วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) – ตอนที่ 6 (เทคนิคการจับคู่)


จะเห็นว่าในทางธุรกิจนั้น สินทรัพย์ (Asset) คือ สิ่งที่มีมูลค่าเป็นตัวเงินที่มีอยู่ในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้ก็ตาม ส่วนหนี้สิน (Liability) ในทางธุรกิจนั้น คือ มูลค่าของการมีพันธะ (Obligation) หรือภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายคืนให้เจ้าหนี้ในอนาคต

สมมติว่า เราสามารถรู้ว่าจะต้องมีหนี้สินที่จะต้องจ่ายออกไปเท่าไรในแต่ละช่วงเวลาแล้ว หน้าที่ที่เหลือของเราก็คือการเลือกสรรสินทรัพย์ให้เข้าคู่ (Matching) กับหนี้สินที่เรามีให้ได้เท่านั้นเอง

 

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินเบื้องต้น เทคนิคการจับคู่ (Exact Matching)

เราจะมาลองดูตัวอย่างง่ายๆ ของการทำ Asset Liability Management (ALM) กันก่อน โดยจะสมมติว่าจะต้องจ่ายหนี้สินออกไปในปลายปีหน้า (ปลายปีที่ 1) เท่ากับ 20,000 บาท และอีกครั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปลายปีที่ 2) เป็นเงิน 10,000 บาท

 

หน้าที่หลักของการทำ ALM ในตัวอย่างนี้ก็คือการหาสินทรัพย์มาเข้าคู่ให้ได้ และถ้าเราเลือกได้สินทรัพย์ชิ้นแรกที่จะซื้อก็ควรจะมีอายุ 1 ปีและจ่ายเงินก้อนคืนให้ตอนสิ้นปีเท่ากับ 20,000 บาท ส่วนสินทรัพย์ก้อนที่ 2 ก็จะมีอายุ 2 ปีและจ่ายเงินก้อนคืนให้ในอีก 2 ปีข้างหน้าเท่ากับ 10,000 บาท จะเห็นได้ว่าเงินคืนของสินทรัพย์แต่ละก้อนนั้นสามารถเอามาใช้หนี้ในปีที่ 1 และ 2 ได้พอดี

 


 

 

หลายคนคงจะคิดว่าสินทรัพย์แบบที่ง่ายที่สุดก็คือการเอาเงินทั้งหมดไปฝากไว้ในธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ยและพอถึงเวลาที่ต้องจ่ายหนี้สินก็เบิกเงินออกมาจากธนาคารก็สิ้นเรื่อง แต่ในชีวิตจริงคงจะไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารนั้นได้น้อยกว่าสินทรัพย์แบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรหรือหุ้นอยู่มาก การเอาเงินทั้งหมดที่มีอยู่ไปฝากไว้กับธนาคารจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในการจัดการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management)

 

ส่วนสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีให้เราเลือกในตลาดการเงินนั้นคงจะหาแบบที่โชคดีและสามารถจับคู่ได้กับหนี้สินของเราได้พอดี นั้นคงจะยาก ดังนั้นจึงต้องทำการเอาสินทรัพย์หลายๆ ตัวมาประกอบกันเข้าเหมือนจิ๊กซอร์แล้วหาทางทำให้มันเข้าคู่กับหนี้สินได้มากที่สุด

 

เคล็ดลับในการทำ Asset Liability Management ในที่นี้ก็คือให้จับคู่กระแสเงินสดที่ไกลออกไปที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อน และค่อยๆ จับคู่กระแสเงินสดที่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ โดย

1) เลือกสินทรัพย์ที่จ่ายเงินคืนในปีสุดท้ายให้ตรงกับปีที่ต้องจ่ายหนี้สินเป็นปีสุดท้ายซึ่งเป็นปีที่ไกลออกไปที่สุด

2) ปรับขนาดสัดส่วนของสินทรัพย์ชิ้นนั้นเพื่อให้ขนาดของเงินที่ได้คืนนั้นเท่ากับขนาดของเงินที่จะต้องจ่ายหนี้สินออกไป

3) ทำซ้ำๆ ระหว่างข้อ 1) และ 2) โดยเลือกสินทรัพย์ตัวถัดไปที่จ่ายเงินคืนในเวลาที่ใกล้เข้ามา และปรับขนาดสัดส่วนของสินทรัพย์นั้นเพื่อจับคู่กับหนี้สินลงมาเรื่อยๆ

 

การจะจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ได้นั้นต้องทำวิธีการ Exact matching คือทำให้กระแสเงินสดทั้งฝั่งที่จะได้เงิน (สินทรัพย์) และเสียเงิน (หนี้สิน) ให้มีค่าออกมาเท่ากันทุกครั้งไป

 

ตัวอย่างเบื้องต้นสำหรับการจ่ายหนี้สินออกไปรอบแรกในปลายปีหน้า (ปลายปีที่ 1) เท่ากับ 20,000 บาท และรอบที่ 2 ในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปลายปีที่ 2) เป็นเงิน 10,000 บาท
 
สมมติว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ในตลาดนั้นมีอยู่ 2 อย่าง
1)              พันธบัตร A ที่จ่ายเงินคืนในปีที่ 1 เท่ากับ 10000 บาท
2)              พันธบัตร B ที่จ่ายเงินคืนในปีที่ 2 เท่ากับ 10000 บาท
 
