วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) – ตอนที่ 6 (เทคนิคการจับคู่)


จะเห็นว่าในทางธุรกิจนั้น สินทรัพย์ (Asset) คือ สิ่งที่มีมูลค่าเป็นตัวเงินที่มีอยู่ในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้หรือจับต้องไม่ได้ก็ตาม ส่วนหนี้สิน (Liability) ในทางธุรกิจนั้น คือ มูลค่าของการมีพันธะ (Obligation) หรือภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายคืนให้เจ้าหนี้ในอนาคต

สมมติว่า เราสามารถรู้ว่าจะต้องมีหนี้สินที่จะต้องจ่ายออกไปเท่าไรในแต่ละช่วงเวลาแล้ว หน้าที่ที่เหลือของเราก็คือการเลือกสรรสินทรัพย์ให้เข้าคู่ (Matching) กับหนี้สินที่เรามีให้ได้เท่านั้นเอง

 

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินเบื้องต้น เทคนิคการจับคู่ (Exact Matching)

เราจะมาลองดูตัวอย่างง่ายๆ ของการทำ Asset Liability Management (ALM) กันก่อน โดยจะสมมติว่าจะต้องจ่ายหนี้สินออกไปในปลายปีหน้า (ปลายปีที่ 1) เท่ากับ 20,000 บาท และอีกครั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปลายปีที่ 2) เป็นเงิน 10,000 บาท

 

หน้าที่หลักของการทำ ALM ในตัวอย่างนี้ก็คือการหาสินทรัพย์มาเข้าคู่ให้ได้ และถ้าเราเลือกได้สินทรัพย์ชิ้นแรกที่จะซื้อก็ควรจะมีอายุ 1 ปีและจ่ายเงินก้อนคืนให้ตอนสิ้นปีเท่ากับ 20,000 บาท ส่วนสินทรัพย์ก้อนที่ 2 ก็จะมีอายุ 2 ปีและจ่ายเงินก้อนคืนให้ในอีก 2 ปีข้างหน้าเท่ากับ 10,000 บาท จะเห็นได้ว่าเงินคืนของสินทรัพย์แต่ละก้อนนั้นสามารถเอามาใช้หนี้ในปีที่ 1 และ 2 ได้พอดี

 


 

 

หลายคนคงจะคิดว่าสินทรัพย์แบบที่ง่ายที่สุดก็คือการเอาเงินทั้งหมดไปฝากไว้ในธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ยและพอถึงเวลาที่ต้องจ่ายหนี้สินก็เบิกเงินออกมาจากธนาคารก็สิ้นเรื่อง แต่ในชีวิตจริงคงจะไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารนั้นได้น้อยกว่าสินทรัพย์แบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรหรือหุ้นอยู่มาก การเอาเงินทั้งหมดที่มีอยู่ไปฝากไว้กับธนาคารจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในการจัดการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management)

 

ส่วนสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีให้เราเลือกในตลาดการเงินนั้นคงจะหาแบบที่โชคดีและสามารถจับคู่ได้กับหนี้สินของเราได้พอดี นั้นคงจะยาก ดังนั้นจึงต้องทำการเอาสินทรัพย์หลายๆ ตัวมาประกอบกันเข้าเหมือนจิ๊กซอร์แล้วหาทางทำให้มันเข้าคู่กับหนี้สินได้มากที่สุด

 

เคล็ดลับในการทำ Asset Liability Management ในที่นี้ก็คือให้จับคู่กระแสเงินสดที่ไกลออกไปที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อน และค่อยๆ จับคู่กระแสเงินสดที่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ โดย

1) เลือกสินทรัพย์ที่จ่ายเงินคืนในปีสุดท้ายให้ตรงกับปีที่ต้องจ่ายหนี้สินเป็นปีสุดท้ายซึ่งเป็นปีที่ไกลออกไปที่สุด

2) ปรับขนาดสัดส่วนของสินทรัพย์ชิ้นนั้นเพื่อให้ขนาดของเงินที่ได้คืนนั้นเท่ากับขนาดของเงินที่จะต้องจ่ายหนี้สินออกไป

3) ทำซ้ำๆ ระหว่างข้อ 1) และ 2) โดยเลือกสินทรัพย์ตัวถัดไปที่จ่ายเงินคืนในเวลาที่ใกล้เข้ามา และปรับขนาดสัดส่วนของสินทรัพย์นั้นเพื่อจับคู่กับหนี้สินลงมาเรื่อยๆ

 

การจะจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ได้นั้นต้องทำวิธีการ Exact matching คือทำให้กระแสเงินสดทั้งฝั่งที่จะได้เงิน (สินทรัพย์) และเสียเงิน (หนี้สิน) ให้มีค่าออกมาเท่ากันทุกครั้งไป

 

ตัวอย่างเบื้องต้นสำหรับการจ่ายหนี้สินออกไปรอบแรกในปลายปีหน้า (ปลายปีที่ 1) เท่ากับ 20,000 บาท และรอบที่ 2 ในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปลายปีที่ 2) เป็นเงิน 10,000 บาท
 
สมมติว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ในตลาดนั้นมีอยู่ 2 อย่าง
1)              พันธบัตร A ที่จ่ายเงินคืนในปีที่ 1 เท่ากับ 10000 บาท
2)              พันธบัตร B ที่จ่ายเงินคืนในปีที่ 2 เท่ากับ 10000 บาท
 
การทำ ALM ในที่นี้ก็คือการซื้อพันธบัตร A เป็นจำนวน 2 หน่วย และซื้อพันธบัตร B เป็นจำนวน 1 หน่วย
 

 

 

ผมได้รวบรวมประสบการณ์ตรงในการจัดการบริหารความเสี่ยงและเขียนออกมาเป็นหนังสือ และถึงแม้ว่าเนื้อหาจะออกแนววิชาการ แต่ได้เขียนให้อ่านเข้าใจง่าย ไม่เป็นวิชาการมากเกินไป จึงเหมาะกับบุคคลทั่วไปที่สนใจในการบริหารความเสี่ยง นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ ยังได้แนะแนวเทคนิคการลงทุน ซึ่งแสดงถึงข้อดีและข้อเสียของความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ไว้ อีกด้วย

 

สามารถหาซื้อหนังสือ “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ “ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ  โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ

 

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น