วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน ค่าใช้จ่ายจากช่องทางการจัดจำหน่าย

คุยกับแอคชัวรี – การประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตอน ค่าใช้จ่ายจากช่องทางการจัดจำหน่าย

แน่นอนว่าสินค้าประกันภัยนั้นอยู่คู่กับการขาย ซึ่งช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นก็มีอยู่หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนประกันภัย โบรกเกอร์ ธนาคาร หรือการขายตรง เป็นต้น การจะลดต้นทุนจากช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นเป็นไปได้ยาก ถ้าสินค้าประกันภัยเหล่านี้ยังเป็นสินค้าเพื่อขายอยู่ (ไม่ได้ไว้เพื่อซื้อ)

เนื่องจากในกระบวนการขายตามปกตินั้น จะต้องเริ่มตั้งแต่การพบปะลูกค้าเพื่อเข้าใจถึงความต้องการและอธิบายถึงความสำคัญของการทำประกันภัย การให้ความรู้ทางด้านประกันภัย ตลอดจนเสนอแบบประกันภัยที่เหมาะสมกับลูกค้าคนนั้น ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการวิ่งไปมาเพื่อติดต่อกับลูกค้าอีกด้วย (แถมสุดท้ายแล้วลูกค้าดันตัดสินใจไม่ซื้ออีกต่างหาก และที่เจ็บใจมากไปกว่านั้นก็คือลูกค้าดันหันไปซื้อกับคนอื่นเสียอีก) สุดท้ายแล้ว การได้รับการอบรมและสอบเพื่อเอาใบอนุญาตจากการขายนั้นก็เป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน

สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกในการลด “ค่าใช้จ่ายจากช่องทางการจัดจำหน่าย” เป็นอย่างแรกก็คือ การเปลี่ยนประกันภัยรายย่อยเป็นแบบประกันสำหรับซื้อ (ไม่ได้ไว้สำหรับขาย) โดยการที่ไปปลูกฝังให้ความรู้และมีแบบประกันภัยที่ง่ายและไม่สลับซับซ้อน ซึ่งอาจจะในรูปแบบของการรณรงค์หรือโฆษณาประชาสัมพันธ์กันทั้งประเทศเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงแบบประกันภัยรายย่อยที่มีในท้องตลาด

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อตัดค่าใช้จ่ายในการที่ช่องทางการจัดจำหน่ายจะต้องวิ่งไปมาเพื่อติดต่อกับลูกค้า แบบประกันภัยรายย่อยนี้ควรจะออกแบบเพื่อให้ลูกค้าวิ่งเข้ามาซื้อเองเสียมากกว่า ดังนั้น ความสะดวกในการซื้อจึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกเช่นกัน

และเมื่อทราบเหตุผลข้างต้นแล้ว เราจะเห็นว่าช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยนั้นอาจจะไม่เหมาะนัก เนื่องจากแบบประกันภัยรายย่อยที่ออกมาจะมีลักษณะที่เรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้และปกติจะออกมาแค่ไม่กี่แบบ (เกือบจะคล้ายๆ กัน) ทำให้อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาอธิบาย อีกทั้ง แบบประกันภัยรายย่อยส่วนใหญ่จะไม่มีการพิจารณารับประกันภัยและมีการตัดขั้นตอนที่ยุ่งยากหลายๆ อย่าง ทำให้อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องมีคนคอยติดต่อกับลูกค้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าแบบประกันภัยรายย่อยไม่สมควรจะขายผ่านทางช่องทางการจัดจำหน่ายทางตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย เพียงแต่ค่าบำเหน็จหรือค่าคอมมิชชั่นจากแบบประกันภัยรายย่อยนั้นอาจจะแทบไม่มีเลยก็ได้ เพราะสินค้าเหล่านี้ได้ถูกออกแบบมาเป็นสินค้าที่เอาไว้ให้ประชาชนวิ่งเข้ามาซื้อ โดยไม่ได้เอาไว้ให้ช่องทางการจัดจำหน่ายวิ่งเข้าไปขาย

ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายที่เน้นให้คนเข้ามาซื้อนั้นก็คงจะเน้นเรื่องความสะดวกเป็นหลัก และเมื่อนึกถึงความสะดวก ก็คงหนีไม่พ้น ร้านสะดวกซื้อ หรือรวมไปถึงเคาน์เตอร์ตามห้าง ที่เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติมจากช่องทางหลักปกติ ซึ่งการจะเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายแบบนี้ได้ เป็นจะต้องอนุญาตให้พนักงานทั่วไปที่ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือความรู้ทางด้านการประกันภัย สามารถขายประกันภัยหน้าเคาน์เตอร์ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐยินดีสนับสนุนช่วยบนพื้นฐานที่ทำให้สินค้าประกันภัยรายย่อยเป็นสินค้าที่ให้คนเข้ามาซื้อ

และการที่คนจะเข้ามาซื้อได้นั้นจำเป็นจะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันภัย รวมถึงเข้าใจแบบประกันภัยรายย่อยเหล่านี้เสียก่อน ภาครัฐจึงทำหน้าที่ผลักดันและสนับสนุนให้มีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้และเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่ดีและเป็นสวัสดิการเพื่อสังคมและให้เข้าถึงประชาชนในระดับรากหญ้าได้

ปัจจุบันนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้พยายามผลักดันไมโครอินชัวรันส์ให้มีเบี้ยประกันภัยต่ำมาก ซึ่งอยู่ที่ 200 บาทต่อปี และออกแบบมาพิเศษเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ผู้มีรายได้น้อย โดยคปภ. ช่วยสนับสนุน ในเรื่องการให้ออกใบรับรองการประกันภัยแทนกรมธรรม์ (โดยรายละเอียดให้ศึกษาในเวปไซต์บริษัท) และขยายช่องทางการจำหน่าย ที่สามารถเลือกซื้อได้ผ่านร้านสะดวกซื้อที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้านิติบุคคล อาทิ Counterservice ที่อยู่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขา เคาน์เตอร์เทสโก้โลตัส โบรกเกอร์ประกันภัยในห้างเทสโก้โลตัส เคาน์เตอร์เซนทรัลสมาร์ทอินชัวร์ในห้างเซนทรัล โรบินสัน ท็อปส์


 ·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น