วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Actuary "กุนซือ" กุมเกมธุรกิจประกัน - The Nation

โดย จีราวัฒน์ คงแก้ว / cheerawat @ nationgroup.com
ว่ากันว่าถ้าเอ็มดีของบริษัทประกันเปรียบเสมือน "เล่าปี่" นักคณิตศาสตร์ประกันภัยก็ไม่ต่างอะไรกับ "ขงเบ้ง" กุนซือที่กุมบังเหียนอยู่เบื้องหลัง คอยวิเคราะห์กลยุทธ์ประเมิณเกม ในสหรัฐอเมริกาวิชาชีพนี้กำลังบูม เช่นเดียวกับประเทศจีนที่พ่อแม่เบนเข็มส่งลูกเรียนทางนี้มากขึ้น หากกับประเทศไทยวิชาชีพนี้กลับเป็นเรื่องใหม่และขาดแคลน

"พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน" ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัย บริษัท อเมริกัน อินเตอร์แนชชันแนล แอสชัวรันส์ จำกัด หรือ เอไอเอ ประจำสำนักงานใหญ่ประเทศฮ่องกง หนุ่มวัย 28 ปี คือ 1 ใน 4 ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยคนไทย ที่ได้รับคุณวุฒิ Fellowship of Society of Actuaries (FSA) ด้วยอายุน้อยที่สุด

ใบคุณวุฒิที่ขึ้นชื่อว่าทั้งหินทั้งสาหัส สำหรับผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยชั้นสูง (Actuary) หลายคนต้องเสียเวลาศึกษาเพื่อจะสอบให้ผ่านถึงระดับนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่กับหนุ่มคนนี้ใช้เวลาพิชิตคุณวุฒิดังกล่าวเพียง 4 ปี เท่านั้น

เขาบอกเราว่า แอคชัวรีเป็นวิชาชีพที่ต้องมีคุณวุฒิ ต้องผ่านการสอบและการศึกษาอย่างหนัก และ การสอบเพื่อเป็นแอคชัวรีมีหลายระดับ นั่นคือ การสอบผ่าน 6 คอร์ส ก็จะได้คุณวุฒิ Associate of social of Actuaries (ASA) และสอบอีก 2 คอร์ส ก็จะได้คุณวุฒิ Fellowship of Society of Actuaries (FSA) โดยไม่มีการเรียนการสอน แต่เป็นลักษณะแนะนำให้ศึกษาด้วยตัวเอง แล้วมาสอบ ซึ่งจะต้องผ่านการสอบข้อเขียน การสัมมนา และทำโครงงานวิชาการ เป็นการสอบพร้อมกันทั่วโลก ปีละ 2 ครั้ง โดยจะตัดคะแนนจากผู้ที่เข้าสมัครสอบทั้งหมด ซึ่งผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 30-40% แรกจึงจะผ่านในแต่ละคอร์ส

"การสอบมีทั้งสอบด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย สถิติ การเงิน เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย งบการเงิน บัญชี วิธีการลงทุน ซึ่งแอคชัวรีจะมีอยู่ 2 แบบ คือถ้ายังสอบไม่ครบหมดก็จะเรียกว่า Actuarial student และเมื่อจบแล้วก็จะถูกเรียกว่า Qualified Actuary ซึ่งการจะเป็นแอคชัวรี เราต้องเป็น Qualified Actuary ให้ได้ก่อน แม้จะเรียนจบระดับปริญญาโทมา ก็ต้องมาสอบเป็น FSA อยู่ดี"

ขณะที่คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาสอบตรงนี้เป็นสิบๆ ปี แต่เขาสอบผ่านในเวลาเพียง 4 ปี โดยพิเชฐบอกเราว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทุ่มเทต่อการอ่านหนังสืออย่างหนัก รวมถึงการสอบถามเพื่อนๆ ที่รู้จักกัน การใช้บริการ study group เวบไซต์สำหรับให้ผู้ที่จะสอบ มีเวทีสำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน รวมถึงสามารถสอบถามสิ่งที่ไม่เข้าใจผ่านทางเวบไซต์ดังกล่าวได้ด้วย

