วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) – ตอนที่ 2 (จะดีแค่ไหน ถ้าจัดการความเสี่ยงให้ทำเงินได้)



เนื่องจากหนังสือตามท้องตลาดในปัจจุบันจะเป็นหนังสือประเภทเน้นการลงทุนและเน้นเรื่องผลตอบแทนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ทอง ที่ดิน หรือการสร้างธุรกิจในออนไลน์ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือการที่ทุกคนมองเห็นแต่เพียงผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้รับ โดยลืมไปว่าทุกสิ่งอย่างนั้นมีความเสี่ยงแฝงตัวอยู่ เมื่อมองดูรอบๆ ตัวแล้ว เราจะเห็นว่า บทความหรือความรู้ทางด้านการจัดการความเสี่ยงนั้นยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายหรือเข้าใจในบรรดาผู้บริหารหรือนักลงทุนประเทศไทยเท่าใดนัก

 

Asset Liability Management หรือที่นักการเงินมักจะใช้ตัวย่อว่า “ALM” นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับผู้ดำเนินธุรกิจและนักลงทุนทั่วไปให้คงอยู่ได้ในโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

 

ความรู้ในด้านการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน (ALM) จึงเป็นเทคนิคเพื่อใช้สำหรับการจัดการความเสี่ยงในการบริหารงานและการลงทุนทุกประเภท เนื่องจากไม่มีธุรกิจและการลงทุนใดที่ไร้ซึ่งความเสี่ยง มีแค่ว่าจะเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยก็เท่านั้น ซึ่งการประเมินผลประกอบการและราคาหุ้นในสมัยนี้ควรจะรวมต้นทุนของการจัดการความเสี่ยงเหล่านี้เข้าไปด้วย

จะเห็นว่าในทางธุรกิจนั้น สินทรัพย์ (Asset) คือ สิ่งที่มีมูลค่าเป็นตัวเงินที่มีอยู่ในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้ก็ตาม

ส่วนหนี้สิน (Liability) ในทางธุรกิจนั้น คือ มูลค่าของการมีพันธะ (Obligation) หรือภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายคืนให้เจ้าหนี้ในอนาคต

ถ้าเข้าใจธุรกิจเพียงด้านสินทรัพย์ (Asset) หรือด้านหนี้สิน (Liability) เพียงด้านใดด้านหนึ่งก็เท่ากับก้าวเท้าข้างหนึ่งไปสู่ความล้มเหลวในการทำธุรกิจ ซึ่งการไม่รู้หรือไม่เข้าใจอะไรเลยก็อาจจะเป็นการดีกว่าการรู้อะไรเพียงครึ่งหนึ่งก็ได้ เพราะการรู้เพียงครึ่งหนึ่งอาจจะทำให้การวางกลยุทธ์ของธุรกิจที่วางไว้ผิดเพี้ยนไปอย่างที่ไม่สามารถกลับมาแก้ไขสถานการณ์อีกได้

 

ทั้งนี้เป็นเพราะการที่มีสินทรัพย์ (Asset) มากก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจนั้นจะมีกำไรมากหรือประสบความสำเร็จ ในทางกลับกันการที่ถือสินทรัพย์ (Asset) ไว้มากเกินความจำเป็นจะทำให้เกิดต้นทุนของความเสี่ยงที่ตามมาได้

 

การที่จะบริหารธุรกิจให้ลึกซึ้งได้นั้น จะต้องมองให้เห็นถึงวิธีการจัดการสินทรัพย์ (Asset) และหนี้สิน (Liability) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งการเห็นเพียงแค่ภาพของสินทรัพย์ (Asset) และหนี้สิน (Liability) จากงบการเงิน (Financial Statement) เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถจะบอกอะไรได้ทั้งหมด ผู้บริหารจึงจำเป็นจะต้องรู้ถึงความเสี่ยงหรือการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นกับสินทรัพย์ (Asset) และหนี้สิน (Liability) ในอนาคตให้ได้ด้วย

 

เรียกได้ว่าหัวใจของการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) คือการบริหารเงินส่วนเกินของสินทรัพย์ (Asset) ที่มีค่ามากกว่าหนี้สิน (Liability) โดยตั้งอยู่บนความเสี่ยงที่รับได้ ซึ่งเงินส่วนเกินของสินทรัพย์ (Asset) ที่มีค่ามากกว่าหนี้สิน (Liability) นั้นจะเรียกกันว่า ส่วนของเจ้าของ ส่วนของผู้ถือหุ้น หรือเงินทุน ก็ว่าได้

 

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) จึงเป็นการจัดการเงินลงทุนของเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นนั้นให้มีภูมิคุ้มกันกับความเสี่ยงที่เข้ามาก่อกวนให้สินทรัพย์และหนี้สินเกิดความผันผวนโดยไม่จำเป็น

 

ทุกคนที่จะเข้ามาบริหารธุรกิจที่เกี่ยวกับการเงิน จึงต้องรู้ถึงความสำคัญในเรื่องการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) ตลอดจนพื้นฐานของความเข้าใจในด้านการจัดการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจและการลงทุนเบื้องต้น

 

การจัดการความเสี่ยงในการบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินขององค์กร จึงมีไว้เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบกับผลประกอบการของบริษัทได้ อีกทั้งยังสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับการบริหารความเสี่ยงอื่นๆ ได้ และการรู้เท่าทันความเสี่ยงทางด้านการเงิน (Financial Risk Management) จึงมีความสำคัญต่อการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินทั่วไปที่มีหนี้สินระยะยาว (Long term liability) และมีมูลค่าที่ผันผวนกับสภาพอัตราดอกเบี้ยในตลาดได้ง่าย

 

ผมได้รวบรวมประสบการณ์ตรงในการจัดการบริหารความเสี่ยงและกลั่นออกมาเป็นหนังสือ และถึงแม้ว่าเนื้อหาจะออกแนววิชาการ แต่ได้เขียนให้อ่านเข้าใจง่าย ไม่เป็นวิชาการมากเกินไป จึงเหมาะกับบุคคลทั่วไปที่สนใจในการบริหารความเสี่ยง นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ ยังได้แนะแนวเทคนิคการลงทุน ซึ่งแสดงถึงข้อดีและข้อเสียของความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ไว้ อีกด้วย

 

สามารถหาซื้อหนังสือ “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ “ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ  โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ

 

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น