การทำ ALM ในที่นี้ก็คือการซื้อพันธบัตร A เป็นจำนวน 2 หน่วย และซื้อพันธบัตร B เป็นจำนวน 1 หน่วย
 

 

 

ผมได้รวบรวมประสบการณ์ตรงในการจัดการบริหารความเสี่ยงและเขียนออกมาเป็นหนังสือ และถึงแม้ว่าเนื้อหาจะออกแนววิชาการ แต่ได้เขียนให้อ่านเข้าใจง่าย ไม่เป็นวิชาการมากเกินไป จึงเหมาะกับบุคคลทั่วไปที่สนใจในการบริหารความเสี่ยง นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ ยังได้แนะแนวเทคนิคการลงทุน ซึ่งแสดงถึงข้อดีและข้อเสียของความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ไว้ อีกด้วย

 

สามารถหาซื้อหนังสือ “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ “ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ  โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ

 

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

 

 

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) ตอนที่ 5 (ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้)



การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) ที่ดีนั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจความเสี่ยงของเครื่องมือทางการเงินแต่ละชนิดให้ถ่องแท้เสียก่อน และเครื่องมือทางการเงินที่ควรจะให้ความสำคัญในการทำความเข้าใจเป็นอันดับแรกก็คือ ตราสารหนี้ หรือที่เรียกว่า Fixed Income

 

ตราสารหนี้ (Fixed Income) ถ้าจะให้แปลกันตามตัวก็คือตราสารหรือกระดาษที่ระบุถึงความเป็นหนี้ โดยฝ่ายที่ขายกระดาษออกไปแล้วรับเงินเข้ามาก็จะเป็นลูกหนี้ ส่วนฝ่ายที่ซื้อกระดาษแล้วจ่ายเงินออกไปก็จะกลายเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งคำว่า “หนี้ (Debt)” ในที่นี้จึงกลายเป็นสิ่งที่เป็นภาระผูกพัน (Obligation) ที่จะต้องใช้เงินคืนตามที่ระบุไว้ในสัญญา และนี่ก็เป็นที่มาของคำว่า Fixed Income ซึ่งก็หมายความว่า คนที่ซื้อกระดาษแผ่นนั้นไปจะสามารถคาดหวังรายได้ที่จะไหลเข้ามาได้อย่างคงที่ตามที่เขียนเอาไว้ในกระดาษ ตราสารหนี้ (Fixed Income) จึงจำเป็นจะต้องระบุสิ่งที่สำคัญเอาไว้ 2 อย่าง นั่นก็คือ 1) จะจ่ายเมื่อไร และ 2) จะจ่ายเท่าไร

 

ตราสารหนี้ (Fixed Income) จึงหมายถึงตราสารการเงินที่มีอายุการลงทุนมากกว่า 1 ปี โดยมีผลตอบแทนคงที่ตามที่ระบุเอาไว้ในสัญญา โดยปกติแล้ว เราจะเห็นตราสารหนี้ต่อไปนี้อยู่ในท้องตลาดของประเทศไทย

1.               พันธบัตรรัฐบาล (Government bond) คือ ตราสารหนี้ที่เป็นกระดาษและออกโดยรัฐบาล ซึ่งก็หมายถึงรัฐบาลเป็นลูกหนี้ และจะเป็นคนจ่ายเงินคืนให้ สิ่งที่ค้ำประกันว่ารัฐบาลจะไม่เบี้ยวแน่นอนก็คือ “ภาษีของประชาชน”นั่นเอง เพราะถ้ารัฐบาลมีเงินไม่พอจ่าย รัฐบาลก็สามารถเรียกเก็บภาษีเพิ่ม หรือไม่ก็ออกพันธบัตรรัฐบาลตัวใหม่ เพื่อเอาเงินของคนกลุ่มหนึ่ง (คนที่มาซื้อพันธบัตรใหม่) มาจ่ายเงินให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง (คนที่ซื้อพันธบัตรไปแล้วรอรับเงินคืน)  พันธบัตรรัฐบาล (Government bond) จึงถือเป็นตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด

2.               พันธบัตรที่ออกโดยบริษัทเอกชน (Corporate bond) ก็คือตราสารหนี้ที่เป็นกระดาษและออกโดยบริษัทเอกชน และมีการใช้สินทรัพย์ของบริษัทเอกชนนั้นๆ ในการค้ำประกัน ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าบริษัทที่ออกพันธบัตรนั้นไม่สามารถทำตามสัญญาที่ระบุไว้ในกระดาษได้ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินคืนไม่ตรงตามกำหนด หรือการจ่ายเงินคืนไม่ครบแล้ว เจ้าหนี้หรือผู้ซื้อพันธบัตรมีสิทธิ์เอาสินทรัพย์ที่ค้ำประกันไว้ไปขายทอดตลาดเพื่อเปลี่ยนมาเป็นเงินได้

