้าไว้ก่อน

ควรจะทำอย่างไรกับ ERM ดี
ถ้า ERM เปิดกว้างให้กับแนวคิดของ “นานาจิตตัง” ได้ เราก็สามารถเพิ่มความยืดหยุ่นให้ครอบคลุมการใช้งานในมุมที่กว้างกว่านี้ เพื่อให้คนหลายๆ กลุ่มที่มีมุมมองใน “ความเสี่ยง” แตกต่างกันสามารถให้ความร่วมมือในการจัดการความเสี่ยงองค์กรให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถคิดแบบ “กลุ่มที่เน้นกำไร” ได้ในภาวะเศรษฐกิจขาขึ้นเพราะคงไม่มีใครต้องการให้ ERM เป็นตัวขัดขวางการดำเนินธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีสิทธิ์เปลี่ยนมาคิดแบบ “กลุ่มที่เน้นไม่เสี่ยง” ได้ในภาวะเศรษฐกิจขาลงเพราะจะได้ไม่ต้องเสี่ยงรับความเสียหายมากจนเกินไป


Sustainable ERM
เน้นเอากำไร
เน้นไม่เสี่ยง
ไม่ชอบกฎเกณฑ์
เน้นสมดุล
การจัดการความเสี่ยง
Risk Trading
Loss Controlling
Diversification
Risk Steering
สภาพเศรษฐกิจ
ขาชึ้น
ขาลง
ไม่แน่นอน
กลางๆ


แล้วถ้าเราไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจนั้นอยู่ในขาขึ้นหรือขาลง เราก็หันมาคิดแบบ “กลุ่มที่ไม่ชอบกฎเกณฑ์” ก็ได้ เพราะการกระจายความเสี่ยงถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในภาวะแบบนี้

แต่ในสภาวะปกติที่เดาออกได้ว่าอะไรเป็นอะไร เราก็สามารถใช้รูปแบบดั้งเดิม นั่นคือการคิดแบบ “กลุ่มที่เน้นความสมดุล” ได้เหมือนกัน


บทสรุป
เมื่อเรามองกลับมาที่องค์กรโดยรวมแล้วจะเห็นว่าแต่ละองค์กรจะมีกลุ่มคนที่มีความคิดแบบหนึ่งกระจุกตัวรวมกัน และจะสังเกตได้ว่าคนที่คิดแบบเดียวกันก็จะจ้างคนมาร่วมอุดมการณ์เดียวกัน ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเพราะเห็นว่าประสบการณ์เก่าๆ ที่ผ่านมาก็สามารถนำพาบริษัทให้ไปข้างหน้าได้ตลอดรอดฝั่งเหมือนกัน

แต่หารู้ไม่ว่า “ความเสี่ยง” ก็เปลี่ยนไปได้ เหมือนกับเชื้อโรคที่กลายพันธุ์จนทำให้ต้องพัฒนายาตัวใหม่ๆ มาสู้กับมัน ซึ่งถ้าองค์กรไม่ได้มีความคิดที่ยืดหยุ่นพอ จนเวลา “ความเสี่ยง” กลายพันธุ์ไปในทิศทางอื่นแล้ว บริษัทก็อาจจะปรับตัวไม่ทันและก็ล้มครืนกันให้เห็นก็มี

ดังนั้น การจะทำการจัดการความเสี่ยงในองค์กรให้ยั่งยืน (Sustainable ERM) จะต้องเริ่มจากการปรับระบบความคิดของเราก่อน โดยจะต้องลดความเป็น ตัวเราของเรา ออกไป และยอมรับถึงตัวตนของคนกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนในการหล่อหลอมให้เกิด ERM ที่ยืดหยุ่นให้กับบริษัทได้

ERM ที่ดีจึงควรจะปรับเปลี่ยนกระบวนทัพให้เป็นไปตามสถานการณ์ในแต่ละรูปแบบ โดยเปิดรับความคิดจากคนกลุ่มต่างๆ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เฉกเช่นกับประโยคที่เราเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่า สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