ผลตอบแทนของความสำเร็จไม่เพียงค่าวิชาชีพที่ไม่ต่ำกว่า 70,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ในอเมริกานักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะมีรายได้กว่า 100,000 ดอลลาร์ต่อปี ขณะที่ประเทศจีนกำลังโปรโมทอาชีพนี้อย่างหนัก มีผู้สนใจสอบไม่ต่ำกว่า 4-5 พันคนต่อครั้ง โดยเชื่อว่า ในอีก 5 ปี ข้างหน้า นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะกลายเป็นผู้มีอิทธิพลมากที่สุด
แต่ที่มากกว่านั้นคือ บทบาททางอาชีพที่เปรียบเสมือน "กุนซือ" กำกับยุทธศาสตร์ขององค์กร

"แอคชัวรีก็คือผู้ที่ทำสิ่งที่ไม่แน่นอน ให้มีความแน่นอนขึ้น ซึ่งบริษัทประกันภัยมีหน้าที่บริหารความเสี่ยง หน้าที่ของเราคือประเมินว่าอนาคตจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ต้นทุนจะเป็นอย่างไร นโยบายของภาครัฐถ้าหากเปลี่ยนไปจะส่งผลอย่างไร อัตราดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร ในวันนี้การออกสินค้า การตั้งราคา การจ่ายผลประโยชน์ลูกค้า ตัวแทน การขายสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึง การตั้งเงินทุนสำรอง ควรจะเป็นอย่างไร เพื่อให้บริษัทอยู่รอดและไม่ขาดทุนในอนาคต โดยการตั้งสมมติฐานที่แม่นยำที่สุด"

พิเชฐบอกว่า แอคชัวรีมีความสำคัญในบริษัทประกันภัยมาก เรียกว่า "ชี้เป็นชี้ตาย" บริษัทนั้นๆ ได้เลย ถ้าสมมติฐานที่ตั้งมาทำอย่างรอบคอบและดีแล้ว บริษัทก็จะอยู่ได้ แต่หากไม่แม่นยำพอ หรือประเมินสถานการณ์ผิดพลาดมีผลให้บริษัทล้มเหลว และขาดทุนได้

สำหรับภาระหน้าที่ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย แอคชัวรีหนุ่ม บอกกับเราว่า เป็นการทำงานที่ครอบคลุมหลายๆ ส่วน โดยมีทั้งในส่วนของหน้าบ้านและหลังบ้าน โดยหน้าบ้านเริ่มตั้งแต่ 4P คือ Product Price Place และ Promotion
เขา อธิบายว่า ในการออกผลิตภัณฑ์แต่ละครั้ง แอคชัวรีจะติดต่อกับการตลาด ตัวแทน อาจทำในลักษณะสัมภาษณ์กลุ่ม พูดคุยกับตัวแทนว่าลูกค้าชอบหรือไม่ชอบอะไร เพื่อเก็บไอเดียออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทุกฝ่ายมีผลประโยชน์อย่างสมดุล ที่สำคัญต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมด้วย

นอกจากนี้นักคณิตศาสตร์ยังต้องประเมิน เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ดอกเบี้ยมีความผันผวนไหม อัตรามรณะเป็นอย่างไร เทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาไปแค่ไหน เพื่อประเมินอัตราการเสียชีวิตของผู้ที่เป็นโรคต่างๆ ที่จะลดลงได้ ทั้งหมดจะบอกกำไรขาดทุนของบริษัทได้

นักคณิตศาสตร์ยังต้องกำหนดราคาสินค้าให้เหมาะสม การกำหนดราคาไม่ยากนัก เพียงแค่คีย์ข้อมูลงลงคอมพิวเตอร์ก็จะมีรายละเอียดออกมาแล้ว แต่สิ่งที่แอคชัวรีจะต้องทำคือมองสมมติฐานให้ออก ว่าดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร บริษัทมีการลงทุนแบบใด ถึงจะได้ผลตอบแทนสอดคล้องผลประโยชน์ด้านกรมธรรม์