3.               หุ้นกู้ (Debenture) ก็เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนเช่นกัน แต่ต่างกับ พันธบัตรที่ออกโดยบริษัทเอกชน (Corporate Bond) ก็ตรงที่หุ้นกู้จะไม่มีสินทรัพย์ที่ให้ไว้ค้ำประกัน ทำให้เวลาเกิดปัญหาแล้วอาจจะไม่ได้เงินคืน หรือถ้าได้ก็ต้องได้หลังจากที่บริษัทเอาเงินชดใช้คืนให้กับพันธบัตรที่ออกโดยบริษัทเอกชน (Corporate Bond) ไปหมดแล้ว หุ้นกู้ (debenture) จึงมีความเสี่ยงที่จะโดนเบี้ยวมากกว่า พันธบัตรที่ออกโดยบริษัทเอกชน (Corporate bond) ซึ่งรายละเอียดสามารถหาอ่านได้จาก Credit risk ที่จะกล่าวในบทถัดไป

 

ถ้าการลงทุนส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากตราสารหนี้ (Fixed Income) เราก็ควรทำความเข้าใจและเห็นความสำคัญของความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนประเภทนี้ ซึ่งความเสี่ยงที่จะกล่าวถึงทั้งหมดนี้จะมีความเสี่ยงถึง 12 ประเภทจากการลงทุนในตราสารหนี้ (Fixed Income)

 

บริษัทที่ลงทุนในตราสารหนี้ควรจะต้องเล็งเห็นความสำคัญของมัน โดยบริษัทประกันภัยจะเป็นกลุ่มที่ซื้อตราสารหนี้ในตลาดเป็นส่วนใหญ่ก็ว่าได้ เรียกว่ามีพันธบัตรออกมาขายเท่าไร บริษัทประกันภัยจะกวาดซื้อมาจนเกือบหมด และนั่นอาจจะเป็นเพราะความจำเป็นในการจัดการความเสี่ยงจากการลงทุนของบริษัทประกันภัยนั่นเอง

 

ผมได้รวบรวมประสบการณ์ในการจัดการบริหารความเสี่ยงและเขียนออกมาเป็นหนังสือ และถึงแม้ว่าเนื้อหาจะออกแนววิชาการ แต่ได้เขียนให้อ่านเข้าใจง่าย ไม่เป็นวิชาการมากเกินไป จึงเหมาะกับบุคคลทั่วไปที่สนใจในการบริหารความเสี่ยง นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ ยังได้แนะแนวเทคนิคการลงทุน ซึ่งแสดงถึงข้อดีและข้อเสียของความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ไว้ อีกด้วย

 

สามารถหาซื้อหนังสือ “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ “ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ  โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ

 

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) ตอนที่ 4 (ความเสี่ยงจากการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ สินค้าคอมโมดิตี้ และเงินสกุลอื่น)


ความเสี่ยงจากการลงทุนที่เกิดขึ้นทางฝั่งสินทรัพย์ในคราวที่แล้วคือ ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้ (Fixed Income) และความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารทุน (Equity) ในคราวนี้เราจะกล่าวถึงความเสี่ยงที่เหลือกัน

 

1.               ความเสี่ยงจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Property)

 

อสังหาริมทรัพย์ คือ ที่ดิน และทรัพย์สินอื่นที่ติดอยู่กับที่ดินนั้น เช่น อาคาร บ้านเรือน เป็นต้น โดยที่ดินจะเป็น พื้นดินทั่วไป ซึ่งอาจรวมถึงภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลสาบ หรือแม้แต่เกาะด้วย

 

ที่ดินส่วนใหญ่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ที่ดินจึงเป็นการลงทุนที่นิยมกันสำหรับการลงทุนระยะยาว ดังที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่าซื้อที่ดินเพื่อเก็บไว้ให้ลูกหลานกัน (ถ้าประเทศไม่โดนยึดหรือเปลี่ยนระบอบไปเป็นคอมมิวนิสต์เสียก่อน)

 

อาคารและบ้านเรือนทั้งหลาย ก็เป็นการลงทุนที่ดี แต่ก็สามารถเป็นสิ่งก่อสร้างที่เสื่อมมูลค่าลงตามกาลเวลา ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการดูแลรักษาหรือปรับปรุงอยู่เสมอเพื่อรักษามูลค่าของอาคารและบ้านเรือนเอาไว้

 

โดยรวมแล้ว อสังหาริมทรัพย์นั้นถือว่าเป็นการลงทุนที่สามารถหวังได้ทั้งค่าเช่า (Rental fee / dividend) และมูลค่าเพิ่ม (Capital gain) ได้เหมือนกับตราสารทุน ซึ่งก็มีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาของอสังหาริมทรัพย์ในตลาด (อย่างเช่น Market Risk) เหมือนกับตราสารทุนเช่นกัน และสิ่งที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษสำหรับอสังหาริมทรัพย์ก็คือ สภาพคล่อง (Liquidity) ของที่ดินหรืออาคารบ้านเรือนนั้น เพราะว่าการจะหาคนมาซื้อมาขายในตลาดนั้นได้ยากกว่าตราสารทุน (Equity)

 

2.               ความเสี่ยงจากการลงทุนในสินค้า (Commodity)

 

