วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กรุงเทพธุรกิจ (คณิตศาสตร์กับปราชญ์ประกันภัย)

โดย สมสกุล เผ่าจินดากุล
กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2552

พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน วัย 32 ปีก้าวมาเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย อาชีพที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทต่อปีหรือมากกว่านั้น

หนุ่มนักคำนวณสมองกลคนนี้ เคยสอบเลขเฉียดตกมาแล้วสมัยมัธยมปลาย แต่พอจับเคล็ดลับบางอย่างของมันได้ ทำให้ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน วัย 32 ปีก้าวมาเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย อาชีพที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทต่อปีหรือมากกว่านั้น

อาชีพที่มีอยู่เพียง 6 คนเท่านั้นในประเทศไทยตอนนี้

"ผมมองคณิตศาสตร์เป็นภาษา แต่เป็นภาษาสำหรับวิทยาศาสตร์ ถ้าจับทริกได้ เหมือนภาษาอังกฤษ ซึ่งก็มีโครงสร้างภาษาของเขา" ผู้ช่วยรองประธาน และหัวหน้าส่วนคณิตศาสตร์ประกันภัยฝ่าย Corporate Actuarial บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด กล่าว

พิเชฐสารภาพอย่างภูมิอกภูมิใจว่า สมัยมัธยม 4 เคยเกือบสอบตกคณิตศาสตร์ เรียกว่าได้คะแนนปริ่มน้ำเกือบจม เขางุนงงพักหนึ่ง ก่อนตั้งหน้าฝึกฝนหนักขึ้น

"ไปอ่านเจอจากที่ไหนไม่รู้ บอกว่าคณิตศาสตร์เป็นภาษาสำหรับสื่อสารกับทุกอย่าง แต่เป็นทางด้านลอจิก ต่างจากภาษาอังกฤษที่มีภาษาสแลง หรือภาษาวัยรุ่นก็ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย  แต่ภาษาคณิตศาสตร์เป็นภาษาที่ตายตัว เป็นตรรกะ ไม่มีดิ้น หนึ่งบวกหนึ่งต้องเท่ากับสอง ก็เลยเป็นแกนที่จะทำอะไรก็ได้" พิเชฐบอกถึงสัจจะแห่งคณิตศาสตร์

นับแต่นั้นมา เขาตกหลุมรักคณิตศาสตร์ และมุ่งหน้าเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลว่า "ชอบคณิตศาสตร์ เราทำเลขรู้สึกคล่อง ก็มามองดูว่ามีอาชีพไหนบ้าง ที่ท้าทายความสามารถเหมาะกับตัวเรา ค้นหามาตลอด"

พิเชฐเริ่มต้นได้สวย โดยสอบคณิตศาสตร์ได้คะแนนสูงสุดใน 5 อันดับของคณะ

ทว่า เขาเลือกเส้นทางอนาคตต่างจากคนอื่น เขาเลือกภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้วสามารถทำงานด้านการรับรองคุณภาพมาตรฐานหรือ ISO งานรีเอ็นจิเนียริงองค์กร ซับพลายเชนและลอจิสติก ที่ออกแนววิศวกรรมบริหารจัดการ แม้จะมีเสียงเหน็บแนมหยิกแกมหยอกว่า วิศวกรอุตสาหการเหมือนเป็ด บินก็ไม่ได้ ว่ายน้ำก็ไม่เก่ง ไม่เหมือนกับวิศวกรรมไฟฟ้าหรือเครื่องกลที่ลงมือทำเลย

ปัจจุบัน สถานการณ์เปลี่ยนไป นักศึกษาจำนวนมากเลือกวิศวกรรมอุตสาหการมากกว่าวิศวกรรมไฟฟ้า

"เมื่อ 10 ปีก่อนยังไม่เด่น คนที่เก่งมากๆ จะเลือก ไฟฟ้า เครื่องกล โยธา แต่ผมมองว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์น่าจะบูม มองว่าประเทศยังไม่เชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนา แต่เน้นซื้อโนวฮาวมาใช้หรือจัดการโรงงานคล้ายกับ Engineering management"

