วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) – ตอนที่ 10 (การสร้างภูมิต้านทานให้กับอัตราดอกเบี้ยที่ผันผวนขึ้น (Immunization))




“คำว่า Immunization นั้นแปลว่าการสร้างภูมิต้านทาน และเมื่อนำมาใช้กับ ALM ในที่นี้ก็จะหมายถึงการสร้างภูมิต้านทานจากการผันผวนของอัตราดอกเบี้ยหรือ Interest rate risk นั่นเอง

 

เมื่อเราเข้าใจความหมายและวิธีประยุกต์ใช้ของ Convexity อย่างถ่องแท้แล้ว ถ้าลองกลับมาพิจารณาดูก็จะเห็นว่าแค่การทำ Duration Matching ระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินนั้นคงจะไม่เพียงพอเป็นแน่ เราจะต้องทำ Convexity Matching เข้าไปด้วย และเมื่อลองมาพิจารณาลึกๆ ถึงเรื่องของ Convexity ดูแล้วก็จะเห็นว่าการที่มี Convexity ของสินทรัพย์มากกว่า Convexity ของหนี้สินนั้นก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย เพราะไม่ว่าเวลาที่ดอกเบี้ยตกลงหรือเพิ่มขึ้นมานั้นก็จะทำให้สินทรัพย์มีมูลค่าสูงกว่าหนี้สินได้ทั้งสองกรณี

 

ดังนั้นเพื่อเป็นการทำ ALM อย่างสมบูรณ์แบบ โดยไม่ว่าดอกเบี้ยจะขึ้นหรือจะลงก็ไม่ทำให้เกิดความสูญเสียกับบริษัท

เราควรจะจัดพอร์ต (Portfolio) ของเราให้ได้ดังนี้

1.               ทำให้มูลค่าของสินทรัพย์เท่ากับมูลค่าของหนี้สินซะก่อน

2.               ทำให้ Duration ของสินทรัพย์เท่ากับ Duration ของหนี้สิน

3.               ทำให้ Convexity ของสินทรัพย์มากกว่า Convexity ของหนี้สิน

 

มุมนี้สำหรับผู้ที่ชอบศัพท์เทคนิคด้านการเงิน

-                    Duration ที่มีอยู่ในแต่ละช่วงของอัตราดอกเบี้ยใน Yield curve นั้นก็จะเรียกว่า Key Duration
-                    Duration ที่นำมาคูณกับตัวมูลค่าในขณะนั้นจะเรียกว่า Dollar Duration สำหรับวิธีใช้ก็คือการนำ Dollar Duration มาคูณกับอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงไปก็จะได้มูลค่าของสินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงไปในทันที
-                    Macaulay Duration จะมีค่าเท่ากับระยะเวลาครบกำหนด (Maturity) ของ Zero coupon bond
-                    Macaulay Duration = PV (t x CFt) / PV (CFt) = ระยะเวลาที่จะได้รับกระแสเงินสดเฉลี่ยของมูลค่ากระแสเงินสดทั้งหมด
-                    Modified Duration ได้มาจากการนำ Macaulay Duration มาหารด้วย (1 + อัตราดอกเบี้ยในขณะนั้น) ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับการนำเข้าไปสู่สูตรสมการคำนวณที่ใช้กระแสเงินสด แต่ไม่เหมาะสำหรับตราสารที่มีตราสารอนุพันธ์ (embedded derivative) ฝังอยู่
-                    Effective Duration ได้มาจากการคำนวณหามูลค่าของตราสารโดยตรงเมื่อเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็นค่าต่างๆ

 

แต่ในทางปฏิบัติแล้วส่วนใหญ่เราจะเน้นการนำตัวมูลค่าของสินทรัพย์มาคูณด้วย Duration ของสินทรัพย์เพื่อให้ได้ค่าเท่ากับการนำมูลค่าของหนี้สินมาคูณด้วย Duration ของหนี้สิน ส่วนเรื่องของ Convexity ก็พยายามเลือกให้ทางฝั่งสินทรัพย์มีค่ามากๆ เข้าไว้ก็พอ

 

เราสามารถหามูลค่าของสินทรัพย์หรือหนี้สินที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลง โดยคำนวณได้จาก Duration และ Convexity ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการวิเคราะห์และจัดการความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest rate risk)

 

ทั้งนี้จะเห็นว่าการทำ ALM นั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับธุรกิจในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ผันผวน (ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง) ซึ่ง ALM เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของดอกเบี้ยนี้ และเมื่อทำ ALM อย่างมีประสิทธิภาพก็จะทำให้บริษัทมีภูมิต้านทาน (Immunize) จาก Interest rate risk ได้

 

ส่วนในความเป็นจริงแล้ว คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่การทำ ALM จะต้องมีต้นทุนเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางตรง (เช่นค่าใช้จ่ายจากการจัดการ) หรือต้นทุนทางอ้อม (เช่นการที่ได้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าในเวลาที่ต้องการจะลด Duration gap) ดังนั้น การทำ ALM จึงต้องพิจารณาสิ่งเหล่านี้ควบคู่กันไปด้วย


สามารถหาซื้อหนังสือ “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ “ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ  โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ

 

·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น