วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) – ตอนที่ 12 (การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินแบบมหภาคและจุลภาค (Macro vs Micro ALM))



ถ้ามองการจัดการ ALM ในอีกมุมหนึ่ง ในทางปฏิบัติเราจะสามารถจำแนกออกเป็น

1.               การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินแบบจุลภาค (Micro ALM)

2.               การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินแบบมหภาค (Macro ALM)


การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินแบบจุลภาค (Micro ALM)


การจัดการ ALM เชิงรุกแบบจุลภาค (Micro ALM) คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงในการลงทุนของสินทรัพย์ (Individual investment) หรือการขายแบบประกันภัย (Individual insurance product / fund) เป็นตัวๆไป ซึ่งบริษัทจะจัดการกับความเสี่ยงแต่ละประเภทเป็นตัวๆไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk), ความเสี่ยงจากความสามารถในการได้เงินคืน (Credit Risk), ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (Foreign Exchange) หรือความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้น ( Equity) เป็นต้น และโดยทั่วไปแล้วการจัดการความเสี่ยงแบบนี้จะครอบคลุมถึงความเสี่ยงจากการประกันภัย (Insurance risk) ซึ่งเป็นฝั่งที่ทำให้เกิดความผันผวนทางด้านหนี้สิน (Liability) อีกด้วย


ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการจัดการ ALM เชิงรุกแบบจุลภาค (Micro ALM) คือการจำกัดความผันผวนของสินทรัพย์ (Asset) และหนี้สิน (Liability) จากความเสี่ยง โดยการจับคู่ความเสี่ยงจากการลงทุนให้เข้ากับความเสี่ยงจากการประกันภัย (Insurance Risk) ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระดับของการการันตี (Guarantee Level), การนำเงินกลับมาลงทุนใหม่ (Reinvestment), การจำกัดความผันผวนจากยูนิตลิงค์ (Unit linked) และ ความเสี่ยงจากการยกเลิกกรมธรรม์ (Surrender risk) เป็นต้น โดยบริษัทอาจจะทำการซื้อขายเครื่องมือที่ใช้จัดการความเสี่ยงเป็นรายวันเพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากตลาดที่ขึ้นและลงอยู่ตลอดเวลา



การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินแบบมหภาค (Macro ALM)


การจัดการ ALM เชิงรุกแบบมหภาค (Macro ALM) คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงของเงินทุนในภาพรวมซึ่งจะมองแต่ละธุรกิจของบริษัทในเครือพร้อมๆ กัน (across all business units) โดยอาจจะใช้วิธีการโอนถ่ายเงินทุนหรือระดมทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ในการจัดการ ALM อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด วีธีการเหล่านี้จะรวมไปถึงการจัดการเงินทุนของกองทุนต่างๆ ในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นกองทุนแบบมีส่วนร่วมในเงินปันผล, กองทุนแบบไม่มีส่วนร่วมในเงินปันผล, กองทุนสำหรับยูนิตลิงค์ หรือกองทุนสำหรับยูนิเวอร์ซัลไลฟ์ เป็นต้น


วัตถุประสงค์ของการจัดการ ALM เชิงรุกแบบมหภาค (Macro ALM) คือการจัดการเงินทุนให้อยู่ในความเสี่ยงที่เหมาะสมรวมถึงการใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องมีการตั้งประมาณการว่าความเสี่ยงในสินทรัพย์แต่ละประเภทนั้นควรเป็นเท่าไร และสามารถถ่ายโอนกันได้หรือไม่ จากนั้นก็ต้องคำนึงถึงการกระจายความเสี่ยงอีกด้วย


ประโยชน์ของ ALM

การวิเคราะห์สิ่งที่กล่าวมาจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์สิ่งต่างๆ เพิ่มเติมได้ดังต่อไปนี้

1.               โครงสร้างของเงินทุน (Capital structure) ซึ่งถ้าผู้บริหารเข้าใจแหล่งที่มาและความเสี่ยงของเงินทุนแล้วก็จะสามารถคิดกลยุทธ์ในการจัดการบริหารเงินทุน (Capital management strategies) ให้กับบริษัทอย่างเหมาะสมได้  ไม่ว่าจะเป็นเชื่อมต่อความสามารถในการชำระหนี้ (Solvency) ให้เข้ากับ Capital Adequacy Ratio (CAR) จาก Risk Based Capital ซึ่งมูลค่าของเงินทุนที่เหลืออยู่ก็มีผลกับการกำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นด้วย โดยถ้าบริษัทมีเงินทุนที่มากพอก็อาจจะตัดสินใจเอาเงินส่วนหนึ่งออกมาจ่ายเป็นเงินปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้นได้ แต่ในทางกลับกัน บริษัทจะต้องมีการระดมทุน (capital raising) จากผู้ถือหุ้นเช่นกันถ้าบริษัทค้นพบว่ามีเงินทุนไม่เพียงพอ หรือมี Capital Adequacy Ratio ที่ต่ำเกินไป

2.               มูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทในอนาคตภายใต้สภาวะตลาดต่างๆ เพื่อที่จะเตรียมแผนรับกับการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยจะรวมถึงข้อกำหนดทางด้านกฎหมาย (Local regulations) ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจที่จะเติบโตขึ้นในอนาคตด้วย ซึ่งในบางประเทศจะให้ส่งรายงานผลประกอบการในอนาคตในรูปแบบของ Dynamic Solvency Testing เพื่อที่จะจำลองสถานการณ์ที่เลวร้ายในอนาคตและดูว่าบริษัทจะมีสินทรัพย์และหนี้สินอย่างไรในอีก 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้า เป็นต้น

3.               การทำประกันภัยต่อเพื่อผลประโยชน์ทางการเงิน (Financial reinsurance) และการโยกย้ายเงินทุนของบริษัทในเครือเพื่อจัดการความเสี่ยงของภาพรวมในระดับภูมิภาค (Group level) โดยในที่นี้จะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนจากการลงทุนและผลประโยชน์ทางด้านภาษีของแต่ละประเทศด้วย


สามารถหาซื้อหนังสือ “ให้เงินทำงาน – การจัดการสินทรัพย์และหนี้สินอย่างถูกวิธี” ได้ตามร้านหนังสือ “ซีเอ็ด” ที่เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศ  โดยหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เน้นการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินโดยละเอียดครับ


·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น