วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) – ตอนที่ 7 (ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย)



การจะจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ได้นั้นต้องทำวิธีการ Exact matching คือทำให้กระแสเงินสดทั้งฝั่งที่จะได้เงิน (สินทรัพย์) และเสียเงิน (หนี้สิน) ให้มีค่าออกมาเท่ากันทุกครั้งไปซึ่งนั่นก็คงทำได้แค่เพียงในทฤษฎีเท่านั้น เพราะในแต่ละบริษัทจะมีหนี้สินที่ต้องจ่ายออกหลายๆ ก้อนในแต่ละช่วงเวลาที่ต่างกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการจะเลือกจับคู่สินทรัพย์นั้นก็ไม่สามารถเลือกซื้อแบบที่ถูกใจชนิดที่ซื้อทีเดียวแล้วสามารถจับคู่กับหนี้สินในแต่ละงวดได้หมด

 

แต่ถ้าไม่ทำแล้ว ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมาจากการที่ไม่ได้จัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกวิธีก็คือ “ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest rate risk)”

 

Interest rate risk – ความเสี่ยงที่จัดการได้โดยการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management)

ในความเป็นจริงแล้ว การจะจับคู่สินทรัพย์และหนี้สินให้ได้แบบ Exact Matching นั้นจะซับซ้อนยุ่งยากมาก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกันภัยหรือสถาบันการเงินต่างๆ ก็จะมีการจ่ายหนี้สินออกเป็นพันๆ ครั้งในแต่ละช่วงเวลา และในขณะเดียวกันก็จะมีสินทรัพย์หรือหน่วยลงทุนต่างๆ ให้เลือกซื้อกันอีกนับไม่ถ้วน ซึ่งก็มีอยู่บ่อยครั้งที่บริษัทจำเป็นต้องขายสินทรัพย์ในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อมาจ่ายหนี้สินที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด จนเกิดความเสี่ยงที่เรียกว่า Interest rate risk

 

วัตถุประสงค์หลักของ ALM คือการจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการผันผวนของอัตราดอกเบี้ยจากการลงทุน ความเสี่ยงเหล่านี้เกิดขึ้นได้เนื่องมาจากมูลค่าของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์หรือหนี้สินนั้นจะเปลี่ยนไปเมื่อดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณมูลค่านั้นๆ ถูกเปลี่ยน กล่าวคือ “มูลค่าจะลดลงไปเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น และในทางกลับกัน มูลค่าจะสูงขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยถูกลดต่ำลงมา”

 

ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าของสินทรัพย์หรือหนี้สิน ต่างก็หนีไม่พ้นสัจธรรมของมูลค่าที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย

 

เราลองนึกตัวอย่างจากการซื้อพันธบัตรเก็บเอาไว้ ต่อมาวันหนึ่งดอกเบี้ยในตลาดเกิดสูงขึ้นทำให้มีคนแห่ไปซื้อพันธบัตรที่ออกใหม่ซึ่งก็ให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นด้วย ทีนี้พันธบัตรที่ซื้อเก็บเอาไว้ตอนแรกก็จะขายไม่ค่อยได้ราคา จนทำให้ต้องตัดราคาขายลงไปจึงจะทำให้ขายพันธบัตรตัวเก่าไปได้ นั่นก็หมายความว่า “มูลค่าของพันธบัตรที่เคยซื้อเก็บไว้ได้ลดลงเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น”

 

 

เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง

ทีนี้เมื่อเวลาที่อัตราดอกเบี้ยต่ำลงก็หมายความว่ามูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินต่างก็สูงขึ้น แต่จะสูงขึ้นเท่าไรนั้นต่างก็มีวิธีคำนวณที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแน่นอนว่ามูลค่าของทั้งสินทรัพย์และหนี้สินคงจะไม่ได้มีค่าสูงขึ้นมาเท่ากันแน่ๆ

1.               ถ้ามูลค่าของทางฝั่งสินทรัพย์มีการแกว่งสูงขึ้นมามากกว่ามูลค่าที่แกว่งขึ้นมาของทางฝั่งหนี้สินก็ดีไป

2.               แต่ถ้ามูลค่าของทางฝั่งหนี้สินมีการแกว่งสูงขึ้นมามากกว่ามูลค่าที่สูงขึ้นของทางฝั่งสินทรัพย์ ก็จะทำให้เกิดความเสียหายกับผลประกอบการได้

 

เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

เมื่อเวลาที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นก็หมายความว่ามูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินต่างก็ต่ำลง ซึ่งแน่นอนว่ามูลค่าของทั้งทางฝั่งสินทรัพย์และหนี้สินคงจะไม่ได้มีค่าลดลงมาเท่ากันแน่ๆ

1.               ถ้ามูลค่าของทางฝั่งสินทรัพย์มีการแกว่งลงมามากกว่ามูลค่าที่แกว่งลงมาของทางฝั่งหนี้สินก็จะทำให้เกิดความเสียหายกับผลประกอบการได้

2.               แต่ถ้ามูลค่าของทางฝั่งหนี้สินมีการแกว่งลงมามากกว่ามูลค่าที่แกว่งลงมาของทางฝั่งสินทรัพย์ก็แปลว่าเกิดส้มหล่นทำให้เราได้กำไรไป

 

จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำ ALM ก็คือการจัดการความเสี่ยงที่เรียกว่า Interest rate risk หรือความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยให้ได้ ซึ่งการจะจัดการได้นั้นก็จำเป็นจะต้องอาศัยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าตอนนี้สถานการณ์ของบริษัทและปัจจัยแวดล้อมภายนอกเป็นอย่างไร แนวทางในการจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ควรจะสื่อสารไปถึงผู้บริหารให้รับทราบเพื่อรองรับสถานการณ์ในวันที่เลวร้ายได้

 

สามารถหาซื้อหนังสือ “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ “ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ  โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ

 

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น