สินค้าคอมโมดิตี้ (Commodity product) เป็นสินค้าทั่วไปที่จับต้องได้ แต่ที่นำมาลงทุนกันส่วนใหญ่ก็คือสินค้าที่ยิ่งเก็บไว้นานก็ยิ่งมีราคาสูงขึ้น หรือซื้อเอามากักตุนสำรองใช้ไว้ก่อนเพื่อจะได้นำมากำหนดราคาต้นทุนได้ถูกต้อง ซึ่งปกติแล้วจะสามารถแบ่งสินค้าเหล่านี้ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.               โลหะและอัญมณี เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง เพชร พลอย เหล็ก อลูมิเนียม เป็นต้น

2.               พลังงาน เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

3.               สินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นต้น

 

สินค้าแต่ละประเภทก็มีความเสี่ยงเฉพาะทางที่แตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วสินค้าเหล่านี้จะมีมูลค่าที่แปรผันตามอัตราเงินเฟ้อในตลาดอยู่ไม่มากก็น้อย และก็มีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาของสินค้าคอมโมดิตี้ (Market risk) เช่นกัน 

 

3.               ความเสี่ยงจากการลงทุนในเงินสกุลอื่น (Currency)

 

ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญอย่างมากสำหรับการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) เพราะจะเห็นได้ว่าบางบริษัทจะต้องปิดกิจการลงเนื่องจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างมหาศาลโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีหนี้สินเป็นเงินบาท แต่สินทรัพย์ที่ลงทุนนั้นเป็นเงินสกุลดอลล่าร์ ซึ่งมีค่าผันผวนไปมาโดยเฉพาะเมื่อความน่าเชื่อถือของเงินสกุลในประเทศนั้นๆ เปลี่ยนไป ทำให้มูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ไม่พร้อมกัน และส่งผลไปถึงงบดุล (Balance sheet) ของบริษัท ที่อยู่ๆ ก็ทำให้สินทรัพย์ลดฮวบหรือหนี้สินเพิ่มขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว เหมือนดังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปีพ.ศ. 2540 ที่ทำให้บริษัทหลายแห่งต้องปิดกิจการลงไป เนื่องจากค่าเงินบาทลอยตัว ทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระหนี้สินจากการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศได้  

 

และสำหรับคนที่ลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ (Foreign Investment Fund) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า FIF นั้น ก็หมายถึงการถือความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศไปด้วย

 

การประกันความเสี่ยง หรือที่เรียกกันว่า Hedging จึงเป็นที่นิยมทำกันในหมู่นักการเงิน โดยการทำ Hedging ของอัตราแลกเปลี่ยน คือการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ โดยทำการ Lock อัตราซื้อขายล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดส่วนได้ส่วนเสีย จากการถือครองเงินสกุลในประเทศ หรือเงินสกุลต่างประเทศ ภายในช่วงระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา

 

จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงความเสี่ยงส่วนหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในฝั่งสินทรัพย์ สำหรับความเสี่ยงในทางหนี้สินนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจที่ทำ ถ้าบริษัทเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องไปกู้ยืมหรือไม่ต้องมีพันธะสัญญาระยะยาวกับลูกค้าแล้วก็คงไม่ต้องเป็นกังวลกับการจัดการความเสี่ยงทางด้านหนี้สินมากนัก แต่ถ้าบริษัทเป็นสถาบันการเงินและได้ทำธุรกิจที่ต้องมีพันธะสัญญากับลูกค้า (อย่างเช่นธนาคารหรือบริษัทประกันภัย) แล้วก็คงจะหนีไม่พ้นกับการที่จะต้องจัดการความเสี่ยงทางฝั่งหนี้สินไปพร้อมๆ กันกับความเสี่ยงทางฝั่งสินทรัพย์ไปด้วย

 

สามารถหาซื้อหนังสือ “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ “ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ  โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ

 

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) ตอนที่ 3 (ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน)


ALM นั้นสามารถทำได้หลายวิธี โดยเราจะรวมการวิเคราะห์และจัดเก็บข้อมูลความเสี่ยงของธุรกิจทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคเข้าด้วยกัน ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงความเสี่ยงทางฝั่งสินทรัพย์แล้วก็คงไม่พ้นความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ (Fixed Income) หรือตราสารทุน (Equity) ก็จะต้องคำนึงถึงเรื่องการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินทั้งนั้น โดยความเสี่ยงจากอัตราการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest rate risk) ที่มีต่องบดุล (Balance sheet) จะมีมากเป็นพิเศษสำหรับบริษัทประกันภัยที่มีมูลค่าของหนี้สินที่ผันผวนกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดค่อนข้างมาก

 

ความเสี่ยง คือ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Volatility หรือ standard deviation) ของผลตอบแทนที่คาดหวัง (Expected return) เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงจากการลงทุน (Investment risk) ก็คืออะไรก็ตามที่ทำให้ผลตอบแทนที่คาดหวัง (Expected return) ของสิ่งที่ไปลงทุนมีความไม่แน่นอน

 

ความเสี่ยงจากการลงทุนที่เกิดขึ้นทางฝั่งสินทรัพย์สามารถจำแนกเป็นหมวดใหญ่ๆ ได้ดังนี้

1.               ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้ (Fixed Income)

2.               ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารทุน (Equity)

3.               ความเสี่ยงจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Property)

4.               ความเสี่ยงจากการลงทุนในสินค้า (Commodity)

5.               ความเสี่ยงจากการลงทุนในเงินสกุลอื่น (Currency)

 

1.               ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้ (Fixed Income)

