วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) ตอนที่ 5 (ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้)



การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) ที่ดีนั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจความเสี่ยงของเครื่องมือทางการเงินแต่ละชนิดให้ถ่องแท้เสียก่อน และเครื่องมือทางการเงินที่ควรจะให้ความสำคัญในการทำความเข้าใจเป็นอันดับแรกก็คือ ตราสารหนี้ หรือที่เรียกว่า Fixed Income

 

ตราสารหนี้ (Fixed Income) ถ้าจะให้แปลกันตามตัวก็คือตราสารหรือกระดาษที่ระบุถึงความเป็นหนี้ โดยฝ่ายที่ขายกระดาษออกไปแล้วรับเงินเข้ามาก็จะเป็นลูกหนี้ ส่วนฝ่ายที่ซื้อกระดาษแล้วจ่ายเงินออกไปก็จะกลายเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งคำว่า “หนี้ (Debt)” ในที่นี้จึงกลายเป็นสิ่งที่เป็นภาระผูกพัน (Obligation) ที่จะต้องใช้เงินคืนตามที่ระบุไว้ในสัญญา และนี่ก็เป็นที่มาของคำว่า Fixed Income ซึ่งก็หมายความว่า คนที่ซื้อกระดาษแผ่นนั้นไปจะสามารถคาดหวังรายได้ที่จะไหลเข้ามาได้อย่างคงที่ตามที่เขียนเอาไว้ในกระดาษ ตราสารหนี้ (Fixed Income) จึงจำเป็นจะต้องระบุสิ่งที่สำคัญเอาไว้ 2 อย่าง นั่นก็คือ 1) จะจ่ายเมื่อไร และ 2) จะจ่ายเท่าไร

 

ตราสารหนี้ (Fixed Income) จึงหมายถึงตราสารการเงินที่มีอายุการลงทุนมากกว่า 1 ปี โดยมีผลตอบแทนคงที่ตามที่ระบุเอาไว้ในสัญญา โดยปกติแล้ว เราจะเห็นตราสารหนี้ต่อไปนี้อยู่ในท้องตลาดของประเทศไทย

1.               พันธบัตรรัฐบาล (Government bond) คือ ตราสารหนี้ที่เป็นกระดาษและออกโดยรัฐบาล ซึ่งก็หมายถึงรัฐบาลเป็นลูกหนี้ และจะเป็นคนจ่ายเงินคืนให้ สิ่งที่ค้ำประกันว่ารัฐบาลจะไม่เบี้ยวแน่นอนก็คือ “ภาษีของประชาชน”นั่นเอง เพราะถ้ารัฐบาลมีเงินไม่พอจ่าย รัฐบาลก็สามารถเรียกเก็บภาษีเพิ่ม หรือไม่ก็ออกพันธบัตรรัฐบาลตัวใหม่ เพื่อเอาเงินของคนกลุ่มหนึ่ง (คนที่มาซื้อพันธบัตรใหม่) มาจ่ายเงินให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง (คนที่ซื้อพันธบัตรไปแล้วรอรับเงินคืน)  พันธบัตรรัฐบาล (Government bond) จึงถือเป็นตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด

2.               พันธบัตรที่ออกโดยบริษัทเอกชน (Corporate bond) ก็คือตราสารหนี้ที่เป็นกระดาษและออกโดยบริษัทเอกชน และมีการใช้สินทรัพย์ของบริษัทเอกชนนั้นๆ ในการค้ำประกัน ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าบริษัทที่ออกพันธบัตรนั้นไม่สามารถทำตามสัญญาที่ระบุไว้ในกระดาษได้ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินคืนไม่ตรงตามกำหนด หรือการจ่ายเงินคืนไม่ครบแล้ว เจ้าหนี้หรือผู้ซื้อพันธบัตรมีสิทธิ์เอาสินทรัพย์ที่ค้ำประกันไว้ไปขายทอดตลาดเพื่อเปลี่ยนมาเป็นเงินได้

3.               หุ้นกู้ (Debenture) ก็เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนเช่นกัน แต่ต่างกับ พันธบัตรที่ออกโดยบริษัทเอกชน (Corporate Bond) ก็ตรงที่หุ้นกู้จะไม่มีสินทรัพย์ที่ให้ไว้ค้ำประกัน ทำให้เวลาเกิดปัญหาแล้วอาจจะไม่ได้เงินคืน หรือถ้าได้ก็ต้องได้หลังจากที่บริษัทเอาเงินชดใช้คืนให้กับพันธบัตรที่ออกโดยบริษัทเอกชน (Corporate Bond) ไปหมดแล้ว หุ้นกู้ (debenture) จึงมีความเสี่ยงที่จะโดนเบี้ยวมากกว่า พันธบัตรที่ออกโดยบริษัทเอกชน (Corporate bond) ซึ่งรายละเอียดสามารถหาอ่านได้จาก Credit risk ที่จะกล่าวในบทถัดไป

 

ถ้าการลงทุนส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากตราสารหนี้ (Fixed Income) เราก็ควรทำความเข้าใจและเห็นความสำคัญของความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนประเภทนี้ ซึ่งความเสี่ยงที่จะกล่าวถึงทั้งหมดนี้จะมีความเสี่ยงถึง 12 ประเภทจากการลงทุนในตราสารหนี้ (Fixed Income)

 

บริษัทที่ลงทุนในตราสารหนี้ควรจะต้องเล็งเห็นความสำคัญของมัน โดยบริษัทประกันภัยจะเป็นกลุ่มที่ซื้อตราสารหนี้ในตลาดเป็นส่วนใหญ่ก็ว่าได้ เรียกว่ามีพันธบัตรออกมาขายเท่าไร บริษัทประกันภัยจะกวาดซื้อมาจนเกือบหมด และนั่นอาจจะเป็นเพราะความจำเป็นในการจัดการความเสี่ยงจากการลงทุนของบริษัทประกันภัยนั่นเอง

 

ผมได้รวบรวมประสบการณ์ในการจัดการบริหารความเสี่ยงและเขียนออกมาเป็นหนังสือ และถึงแม้ว่าเนื้อหาจะออกแนววิชาการ แต่ได้เขียนให้อ่านเข้าใจง่าย ไม่เป็นวิชาการมากเกินไป จึงเหมาะกับบุคคลทั่วไปที่สนใจในการบริหารความเสี่ยง นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ ยังได้แนะแนวเทคนิคการลงทุน ซึ่งแสดงถึงข้อดีและข้อเสียของความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ไว้ อีกด้วย

 

สามารถหาซื้อหนังสือ “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ “ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ  โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ

 

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น