วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การพนัน ประกัน การลงทุนและการเก็งกำไร

คุยกับแอคชัวรี – การพนัน ประกัน การลงทุนและการเก็งกำไร


วันนี้ผมขอหยิบยกเรื่องของทฤษฎีประกันมาคุยบ้าง โดยจะมาทำความเข้าใจกับคำ 3 แบบที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ และดูเหมือนว่าจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่จริงๆ แล้วมันมีหลักการและที่มาที่คล้ายคลึงกันในลักษณะของการนำเงินจ่ายเข้ามาไว้เป็นเงินกองกลาง (Pooling) และลักษณะของการยอมรับความเสี่ยง (Risk) อยู่

 
การพนัน (Gamble) หมายถึง การเล่นชนิดหนึ่งเพื่อเอาเงินหรือสิ่งอื่นใดด้วยการเสี่ยงโชค โดยการทำนายหรือคาดเดาผลที่เกิดขึ้นในอนาคต การพนันอาจแบ่งได้หลายอย่าง เช่น 1) การพนันในการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น เกมไพ่ เกมลูกเต๋า เป็นต้น 2) การพนันโดยการทำนายผลที่คาดว่าเกิดขึ้นในอนาคตเช่น การแทงบอล การแทงม้า เป็นต้น และ 3) การพนันที่ไม่มีการแข่งขันโดยขึ้นกับความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่เกิดเช่น หวย เป็นต้น


การประกันภัย (Insurance) คือ การบริหารความเสี่ยงภัยวิธีหนึ่ง ซึ่งจะโอนความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยไปสู่บริษัทประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้รับความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้


การลงทุน (Investment) และการเก็งกำไร (Speculation) จะมีความหมายเหมือนกันมาก แต่ต่างกันตรงที่ความตั้งใจว่าจะซื้อโดยมีการพิจารณาและศึกษาอย่างรอบคอบอย่างมีเหตุมีผล ซึ่งสินทรัพย์นั้นจะให้ผลตอบแทนตามสมควร ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเงินปันผลหรือดอกเบี้ยก็ตาม อีกทั้งยังคาดหวังถึงมูลค่าเพิ่มขึ้นในระยะยาวอีกด้วย (Capital Appreciation) ส่วนการเก็งกำไรนั้นจะเป็นการซื้อเพื่อขายหวังเอาผลกำไรที่มากขึ้น


ตามหลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นจะมีภาษาทางคณิตศาสตร์อยู่ตัวหนึ่งที่เรียกว่า “ค่าคาดหวัง (Expected Value)” ซึ่งหมายถึงการเอาทุกอย่างมาเฉลี่ยกันหมดเพื่อหาค่ากลางออกมา ผลลัพธ์ที่มีความผันผวนออกห่างจาก “ค่าคาดหวัง” จึงเรียกว่า “ความเสี่ยง (Risk)” นั่นเอง

1.       การพนัน (Gamble) จะออกแบบให้มี “มูลค่าของค่าคาดหวัง (Expected Value) จากการถูกรางวัล” น้อยกว่า “ค่าเฉลี่ยของเงินพนันที่ผู้พนันจ่ายไปทั้งหมด” เพื่อที่จะทำให้ผู้รับพนันยังมีกำไรอยู่ แต่สิ่งที่ผู้พนันได้ซื้อไปก็คือการได้ลุ้นและหวังที่จะได้รางวัลนั่นเอง เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า พวกชอบเสี่ยง (Risk Taker)

2.      การประกันภัย (Insurance) จะออกแบบให้มี “มูลค่าของค่าคาดหวัง (Expected Value) จากการลูกค้าได้รับเงินประกัน” น้อยกว่า “ค่าเฉลี่ยของเบี้ยประกันภัยที่ลูกค้าจ่ายไปทั้งหมด” เพื่อที่จะทำให้บริษัทประกันภัยยังมีผลประกอบการอยู่ แต่สิ่งที่ผู้ซื้อประกันภัยได้ซื้อไปก็คือการได้รับความคุ้มครองเมื่อเกิดความสูญเสียทางการเงิน (Financial Loss) เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า พวกไม่ชอบเสี่ยง (Risk Averse)

3.       การลงทุน (Investment) และการเก็งกำไร (Speculation) จะออกแบบให้มี “มูลค่าของค่าคาดหวัง (Expected Value) จากการลงทุน” มากกว่า “ค่าเฉลี่ยของเงินลงทุนที่ผู้ลงทุนจ่ายไปทั้งหมด” เพื่อที่จะหวังมูลค่าจากเงินที่ได้ลงทุนไปให้สูงขึ้น และสิ่งที่นักลงทุนจะได้ไปก็คือดอกผลจากการลงทุนและเก็งกำไร ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้ก็มีทั้งกลุ่มที่ชอบเสี่ยงและกลุ่มที่ไม่ชอบเสี่ยงอยู่รวมกัน

 
จะสังเกตได้ว่าทั้ง 3 แบบนี้มีลักษณะการเอาเงินมารวมเป็นกองกลาง (Pooling) กันก่อนแล้วจึงค่อยกระจายออกไปให้แต่ละคน ซึ่งถ้าเป็นพวกชอบเสี่ยง (Risk Taker) ก็จะกลายเป็นนักพนันไป ถ้าเป็นพวกที่ไม่ชอบเสี่ยง (Risk Averse) ก็กลายเป็นการซื้อประกันไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ค่าเฉลี่ยที่ได้ออกมาเป็น “ค่าคาดหวัง (Expected Value)” นั้นจะน้อยกว่า “เงินที่นำเข้าไปในเงินกองกลาง (Pooling)” อยู่แล้ว เพื่อให้เจ้ามือและบริษัทประกันดำเนินงานอยู่ได้ ส่วนการลงทุน (Investment) และการเก็งกำไร (Speculation) ก็ถือว่าเป็นอะไรที่ใส่เงินลงไปแล้วคาดหวังว่าจะได้กลับมามากขึ้น


ตอนนี้คงพอทราบแล้วใช่ไหมครับว่าคุณเป็นคนที่ชอบแบบไหน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น