 

ตราสารหนี้ (Fixed Income) คือ ตราสารการเงินที่มีอายุการลงทุนมากกว่า 1 ปี โดยมีผลตอบแทนคงที่ตามที่ระบุเอาไว้ในสัญญา ยกตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล (Government bond) พันธบัตรที่ออกโดยบริษัทเอกชน (Corporate bond) หรือ หุ้นกู้ (Debenture) เป็นต้น

 

กรมธรรม์ประกันภัยจะต้องมีการกำหนดผลตอบแทนที่ระบุลงไปในสัญญากรมธรรม์ บริษัทประกันภัยจึงนิยมลงทุนเบี้ยประกันภัยที่รับเข้ามาลงไปในตราสารหนี้ (Fixed Income) ให้มากที่สุดเพื่อที่จะได้ทำการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยเฉพาะความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยได้

 

นอกจากความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest rate risk) แล้วก็ยังมีความเสี่ยงที่แฝงตัวอยู่อีกมากมาย เช่น Reinvestment risk, Prepayment risk, Credit risk, Liquidity risk, Yield curve risk, Volatility risk, Inflation risk, Political risk, Event risk, และอื่นๆ เป็นต้น

 

2.               ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารทุน (Equity)

 

ตราสารทุน (Equity) คือ ตราสารการเงินที่ผู้ซื้อมีส่วนของความเป็นเจ้าของกับสินทรัพย์นั้น ซึ่งก็หมายความว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจการและร่วมได้ร่วมเสียกับผลประกอบการของบริษัททั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น หุ้น (Common stock) เป็นต้น แต่สิ่งที่แตกต่างกันสำหรับคนที่ซื้อหุ้นกับการเป็นเจ้าของกิจการเองก็คือ คนซื้อหุ้นหรือตราสารทุนนั้นสามารถหลีกเลี่ยงจากสภาวะล้มละลายได้ เพราะถ้ากิจการประสบผลการขาดทุนอย่างหนักจนสูญเสียความสามารถในการชำระหนี้ได้ในอนาคตไปแล้ว กระดาษที่ซื้อไว้แผ่นนั้นก็จะมีมูลค่าเหลือเท่ากับศูนย์บาทแล้วก็แยกย้ายกันไป แต่ถ้าเป็นเจ้าของกิจการเองแล้วก็จะต้องถูกศาลสั่งให้อยู่ในสภาวะล้มละลายและจะต้องไปขายทรัพย์สินส่วนตัวมาชำระหนี้คืนให้ได้ทั้งหมด

 

ความเสี่ยงจากตราสารทุนที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาของตราสารทุนในตลาด อย่างที่คนทั่วไปจะเห็นก็คือการแกว่งตัวขึ้นลงของหุ้นนั่นเอง ในภาษาของนักจัดการความเสี่ยงจะเรียกว่า Market Risk ซึ่งก็คือความเสี่ยงที่ราคาตลาดของกระดาษที่ถือไว้อยู่จะมีมูลค่าเปลี่ยนไป

 

ผมได้รวบรวมประสบการณ์ในการจัดการบริหารความเสี่ยงและเขียนออกมาเป็นหนังสือ และถึงแม้ว่าเนื้อหาจะออกแนววิชาการ แต่ได้เขียนให้อ่านเข้าใจง่าย ไม่เป็นวิชาการมากเกินไป จึงเหมาะกับบุคคลทั่วไปที่สนใจในการบริหารความเสี่ยง นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ ยังได้แนะแนวเทคนิคการลงทุน ซึ่งแสดงถึงข้อดีและข้อเสียของความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ไว้ อีกด้วย

 

สามารถหาซื้อหนังสือ “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ “ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ  โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ

 

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) – ตอนที่ 2 (จะดีแค่ไหน ถ้าจัดการความเสี่ยงให้ทำเงินได้)



เนื่องจากหนังสือตามท้องตลาดในปัจจุบันจะเป็นหนังสือประเภทเน้นการลงทุนและเน้นเรื่องผลตอบแทนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ทอง ที่ดิน หรือการสร้างธุรกิจในออนไลน์ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือการที่ทุกคนมองเห็นแต่เพียงผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้รับ โดยลืมไปว่าทุกสิ่งอย่างนั้นมีความเสี่ยงแฝงตัวอยู่ เมื่อมองดูรอบๆ ตัวแล้ว เราจะเห็นว่า บทความหรือความรู้ทางด้านการจัดการความเสี่ยงนั้นยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายหรือเข้าใจในบรรดาผู้บริหารหรือนักลงทุนประเทศไทยเท่าใดนัก

 

Asset Liability Management หรือที่นักการเงินมักจะใช้ตัวย่อว่า “ALM” นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับผู้ดำเนินธุรกิจและนักลงทุนทั่วไปให้คงอยู่ได้ในโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

 

ความรู้ในด้านการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน (ALM) จึงเป็นเทคนิคเพื่อใช้สำหรับการจัดการความเสี่ยงในการบริหารงานและการลงทุนทุกประเภท เนื่องจากไม่มีธุรกิจและการลงทุนใดที่ไร้ซึ่งความเสี่ยง มีแค่ว่าจะเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยก็เท่านั้น ซึ่งการประเมินผลประกอบการและราคาหุ้นในสมัยนี้ควรจะรวมต้นทุนของการจัดการความเสี่ยงเหล่านี้เข้าไปด้วย