สุดท้าย กลับไม่ได้ใช้มันโดยตรง หลังจากเรียนจบเริ่มงานเป็นวิศวกรอุตสาหการ บริษัทยางมิเชลินอยู่ได้ไม่ถึงปี เขาเริ่มค้นหาเส้นทางใหม่ ในอาชีพและตำแหน่งที่ยังไม่เคยปรากฏอยู่บนนามบัตรของคนไทยมาก่อน

นั่นคือ ตำแหน่ง "แอคชัวรี"


อาชีพที่หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ขึ้นทำเนียบให้เป็นอาชีพในฝันอันดับสองของอเมริกันชนในปี 2545 จากเกณฑ์พิจารณาสำคัญ 6 ข้อ ได้แก่ สภาพแวดล้อมการทำงาน รายได้ แนวโน้มการจ้างงาน การใช้แรงงาน ความมั่นคงและความเครียด

และผลสำรวจเมื่อต้นปีโดย CareeCast.com เว็บไซต์หางานน้องใหม่จัดอันดับ 200 อาชีพที่ดีสุด ยกให้นักคณิตศาสตร์มาเป็นอันดับหนึ่ง และแอคชัวรีตามมาเป็นอันดับสอง เพราะทำงานในอาคาร ไม่เสี่ยงต่ออากาศพิษ เสียงเป็นพิษ ไม่ต้องออกแรงยกของหนัก ก้มๆ เงยๆ เหมือนพวกนักดับเพลิง และช่างเครื่อง แน่นอนว่า รายได้ยังสุดยอดด้วย แต่ละปีนักคณิตศาสตร์มีรายได้ 94,160 ดอลลาร์ หรือประมาณ 3 ล้านกว่าบาท แต่สำหรับพิเชฐบอกว่า นั่นยังน้อยไป

นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นนักวิเคราะห์ผลกระทบทางการเงิน อาศัยคณิตศาสตร์เป็นตัวคำนวณ และดูความเสี่ยงที่เป็นความไม่แน่นอน โดยอาศัยหลักคณิตศาสตร์ความน่าจะเป็น

เครื่องจักรคำนวณมีชีวิตเหล่านี้ จะคอยประเมินความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ และยอดรายจ่ายเพื่อลดโอกาสสูญเสียให้ต่ำที่สุด พวกเขาจะนำเอาปัจจัยผันผวนที่อาจเกิดขึ้น มาสร้างเป็นแบบจำลองสถานการณ์ และเนื่องจากหลายเหตุการณ์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างเช่น ความตาย มันจึงเป็นปัจจัยที่เป็นประโยชน์ สามารถใช้วัดเพื่อลดผลกระทบทางการเงิน เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

ความเสี่ยงดังกล่าวส่งผลกระทบต่องบดุล และต้องการทักษะการบริหารจัดการสินทรัพย์ หนี้สิน และการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ ผู้ที่เข้ามารับผิดชอบประเมินความเสี่ยง จึงต้องมีทักษะด้านการวิเคราะห์ ความรู้ด้านธุรกิจ ความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์และอื่นๆ เพื่อออกแบบและสร้างแผนควบคุมความเสี่ยง

"เราเป็นคนสร้างเครื่องมือวิเคราะห์อดีตเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น และคาดการณ์อนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น นอกจากวิเคราะห์ความเสี่ยงแล้ว ยังต้องสื่อสารกับคนในองค์กรให้รู้เรื่อง นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจึงไม่ใช่นักวิจัยอย่างเดียว แต่เป็นนักคณิตศาสตร์ในเชิงธุรกิจ" 1 ใน 6 แอคชัวรีคนไทยกล่าว

พิเชฐก้าวสู่โลกของการคำนวณเพื่อลดความเสี่ยง หลังพบประกาศรับสมัครงานบนเว็บไซต์ JobDB.com เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ระบุคุณสมบัติว่า ต้องเรียนจบด้านวิศวกรจากจุฬาฯ เกรด 3.5 ขึ้นไป

