วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

โครงสร้างและลักษณะอุตสาหกรรมของกลุ่มธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย

 
การที่จะทำความรู้จักกับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมใดๆ นั้น เราควรจะเริ่มจากการทำความเข้าใจโครงสร้างและลักษณะอุตสาหกรรมเหล่านั้นก่อน ซึ่ง

โครงสร้างและลักษณะอุตสาหกรรมของแต่ละกลุ่มธุรกิจนั้นก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้ากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงกฎหมายในการกำกับดูแลธุรกิจเองก็ตาม

 
ธุรกิจประกันภัยก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีโครงสร้างและลักษณะอุตสาหกรรมที่แตกต่างกับกลุ่มธุรกิจอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าของบริษัทประกันภัยก็คือ “กระดาษ” ที่ระบุถึงเงื่อนไขต่างๆ ในการทำข้อตกลงของคู่สัญญา ที่เข้าหลักวัตถุประสงค์ของการประกันภัย ซึ่งถ้าเงื่อนไขที่ระบุใน “กระดาษ” นั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตคน เราจะเรียกว่า “ประกันชีวิต” แต่ถ้าเงื่อนไขที่ระบุใน “กระดาษ” นั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งของ เราจะเรียกว่า “ประกันวินาศภัย”

 

เงื่อนไขที่ระบุนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตคน เราจะเรียกว่า “ประกันชีวิต”
เงื่อนไขที่ระบุนั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งของ เราจะเรียกว่า “ประกันวินาศภัย”

 

ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจประกันภัยนั้นสามารถจำแนกออกมาได้เป็น 2 หมวดใหญ่ๆ ได้แก่

1.               ธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งแบ่งออกได้เป็นการคุ้มครองชีวิต คุ้มครองการเจ็บป่วย หรือการสะสมทรัพย์ เป็นต้น

2.               ธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งแบ่งออกได้ตามสิ่งของที่ประกัน เช่น รถ เรือ บ้าน หรือลักษณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว เป็นต้น

 
และการที่จะเข้ามาทำธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งก็แบ่งออกเป็นธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยเหมือนกัน โดยในขณะนี้จำนวนบริษัทประกันภัยในประเทศไทยนั้นมีอยู่เกือบ 100 บริษัท แบ่งเป็นประกันชีวิต 24 บริษัท และประกันวินาศภัย 71 บริษัท

 
เนื่องจากสินค้าในธุรกิจประกันภัยนั้นเป็นสินค้าที่จับต้องไม่ได้ และยากแก่การทำความเข้าใจในตัวสินค้า ช่องทางการจัดจำหน่ายของธุรกิจประกันภัยสำหรับประเทศไทยจึงยังอาศัยตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนตัวแทนประกันชีวิตแล้วถึงเกือบ 300,000 คน และจำนวนตัวแทนประกันวินาศภัยอีกประมาณเกือบ 30,000 คน

 
ส่วนนายหน้าประกันภัย (โบรกเกอร์) ประเภทบุคคลธรรมดาของประกันชีวิตและประกันวินาศภัยจะมีประมาณอย่างละ 70,000 – 80,000 คน และนายหน้าประกันภัย (โบรกเกอร์) ประเภทนิติบุคคล (รวมถึงธนาคาร) ของบริษัทประกันชีวิตจะมีประมาณ 200 แห่ง และประกันวินาศภัยจะมีประมาณ 400 แห่ง

 

 
ประมาณการทางสถิติ           จำนวนบริษัท         ตัวแทนประกันชีวิต              โบรกเกอร์ (บุคคลธรรมดา)                                โบรกเกอร์ (นิติบุคคล)
ประกันชีวิต                           24                            เกือบ 300,000 คน                  ประมาณ 70,000 คน                              ประมาณ 200 แห่ง
ประกันวินาศภัย                    71                            เกือบ 30,000 คน                    ประมาณ 80,000 คน                              ประมาณ 400 แห่ง
 

 

อย่างไรก็ตาม ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ผ่านทางธนาคารก็กำลังมาแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจประกันชีวิตที่ทางธนาคารนิยมขายประกันภัยประเภทสะสมทรัพย์ และที่ลืมไม่ได้ก็คือช่องทางการขายตรง ไม่ว่าจะเป็นทางอินเตอร์เน็ต สื่อทางจดหมาย หนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเดินเข้ามาซื้อประกันภัยกับบริษัทได้โดยตรง

 
ธุรกิจประกันภัยจึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจนี้กำลังเติบโตไปได้เรื่อยๆ ไม่ว่าตลาดหุ้นจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม เพราะคนไทยเริ่มให้ความสำคัญและเข้าใจถึงความจำเป็นในการทำประกันภัยกันมากขึ้น อีกทั้งผลิตภัณฑ์ประกันภัยในปัจจุบันนี้ก็มีความหลากหลายและครอบคลุมความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริการของประกันภัยรถยนต์ที่มีการบริการหลังการขายมากขึ้น หรือประกันพ่วงการลงทุนของทางธุรกิจประกันชีวิต
 

จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยที่ในขณะนี้คนไทยมีกรมธรรม์ประกันชีวิตถึง 17 ล้านฉบับ ในขณะที่มีกรมธรรม์ประกันวินาศภัยถึง 48 ล้านฉบับ และคาดว่าธุรกิจนี้จะมีการเติบโตมากกว่าปีละ 10 เปอร์เซ็นต์อยู่อีกนานนับทศวรรษ

 
·         [ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทเอไอเอ รองนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย ]

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น