จะเห็นว่าในทางธุรกิจนั้น สินทรัพย์ (Asset) คือ สิ่งที่มีมูลค่าเป็นตัวเงินที่มีอยู่ในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้ก็ตาม

ส่วนหนี้สิน (Liability) ในทางธุรกิจนั้น คือ มูลค่าของการมีพันธะ (Obligation) หรือภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายคืนให้เจ้าหนี้ในอนาคต

ถ้าเข้าใจธุรกิจเพียงด้านสินทรัพย์ (Asset) หรือด้านหนี้สิน (Liability) เพียงด้านใดด้านหนึ่งก็เท่ากับก้าวเท้าข้างหนึ่งไปสู่ความล้มเหลวในการทำธุรกิจ ซึ่งการไม่รู้หรือไม่เข้าใจอะไรเลยก็อาจจะเป็นการดีกว่าการรู้อะไรเพียงครึ่งหนึ่งก็ได้ เพราะการรู้เพียงครึ่งหนึ่งอาจจะทำให้การวางกลยุทธ์ของธุรกิจที่วางไว้ผิดเพี้ยนไปอย่างที่ไม่สามารถกลับมาแก้ไขสถานการณ์อีกได้

 

ทั้งนี้เป็นเพราะการที่มีสินทรัพย์ (Asset) มากก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจนั้นจะมีกำไรมากหรือประสบความสำเร็จ ในทางกลับกันการที่ถือสินทรัพย์ (Asset) ไว้มากเกินความจำเป็นจะทำให้เกิดต้นทุนของความเสี่ยงที่ตามมาได้

 

การที่จะบริหารธุรกิจให้ลึกซึ้งได้นั้น จะต้องมองให้เห็นถึงวิธีการจัดการสินทรัพย์ (Asset) และหนี้สิน (Liability) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งการเห็นเพียงแค่ภาพของสินทรัพย์ (Asset) และหนี้สิน (Liability) จากงบการเงิน (Financial Statement) เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถจะบอกอะไรได้ทั้งหมด ผู้บริหารจึงจำเป็นจะต้องรู้ถึงความเสี่ยงหรือการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นกับสินทรัพย์ (Asset) และหนี้สิน (Liability) ในอนาคตให้ได้ด้วย

 

เรียกได้ว่าหัวใจของการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) คือการบริหารเงินส่วนเกินของสินทรัพย์ (Asset) ที่มีค่ามากกว่าหนี้สิน (Liability) โดยตั้งอยู่บนความเสี่ยงที่รับได้ ซึ่งเงินส่วนเกินของสินทรัพย์ (Asset) ที่มีค่ามากกว่าหนี้สิน (Liability) นั้นจะเรียกกันว่า ส่วนของเจ้าของ ส่วนของผู้ถือหุ้น หรือเงินทุน ก็ว่าได้

 

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) จึงเป็นการจัดการเงินลงทุนของเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นนั้นให้มีภูมิคุ้มกันกับความเสี่ยงที่เข้ามาก่อกวนให้สินทรัพย์และหนี้สินเกิดความผันผวนโดยไม่จำเป็น

 

ทุกคนที่จะเข้ามาบริหารธุรกิจที่เกี่ยวกับการเงิน จึงต้องรู้ถึงความสำคัญในเรื่องการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) ตลอดจนพื้นฐานของความเข้าใจในด้านการจัดการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจและการลงทุนเบื้องต้น

 

การจัดการความเสี่ยงในการบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินขององค์กร จึงมีไว้เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบกับผลประกอบการของบริษัทได้ อีกทั้งยังสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับการบริหารความเสี่ยงอื่นๆ ได้ และการรู้เท่าทันความเสี่ยงทางด้านการเงิน (Financial Risk Management) จึงมีความสำคัญต่อการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินทั่วไปที่มีหนี้สินระยะยาว (Long term liability) และมีมูลค่าที่ผันผวนกับสภาพอัตราดอกเบี้ยในตลาดได้ง่าย

 

ผมได้รวบรวมประสบการณ์ตรงในการจัดการบริหารความเสี่ยงและกลั่นออกมาเป็นหนังสือ และถึงแม้ว่าเนื้อหาจะออกแนววิชาการ แต่ได้เขียนให้อ่านเข้าใจง่าย ไม่เป็นวิชาการมากเกินไป จึงเหมาะกับบุคคลทั่วไปที่สนใจในการบริหารความเสี่ยง นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ ยังได้แนะแนวเทคนิคการลงทุน ซึ่งแสดงถึงข้อดีและข้อเสียของความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ไว้ อีกด้วย

 

สามารถหาซื้อหนังสือ “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ “ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ  โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ

 

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

 

 

วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) – ตอนที่ 1 (ความสำคัญของการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน)


 

ธุรกิจประกันภัยนั้นคือธุรกิจที่บริหารความเสี่ยง (Risk Management) ซึ่งหัวใจของธุรกิจนี้จะอยู่ที่ “การจัดการความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Risk Management)” ของบริษัทประกันภัยเป็นหลัก โดยสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษก็คือการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) นั่นเอง