"วิศวกรจุฬาฯ เกรด 3.5 ปีหนึ่งมีไม่กี่สิบคน เพราะยากมาก บางปีไม่ถึงด้วยซ้ำ เลยสนใจว่าเขาต้องการไปทำอะไร ถึงให้รายได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน ตอนนั้นไม่ได้สนใจเรื่องรายได้ค่าตอบแทน แต่เห็นคุณสมบัติที่ประกาศรับแล้วมันตรงกับเราดี"

วันสัมภาษณ์งานต่างจากการสัมภาษณ์งานทั่วไป ผู้สัมภาษณ์สาธยายรายละเอียดของธุรกิจประกันชีวิตและอาชีพแอคชัวรี นานถึง 4-5 ชั่วโมง ให้เขาฟังคนเดียว

ปี 2543 ช่วงนั้นยังไม่มีแอคชัวรีที่สอบได้ขั้นสูงสุดที่เรียกว่า Fellow ในไทย เขาจึงสนใจที่จะเป็นคนแรก นอกจากรายได้ที่คุ้มค่าแล้วยังมีสวัสดิการ และผลประโยชน์อื่น โดยเฉพาะการสนับสนุนให้สอบเลื่อนขั้นเป็นแอคชัวรีระดับสูงสุด ชนิดที่เรียกว่า หากต้องควักกระเป๋าจ่ายเองคงตกหลักแสนบาท

การสอบแอคชัวรีตามเกณฑ์ของ Society of Actuaries ของสหรัฐ จนถึงระดับสูงสุดที่เรียกว่า Fellowship แบ่งเป็น 8 ขั้น

การสอบช่วงแรกสำหรับระดับ 1-3 เน้นสอบคณิตศาสตร์เป็นหลัก ประกอบด้วยคณิตศาสตร์สถิติ แคลคูลัส คณิตศาสตร์การเงิน ผู้สอบยังต้องตุนความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาค หากสอบผ่านหมดสามระดับเทียบได้กับปริญญาตรี

ช่วงสองระดับ 4-5-6 เทียบได้กับปริญญาโท หากสอบผ่านขั้นตอนนี้ได้คุณวุฒิ ASA เป็น Associate สามารถสอบทางอินเทอร์เน็ต เป็นการสอบประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์วิเคราะห์ในลักษณะสถานการณ์จำลอง

ขั้น 7-8 ตัวสุดท้าย เทียบเท่าปริญญาเอกด้านประกันภัย สอบผ่านแล้วสามารถเลือกเส้นทางของตัวเองว่า จะเลือกเป็นประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ประกันสุขภาพหรือบริหารกองทุนบำนาญบริษัท

ขณะที่คนอื่นใช้เวลาสอบทั้ง 8 ระดับโดยเฉลี่ย 12 ปี แต่เขาเร่งเครื่องตะลุยสอบครบทุกระดับในเวลา 4 ปี 

"เทียบง่ายๆ มันเหมือนกับสอบเนติบัณฑิตแหละครับ เขาไม่สนใจว่าคุณจะเรียนจบระดับปริญญาตรี โทหรือเอก สาขาไหนมาแล้ว คุณต้องสอบให้ได้ตามระดับที่ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก" พิเชฐ บอก

รายได้จัดอยู่แถวหน้า ความเครียดและการยอมรับในสังคม ทำให้อาชีพแอคชัวรีในอเมริกา ฮ่องกงและสิงคโปร์ สามารถเดินยืดได้เหมือนจบแพทย์ แต่สำหรับเมืองไทยยังเป็นมนุษย์ทองคำที่รู้จักกันในแวดวง คนทั่วไปยังไม่รู้ว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นขงเบ้งให้กับธุรกิจประกัน

"งานนี้ โอเคนั่งทำงานที่บ้านก็ได้ แต่ถ้าต้องทำงานกับข้อมูลเยอะๆ บางทีต้องไปบริษัทเพราะต้องใช้ข้อมูลกรมธรรม์จำนวนมาก มันไม่ได้มีตัวเลขเดียวที่ต้องเก็บเรคคอร์ทไปจนถึงหมดอายุกรมธรรม์ เราต้องคำนวณล่วงหน้าให้หมด สมมุติกรมธรรม์หมดอายุอีก 100 ปีข้างหน้า เราก็ต้องเก็บข้อมูลไปถึง 100 ปีข้างหน้า"