"ด้านราคาต้องหนักแน่นเรื่องสมมติฐาน ทำให้แอคชัวรีต้องทำงานร่วมกับฝ่ายลงทุน โดยบอกไปว่าจะลงทุนประมาณนี้ ควรซื้อความเสี่ยงแบบไหน ประมาณเท่าไร เราต้องกำหนดการลงทุนร่วมกับฝ่ายลงทุน เรียกว่าพูดคุยกันว่ามี่ความเป็นไปได้แค่ไหน ก็เสนอไป"

แม้แต่การกำหนดโครงสร้างผลตอบแทนแอคชัวรียังต้องคำนวณว่าควรจะจ่ายผลตอบแทนแก่ตัวแทนในอัตราเท่าไรจึงจะเหมาะสมและบริษัทไม่รับภาระมากจนเกินไป หรือการออกแคมเปญก็ต้องได้ผ่านความเห็นชอบจากแอคชัวรี
เขา บอกเราว่า นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ก็เหมือนนักเศรษฐศาสตร์ บวกกับนักพยากรณ์ รวมถึงต้องมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับบริษัทด้วย

"แอคชัวรีต้องมองทุกอย่าง สินค้าที่ต้องขายต้องเป็นแบบไหน อายุของผู้เอาประกันต้องเป็นยังไง ต้องมีเหตุผลว่าทำไมอายุที่ไม่อยู่ในข่ายที่กำหนดถึงซื้อไม่ได้ รวมถึงการจัดการด้านความเสี่ยงการลงทุน เรียกว่าทุกๆ อย่างต้องมองให้ออก ตั้งสมมติฐานให้ได้"

สำหรับงานหลังบ้าน พิเชฐบอกว่า เขาจะดูในส่วนของการจัดการบริษัทอย่างไร เช่นต้องตั้งเงินสำรองอย่างไร ทำอย่างไรที่จะให้บริษัทอยู่รอดได้ในอีก 100 ปี ข้างหน้า ต้องมีวิธีการจัดการอย่างไร ที่จะออกแบบสินค้า วิธีการลงทุน จัดการกับความเสี่ยงอย่างไร รวมถึงบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องการจ่ายผลประโยน์ลูกค้า ควรมีเงินปันผลอย่างไร และเกี่ยวกับการประกันภัยต่อด้วย โดยแอคชัวรีจะเป็นผู้ไปชอปปิงบริษัทประกันภัยต่อีกที

พิเชฐบอกอีกว่า การที่ธุรกิจประกันในหลายๆ ประเทศ ขาดแคลนนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น เป็นเพราะอาชีพนี้ เติบโตไม่ทันการเติบโตของตลาด

"อาชีพนี้ขาดแคลน เพราะสอบผ่านยากมาก ต้องใช้เวลาสอบเป็นสิบๆ ปี คนไทยที่ผ่านมาก็ใช้เวลาในการสอบให้ผ่านถึง 13 ปี ในขณะที่ต่างประเทศ คนเก่งๆ ก็นิยมเข้ามาสอบ เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่กำลังขาดแคลนเช่นเดียวกัน โดย ทั่วโลกมีแอคชัวรีระดับ FSA ประมาณ 35,000 คน แต่สำหรับประเทศไทยมีเพียง 4 คนเท่านั้น ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องดีถ้าทุกคนหันมาสนใจอาชีพนี้มากขึ้น เช่นเดียวกับเทรนที่เกิดขึ้นทั่วโลกเวลานี้"

"แอคชัวรีต้องมองทุกอย่าง สินค้าที่ต้องขายต้องเป็นแบบไหน อายุของผู้เอาประกันต้องเป็นยังไง ต้องมีเหตุผลว่าทำไมอายุที่ไม่อยู่ในข่ายที่กำหนดถึงซื้อไม่ได้ รวมถึงการจัดการด้านความเสี่ยงการลงทุน เรียกว่าทุกๆ อย่างต้องมองให้ออก ตั้งสมมติฐานให้ได้"
วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2549

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น