 

ไม่แน่ใจว่าเคยได้ยินตัวอักษรสามตัวที่เขียนว่า “ALM” กันมาก่อนหรือไม่ แต่คำๆ นี้เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการการเงิน นั่นก็เพราะว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ (Asset) และหนี้สิน (Liability) นั่นเอง ซึ่งวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งบริษัทโดยส่วนใหญ่นั้นก็ทำธุรกิจเพื่อที่จะมีสินทรัพย์ (Asset) ให้มากกว่าหนี้สิน (Liability) เท่าที่จะมากได้ และนั่นก็หมายถึงการทำให้มีส่วนของผู้ถือหุ้นมากเข้าไว้เท่านั้นเอง (Maximize the Equity)

 

ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) = สินทรัพย์ (Asset) – หนี้สิน (Liability)

 


 

ทีนี้ถ้าเราแปลกันตรงตัวของคำว่า Asset Liability Management ก็จะหมายความว่าการจัดการสินทรัพย์กับหนี้สิน แต่ในที่นี้จะเป็นการบริหารจัดการ“ความสัมพันธ์” ของสินทรัพย์กับหนี้สินซะมากกว่า และตัวย่อของคำนี้ก็คือ ALM ซึ่งมีการจัดสอนกันจนเป็นหนึ่งในวิชายอดฮิตของแอคชัวรีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยกันเลยทีเดียว

 

การทำ ALM นั้นก็ยิ่งมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นภายในกรอบของ RBC (Risk Based Capital)

 

ALM มีความสำคัญกับทุกวงการครับ และยิ่งมีความสำคัญมาก จนถึงขั้นมากที่สุดในวงการประกันภัย เพราะถ้าคร่ำหวอดอยู่กับวงการมานาน จะรู้ว่าบริษัทประกันภัยหลายแห่งในโลกนั้นได้ปิดกิจการหรือล้มละลายก็เพราะว่าทำ ALM ได้ไม่รัดกุมเพียงพอ และการทำ ALM นั้นก็ยิ่งมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นภายในกรอบของ RBC (Risk Based Capital) ที่ถูกกำหนดให้นำมาใช้ เรียกได้ว่าถ้าทำ ALM ได้ไม่ดีก็จะส่งผลให้บริษัทต้องถือ “มูลค่าเงินกองทุนขั้นต่ำ” ที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่งผลให้คนที่ทำ RBC หนาวกันไปตามๆ กัน

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินของธุรกิจประกันภัย เพราะบริษัทประกันภัยเมื่อเก็บเบี้ยประกันมาจากลูกค้าแล้ว ก็คงจะไม่เก็บใส่ตุ่มเอาไว้เฉยๆ แต่บริษัทจะเอาเงินเหล่านั้นไปลงทุนให้มีผลงอกเงยขึ้นมา เบี้ยประกันและดอกเบี้ยที่ได้จากการลงทุนเหล่านั้นก็จะกลายเป็นสินทรัพย์ของบริษัทนั่นเอง และสินทรัพย์เหล่านี้จะถูกนำไปจ่ายค่าสินไหมทดแทน (claim) ให้กับลูกค้าเมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ซึ่งค่าสินไหมเหล่านี้ก็คือหนี้สิน (Liability) ที่บริษัทต้องตั้งเอาไว้นั่นเอง

 

บริษัทประกันภัยจึงต้องแน่ใจว่าสินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่นั้นจะสามารถนำออกมาจ่ายเป็นเงินเมื่อยามที่บริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับลูกค้า ซึ่งนั่นก็หมายความว่าสินทรัพย์จะต้องประคองหนี้สินที่บริษัทมีอยู่ได้ ในทางปฏิบัติแล้วเราจะต้องจับกระแสเงินสดที่จะไหลออกมาจากสินทรัพย์ให้เข้าคู่กับกระแสเงินสดของหนี้สินที่จะไหลออกในแต่ละช่วงระยะเวลาให้ดี (Matching Asset with Liability) และสำหรับการประกันภัยแล้ว การจะรู้ว่าจะต้องจ่ายเงินออกในช่วงไหนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยทีเดียว แอคชัวรีจะต้องอาศัยทฤษฎีความน่าจะเป็นและสถิติประยุกต์เข้ามาช่วยจัดการในเรื่องนี้

 

ความรู้ในด้านการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน (ALM) จึงเป็นเทคนิคเพื่อใช้สำหรับการจัดการความเสี่ยงในการบริหารงานและการลงทุนทุกประเภท เนื่องจากไม่มีธุรกิจและการลงทุนใดที่ไร้ซึ่งความเสี่ยง มีแค่ว่าจะเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยก็เท่านั้น ซึ่งการประเมินผลประกอบการและราคาหุ้นในสมัยนี้ควรจะรวมต้นทุนของการจัดการความเสี่ยงเหล่านี้เข้าไปด้วย

 

ถ้าท่านใดมีข้อสงสัย ต้องการให้คำแนะนำติชม หรือมีหัวข้อน่าสนใจที่อยากให้เขียนลงในคอลัมน์นี้ สามารถส่งมาได้ที่ tommy.pichet@gmail.com

 

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

 

 

 

วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ภาพรวมของธุรกิจประกันวินาศภัย