พิเชฐยอมรับกว่า สภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องทำงานคิดโมเดลแผนประกันหนักกว่าเก่า

"เมื่อก่อน สมัย 20 ปีที่แล้วต้องคิดปีละครั้ง แต่เดี๋ยวนี้ต้องคิดกันโดยเฉลี่ย 2 สัปดาห์ต่อครั้ง คือปีหนึ่งอาจมีผลิตภัณฑ์ออกมาสัก 20 ตัว product life cycle สั้นลงเรื่อยๆ ในสิงคโปร์ต้องคิดกันใหม่ทุกสัปดาห์เลย"

งานหลักแอคชัวรีบริษัทประกันภัย แบ่งเป็นงานหน้าบ้านกับหลังบ้าน

หน้าบ้านคือการออกแบบประกัน ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับหลักพื้นฐานการตลาด ไล่มาตั้งแต่ Product Price Place และ Promotion หรือ 4 P

เริ่มจาก Product คุยกับแผนกการตลาดว่า ต้องการผลิตภัณฑ์แบบไหน นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีหน้าที่ศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ บางครั้งช่วยเสนอแนวทางและปรับแต่ง

"โจทย์อาจมาแบบเว่อร์ๆ ต้องการโปรดักซ์ถูกมาก มีมูลค่าให้ลูกค้าสูง เราต้องมานั่งดูว่าเป็นไปได้ไหม

ตามด้วยการกำหนดราคา เนื่องจากสินค้าประกันชีวิตหรือประกันภัยได้รับเงินก่อน แต่จ่ายเงินในอนาคต ทำให้ไม่อาจรู้ล่วงหน้าว่าต้นทุนเกิดขึ้นเมื่อไร ต่างจากสินค้าโภคภัณฑ์อย่างสบู่ ผงซักฟอก ที่รู้ต้นทุนตั้งแต่แรก และหาส่วนต่างกำไรได้ทันที

ในส่วนของ Place แอคชัวรีต้องคำนึงถึงช่องทางขายที่มีหลากหลายขึ้น เช่น ธนาคาร จดหมาย ขายตรง ทีวี อินเทอร์เน็ต นอกเหนือจากช่องทางคลาสสิกอย่างตัวแทนประกันชีวิต นักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องคำนวณต้นทุนการจ่ายค่านายหน้าให้กับตัวแทน

สุดท้ายคือ Promotion พิจารณาถึงรายการส่งเสริมการขายให้ลูกค้าและตัวแทน ทั้งในรูปของโบนัส ค่านายหน้า รางวัล และทุกอย่างเป็นเรื่องต้นทุนทั้งหมด

เขามักบอกกับผู้คนอยู่เสมอเวลาว่า สิ่งที่เขาทำคือเปลี่ยนตัวเลขให้เป็นตัวโน้ต นักคณิตศาสตร์ไม่ใช่เครื่องคิดเลข และทำอะไรได้มากกว่าเครื่องคิดเลข นักคณิตศาสตร์เป็นคนสร้างเครื่องคิดเลขให้คนอื่นใช้

ปีหน้า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 50 อันดับแรกของ Set Index ปฏิบัติตามกฎ International Accounting Standard กล่าวคือ ทุกบริษัทต้องตั้งวงเงินสำรองสำหรับการเลิกจ้าง เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับลูกจ้าง หากบริษัทประสบปัญหา จึงต้องการนักคณิตศาสตร์ที่ศึกษาด้านนี้มาโดยตรงคือ แอคชัวรี

"อย่างหนึ่งที่ดึงดูดผมคือ เป็นอาชีพที่ไม่จำกัดอายุ แต่ดูที่ความสามารถ และขึ้นอยู่ว่าเราทุ่มเทให้มันแค่ไหนด้วย" มนุษย์ทองคำแห่งบริษัทประกันภัย อาชีพที่น่าอิจฉา กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น