วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน Insurance & Micro


คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน Insurance & Micro

“การประกันภัยรายย่อย” มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ไมโครอินชัวรันส์ (Micro insurance) โดยจากชื่อของมันนั้น เราสามารถแตกความหมายออกมาได้เป็นคำว่า Micro (รายย่อย) กับคำว่า Insurance (การประกันภัย)

  1. Insurance หรือการประกันภัยเป็นการบริหารความเสี่ยงอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งจะโอนความเสี่ยงของผู้ซื้อประกัน (เรียกว่าผู้เอาประกันภัย) ไปสู่ผู้ขายประกัน (ซึ่งก็คือบริษัทประกันภัย) โดยเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นบริษัทประกันภัยก็จะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา ทั้งนี้ก็เพื่อชดเชยความสูญเสียทางการเงินของผู้เอาประกันภัยนั่นเอง และโดยทั่วไปแล้ว เราสามารถบอกได้ว่า “การประกันภัย” คือการวางแผนทางการเงินชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นการวางแผนทางการเงินในสถานการณ์ที่เลวร้ายหรือเกิดความสูญเสียขึ้นกับคนที่ต้องการทำประกันภัย ภาครัฐจึงตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยของประชาชนในประเทศเป็นอย่างมาก เพราะนั่นหมายถึงฟันเฟืองเพื่อเสถียรภาพของสวัสดิการทางสังคมของประเทศ
  2. Micro หรือรายย่อย ในที่นี้หมายถึง ลูกค้ารายย่อย ซึ่งอาจจะไม่สามารถซื้อประกันภัยในท้องตลาดทั่วไปได้เนื่องจากลูกค้ารายย่อยเหล่านี้อาจจะมีกำลังซื้อไม่พอ หรือเรียกได้อีกนัยหนึ่งว่าลูกค้ารายย่อยในที่นี้ก็คือกลุ่มตลาดรากหญ้าที่ภาครัฐต้องการให้คนกลุ่มนี้มีสวัสดิการทางสังคมที่ดีพอผ่านการวางแผนทางการเงินเพื่อการจัดการความเสี่ยงที่ดี

ดังนั้น Micro insurance หรือ ประกันภัยรายย่อย จึงได้ออกแบบขึ้นมาเพื่อมีวัตถุประสงค์ให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเข้าไปสู่กลุ่มตลาดรากหญ้าได้ทั่วถึง และนี่เองที่เป็นที่ว่ามาทำไมหน่วยงานภาครัฐในแต่ละประเทศถึงมีนโยบายสนับสนุนให้ภาคธุรกิจนำแบบประกันภัยรายย่อยออกมาสู่ท้องตลาด เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการความเสี่ยงระดับครัวเรือนขึ้นในประเทศ

และสิ่งที่ทำให้ประกันภัยรายย่อยนั้นเข้าถึงลูกค้ารายย่อยได้ก็คือ “เบี้ยประกันภัยที่ถูก” เพื่อให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจกับแบบประกันภัยตัวนี้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า อุปสรรคหลักของการประกันภัยรายย่อยก็คือ “ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วย” และ “ค่าใช้จ่ายจากช่องทางการจัดจำหน่าย” นั่นเอง
  1. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยจะต้องต่ำมาก ซึ่งทำได้โดยการตัดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการดำเนินงานและออกแบบแบบประกันให้มีความง่ายไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งภาคธุรกิจจะต้องเน้นปริมาณยอดขายให้สูงมาก เพื่อคงค่าใช้จ่ายต่อหน่วยให้ต่ำไว้
  2. ค่าใช้จ่ายจากช่องทางการจัดจำหน่ายจะต้องต่ำมาก ซึ่งทำได้โดยเปลี่ยนกลยุทธ์จากการที่สินค้าประกันภัยนั้นต้องมีไว้ขาย ให้เป็นสินค้าประกันภัยที่ให้คนวิ่งเข้ามาซื้อ เพื่อจะลดต้นทุนในการทำธุรกิจและสรรหาช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม

สำหรับแบบประกันไมโครอินชัวรันส์ของประเทศไทยที่กำลังจะคลอดออกมานั้น ในเบื้องต้น เบี้ยประกันจะอยู่ที่ 200 บาท มีความคุ้มครอง 3 ส่วนคือ
  1. เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเนื่องจากอุบัติเหตุวงเงิน 100,000 บาท
  2. เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะสาย ตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากถูกฆาตกรรม ลอบทำร้าย ร่างกาย และ/หรือจากขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครองวงเงิน 50,000 บาท
  3. ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจาก การเจ็บป่วย 10,000 บาท หากเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 120 วัน หลังเริ่มทำประกันจะไม่ได้เงินชดเชย โดยประชาชนต้องมีอายุ 20-60 ปี และสามารถซื้อความคุ้มครองได้ไม่เกินคนละ 2 กรมธรรม์
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้พยายามผลักดันไมโครอินชัวรันส์ให้มีเบี้ยประกันภัยต่ำมาก ซึ่งอยู่ที่ 200 บาทต่อปี และออกแบบมาพิเศษเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ผู้มีรายได้น้อย โดยคปภ. ช่วยสนับสนุน ในเรื่องการให้ออกใบรับรองการประกันภัยแทนกรมธรรม์ (โดยรายละเอียดให้ศึกษาในเวปไซต์บริษัท) และขยายช่องทางการจำหน่าย ที่สามารถเลือกซื้อได้ผ่านร้านสะดวกซื้อที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้านิติบุคคล อาทิ Counterservice ที่อยู่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขา เคาน์เตอร์เทสโก้โลตัส โบรกเกอร์ประกันภัยในห้างเทสโก้โลตัส เคาน์เตอร์เซนทรัลสมาร์ทอินชัวร์ในห้างเซนทรัล โรบินสัน ท็อปส์
ตามกำหนดการนั้น แบบประกันภัยรายย่อยจะเริ่มขายในท้องตลาดตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป


 ·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น