ปกติแล้ว เราจะเรียกประกันภัยที่เกี่ยวกับสิ่งของว่า “การประกันวินาศภัย” ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว เราสามารถแบ่งออกได้ตามสิ่งของที่ประกัน เช่น รถ เรือ บ้าน หรือแม้แต่ลักษณะของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว อันเป็นเหตุทำให้เกิดความเสียหายกับสิ่งของ เป็นต้น ถ้าจะกล่าวเป็นภาษาทางการ เราจะบอกว่าประกันวินาศภัยคือ การที่ผู้รับประกันภัยทำสัญญายินยอมที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือชดใช้เงินจำนวนหนึ่งในกรณีที่เกิดความเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั่นเอง 

 
ช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นจะต่างจากของธุรกิจประกันชีวิตตรงที่ ธุรกิจประกันวินาศภัยจะขายผ่านโบรกเกอร์ถึงประมาณ 50% ส่วนช่องทางหลักๆ ที่เหลือจะเป็นตัวแทน ธนาคาร และขายตรงอย่างละประมาณ 12%
 

สำหรับประเทศไทยนั้น เราได้แบ่งธุรกิจประกันวินาศภัยออกเป็น 4 หมวด ดังนี้

1.               การประกันภัยรถยนต์

2.               การประกันภัยอัคคีภัย

3.               การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง

4.               การประกันภัยเบ็ดเตล็ด
 

การประกันภัยรถยนต์

เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายบังคับให้ทุกคนที่มีรถยนต์จะต้องมีประกันรถยนต์ด้วย จึงแบ่งการประกันรถยนต์ออกเป็นภาคบังคับและภาคสมัครใจ  โดยในรอบปี 2555 นั้น ภาคบังคับมีเบี้ยประกันภัยรับถึงประมาณ 13,000 ล้านบาท และภาคสมัครใจมีเบี้ยประกันภัยรับถึงประมาณ 90,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นหมวดที่มีความสำคัญมากที่สุดในธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทยเรา
 

การประกันภัยอัคคีภัย

การประกันอัคคีภัยนั้นเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่าการประกันไฟ  ซึ่งก็มีแรงดีดตัวให้เติบโตเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยในรอบปี 2555 นี้ก็เกือบโตมาในอัตรา 26% ทำให้เบี้ยประกันภัยรับสูงเกือบถึง 10,000 ล้านบาทแล้ว

 
การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง

การประกันภัยประเภทนี้ คือ การประกันความเสียหายแก่เรือและทรัพย์สินหรือสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ทางทะเลแต่เพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงการขนส่งอื่นๆ เช่น ทางอากาศและทางบกที่ต่อเนื่องกับขนส่งทางทะเลด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัยในตัวเรือเอง หรือประกันภัยสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเลก็ตาม โดยเบี้ยรับประกันภัยในส่วนนี้มีประมาณ 5,000 ล้านบาทในรอบปี 2555

 
การประกันภัยเบ็ดเตล็ด

การประกันภัยเบ็ดเตล็ด คือการประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากอุบัติเหตุ หรือเกิดจากเหตุที่มิได้คาดหมายไว้ ซึ่งอยู่นอกเหนือความคุ้มครองจากการการประกันภัยรถยนต์ การประกันภัยอัคคีภัย หรือการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง โดยการประกันภัยเบ็ดเตล็ดที่มีอยู่ในประเทศไทยตอนนี้มีหลายชนิด และมีขายอยู่ในธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทยถึงมากกว่า 41 ประเภท เช่น การประกันภัยความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก หรือการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ก็จัดอยู่ในหมวดเบ็ดเตล็ด เป็นต้น และเป็นที่น่าจับตามองว่าสินค้าในหมวดนี้ได้เติบโตอย่างรวดเร็วมากกว่าหมวดอื่นๆ โดยในรอบปี 2555 ที่ผ่านมานั้น สินค้าในหมวดนี้โตถึง 38% และมีเบี้ยประกันภัยรับถึงมากกว่า 60,000 ล้านบาทแล้ว
 

โดยภาพรวมแล้วธุรกิจประกันวินาศภัยนั้นคงจะมียอดขายทะลุ 2 แสนล้านบาทต่อปีเป็นแน่ เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้เป็นฟันเฟืองที่ช่วยให้การดำเนินธุรกิจขับเคลื่อนไปได้ถึงเป้าหมาย รวมถึงทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปได้อย่างราบรื่นในวันที่เกิดเหตุที่คาดไม่ถึง

 
สิ่งที่เป็นจุดเด่นของธุรกิจประกันวินาศภัยคือสินค้าส่วนใหญ่เป็นการขายแบบปีต่อปี หมายถึงสินค้าจะหมดอายุภายใน 1 ปี จึงทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายกว่าการซื้อประกันชีวิตบางประเภท อีกทั้งผู้ซื้อสามารถมีประสบการณ์จากการใช้สินค้าของธุรกิจประกันวินาศภัยมากกว่าสินค้าของธุรกิจประกันชีวิตที่บางครั้งไม่ได้มีประสบการณ์จากการใช้เพราะแบบประกันบางประเภทจะต้องรอให้เสียชีวิตก่อนถึงจะได้เงินคืนก็มี

 
·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]